22 กรกฎาคม 2563

ผลจากอิทธิพลของ “ความเชื่อที่แฝงเร้น”

ความเชื่อที่แฝงเร้น” เป็นความเชื่อ หรือ ระบบคุณค่า-คุณธรรมที่ถูกปลูกฝังอยู่ภายในชีวิตเราแต่ละคนจนกลายเป็นพฤติกรรมที่คุ้นชินในการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่คน ๆ นั้นกระทำตามความเชื่อที่ปลูกฝังนั้นทั้งที่รู้ตัว และ อาจจะไม่รู้ตัวก็ได้ และเมื่อคน ๆ นั้นมารับเชื่อในคริสต์ศาสนา หรือ มาเป็นคริสตชน คริสตจักรก็ปลูกฝังความเชื่ออีกชุดหนึ่งซึ่งเป็นความเชื่อในพระเจ้า 

แต่ความเชื่อชุดเดิมก่อนหน้านี้ยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของคน ๆ นั้น และพฤติกรรมที่แสดงออกเหล่านั้นกลับมาบดบังซ้อนทับ “ความเชื่อในพระเยซูคริสต์” ที่เขารับเชื่อใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อและสัมพันธภาพที่เขาควรจะมีในชีวิตประจำวันกับพระเยซูคริสต์ ทั้งในชีวิตส่วนตัว ในครอบครัว ในอาชีพการงานและในความสัมพันธ์กับสังคมชุมชน และในคริสตจักรด้วย

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ เรื่องราวของพี่น้องมารีย์ และ มารธา เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่อง “ความเชื่อที่แฝงเร้น” (ดู ลูกา 10:38-42) เมื่อพระเยซูคริสต์และสาวกมาเยี่ยมที่บ้านของพี่น้องทั้งสอง มารีย์ได้มานั่งที่แทบเท้าของพระเยซูเพื่อฟังและซึมซับคำสอนของพระองค์ แต่มารธากำลังวุ่นวุ่นวายไปทั้งบ้านเพื่อเตรียมต้อนรับแขก ยิ่งกว่านั้นยังบ่นว่ามารธาน้องสาวของเธอต่อพระเยซูว่า ขอบอกให้มารีย์ลุกมาช่วยเธอบ้าง

พระเยซูคริสต์ตอบมารธาด้วยความเมตตาว่า “[41]... “มารธา มารธาเอ๋ย เธอกระวนกระวายและร้อนใจหลายอย่างเหลือเกิน [42] สิ่งที่จำเป็นนั้นมีเพียงสิ่งเดียว และมารีย์ก็เลือกเอาส่วนที่ดีนั้น ใครจะชิงเอาไปจากเธอไม่ได้” (ลูกา 10:41-42 มตฐ.)

มารธา “วุ่นวายอย่างมากกับการปรนนิบัติ” (ข้อ 40) นั่นไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่เธอให้สิ่งดีดีมากมายมาครอบงำชีวิตของเธอ จนพลาดโอกาสที่จะนั่งใกล้ชิดและรับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

น่าเศร้าใจ ที่หลายคนในพวกเราตกเป็นเหยื่อของ “ความเชื่อที่แฝงเร้น” จนยอมให้สิ่งดีดีมากมายมายึดครองชีวิตของตน จนไม่มีพื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับสิ่งที่จำเป็น สิ่งที่ดีกว่า และสิ่งที่ดีที่สุดจะอยู่ในชีวิตของตนได้  

เราลงทุนลงแรงกระทำตามแรงกระตุ้นของศาสนาที่เราเชื่อมากกว่าสัมพันธภาพที่เรามีกับพระเจ้าที่เราเชื่อศรัทธา   ผลที่เราได้รับจากการ “ความเชื่อที่แฝงเร้น” สามารถเห็นชัดใน 3 ลักษณะด้วยกันในชีวิตประจำวันของเรา คือ

1. ชีวิตที่ถูกครอบงำด้วยกิจกรรมต่าง ๆ และ ธรรมเนียมปฏิบัติ

เมื่อกิจกรรมและงานเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธาทับบังและครอบงำความเชื่อของเรา เราจะสูญเสียความชื่นชมยินดี (แม้จะเป็นการกระทำดีก็ตาม) และเมื่อทำการ “รับใช้” กลับทำให้เรามีมุมมองและพฤติกรรมที่วิจารณ์ว่าร้ายคนอื่น  และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับมารธา

2. ชีวิตที่ถูกครอบงำด้วยความยุ่งวุ่นวาย

เราอยู่ในวัฒนธรรมที่มีระบบคุณค่าที่ผิด ๆ เรามักจะมองว่าคนที่มีคุณค่าคือคนที่ต้องทำอะไรมากมาย จนคนในสมัยนี้เวลาและชีวิตถูกครอบงำยึดครองด้วยรายการงานที่ต้องทำเต็มปฏิทิน ที่สำคัญกว่าชีวิตครอบครัว สุขภาพของตนเอง และความสัมพันธ์ที่เราควรมี ผลเลวร้ายที่เราได้รับคือ เรามีการงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาและชีวิตสำหรับพระประสงค์และแผนงานของพระเจ้าที่มีสำหรับชีวิตของเราเอง และในยุคนี้เราพบการสื่อสารให้คนอื่นเห็นว่าเราต้องทำงานมากมายผ่านสื่อออนไลน์ ที่เราเรียกด้วยคำที่สวยหรูว่า “ประชาสัมพันธ์ผลงาน” (เพื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง?)

3. ชีวิตที่หมดไฟสิ้นพลัง

ความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในกิจการงานของคริสตจักรสามารถเป็นอุปสรรคต่อความเชื่อของเรา! เมื่อใดก็ตามที่กิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนากลายเป็นพลังขับเคลื่อนความเชื่อของเรา ความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซูคริสต์จะถูกผลักไสไว้ข้างหลัง เราปิดหูปิดใจของเรา ต่อการทรงชี้นำ ต่อพระกำลังจากพระคริสต์ และกำลังใจจากพระองค์   แล้วเรามุ่งแต่พึ่งพากำลังในชีวิตของตนเอง จนต้องพบกับภาวะ “หมดไฟ” ไร้พลังในชีวิต

ไม่มีใครในพวกเราที่ต้องการความเชื่อที่แฝงเร้นนี้ บางครั้งเรารู้ทั้งรู้ แต่เราก็ยังลื่นไถลล้มลงไปในสถานการณ์เช่นนี้   แต่ชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ คำถามก็คือว่า...

แล้วเราจะพลิกจาก “ความเชื่อที่แฝงเร้น” ที่มีอำนาจเหนือชีวิตของเรา ไปสู่ “ความเชื่อที่จริงแท้” จากพระคริสต์ได้อย่างไร?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น