19 มกราคม 2561

เมื่อลูกวัยรุ่น “ละทิ้งความเชื่อ” พ่อแม่จะทำอย่างไรดี? (2)

ข้อเขียนนี้เป็นตอนที่สอง

ในตอนที่หนึ่ง   เป็นการเจาะลงในความจริงชีวิตที่ยุคสมัยลูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากสังคมในสมัยพ่อแม่   เราได้พิจารณาถึงการที่ลูกของเราเดินออกนอกแผนที่ชีวิตและความเชื่อที่พ่อแม่เคยมีประสบการณ์  และคาดหวังที่จะให้ลูก ๆ เดินตามแผนที่ฉบับเดิมนั้น   เราพบความจริงว่าลูก ๆ ต้องการแผนที่ชีวิตและความเชื่อฉบับใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของเขา

พ่อแม่คริสตชนทุกข์ใจว่า   ตนจะรับมือและจัดการอย่างไรกับลูก ๆ ที่ไม่ยอมเดินตามแผนที่ชีวิตและความเชื่อที่ตนมีอยู่   และพ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าแผนที่ฉบับใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตของลูก ๆ มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร?   ในภาวะเช่นนี้จะทำอย่างไรดี?

ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่ง  ที่คุณแม่อดทนใกล้ชิดลูกที่ทิ้งความเชื่อที่พ่อแม่เคยมี  แต่คุณแม่กลับอยู่เคียงข้างลูก รักเขาอย่างไร้เงื่อนไข   เมื่ออ่านบทความนี้ได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์คุณแม่คนนี้ได้ว่า   ถ้าลูกของเราเลิกที่จะเชื่อ  หรือ ทิ้งความเชื่อดั้งเดิมที่เรามี   พ่อแม่มีแนวทางปฏิบัติ 12 ประการครับ

  1. เราจะไม่มีวันหยุดอธิษฐานเพื่อลูก   เพราะการอธิษฐานคือพลังที่ยิ่งใหญ่  และเป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ตลอดเวลา
  2. เราจะหายใจลึก ๆ  แล้วพึ่งพาความเชื่อศรัทธา   และไว้วางใจพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพของเรา  และวางใจในพระราชกิจที่พระองค์จะกระทำในชีวิตลูก ๆ ของเรา  และ เฝ้าคอยดูพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของลูกแต่ละวัน
  3. เราจะไม่หยุดที่จะรักลูก  และพยายามที่จะมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างถึงความรักเมตตาที่ไม่มีเงื่อนไขของพระคริสต์สำหรับพวกเขา
  4. เราจะฟังลูก ๆ ตลอดเวลาไม่หยุดยั้ง (แม้บางครั้งคำพูดของเขาดูจะรุนแรงหรือก้าวร้าวกับเรา)   เราจะรักษาและเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างเรากับลูกไว้เสมอ   เราจะสื่อสารกับลูกด้วยความสัตย์ซื่อ จริงใจ และ ด้วยความนับถือ   เราพยายามแสวงหาความเข้าใจในตัวลูก  และเราจะถามคำถามที่จะช่วยให้ลูกขุดลึกค้นพบตนเองและความจริง   และจะเสนอความจริงด้วยใจรักแทนที่จะถกเถียงความจริงกัน
  5. เราตระหนักรู้ว่าลูก ๆ ของเราไม่สามารถจะมีความเชื่อศรัทธาเพราะสืบทอดมรดกความเชื่อจากเราผู้เป็นพ่อแม่ได้   แต่เราจะต้องช่วยเขาให้ก่อนร่างหยั่งรากความเชื่อของเขาเอง  และนี่จึงไม่แปลกที่บางครั้งลูกสงสัยในสิ่งที่เราเชื่อศรัทธา  เกิดคำถาม  หรือ ไม่เดินตามบนเส้นทางความเชื่อแบบพ่อแม่  แต่ลูกบางคนก็เอาจริงเอาจังร้อนรนบนเส้นทางความเชื่อนั้น  เพราะสำหรับเยาวชน นี่คือเส้นทางชีวิตที่เขาจะเรียนรู้ความจริงว่าเขาต้องการพระคริสต์ด้วยชีวิตของเขาเอง และยอมรับพระคริสต์เข้าในชีวิตของตนด้วยการตัดสินในของเขาเอง  ไม่ใช่ด้วยพ่อแม่ และคริสเตียนศึกษาที่สอนเขาในชั้นเรียน
  6. เราในฐานะพ่อแม่ให้เราแบ่งปันประสบการณ์เรื่องราวการเผชิญหน้ากับความเชื่อ และประสบการณ์ที่ล้มลุกคลุกคลานในความเชื่อของเราแก่ลูก ๆ   เช่น  ในช่วงเวลาที่เราสงสัยในสิ่งที่เชื่อ  และ ทำไมเราถึงตัดสินใจและมีความเชื่ออย่างที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้
  7. เราบอกให้ลูก ๆ รู้ว่าเราอธิษฐานเผื่อพวกเขา   และบอกลูก ๆ ว่าเราเห็นว่าพระเจ้ากำลังทำงานในชีวิตและสถานการณ์ที่ลูก ๆ เผชิญอยู่อย่างไร  พระเจ้ายังอยู่เคียงข้างเขาเสมอในทุกสถานการณ์ชีวิตของเขา  และพระเจ้ายังคงรักเมตตาพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข   ถึงแม้ตอนนี้ลูกจะไม่เชื่อในพระองค์ก็ตาม
  8. เราจะไม่ท้อถอย  และเราจะไม่บีบบังคับลูก  เราหาหนทางที่จะช่วยลูก ๆ ที่จะมีโอกาสสัมพันธ์กับบางคนที่มีความเชื่อที่เข้มแข็งในพื้นที่ที่ลูกอาศัย หรือ ทำงานอยู่   และถ้าบางคำถามของลูก ๆ ที่เราในฐานะพ่อแม่ไม่รู้จะตอบอย่างไรดี   พยายามเชื่อมให้ลูกไปพบกับบางคนที่เรารู้ว่าเขาสามารถอธิบายให้ลูก ๆ เข้าใจได้      เราให้กำลังใจแก่ลูก ๆ ที่จะหาโอกาสที่เขาจะสามารถบริการรับใช้คนรอบข้างใกล้เคียงในชีวิตประจำวันของเขา   เพื่อว่าความรักเมตตาของพระคริสต์จะซึมซับเข้าในจิตใจของลูก   เราจะแนะนำหรือกระตุ้นเชิญชวนให้ลูกไปโบสถ์   แต่เราจะไม่ใช้วิธีบังคับขู่เข็ญ  ต่อว่า ดุด่า ตำหนิที่ลูกไม่ไปโบสถ์  หรือ สร้างเงื่อนไข ผลประโยชน์ต่อรองให้ลูกไปโบสถ์  หรือถึงขั้นลงโทษถ้าเขายังไม่ไปโบสถ์   ให้เราเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสไว้เสมอ
  9. เราต้องตระหนักรู้ว่า การที่ลูกไม่เชื่อพระเจ้ามิใช่ความล้มเหลวในการเป็นพ่อแม่   พระเจ้าประทานของประทานความสามารถต่าง ๆ แก่เราอย่างมีพระประสงค์   และการที่ลูกบางคนเดินออกนอกเส้นทางความเชื่อที่เรามีอยู่ใช่เป็นการสะท้อนถึงอัตลักษณ์ความเชื่อของพ่อแม่
  10. เรายอมรับความจริงว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความจริงในวันพรุ่งนี้   และเรารู้ความจริงว่า การเลี้ยงดูลูก ๆ และ การฟูมฟักความเชื่อศรัทธาของเขาเป็นเรื่องที่พัฒนาไปตลอดชีวิต   ที่เรายังไม่สามารถตัดสินลงไปว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้เป็นสิ่งจริงที่เป็นเช่นนี้ตลอดไปในชีวิตของลูก
  11. เรายังยืนหยัดมั่นคงอย่างเข้มแข็งและชื่นชมยินดีในความเชื่อศรัทธาของเรา   ติดตามและขุดลึกลงในความสัมพันธ์กับพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน  แสวงหาความจริงจากพระวจนะ  และยอมรับคุณค่าของเราในฐานะลูกที่รักของพระเจ้าคนหนึ่ง   และสำนึกถึงพระคุณของพระองค์ที่มีอยู่ในชีวิตของเราตลอดเวลา
  12. ให้เราภาวนาอธิษฐานให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเราเป็นเสียงที่มีพลานุภาพในเมื่อเราไม่สามารถพูดด้วยคำพูดของเรา 


ทั้งสิ้นนี้  ยืนอยู่บนรากฐานความเชื่อของพ่อแม่ว่า  ความเชื่อศรัทธางอกงามและเข้มแข็งเมื่อชีวิตประจำวันของลูกมีโอกาสเผชิญหน้ากับพระเจ้า   และประสบการณ์ในชีวิตช่วงนั้นเองที่เขามีประสบการณ์ตรงกับพระองค์เป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงเสริมสร้างประทานความเชื่อแก่ลูกให้เกิดขึ้น  จนเป็นความเชื่อที่ลูกตัดสินใจที่จะวางใจถวายชีวิตแด่พระเจ้าด้วยตัวของเขาเอง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น