03 กุมภาพันธ์ 2557

เมื่อตัดสินใจ ด้วยการไม่ตัดสินใจ!

ชีวิตเกี่ยวกับการบริหารจัดการเต็มไปด้วยปัญหา จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขจัดการทั้งสิ่งที่เราตัดสินใจด้วยตัวเราเอง   หรือโดยการตัดสินใจของคนอื่นแล้วให้เรารับผิดชอบบริหารจัดการในสิ่งที่เขาตัดสินใจนั้น   หลายครั้งใช่ไหมครับที่เราในฐานะลูกจ้าง หรือ ผู้บริหารในองค์กรที่เราต้องทำงานขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนอื่น   และในหลายครั้งที่เราต้องทำงานภายใต้ผู้นำองค์กรที่ “ตัดสินใจ ด้วยการไม่ตัดสินใจ” 

ในฐานะที่ท่านเป็นลูกน้อง หรือ ลูกจ้างขององค์กร ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหรือประเด็นนโยบาย   ซึ่งแท้จริงแล้วท่านไม่มีอำนาจหรือความรู้โอกาสพอที่จะเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหานั้นแทนผู้นำองค์กรที่อาจจะเป็นกรรมการอำนวยการหรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร   พวกเขาอาจจะดำเนินการดังนี้

  1. บอกให้ท่านไปจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตัวของท่านเอง (โดยมอบอำนาจให้จัดการ)
  2. ส่งเรื่องไปให้ผู้บริหารระดับสูงขึ้นเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจในปัญหาดังกล่าว
  3. บอกกับท่านว่าแล้วเขาจะนำเรื่องนั้นกลับมาแจ้งแก่ท่านอีกครั้งหนึ่ง (แต่ไม่เคยส่งเรื่องนั้นกลับมาอีกเลย)
  4. เปลี่ยนเรื่องพูดคุยปรึกษากับท่าน (แล้วก็ไม่กล่าวถึงเรื่องนั้นอีกเลย)
  5. บอกท่านว่า เรื่องนี้จะอยู่บนโต๊ะทำงานของท่านวันพรุ่งนี้ (แต่เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องนั้นอีกเลย)


นอกจากข้อที่หนึ่ง   นอกนั้นทุกข้อคือการ “การตัดสินใจด้วยการไม่ตัดสินใจ” ทั้งสิ้น   ซึ่งแล้วแต่ว่าการตัดสินใจไม่ตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานการณ์ บริบท หรือในองค์กรประเภทใด ขนาดไหน   อาจจะก่อเกิดผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือสร้างความเสียหายใหญ่โตมหาศาลต่อผู้คนหรือในเรื่องนั้นๆ ก็ได้   และสิ่งที่น่าสนใจคือผลที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือเป็นความตั้งใจก็ได้   การตัดสินใจด้วยไม่ตัดสินใจอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อเกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนงาน   ทำให้เกิดการหย่อนยานในด้านจริยธรรม   และมักทำให้เกิดผลกระทบความเสียหายทางด้านการเงินด้วย

ผลที่เกิดจากการตัดสินใจ ด้วยการไม่ตัดสินใจ

เกิดความชะงักงันในการขับเคลื่อนของงานที่ทำ

ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนงานดังกล่าวต้องพบกับการหยุดชะงักติดขัดในการเคลื่อนตัวไปของงานที่กำลังทำ   หลายคนต้องตกอยู่ในภาวะต้องรอเหมือนรถติดที่ต้องเข้าเกียร์ว่างแล้วเหยียบเบรค   ถึงงานจะเคลื่อนไปบ้างก็เคลื่อนตัวไปอย่างกับหอยหรือทาก   เมื่อเคลื่อนตัวเข้าไปใกล้ตัวอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้การเคลื่อนงานขัดข้องติดขัด ท่านก็เห็น “ซากศพ” ที่เป็นเหมือน “ผีดิบ” ที่รออยู่ข้างหน้า   หรือ ท่านอาจจะมองเห็นเหมือนรถบรรทุกเก่าๆ คันหนึ่งจอดขวางทางรถคันอื่นเพราะยางรถแบน   เป็นเหมือนกับผู้นำที่ตัดสินใจไม่ตัดสินใจ เช่นใดเช่นนั้นเลย  การรั้งถ่วง หรือ การอุดตันในกระแสการตัดสินใจจะทำให้ทุกสิ่งในการขับเคลื่อนงานติดขัดจอดนิ่งเป็นเส้นทางยาวอย่างกับรถติด   กลุ่มคนผู้บริหารองค์กรเป็นเหมือนล้อรถยนต์ที่ต้องหมุนเวียนขับเคลื่อนให้งานไปถึงเป้าหมายกำหนดหนึ่งสู่อีกจุดหนึ่งที่   การตัดสินใจที่ล่าช้าหรือการตัดสินใจที่ไม่ตัดสินใจ  หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด  ทำให้ส่วนที่เกี่ยวเนื่องของงานนั้นต้องหยุดการเคลื่อนตัวเหมือนรถติด   แต่การบริหารจัดการสามารถที่จะกระทำได้กับเจ้ารถกระบะเทอะทะ ที่ยางรถแบน  แล้วยังจอดขวางทางอีก   ด้วยการที่จัดการแก้ไขล้อรถยนต์เพื่อให้มันสามารถหมุนเคลื่อนไปให้ไล่ทันเป้าหมายที่วางไว้ด้วยประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนตัวของงานต่อไป

ผลกระทบต่อจริยธรรมและการขับเคลื่อนในการทำงาน
ตัวอย่าง: (กรณีศึกษา/เปรียบเทียบ)

เหมือนหน่วยงานหรือสถาบันที่อยู่ภายใต้โครงสร้างองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง   ต้องการตัดต้นไม้ใหญ่อายุยืนยาวต้นหนึ่ง   นอกจากจะขวางเส้นทางการสัญจรการเข้าออกของรถจำนวนมากที่มาติดต่อและรับบริการจากสถาบันหรือหน่วยงานแล้ว    เนื่องจากเป็นต้นไม้อายุมาก ยังน่ากลัวว่าอาจจะมีกิ่งก้านฉีกหัก หรือ โค่นล้มใส่ตัวอาคารข้างๆ หรือเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรไปมา   จึงนำมติเสนอขออนุญาตตามขั้นตอนเพื่อตัดต้นไม้ใหญ่ในองค์กร   เรื่องไปแช่อยู่ที่กรรมการอำนวยกร  เดือนแล้วเดือนเล่าจนข้ามปี   ที่ชักช้าเช่นนี้เพราะกรรมการอำนวยการกลัวประเด็นการเมืองเข้าแทรก   กลัวการต่อต้านของกรรมการอำนวยการอีกขั้วหนึ่ง   อย่างไรก็ตามเมื่อกรรมการเลือกการตัดสินใจที่ไม่ตัดสินใจ  จึงมิได้แจ้งเรื่องนี้แก่ผู้บริหารสถาบันหรือหน่วยงานแห่งนั้น   กรรมการอำนวยการจึงไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่จะต้องตัดสินชี้นำในเรื่องนี้แก่ผู้บริหารสถาบันหรือหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจกระทำตามพละการของตน  แต่กรรมการอำนวยการก็มิได้ให้คำอธิบาย  หรือ แนะนำ หรือ ขอโทษผู้บริหารสถาบันหรือหน่วยงานนั้นว่าเรื่องเป็นเช่นไร(ว่าทำไมไม่สามารถลงมติเรื่องตัดต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น)  

แต่ที่น่าเกลียดคือ  กรรมการอำนวยการทำหน้าที่แบบเอาตัวรอด   และมองเห็นว่า    การจัดการของสถาบันหรือหน่วยงานมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องอำนาจทางการเมืองในองค์กร และ ความมั่นคงของกรรมการอำนวยการเอง   ซึ่งเป็นการทำหน้าที่กรรมการอำนวยการที่ไร้จริยธรรมอย่างยิ่ง   เพราะเป็นการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์เพื่อความอยู่รอดของตนเอง  แต่ไม่ให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์และความปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่น

ถ้าใครที่ต้องนั่งในที่นั่งของผู้บริหารองค์กรที่มีกรรมการอำนวยการประเภทนี้   คงตกที่นั่งลำบากมากครับ   เพราะต้องเป็นผู้บริหารที่กรรมการอำนวยการตัดสินใจด้วยการไม่ตัดสินใจ   โดยไม่คิดถึงหัวอกของผู้บริหารสถาบันหรือหน่วยงาน   โดยไม่คิดถึงความเหมาะสม  ประโยชน์ และความปลอดภัยของผู้ที่มารับบริการและติดต่องาน   กรรมการอำนวยการเป็นตัวอุปสรรคที่ทำให้การขับเคลื่อนตัวของงานสถาบันต้องติดขัด ล่าช้า  หรือเกิดผลเสียต่อสถาบันหรือหน่วยงาน   ผู้บริหาร  คนทำงาน   ตลอดจนผู้มาติดต่องานและรับบริการ

กรรมการอำนวยการประเภทที่กล่าวข้างต้นนี้นอกจากเป็นตัวถ่วงตัวรั้งการก้าวไปข้างหน้าในงานขององค์กรแล้ว   ยังเป็นกรรมการอำนวยการที่ไร้ซึ่งจริยธรรมในการทำงานและความรับผิดชอบ    อีกทั้งสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย  และปลายทางคือความล่มจมแก่องค์กรอีกด้วย(ถ้าไม่มีการแก้ไข หรือ แก้ไขไม่ทันท่วงที)  

เลวร้ายปานนั้นเชียวหรือ?

คงต้องยอมรับความจริงว่า   การตัดสินใจบางครั้งเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนพอประมาณ   การที่กรรมการอำนวยการ หรือ ผู้บริหารระดับสูงตัดสินใจด้วยการไม่ตัดสินใจนั้นคงมิใช่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำร้ายหรือทำให้ผู้บริหารระดับถัดลงมาต้องเจ็บปวด   แต่ที่ตัดสินใจไม่ตัดสินใจเพราะความกลัว   กลัวผลกระทบในด้านอำนาจทางการเมืองขององค์กร   หรือกรรมการอำนวยการบางคนมีข้อมูลในเรื่องที่ต้องตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ ไม่เพียงพอ   หรือเพราะกรรมการท่านนั้นๆขาดความเข้าใจในงานที่เขาต้องตัดสินใจ เช่น  ตนจบด้านคริสต์ศาสนาศาสตร์แต่ต้องมาตัดสินใจเรื่องการแพทย์พยาบาล หรือ  ตัดสินใจเรื่องการบริหารทางการศึกษา  การบริหารองค์กรขนาดใหญ่เช่น  มหาวิทยาลัย โรงเรียน  โรงพยาบาล  หรือกรรมการอำนวยการท่านนั้นๆ ขาดความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการเป็นกรรมการอำนวยการที่ตนกำลังทำหน้าที่อยู่   และเมื่อองค์กรได้กรรมการอำนวยการที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเช่นนี้ก็จะเป็นที่มาประการหนึ่งของการตัดสินใจด้วยการไม่ตัดสินใจได้   และอาจจะตัดสินใจตามกระแสพาไป   ซึ่งส่วนหนึ่งในการตัดสินใจแบบนี้ก็เป็นการตัดสินใจไม่ตัดสินใจเช่นกัน

แล้วจะทำอย่างไรดี?

ดังนั้น  การเลือกผู้บริหารระดับสูง และ กรรมการอำนวยการขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง   นอกจากเป็นประเด็นสำคัญต่อการตัดสินใจและไม่ตัดสินใจแล้ว   ยังสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรด้วย    การเลือกใครมาเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือ กรรมการอำนวยการควรมีกรอบคุณลักษณะที่ชัดเจนที่สามารถตอบสนองต่องานที่รับผิดชอบ   กรอบคุณลักษณะ และ หน้าที่ความรับผิดชอบนั้นต้องชัดเจน  โปร่งใสที่ผู้คนสามารถรับรู้และตรวจสอบได้   ตำแหน่งกรรมการอำนวยการมิได้มีไว้เพื่อให้คนในอาณัติ พวกพ้องของผู้บริหารระดับสูง หรือ ขั้วทางการเมืองในองค์กรส่งคนไปนั่งเพื่อคุมอำนาจและผลประโยชน์พวกของตน   หรือเป็นการตบรางวัลแก่ผู้สวามิภักดิ์สัตย์ซื่อของผู้บริหารระดับสูง หรือ ขั้วการเมืองฯ  หรือเป็นการซื้อบางคนให้มาอยู่ในขั้วการเมืองของตน    เพราะนั่นจะนำไปสู่ความหายนะใหญ่หลวงอย่างที่เกิดขึ้นในองค์กรระดับชาติที่เป็นอยู่ในเวลานี้

ผมเชื่อว่า   คงจะมีเวลาหนึ่งที่เราจะมีผู้บริหารระดับสูง และ กรรมการอำนวยการขององค์กร ที่เป็นสติปัญญา  ความละเอียด รอบคอบ  เป็นที่ปรึกษา   เป็นโค้ช   เป็นพี่เลี้ยง   เป็นผู้เสริมหนุน แก่ผู้บริหารในระดับต่างๆ ขององค์กร   เป็นผู้ไม่ติดยึดกับผลประโยชน์ส่วนตนส่วนพรรคและส่วนพวก   แต่มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้บริหารให้เสริมสร้างประโยชน์แก่ผู้คนทั้งหลาย   แทนการกระทำเพื่อพวกพ้องและขั้วการเมือง  แต่มุ่งมั่นหนุนเนื่องให้องค์กรมุ่งไปสู่พระประสงค์ของพระเจ้ามุ่งสู่เป้าหมายปลายทางแห่งแผ่นดินของพระองค์

ผมเชื่อว่าเราจะมีผู้บริหารระดับสูง และ กรรมการอำนวยการที่มีชีวิตที่รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจ และสิ้นสุดกำลังความคิด   และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง   อีกทั้ง ตระหนักชัดถึงความรับผิดชอบและลงมือกระทำตามพระมหาบัญญัติ และ พระมหาบัญชาคือ  การมีชีวิตที่สำแดงพระคริสต์ให้คนรอบข้างได้เห็นและสัมผัสพระคริสต์ได้จากชีวิตประจำวันของผู้บริหารระดับสูงและกรรมการอำนวยการขององค์กร

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น