มรดกทางความเชื่อศรัทธาของคริสตชน ไม่ได้เป็นเหมือนมรดกทางทรัพย์สิน เงินทอง ที่ดิน บ้างช่อง ฯลฯ ที่พ่อแม่สามารถเก็บรักษาแล้วมอบให้กับลูก ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนแต่ละคน
เป็นสิ่งที่คน ๆ นั้นต้องเผชิญ ปลุกปล้ำในชีวิตประจำวันของเขาเอง จนเขายอมรับ และกลายเป็นความเชื่อศรัทธาของคน ๆ
นั้นโดยเฉพาะ
เมื่อผมมีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่คริสตชนในปัจจุบัน พบว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่คริสตชนหลายต่อหลายครอบครัวและหลายคนเกิดความทุกข์ใจอย่างมากคือ ลูก ๆ ไม่เดินตามเส้นทางชีวิตแห่งความเชื่อ
(อย่างที่พ่อแม่เคยเป็นเคยเดินมาก่อน)
พ่อแม่หลายครอบครัวพบว่า ลูก ๆ ที่ออกไปศึกษาต่อในเมืองในกรุงไม่ไปโบสถ์
อย่างที่สมัยตนเมื่ออายุรุ่นราวคราวเดียวกับลูกไปโบสถ์เป็นประจำและช่วยงานโบสถ์อย่างเต็มที่
พ่อแม่คริสตชนปัจจุบันทุกข์ใจเพราะลูก
ๆ ไม่เดินตาม “แผนที่ชีวิตแห่งความเชื่อ” ที่พ่อแม่เคยเดินมาก่อน
พวกเขากำลังพบว่า ลูก ๆ กำลังเดินออกนอกแผนที่ชีวิตแห่งความเชื่อศรัทธาที่ตนคาดว่าลูกจะเดินตาม ทั้ง ๆ ที่เมื่อเขาเป็นเด็ก เขาเรียนในชั้นเรียนรวีฯ อย่างต่อเนื่อง
จนโตขึ้นเข้าเรียนในชั้นเรียนก่อนรับบัพติสมา เข้าร่วมกิจกรรมของอนุชนในคริสตจักร แต่เมื่อต้องออกจากบ้าน หรือ ใช้เวลาชีวิตนอกบ้านมากกว่าในบ้าน ลูก ๆ เริ่มไม่ค่อยไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ ยิ่งเขามีกิจกรรมของสถานศึกษามากขึ้น เมื่อพ่อแม่คาดหวังให้เขาเก่งมีทักษะในด้านต่าง
ๆ ไม่ว่ากีฬา ดนตรี ศิลปะ และ ฯลฯ
เวลาที่จะไปโบสถ์ยิ่งหดหายไปจนไม่มีเวลาไปโบสถ์
ลูก ๆ
ค้นพบแผนที่ชีวิตฉบับใหม่ “ในสังคมนอกบ้าน”
เขาเริ่มเดินออกนอกแผนที่ชีวิตความเชื่อที่พ่อแม่เคยเดินมาก่อน และเข้าไปเดินใน “แผนที่ชีวิตสมัยใหม่”
ต้องยอมรับว่า
พ่อแม่และคริสตจักรยังคงใช้แผนที่ชีวิตฉบับเดิมทั้ง ๆ ที่ชีวิตสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายเรียกว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว และ
คนหนุ่มสาวก็คาดหวังว่าแผนที่ชีวิตสมัยใหม่จะตอบโจทย์ชีวิตที่เขากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันมากกว่าแผนที่ชีวิตของพ่อแม่
สิ่งที่พ่อแม่คริสตชนพยายามปลูกฝังเมื่อลูก
ๆ ยังเป็นเด็กและเยาวชนให้มีความเชื่อศรัทธาอย่างที่ตนเองเคยได้รับการปลูกฝังมาก่อน ดูเหมือนละลายหายสูญไปอย่างสิ้นเชิง
เมื่อเขาเริ่มเติบโตเป็นวัยรุ่นและเมื่อเขาเริ่มใช้ชีวิตนอกบ้านมากยิ่งขึ้น ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?
เป็นโจทย์ที่คริสตจักรจะต้องมีคำตอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว
และคริสตจักรมีแผนที่ความเชื่อศรัทธาที่สามารถสื่อสาร ตอบโจทย์ชีวิตของวัยรุ่นคนสมัยใหม่เหล่านี้หรือไม่? คริสตจักรใส่ใจและสนใจที่จะแสวงหา
“แผนที่ชีวิตแห่งความเชื่อ” ที่ตอบโจทย์ชีวิตของหนุ่มสาววัยรุ่นคนรุ่นใหม่หรือไม่? หรือมองว่า “แผนที่ชีวิตความเชื่อศรัทธาคริสตชน”
ศักดิ์สิทธิ์จนเปลี่ยนแปลงไม่ได้?
เมื่อผมมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เคยมาคริสตจักร ประเด็นที่น่าคิดคือ เขาพูดตีแสกหน้าผมว่า พวกผู้ใหญ่คริสตชนในคริสตจักรโดยเฉพาะระดับผู้นำมีชีวิตที่ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่
ผู้นำ และ นักการเมืองในสังคมเลย
เขาพบว่า “ผู้ใหญ่” ในคริสตจักรหน้าไหว้หลังหลอก เขาบอกว่าเขาเห็นพวกผู้ใหญ่หักหลังกัน ไม่ได้มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สมาชิก
และ เยาวชนในคริสตจักร คนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งบอกผมว่า
“ผมรู้สึกว่า
คริสตจักรไม่ได้สนใจสิ่งที่พวกผมคับข้องใจ หรือ
ปัญหาที่พวกเราประสบในชีวิตประจำวัน
แต่กลับสนใจเรื่อง กฎระเบียบ
การตีตราตัดสินผู้อื่น...
เน้นการประกอบศาสนพิธีสำคัญกว่าการมีชีวิตที่สำแดงความรักแบบพระคริสต์” วัยรุ่นอีกกลุ่มหนึ่งบอกผมว่า “เวลาไปโบสถ์วันอาทิตย์
พบแต่ความรุนแรงทั้งการซุบซิบนินทา
ตีตรากล่าวร้าย”
อีกกลุ่มหนึ่งบอกผมว่า
“พวกผู้นำคริสตจักรก็เอาระบบการเมืองสกปรกมาใช้ในคริสตจักร...
พวกเขาทำตัวไม่แตกต่างจากผู้นำในสังคมปัจจุบัน” ....พอแค่นี้ครับ
เหล่านี้คือโจทย์ชีวิตที่เขาถาม
และ ต้องการคำตอบ!
ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่ของคริสตจักรระดับต่าง ๆ ไม่สนใจที่จะตอบ? เขาเลยไม่สนใจที่จะสืบทอดความเชื่อศรัทธา
“ที่ไม่ตอบโจทย์ในชีวิตของเขา”?
ในภาวะล่อแหลมแห่งชีวิตเช่นนี้
ใครที่จะดูแลความคิดจิตวิญญาณของเยาวชนคนรุ่นใหม่ คำตอบคงหนีไม่พ้น “พ่อแม่คริสตชน” ครับ อย่างน้อยที่สุดผู้เขียนคาดหวังว่า พ่อแม่กับลูก ๆ น่าจะมีสัมพันธภาพที่ยึดแน่นต่อกันเป็นรากฐานที่จะค่อย
ๆ ประคับประคอง และ หล่อหลอมฟูมฟัก ความเชื่อศรัทธาของคริสตชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้
ผมมีโอกาสสัมภาษณ์วัยรุ่นคริสตชนบางคนบางกลุ่ม
ที่ยืนยันว่า แม่ หรือ
พ่อคือผู้ที่ช่วยประคับประคองชีวิตและความเชื่อศรัทธาของเขา เมื่อเกิดวิกฤติชีวิต
พ่อแม่คอยเตือนสติตนเสมอว่า ในวิกฤติปัญหา
หรือ สถานการณ์ที่เลวร้ายล่อแหลมเหล่านั้น
พระคริสต์อยู่เคียงข้างลูก
และพ่อแม่คอยบอกหนูเสมอว่า เขาอธิษฐานเผื่อหนูเสมอ
และที่สำคัญผมเห็นพ่อแม่ยังคงเคียงข้างในสถานการณ์ที่เลวร้ายของผม ในเวลาเช่นนั้นเองที่ผมหมดทางเลือก ผมก้มหัวลงอธิษฐานขอพระเจ้าช่วย
และจุดนี้เองที่ความเชื่อศรัทธาของผมกลับมาและค่อย ๆ เติบโตจากวันนั้น
จากการพูดคุยกับคริสตจักรกลุ่มวัยต่าง
ๆ ผมได้รับข้อมูลและการเรียนรู้มากมาย สิ่งหนึ่งที่ยืนยันความจริงว่า
การที่เด็กและเยาวชนในครอบครัวของเราที่ได้ไปคริสตจักรในวันอาทิตย์ หรือรับการเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่ที่เป็นคริสตชน
ไม่ได้รับประกันได้ว่าเด็กคนนั้นจะมีชีวิตตามความเชื่อศรัทธาของคริสตจักร พลังการสร้างเสริมหล่อหลอมของครอบครัวคริสตชนเป็นการวางรากฐานที่สำคัญยิ่ง นั่นเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะค้ำประกันได้ว่า
เด็กคนนั้นจะเป็นสาวกที่แท้จริงของพระคริสต์
เพราะความเชื่อศรัทธาเป็นเรื่องของแต่ละตัวคน
ความเชื่อศรัทธาเป็นการค้นพบในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง มิใช่ครั้งเดียวเสร็จ และความเชื่อศรัทธาในตัวของลูก ๆ มิใช่การสืบทอดความเชื่อศรัทธาจากตัวพ่อแม่ แต่ต้องเป็นความเชื่อศรัทธาที่แต่ละคนค้นพบ
และ เติบโตขึ้นในความเชื่อที่เกิดขึ้นในแต่ละตัวคน
ครอบครัวคริสตชนสามารถเสริมสร้างความเชื่อศรัทธาในลูกที่อยู่กับพ่อแม่
แต่เมื่อลูกต้องเผชิญโลกกว้างความเชื่อศรัทธาในบ้านไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในสังคมได้ แต่ความเชื่อที่พระคริสต์กระทำกิจของพระองค์ในชีวิตของเขาแต่ละคนต่างหากที่ก่อร่างสร้างรากฐานความเชื่อที่เป็นของวัยรุ่นคน
ๆ นั้น
เป็นความเชื่อของเขาเองที่มีกับพระเจ้า
ลูกของเราต้องมีโอกาสที่เผชิญหน้า สัมผัส
และสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วยตัวของเขาเอง
ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่ง
ที่คุณแม่อดทนใกล้ชิดลูกที่ทิ้งความเชื่อแบบพ่อแม่ แต่คุณแม่กลับอยู่เคียงข้างลูก
รักเขาอย่างไรเงื่อนไข
เมื่ออ่านบทความนี้ได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์จากคุณแม่คนนี้ไว้ว่า ถ้าลูกของเราเลิกที่จะเชื่อ หรือ ทิ้งความเชื่อดังเดิมที่เรามี เรามีแนวทางปฏิบัติ 12 ประการครับ
(กรุณาอ่านต่อในตอนที่
2)
ประสิทธิ์
แซ่ตั้ง
Prasit.emmaus@gmail.com; 081 289
4499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น