19 กุมภาพันธ์ 2557

จะสื่อสารกับลูกวัยรุ่นอย่างไร?

ครั้งเมื่อผมมีโอกาสไปเอื้ออำนวยเวทีพูดคุยกับพ่อแม่วัยรุ่นในจังหวัดต่างๆ   ทั้งในชุมชนหมู่บ้าน และ ในคริสตจักร   คำถามยอดฮิตที่พ่อแม่กล่าวถึงคือ   จะพูดคุยกับลูกวัยรุ่นอย่างไรดี?   ผมถามว่าทำไมหรือ เกิดอะไรขึ้นหรือ?   พ่อแม่มักบอกว่าวันๆ หนึ่งพูดกับลูกได้ไม่เกิน 5 ประโยค   เพราะมักลงเอยด้วยอารมณ์เสีย ไม่ของลูกวัยรุ่นก็ของพ่อแม่   แล้วมักลงท้ายถามว่า   เมื่อไหร่อาจารย์จะเปิดหลักสูตรอบรมการเป็นพ่อแม่ของลูกวัยรุ่น?

ในฐานะพ่อแม่ เราต้องการมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและไว้วางใจกับลูกวัยรุ่นของเรา   แต่เรามักประสบกับอุปสรรคไม่สามารถทำให้ไปถึงความต้องการนี้ได้สักที   ส่วนหนึ่งพ่อแม่ควรเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่เสริมสร้างการพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างมีความหมายสำหรับลูกวัยรุ่น    และสิ่งต่อไปนี้เป็นบทเรียนจากประสบการณ์ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวในการสื่อสัมพันธ์กับลูกวัยรุ่นในอดีตที่ผ่านมาครับ

1) การสื่อสารที่ดีเริ่มต้นที่การฟังอย่างใส่ใจ  ฟังอย่างไว้ใจ:   อย่าฟังเพียงได้ยินเสียงและคำพูดของลูกวัยรุ่น   แต่ให้ฟังด้วยความใส่ใจจนได้ยินเสียงของความวิตกกังวล  ความขุ่นมัวในอารมณ์  ความต้องการในชีวิตของเขา   ความเจ็บปวดที่เขากำลังได้รับในจิตใจ   การฟังอย่างใส่ใจควรไปพร้อมกับการฟังอย่างไว้ใจ   มิใช่ฟังเพื่อ “จับผิด” ลูก  แต่ต้องฟังเพื่อ “จับถูก” ในสิ่งดีๆ ของลูกที่ต้องการจะบอกให้เรารับรู้  

2) ชีวิตลูกมาก่อนสิ่งอื่น:  บ่อยครั้งการสื่อสารของเรากับลูกวัยรุ่น   เรามักกำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว   และเราก็สื่อสารกับลูกพร้อมกับการทำสิ่งอื่นๆพร้อมไปด้วย   ลูกวัยรุ่นจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ให้ความสนใจและใส่ใจว่าเรื่องของเขาเป็นสิ่งที่สำคัญ   ลูกวัยรุ่นจะมองว่า พ่อแม่กำลังเห็นว่างาน หรือ สิ่งอื่นที่กำลังทำมีความสำคัญกว่าตัวเขา  เช่น คุณแม่กำลังทำอาหารเย็น   ลูกสาววัยรุ่นเข้ามาหา   มีเรื่องที่ต้องการปรึกษากับแม่   แต่ถ้าแม่ง่วนอยู่กับการทำอาหาร   เพราะคิดว่าจะปล่อยให้อาหารไหม้ไม่ได้   ต้องการทำอาหารให้เสร็จก่อน   แล้วค่อยให้เวลาฟังเรื่องที่ลูกสาววัยรุ่นจะปรึกษา   แต่คุณแม่หลายท่านมีประสบการณ์ว่า   รอจนทำอาหารเสร็จลูกสาววัยรุ่นอาจจะน้อยใจว่าแม่ไม่สนใจเขา  แล้วหายหน้าไปไหนไม่รู้   ลูกสาววัยรุ่นต้องมาก่อน   หยุดการทำอาหารก่อน   ให้เวลา และใช้เวลากับลูกอย่างใส่ใจ   แล้วหลังจากนั้น  นอกจากลูกสาวจะได้คำตอบต่อประเด็นชีวิตของเขา และคุณแม่จะได้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากลูกสาววัยรุ่นแล้ว   ยังอาจจะได้ลูกมือช่วยทำอาหารเย็นอีกด้วย  และที่สำคัญคือยังรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์แม่ลูกลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

3) สื่อสารแบบกระตุ้นคิด:   เมื่อลูกวัยรุ่นมาหาและมีเรื่องปรึกษาผู้เป็นพ่อแม่   มิใช่ทุกครั้งที่ลูกวัยรุ่นต้องการคำตอบหรือคำแนะนำจากเราเสมอไป   บางครั้งเขาต้องการปรึกษาและบอกถึงแนวทาง หรือ วิธีการของเขาเพื่อให้พ่อแม่รู้   หรือต้องการความคิดเห็นของพ่อแม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่   สิ่งสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้   คุณพ่อคุณแม่อาจจะตอบสนองลูกวัยรุ่นด้วยการชวนคิดชวนคุย  หรือ ถามคำถามที่กระตุ้นให้ลูกวัยรุ่นของเราได้คิด  เพื่อเขาจะคิดได้คิดเป็น   และเมื่อเขาคิดได้คิดเป็น   ลูกวัยรุ่นก็จะรู้สึกว่านี่เป็นความคิด แนวทาง หรือวิธีการของเขาเอง   เกิดความภาคภูมิใจ   และคุณพ่อคุณแม่ควรหนุนใจในเวลาเช่นนี้ให้ลูกวัยรุ่นเกิดความมั่นใจในตนเอง

4) แสดงความสนใจอย่างแท้จริง: อย่ารอให้ลูกวัยรุ่นเข้ามาหาเราผู้เป็นพ่อแม่   แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างความสัมพันธ์เชิงรุกด้วยการแสดงความสนใจเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูก   ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานเช่นชื่นชมในการแต่งตัวของลูก   ชื่นชมในสิ่งดีๆ ที่ลูกทำ   ให้กำลังใจเมื่อลูกต้องพยายามทำบางสิ่งบางอย่างที่ยากลำบาก   การแสดงออกถึงความสนใจของคุณพ่อคุณแม่ต่อลูกวัยรุ่นสามารถกระทำได้ทั้งท่าทางการแสดงออกและคำพูด   ไม่จำเป็นที่พ่อแม่จะต้องบอกลูกเสมอไปว่าตนสนใจลูก   แต่ท่าทาง ท่าที  และการกระทำของพ่อแม่ย่อมทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกได้ว่า พ่อแม่สนใจเขาจริงแท้แค่ไหน

ทุกครั้งที่จะมีกิจกรรมใดๆ หรือจะต้องคิดและตัดสินใจเรื่องในครอบครัว  ควรให้ลูกวัยรุ่นมีส่วนร่วมทั้งในการคิด  การวางแผน  และในการดำเนินการ   และถ้าสิ่งใดที่ลูกวัยรุ่นมีทักษะความสามารถที่จะทำได้ให้คุณพ่อคุณแม่มอบหมายให้เขาเป็นผู้นำในเรื่องนั้นๆ   และอยู่เคียงข้างคอยให้กำลังใจ  โค้ช และ หนุนเสริมเขาตามที่จำเป็นหรือตามการร้องขอจากลูกวัยรุ่น   นอกจากสร้างความภาคภูมิใจ และ ความมั่นใจในตนเองของลูกแล้ว   ยังเป็นการพัฒนาเสริมสร้างภาวะผู้นำในลูกวัยรุ่นอีกด้วย

คุณพ่อคุณแม่พึงตระหนักเสมอว่า   การสนใจอย่างจริงใจของตนเป็นพลังสร้างผลกระทบต่อชีวิต จิตใจ  และความสัมพันธ์ของลูกวัยรุ่น   แน่นอนว่า ความสนใจของพ่อแม่มีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของลูก   ต่อมุมมองของลูกที่มีต่อพ่อแม่   มิเพียงเท่านั้นกระทบต่อมุมมองชีวิตที่เกิดขึ้นในตัวลูก   และที่สำคัญคือสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างลูกวัยรุ่นและพ่อแม่   และยังสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกของลูกวัยรุ่นว่าตนมีคุณค่าหรือไม่อีกด้วย

1) มุ่งมองหาโอกาส:   คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นโอกาสที่เปิดออกจากคำพูดของลูกวัยรุ่น   เช่น ลูกวัยรุ่นอาจจะถามพ่อแม่ว่า “แม่ว่าใส่ชุดนี้หนูสวยไหม?”   หรือ ลูกชายวัยรุ่นอาจจะพูดว่า “ในทีมฟุตบอลไม่มีใครเหมือนผม?”   การพูดแบบนี้ของลูกวัยรุ่นเป็นโอกาสของพ่อแม่จะเข้าไปขุดลึกลงในความคิดและความรู้สึกของลูกวัยรุ่น   พ่อแม่ส่วนมากจะตอบลูกว่า  แน่นอนลูกสวยเฉียบเลย   หรือ  แน่นอนไม่มีใครเหมือนลูกหรอก   ถ้าเราตอบสนองคำพูดของลูกเช่นนี้การสนทนาก็จบลง   นอกจากมิได้ใช้โอกาสนี้ในการขุดลึกลงในความคิดและความรู้สึกของลูกแล้ว    ยังเป็นการตอบสนองที่มิได้ให้กำลังใจ(พ่อแม่อาจจะคิดว่าตนเองให้กำลังใจ)แก่ลูก   เพราะคำตอบของเราเหมือนกับกำลังบอกลูกว่า  เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกแต่งตัวสวย  หรือ  เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นในทีมฟุตบอล    แต่คุณพ่อคุณแม่พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้เจาะลึกเข้าไปในความคิดจิตใจของลูก

เมื่อลูกเปิดโอกาสแก่พ่อแม่โดยถามพ่อแม่เช่นนี้   นอกจากชื่นชมว่าลูกสวยแล้ว   คุณพ่อคุณแม่วัยรุ่นสามารถใช้โอกาสนั้นเจาะลึกลงในความคิดความรู้สึกด้วย  โดยอาจจะถามต่อไปว่า  ลูกรู้สึกอย่างไร?   ลูกคิดอย่างไรกับชุดที่ใส่นี้?   หรืออาจจะพูดกับลูกชายว่า  “ใช่  ลูกไม่เหมือนใคร และ ก็ไม่มีใครเหมือน   แล้วลูกคิดอย่างไรในเรื่องนี้?”   และอย่าลืมใช้คำถามที่เปิดให้ลูกชายได้เล่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังคำถามลูกได้ว่า  “ลูกช่วยเล่ารายละเอียดเรื่องนี้หน่อยสิ”   และนี่คือโอกาสที่เราจะเรียนรู้และเข้าใจลูกมากขึ้น   และลูกเองก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่สนใจเขาอย่างแท้จริง

2) ทำตัวเป็นเพื่อนของลูกวัยรุ่น:   การสื่อสารพูดคุยและความสัมพันธ์   หลีกเลี่ยงที่จะแสดงตนว่าพ่อแม่อยู่เหนือกว่าลูกวัยรุ่น   แสดงตนว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่มีอำนาจและการตัดสินใจเหนือกว่า   โดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่น   อย่าโต้เถียงกับลูกวัยรุ่นเมื่ออารมณ์ยังคุกรุ่น  หรือสถานการณ์ยังร้อนแรง   คุณพ่อคุณแม่ควรบอกตนเองว่า   ให้เราคุยเรื่องนี้หลังจากที่ความร้อนแรงลดลงแล้ว   และอาจจะบอกกับลูกว่า   แล้วค่อยคุยกันเรื่องนี้ทีหลังดีไหม?   พระธรรมสุภาษิต 17:27 กล่าวไว้ว่า “บุคคล​ที่​ยับ​ยั้ง​ถ้อย​คำ​ของ​เขา​เป็น​คน​มี​ความ​รู้   และ​บุคคล​มี​จิต​ใจ​เยือก​เย็น​เป็น​คน​มี​ความ​เข้า​ใจ” (มตฐ.)

3) เห็นอกเห็นใจและพยายามเข้าใจลูก:   คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยรุ่นพึงตระหนักว่า   วัยรุ่นมีอารมณ์ที่อ่อนไหว  มีความรู้สึกไว   และมักเกิดความเจ็บปวดภายในชีวิตได้ง่าย    คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เท่าทันถึงอารมณ์ลูกวัยรุ่นในตอนนั้น   ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าทำไมลูกถึงมีอารมณ์ความรู้สึกเช่นนั้น   พ่อแม่ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในลูกวัยรุ่นในเวลานั้น   แต่ขอพ่อแม่รับรู้ว่าลูกวัยรุ่นของตนกำลังรู้สึกเช่นนั้น

รับรู้ถึงมุมมองความรู้สึกของลูกวัยรุ่น อาจจะด้วยการกล่าวกับลูกว่า  “ตอนนี้ดูเหมือนว่าลูกกำลังพบกับปัญหาที่ยุ่งยากลำบาก”   แต่พ่อแม่โปรดเตรียมใจว่าลูกวัยรุ่นอาจจะไม่พูดอะไร  หรือไม่ขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือ  แต่เงียบ   ในเวลาเช่นนี้ลูกต้องการเวลาที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายความโกรธ หรือ ความเครียด   ในเวลาเช่นนี้พ่อแม่ไม่ควรเซ้าซี้ แต่ปล่อยให้ลูกวัยรุ่นมีเวลาที่ค่อยๆ ทบทวนและจัดปรับกระบวนความคิดความรู้สึกและอารมณ์ของเขา   และเวลาเช่นนี้จะช่วยให้ลูกวัยรุ่นค่อยๆ เรียนรู้ชัดเจนในเหตุการณ์นั้นโดยที่พ่อแม่อาจจะไม่ต้องเข้าไปทำอะไรเลย   และหลังจากนั้นเขาอาจจะพร้อมที่พูดคุยกับพ่อแม่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น

ท่าทีและท่าทางของพ่อแม่ที่แสดงออกในเวลาเช่นนั้นก็มีความสำคัญมาก   เพราะเป็นการสื่อสารกับลูกที่ไม่ใช้คำพูด   เช่น การพูดกับลูกวัยรุ่นด้วยท่าทางกอดอก  ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีอำนาจเหนือกว่าหรือกำลังปกป้องตนเอง   หรือยืนคร่อมพูดกับลูกวัยรุ่น   แทนที่จะนั่งลงให้อยู่ระดับเดียวกับลูก

4) มองในมุมมองที่สร้างสรรค์ หรือ เชิงบวก:   แทนที่พ่อแม่จะมุ่งมองหาหรือชี้ในสิ่งที่ลูกวัยรุ่นทำผิดไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือการกระทำก็ตาม   นั่นจะสร้างความรู้สึกแก่ลูกวัยรุ่นว่า  “พ่อแม่มีแต่จะ “จับผิดฉัน”   แต่ให้พ่อแม่วัยรุ่น “จับถูก” ของลูกดีกว่า   คือมองในส่วนดีของลูกวัยรุ่น   แล้วพูดกับลูกด้วยถ้อยคำที่ให้กำลังใจ   และรับรู้ถึงสิ่งที่ลูกได้พยายามกระทำแล้ว   มากกว่ามุ่งชี้ถึงสิ่งที่ลูกยังไม่ได้ทำ  ดั่งคำกล่าวในสุภาษิต 25:11 ที่ว่า “ถ้อย​คำ​ที่​พูด​ถูก​กาล​เทศะ  เหมือน​ผล​แอป​เปิล​ทอง​คำ​ล้อม​ด้วย​เงิน”  (มตฐ.)

5) ให้เกียรติแก่ลูก:   วัฒนธรรมของเราคาดหวังให้ลูกแสดงความเคารพนับถือ และ ให้เกียรติแก่พ่อแม่   แต่พ่อแม่ได้ให้เกียรติและนับถือเห็นคุณค่าในตัวลูกวัยรุ่นหรือไม่?   การที่เรานับถือและให้เกียรติแก่ลูกวัยรุ่นของเราด้วยความจริงใจย่อมสร้างผลกระทบต่อการการพูดการกระทำของเราต่อลูกวัยรุ่น   และยังมีผลต่อวิธีการและท่าทีการเสริมสร้างวินัยชีวิตแก่ลูก   ที่จะกระทำด้วยความรักเมตตาและพระคุณแบบพระคริสต์   และจะเห็นอาการของพ่อแม่ชัดเจนในเวลาที่กำลังไม่พอใจไม่สมหวังในตัวลูกวัยรุ่นของตน  โคโลสี 3:21 กล่าวไว้ว่า  “บิดา​ทั้ง​หลาย​ก็​อย่า​ยั่ว​บุตร​ของ​ตน​ให้​ขัด​เคือง​ใจ เพื่อ​ว่า​พวก​เขา​จะ​ไม่​ท้อ​ใจ” (มตฐ.)   พระคัมภีร์ตอนนี้เตือนสติผู้เป็นพ่อโดยตรง  แต่ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้เป็นแม่ด้วย

เมื่อลูกกำลังบอกเรื่องที่เขารู้สึกว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย   ผู้เป็นพ่อแม่ลูกวัยรุ่นจะไม่สร้างบรรยากาศด้วยการทำเป็นเรื่องตลกขบขัน เพื่อหวังทำให้ความตึงเครียดผ่อนคลาย  เพราะนั่นจะทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องสำคัญสุดๆในชีวิตของเขา   หรือไม่ก็มองว่าพ่อแม่นี่ (งี่เง่า)ไม่เข้าใจเอาเลย   หรือไม่ก็จะเข้าใจว่าพ่อแม่กำลังมองว่าเขาเป็นฝ่ายผิด    รับฟังและยอมรับข้อเท็จจริงในสิ่งที่ลูกเล่าให้ฟังถึงแม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมดก็ตาม   แต่เคียงข้างลูกวัยรุ่นที่จะค่อยๆ เรียนรู้  และรับรู้ว่าบางสิ่งบางเรื่องจะต้องการเวลา  และในบางเรื่องต้องปล่อยให้มันค่อยๆ ผ่านไป

สิ่งที่เล่าสู่กันฟังนี้เป็นการสกัดจากประสบการณ์   ผู้เขียนเองตระหนักชัดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ   แต่ต้องให้เวลา  ต้องฝึกฝนปฏิบัติ   แล้วประสบการณ์ในแต่ละครั้งจะทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น   แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่เราจะได้คือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกจะเหนียวแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น   สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ความอดทน” ของพ่อแม่   แน่นอนครับ   การสื่อสารที่สร้างสรรค์ระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นไม่สามารถเกิดขึ้นชั่วข้ามคืนครับ   แต่ถ้าพยายามอย่างต่อเนื่องไม่ยอมแพ้ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นได้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น