05 กุมภาพันธ์ 2557

พระเจ้ามิได้มองอย่าง “ยิว”!

อ่านสดุดี87:1-7

เราจะเอ่ยถึงราหับ และ บาบิโลน   ในหมู่ผู้ที่เรารู้จัก
จะเอ่ยถึงฟีลิสเตียและไทระพร้อมกับคูช
และกล่าวว่าคนนี้เกิดในศิโยน (สดุดี 87:4  อมตธรรม)

...พระ​เจ้า​ทรง​ให้​โลก​นี้​คืน​ดี​กับ​พระ​องค์​โดย​พระ​คริสต์
ไม่​ทรง​ถือ​โทษ​ใน​ความ​ผิด​ของ​พวก​เขา
และ​ทรง​มอบ​เรื่อง​ราว​การ​คืน​ดี​นี้​ให้​เรา​ประกาศ
เพราะ​ฉะนั้น​เรา​จึง​เป็น​ทูต​ของ​พระ​คริสต์
โดย​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​ขอ​ร้อง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ผ่าน​ทาง​เรา
เรา​จึง​วิง​วอน​ท่าน​ใน​นาม​ของ​พระ​คริสต์​ให้​คืน​ดี​กับ​พระ​เจ้า (2โครินธ์ 5:19-20 มตฐ.)

เนื้อหาในสดุดีบทที่ 87 คงสร้างความแปลกประหลาดใจกับผู้อ่านโดยเฉพาะพวกยิวอย่างมาก  เริ่มต้นด้วยการกล่าวยกย่องศิโยน  ที่ตั้งอยู่บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการกล่าวถึงการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า   เป็นเมืองที่พระเจ้าทรงรัก   เป็นนครของพระเจ้า (ที่มีความหมายถึงการครอบครองของพระองค์)   และเป็นเมืองที่ได้รับการกล่าวยกย่อง(ข้อ 1-3)

แต่พอเริ่มข้อที่ 4  ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้ประพันธ์ไว้ดังนี้   พระเจ้าตรัสว่า  เราจะเอ่ยถึง(นับว่า) ราหับ ซึ่งหมายถึงอียิปต์ในหมู่ผู้ที่เรารู้จัก   จะเอ่ย (นับว่า) ฟีลิสเตีย และ ไทระ พร้อมกับคูช  ว่า คนนี้เกิดในศิโยน(คนนี้เป็นประชากรของศิโยนหรือเยรูซาเล็ม)

ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้กล่าวเช่นนี้ได้อย่างไร?

เพราะชื่อเมืองทั้งหมดที่เอ่ยถึงนั้นไม่ใช่เป็นคนต่างชาติเท่านั้น   แต่เป็นศัตรูในประวัติศาสตร์ของยิวด้วย!   แล้วจู่ๆ ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้เอ่ยขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า   ชนชาติที่กล่าวถึงนี้เป็นประชากรในแผ่นดินของพระเจ้าได้อย่างไร?   แท้จริงแล้วไม่ควรเอ่ยถึงชนชาติปรปักษ์สกปรกเหล่านี้ในบทเพลงสดุดีให้เปื้อนเปรอะบทเพลงเสียด้วยซ้ำ  ถ้าจะกล่าวถึงน่าจะกล่าวถึงชนชาติเหล่านี้ถูกเหยียบย่ำใต้อุ้งตีนของยิวต่างหาก   พูดได้อย่างไรว่า   พระเจ้าเอ่ยว่าชนชาติเหล่านี้รู้จักพระองค์อย่างยิวรู้จักพระองค์   ไม่บังควรกล่าวอ้างว่าคนพวกนี้เป็นประชากรในแผ่นดินศิโยนของพระเจ้า

สดุดีบทที่ 87  เป็นพระธรรมตอนหนึ่งในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่กล่าวอ้างล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพระราชกิจของพระเจ้าในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่   ที่มองพระราชกิจของพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่กว้างขวางกว่าการที่ทรงมาช่วยพวกยิวให้รอดเท่านั้น   เราได้เห็นพระกิตติคุณ และ พระราชกิจของพระคริสต์ที่ทรงกระทำทะลุกำแพงแห่งการแบ่งแยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ระหว่างคนยิว กับ คนต่างชาติในสมัยคริสตจักรเริ่มแรก  ดังที่จะศึกษาได้ใน เอเฟซัส 2:11-22   ที่เน้นการทำพันธกิจแห่งการคืนดี   ที่เริ่มให้คืนดีระหว่างเผ่าพันธุ์และชนชาติ   เป็นพันธกิจการให้อภัย   แล้วทั้งยิวและต่างชาติต่างจูงมือเข้าเฝ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อมีชีวิตที่คืนดีกับพระองค์ด้วยกัน   ภาพในสดุดีบทที่ 87 สำเร็จเป็นจริงในพระราชกิจแห่งข่าวดีของพระเยซูคริสต์   เป็นรูปธรรมในแผ่นดินของพระเจ้า   และจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในพระธรรมวิวรณ์ 21:24-26  ที่ว่า

“ประ​ชา​ชาติ​ต่างๆ จะ​เดิน​โดย​อา​ศัย​แสง​สว่าง​ของ​นคร​นั้น และ​กษัตริย์​ทั้ง​หลาย​ใน​แผ่น​ดิน​โลก​จะ​นำ​ศักดิ์​ศรี​ของ​ตน​เข้า​มา​ใน​นคร​นั้น ประตู​ต่างๆ ของ​นคร​จะ​ไม่​ปิด​ใน​เวลา​กลาง​วัน และ​จะ​ไม่​มี​เวลา​กลาง​คืน​ใน​นั้น คน​ทั้ง​หลาย​จะ​นำ​ศักดิ์​ศรี​และ​เกียรติ​ของ​ประ​ชา​ชาติ​ต่างๆ เข้า​มา”

เมื่อคริสตชนระลึกถึงพระราชกิจขององค์พระเยซูคริสต์เจ้าที่ทรงกระทำในโลกนี้   คริสตชนจำเป็นที่จะต้องมองข้ามการแบ่งแยกคนต่างชาติอย่างมุมมองของคนยิว   มองเลยผ่านกำแพงที่กั้นระหว่างคนที่เป็นคริสตชนกับคนที่เชื่อในต่างศาสนา   มองข้ามหรือดูถูกเหยียดหยามระหว่างคนต่างชาติพันธุ์    เพราะพระคริสต์มิได้มองอย่างที่พวกยิวมอง   แต่พระคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างและประทานมุมมองใหม่ให้แก่สาวกและโลกนี้   คือมองว่าเราต่างเป็นประชากรของพระเจ้า   ภายใต้การครอบครองในแผ่นดินของพระองค์   และทรงมอบหมายให้สาวกทุกคนของพระองค์สืบสานพระราชกิจการคืนดีนี้ต่อจากพระองค์   และนี่คือพันธกิจที่คริสตจักรได้รับเป็นมรดกจากพระคริสต์ที่ต้องกระทำต่อ

เลิกเถิดครับ   ที่แบ่งแยกตนเองว่าต้องสนับสนุนยิว หรือ ไม่ใช่ยิว!   เพราะคริสตชนข้ามเลยความคิดความเชื่อแบบนั้นแล้วครับ

แต่พระคริสต์ทรงมอบหมายพันธกิจแห่งการคืนดีให้เราประกาศครับ

คริสตชนไทยต้องกลับมามองอีกครั้งหนึ่งว่า  แท้จริงแล้วพระคริสต์ประสงค์ให้เราทำการสานต่ออะไรบ้างจากพระราชกิจแห่งการคืนดีที่พระองค์ทรงเริ่มต้นไว้   มิใช่ความรับผิดชอบของคริสตชนไทยที่จะมา “ถือหาง” ยิว หรือ อาหรับ   แต่หน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายคือเป็นสะพานสานต่อพระราชกิจแห่งการคืนดีระหว่างตัวเรา  คริสตจักร  และเพื่อนบ้านล้อมรอบชีวิตของเรา   และให้เราจูงมือกันเข้าเฝ้าพระคริสต์เพื่อขอพระเมตตารับการคืนดีกับพระองค์

ให้เราเลิกที่จะมองคนในคริสตจักรว่าต่างขั้ว  ต่างความคิด  ต่างความเชื่อ  ต่างคณะนิกาย  ต่างศาสนศาสตร์   แต่ให้เรามองให้เห็นพระคริสต์ในผู้คนเหล่านั้น   คริสตชนไทยต้องเลือกแต่มิใช่ขั้วเหลือง  ขั้วแดง  ขั้วสีฟ้า  หรือขั้วสีชมพู  

ในช่วงเวลาวิกฤติความขัดแย้งของประเทศไทย   คริสตชนต้องเลือกที่จะรับใช้พระราชกิจแห่งการคืนดีที่พระคริสต์ทรงมอบหมายให้เราทำ หรือ ไม่ก็ปฏิเสธที่จะทำพระราชกิจนี้ไปเลย

สังคมไทยต้องการการให้อภัยด้วยจิตใจที่รักเมตตาที่ยอมเสียสละตนเองแบบพระคริสต์  เพื่อสร้างการคืนดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และ กับองค์พระผู้เป็นเจ้า    และคริสตชนคือสะพานที่นำคนให้เข้าอาศัยในแผ่นดินของพระเจ้า  ภายใต้การครอบครองของพระองค์ในประเทศไทยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น