07 มิถุนายน 2556

เมื่อเพื่อนคริสตชนสะดุดล้ม

อ่าน กาลาเทีย 6:1-5

1พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย แม้​จับ​ใคร​ที่​ละเมิด​ประ​การ​ใด​ได้ พวก​ท่าน​ซึ่ง​อยู่​ฝ่าย​พระ​วิญ​ญาณ จง​ช่วย​คน​นั้น​ด้วย​ใจ​สุภาพ​อ่อน​โยน​ให้​เขา​กลับ​ตั้ง​ตัว​ใหม่ โดย​คิด​ถึง​ตัว​เอง เกรง​ว่า​ท่าน​จะ​ถูก​ทด​ลอง​ด้วย    

2จง​ช่วย​รับ​ภาระ​ของ​กัน​และ​กัน   และ​ด้วย​การ​กระ​ทำ​เช่น​นี้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ก็​ได้​ปฏิบัติ​ตาม​ธรรม​บัญ​ญัติ​ของ​พระ​คริสต์   

3เพราะ​ว่า​ถ้า​ใคร​ถือ​ตัว​ว่า​เป็น​คน​สำ​คัญ ทั้งๆ ที่​เขา​ไม่​สำ​คัญ​อะไร​เลย เขา​ก็​หลอก​ตัว​เอง   

4แต่​ละ​คน​จง​สำ​รวจ​การ​กระ​ทำ​ของ​ตน​เอง แล้ว​จึง​จะ​มี​อะไร​อวด​ได้​ใน​ตัว​เอง​โดย​ไม่​ต้อง​เปรียบ​กับ​ผู้​อื่น   

5เพราะ​ว่า​แต่​ละ​คน​ต้อง​รับ​ภาระ​ของ​ตัว​เอง (มตฐ)

องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่มีพระประสงค์ให้สมาชิก หรือ อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์คือคริสตจักรอยู่แยกต่างหากตัวคนเดียว    พระองค์ประสงค์ให้แต่ละอวัยวะ หรือ สมาชิกแต่ละคนทำหน้าที่ประสานกันและกันเพื่อทั้งร่างกายทำหน้าที่อย่างสอดรับกัน   คริสตจักรจึงเป็นเหมือนครอบครัวของพระเจ้าที่แต่ละคนในครอบครัวนี้จะต้องเอาใจใส่กันและกัน

แต่ถ้ามีคนหนึ่งคนใดในครอบครัวนี้เกิดสะดุดล้มในการประพฤติหรือในการดำเนินชีวิตคริสตชน   สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวจะมีบทบาทและรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร?   ท่านเปาโลได้เขียนในเรื่องนี้ไว้ว่า   “ท่านซึ่งอยู่ฝ่ายพระวิญญาณ”  จะต้องช่วยประคับประคองและเสริมหนุนให้สมาชิกคนนั้นในครอบครัวของพระเจ้า “ตั้งตัวใหม่” อีกครั้งหนึ่ง   ให้เขาสามารถกลับมามีสัมพันธภาพสนิทกับพระเจ้า  และ  ร่วมสามัคคีธรรมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวของพระเจ้า หรือ ชุมชนคริสตจักรอีกครั้งหนึ่ง   “คนที่อยู่ฝ่ายพระวิญญาณ”  ในที่นี้มิได้หมายถึงกลุ่มคนในคริสตจักรที่อยู่เหนือ   พิเศษ  หรือ ดีกว่าคนอื่นในชุมชนคริสตจักร   หรือก็มิได้หมายถึงกลุ่มที่เป็นผู้นำคริสตจักร  หรือคนที่เคร่งครัดในพระศาสนาเท่านั้น   แต่ในที่นี้หมายถึงคริสตชนทุกคนในชุมชนคริสตจักรที่ดำเนินชีวิตภายใต้การครอบครองขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์

ประเด็นหลักที่สำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่ “มุมมอง” หรือ “ทัศนคติ” ของคริสตชนที่ต้องมี “มุมมอง” แบบพระเยซูคริสต์คือแสวงหาทางที่จะช่วยให้คนที่ชีวิตล้มลงได้มีโอกาสได้ตั้งตัวตั้งต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งในชุมชนครอบครัวของพระเจ้า   มากกว่า “มุมมอง” ของการตัดสิน ตีตรา และพิพากษา   และการที่คริสตชนคนหนึ่งคนใดที่จะมีมุมมองแบบพระคริสต์มีประเด็นที่สำคัญต้องพิจารณาดังนี้

มีพระวิญญาณแห่งใจที่สุภาพอ่อนโยน

ในเวลาที่ทุกข์ยากลำบากเพราะความล้มเหลวในชีวิตเช่นนี้   ตามกระแสสังคมมนุษย์โลกคนๆ นั้นจะตกลงในสภาพชีวิตจิตใจทุกข์ยาก  โกรธตนเอง หรือ บางครั้งโกรธจากคนรอบข้าง   ถูกตีตรา ตัดสิน พิพากษา   เป้าหมายของเราในฐานะคริสตชนที่เป็นอวัยวะหนึ่งในพระวารกายของพระคริสต์มิใช่ทับถมเพิ่มความทุกข์แก่คนนั้น  หรือทำให้พี่น้องคนนั้นจมลงในความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นเพราะความผิดที่กระทำ   แต่เป็นเวลาที่เราจะต้องเอาใจใส่  เป็นเวลาที่จะสำแดงความรักเมตตาของพระคริสต์  และ  การอภัยแบบพระองค์แก่คนๆ นั้น (2โครินธ์ 2:5-8)

7 ฉะ​นั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ควร​จะ​ยก​โทษ​และ​ปลอบ​ใจ​คน​นั้น​มาก​กว่า
เพื่อ​ว่า​เขา​จะ​ไม่​จม​ลง​ใน​ความ​ทุกข์​มาก​มาย (มตฐ)

มีพระวิญญาณแห่งใจที่ถ่อม

คริสตชนที่มองว่าตนนั้นอยู่เหนือ หรือ ดีกว่าคริสตชนที่สะดุดล้มในชีวิต  จะมองคริสตชนคนนั้นแล้วคิดในใจว่า  ฉันจะไม่มีทางที่จะกระทำผิดอย่างเขา  แต่คนที่มีพระวิญญาณที่ถ่อมในจิตใจของตนเองจะมองเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่า  ตนก็มีความจำกัดและอ่อนแอในชีวิตเช่นกัน   แทนที่จะกล่าวโทษ  ว่าร้าย  หรือตัดสินคนๆ นั้น   แต่เขากลับมองเข้าไปในชีวิตของตน   และตรวจสอบชีวิตของตนเองเพื่อที่ตนจะรู้เท่าทันตนเองจะได้จัดการแก้ไขชีวิตในส่วนที่อ่อนแอของตน

ในวันนี้ให้เราใส่ใจชีวิตของผู้คนรอบข้าง  ทั้งญาติพี่น้องในครอบครัว   เพื่อนร่วมงาน  เพื่อนสนิท  ผู้คนในชุมชนสังคมที่เราสัมผัสสัมพันธ์   เมื่อพบผู้ที่ชีวิตต้องประสบกับสะดุดล้มลง   นั่นเป็นเสียงทรงเรียกจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ให้เราหนุนเสริมค้ำชูคนนั้นให้มีโอกาส “ตั้งตัวใหม่”   และพร้อมที่จะช่วยแบกภาระของเพื่อนบ้านคนนั้นด้วยใจถ่อมและใจสุภาพ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com

081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น