27 กรกฎาคม 2563

สิ่งดีดีที่ได้จากการนมัสการพระเจ้าทางออนไลน์ในครอบครัว

อย่างที่เราเคยคุยกันแล้วว่า ในวิกฤติโควิด 19 เราต้องหยุดการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในอาคารคริสตจักรตามแผนการหยุดยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 และก็สามารถเห็นผลของกระบวนการการป้องกันการแพร่ระบาดที่รุนแรง  

จนกระทั่งไม่นานมานี้เรากลับมานมัสการพระเจ้าที่ตัวอาคารคริสตจักรอีกครั้งหนึ่งภายใต้มาตรการการวางระยะห่างระหว่างบุคคล การสวมหน้ากากอนามัยทุกคน ล้างมือให้สะอาดเสมอ และ กินร้อนช้อนตัว ส่วนใหญ่ที่มีการเลี้ยงอาหารจะเป็นข้าวกล่องที่แต่ละคนรับประทานของตนเอง จนถึงขณะนี้ส่วนตัวผมเองยังไม่ได้รับข่าวว่าเกิดการแพร่เชื้อจากการกลับมานมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ที่ไปรวมตัวกันในอาคารคริสตจักรในประเทศไทยของเรา

ข้อมูลที่ใช้ในข้อเขียนนี้เป็นข้อมูลจากการพูดคุย/สัมภาษณ์จากการนมัสการออนไลน์เป็นครอบครัว (ไม่ใช่คนเดียว)   และได้ทำเช่นนี้ติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 อาทิตย์ (3 ครั้ง) และเน้นค้นหาสิ่งดีดีที่ผู้ให้ข้อมูลได้รับจากการนมัสการพระเจ้าออนไลน์ร่วมกันในครอบครัว ซึ่งสามารถประมวลถึงประโยชน์จากการนมัสการพระเจ้าออนไลน์ในครอบครัว 3 ประการใหญ่ ๆ คือ  

ประการแรก การนมัสการพระเจ้าออนไลน์ทำให้เราไม่ต้องขาดการนมัสการพระเจ้า

แม้วันนี้มีบางคนในครอบครัวตื่นสายไปหน่อยก็ไม่ต้องขาดการนมัสการพระเจ้าร่วมในครอบครัว ทั้งนี้เพราะ การนมัสการออนไลน์ที่บ้านไม่ต้องแต่งตัวที่สุภาพเรียบร้อยอย่างไปที่โบสถ์ วัยรุ่นบอกว่า ไม่ต้องแปลกใจว่าบางคนในครอบครัวมาร่วมนมัสการออนไลน์ด้วยชุดนอน และเมื่อพลาดเวลานมัสการจริง ก็ยังสามารถเปิดเทปที่คริสตจักรบันทึกไว้แล้วนมัสการพระเจ้าร่วมกันทั้งครอบครัวได้อยู่

คนรักดื่มกาแฟก็บอกว่า เมื่อกำลังนมัสการอยู่บางคนก็สามารถลุกเดินไปเติมกาแฟที่โต๊ะอาหารได้ บางคนฟังเทศนาไปแล้วเอนตัวคว่ำลงบนพื้นฟังเทศน์และสามารถลุกไปเอาอะไรมาบันทึกประเด็นที่น่าสนใจหรือสงสัยได้

พูดกันเป็นเสียงเดียวว่า การนมัสการพระเจ้าออนไลน์รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต้องเครียดกับท่าทาง กริยา หรือ ระวังการมองจากผู้ใหญ่หรือคนอื่น ๆ ในคริสตจักร วางตัวในการนมัสการพระเจ้าตามอย่างที่ตนเองถนัดและรู้สึกสบายกายและใจ

ประการที่สอง เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในเนื้อหาคำเทศนา ด้วยการพูดคุยในครอบครัว

พ่อแม่บอกว่า ลูกวัยรุ่นของเขามีคำถามที่น่าสนใจมากจากการฟังคำเทศนา (ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน) และที่ถามกันมากเช่น  ในตอนนั้น เรื่องนั้น หรือวลีนั้นมันหมายความว่าอะไร? ที่ว่า.... มันเป็นเรื่องจริงหรือ? ทำให้เราที่เป็นพ่อแม่ต้องเปิดพระคัมภีร์ อ่านด้วยกัน และแบ่งปันความเข้าใจในเรื่องนั้นแก่กันและกัน และสามารถที่จะหยุดเทปเทศนาไว้ที่นั่นก่อนแล้วค้นหาคำตอบร่วมกันได้ด้วย มีพ่อแม่ครอบครัวหนึ่งเล่าว่า เขาเจอคำถามลูกวัยรุ่นที่ตอบไม่ได้ พอดีเป็นการเปิดเทปนมัสการร่วมกันเลยโทรศัพท์หาอาจารย์ศิษยาภิบาล และท่านก็ได้อธิบายให้ทุกคนฟังจนเข้าใจ ไม่ต้องรอนมัสการเสร็จ กลับบ้านแล้วค่อยถามพ่อแม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะลืม ไม่ได้ถาม เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เข้ามาแทนที่

ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า หลายครั้งคำถามที่ลูก หรือ หลานวัยรุ่นถามนั้น จริง ๆ แล้วเป็นคำถามทางศาสนศาสตร์ที่สำคัญ ทำให้วันนั้นในครอบครัวได้เกิดการพูดคุยแสดงความคิดเห็นความหมายทางพระคัมภีร์ และ ศาสนศาสตร์   มีครอบครัวหนึ่งบอกว่า ในการนมัสการพระเจ้าร่วมกันบางครั้งเป็นเหมือนชั้นเรียนในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม

บรรยากาศเช่นนี้นอกจากที่สามารถเกิดขึ้นในการนมัสการพระเจ้าในครอบครัวแล้ว จะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในอาคารคริสตจักรได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ร่วมกัน การแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นแก่กันและกัน การแสวงหาคำตอบชีวิตจากพระวจนะของพระเจ้าด้วยกัน

ประการที่สาม มิใช่เป็นเพียงความรู้และความรู้สึกเท่านั้น แต่เอื้อให้เกิดการนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง ไม่ต่ำกว่า 3 ครอบครัวที่บอกว่า หลังการพูดคุยกันแล้ว พ่อแม่มักจะถามต่อไปว่า สิ่งที่เราพูดคุยกันในวันนี้ เราจะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างไร? ซึ่งแต่ละคนมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงปฏิบัติตามบริบทชีวิตประจำวันของตนเอง  

ในแต่ละวัน เมื่อกลับบ้านมารับประทานอาหารเย็นด้วยกัน จะเป็นโอกาสที่พ่อแม่หรือผู้นำครอบครัวจะถามไถ่ถึงชีวิตในวันนั้น พร้อมด้วยการถามถึงสิ่งที่แต่ละคนตั้งใจจะปฏิบัติที่เสนอในวันอาทิตย์ว่า เป็นอย่างไรบ้าง เป็นโอกาสที่เราจะชื่นชมกัน หรือ ให้กำลังใจที่จะบากบั่นมุ่งหน้าต่อไป หรือ มีความคิดเห็นข้อแนะนำกันและกันในครอบครัว

เราสามารถใช้ 3 คำถามต่อไปนี้ นำการพูดคุยหลังการฟังคำเทศนาแล้ว คือ

1) จากคำเทศนาในวันนี้ เราได้เรียนรู้อะไร? หรือ เตือนเราในเรื่องอะไรบ้าง?

2) เราจะประยุกต์พระวจนะจากคำเทศนาในวันนี้ไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนอย่างไรบ้าง?

3) เราจะทำอย่างไรบ้างที่คนรอบข้างจะมองเห็นพระเยซูคริสต์ในชีวิตแต่ละวันของเรา?

และนี่คือกระบวนการฟังเทศนาและศึกษาพระคัมภีร์เชิงปฏิบัติ หรือ การฟังเทศนาและศึกษาพระคัมภีร์ด้วยชีวิตที่เชื่อฟัง สอดคล้องกับพระธรรมยากอบ 1:22 ว่า “[22] แต่จงเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น...” (มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น