27 กันยายน 2562

จะฟังเทศนาอย่างไรดี?

จากการ “ระเมิน” สู่ การ “ฏิบัติ” คำเทศน์

คนส่วนมาก ตำรับตำราส่วนใหญ่ มักจะพูดถึง  “จะเทศนาอย่างไร ถึง.....”

พูดง่าย ๆ เรามีคู่มือ มีคำสอนสำหรับนักเทศน์มากมาย แต่ปัจจุบันเราต้องการคู่มือสำหรับผู้ฟังเทศน์อย่างมากด้วยใช่ไหม?

เนื้อหาข่าวสารในการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ โดยเฉพาะคำเทศนา มีเพื่อที่จะหนุนเสริมพัฒนาให้ชีวิตจิตวิญญาณของมวลสมาชิกในคริสตจักรเจริญเติบโต แข็งแรง และเกิดผลในชีวิตประจำวัน

คนฟังเทศน์กลุ่มใหญ่ ๆ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ  

กลุ่มแรก ฟังเทศน์เป็นพิธีกรรมหนึ่งทางศาสนาที่สมาชิกพึงปฏิบัติ เพื่อจะได้รับพระพร เพื่อความรู้สึกดีสบายใจ กลุ่มที่สอง กลุ่มที่แสวงหาความรู้ กลุ่มที่สาม กลุ่มที่ฟังเทศน์แล้ว “ประเมิน” การเทศนาของผู้เทศน์ ตั้งแต่เนื้อหา ประสิทธิภาพในการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ในคำเทศน์ ท่าทางการสื่อสาร ความยาวสั้นของคำเทศนา และ ฯลฯ กลุ่มที่สี่ กลุ่มฟังเทศน์เพื่อความบันเทิง และ “การปลดปล่อยทางอารมณ์” กลุ่มที่ห้า กลุ่มที่ฟังเทศน์เพื่อแสวงหาว่า พระเจ้ามีพระประสงค์ให้ตนดำเนินชีวิต และ มีพฤติกรรมชีวิตประจำวันแบบไหน พระองค์ต้องการให้ชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง พัฒนาอะไรบ้าง

วิธีการฟังเทศนาที่เป็น “อันตราย” ต่อจิตวิญญาณ

ประการแรก  ฟังเทศนาด้วยจิตนึกคิดที่วิพากษ์วิจารณ์ การทำเช่นนี้ความคิดวิพากษ์-วิจารณ์จะขวางการรับรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในพระวจนะครั้งนั้น

ประการที่สอง  ฟังคำเทศน์แล้วไปเปรียบเทียบนักเทศน์วันนี้กับนักเทศน์ดังคนอื่น ๆ ทั้งนักเทศน์ในทีวี หรือ นักเทศน์ออนไลน์ในปัจจุบัน ความสนใจของเราไปจดจ่ออยู่กับตัวนักเทศน์มากกว่าความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า และพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา

ประการที่สาม  ฟังเทศน์แล้วไปคิดถึงคนอื่น แต่ไม่ได้คิดถึงตนเอง คนนั้นคนนี้น่าจะมาฟังเทศน์ในวันนี้ การคิดถึงคนอื่นเช่นนี้  ควรจะเริ่มต้นจากตนเองว่า พระวจนะพระเจ้าวันนี้ต้องการให้ฉันเปลี่ยนแปลง พัฒนาชีวิตจิตวิญญาณในเรื่องอะไร แล้วเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน  จากนั้นค่อยคิดถึงสิ่งดี ๆ จากคำเทศน์สำหรับคนอื่นที่เราคิดถึงต่อไป

ถ้าเช่นนั้น เราจะมีวิธีการ หรือ แนวทางการฟังเทศนาในวันอาทิตย์อย่างไร?

แนวทางปฏิบัติ 1: จดจ่อที่เนื้อหาพระวจนะของพระเจ้า มิใช่ที่ตัวผู้เทศน์ อะไรคือประเด็นหลักของคำเทศนา? พระเจ้าตรัสอะไรกับฉันในคำเทศนาวันนี้? ให้เรามุ่งจดจ่อหาทางให้ชีวิตประจำวันของเราเข้าไปมีส่วนในพระวจนะ และ คำตรัสของพระเจ้าผ่านคำเทศนาวันนี้

แนวทางปฏิบัติ 2: ฟังเพื่อให้ได้ปัญญาความเข้าใจมากกว่าเพื่อความบันเทิง  เราจะไม่ติดยึดที่ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ตลก สนุก แต่การเปรียบเทียบนั้นนำเราเข้าถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในพระวจนะ ช่วยให้เราเข้าใจพระวจนะวันนี้ชัดเจนมากขึ้นสำหรับเราที่จะปฏิบัติตามพระวจนะนั้น

แนวทางปฏิบัติ 3: ฟังให้เกิดการยกย่องถวายเกียรติพระเจ้ามากกว่าเพื่อการศึกษาเรียนรู้ พระวจนะของพระเจ้ามุ่งสั่งสอนเรา ให้มีความรู้ แต่ต้องเป็นความรู้นำสู่การปฏิบัติเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชีวิตจิตวิญญาณของเรา 2ทิโมธี 3:16-17 กล่าวว่า พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสั่งสอน การว่ากล่าวตักเตือน การแก้ไขข้อบกพร่อง และการฝึกฝนในความชอบธรรม  เพื่อเตรียมคนของพระเจ้าให้พรักพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง (อมธ.)

แนวทางปฏิบัติ 4: เอาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในพระวจนะที่เทศนา มากกว่าเป็นเหมือนคนชมฟุตบอลข้างสนามเท่านั้น ทุกคนที่เข้ามาร่วมนมัสการพระเจ้าและฟังเทศน์ในวันอาทิตย์ ไม่มีใครเข้ามาในโบสถ์ด้วยชีวิตมี “ความเป็นไท” แต่ทุกคนแบกภาระชีวิตมาด้วย ความวิตกกังวล ความเครียด ปัญหาชีวิต เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทั้งในบ้าน ในที่ทำงาน ภาระเหล่านี้ที่แต่ละคนแบกมาด้วยย่อมทำให้จิตใจของแต่ละคนวอกแวก และทางหนึ่งที่เราจะมีชีวิตที่มีส่วนในพระวจนะคือ การที่เรามาหาพระเจ้าพร้อมด้วยภาระหนักอึ้งที่เราแบกอยู่  แสวงหาทางออกของชีวิตจากการชี้นำของพระวจนะในวันนั้น

แนวทางปฏิบัติ 5: ใจจดจ่ออยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตนมากกว่าความสมบูรณ์ของเนื้อหาคำเทศน์ จุดประสงค์ที่เรามาร่วมนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์เพื่อให้ชีวิตจิตวิญญาณของเราเติบโต เข้มแข็ง เกิดผล สิ่งนี้เริ่มต้นที่ชีวิตของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระเจ้า  

เราต้องตระหนักชัดว่า พลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรานั้นมาจากพระเจ้า ส่วนการที่จะเลือกรับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจเลือกของเราแต่ละคน

ให้เราเปลี่ยนจากการฟังเทศน์เพื่อ “ประเมิน” คำเทศน์ สู่ การ “ปฏิบัติ” คำเทศน์ดีไหม? 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น