10 สิงหาคม 2563

เราคิดเรื่อง “เกษียณอายุ” อย่างไร?

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม

“การเกษียณอายุ” เป็นการปฏิบัติของคนทำงานในชุมชนเมือง หรือกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิบัติในวัฒนธรรมของการทำงานของคนในเมืองในองค์กร ราชการ หน่วยงาน สถาบัน แต่ เกษตรกร คนเลี้ยงสัตว์ และ คนที่ทำงานในวงการศาสนาส่วนมากไม่ได้ใช้วัฒนธรรมองค์กรเมือง หรือ เชิงธุรกิจนี้ มักจะไม่มีการเกษียณอายุจากงานที่เขารับผิดชอบ   จนกว่าหมดแรงหมดสมรรถนะ

แต่มาระยะหลังนี้ ความคิดเรื่องเกษียณอายุขององค์กรแบบตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในวิธีคิดและการทำงานของเรามากยิ่งขึ้น รวมถึงสถาบัน หน่วยงาน ของสภาคริสตจักรด้วย และในคริสตจักรท้องถิ่นเมืองใหญ่หลายแห่งก็มีความคิดเรื่องการเกษียณอายุของศิษยาภิบาลขึ้นในการบริหารจัดการคริสตจักรท้องถิ่นของตน  

การทำมาหาเลี้ยงชีพในชนบท ร้านค้าในชนบท เกือบทั้งสิ้นจะไม่ใช้ความคิดเรื่องเกษียณอายุ แต่ผู้คนจะทำงานจนถึงร่างกายตนเองให้สัญญาณว่าทำต่อไปไม่ไหวก็จะหยุด หรือได้มอบหมายให้ลูกหลานทำต่อไป หรือถ้าเป็นครอบครัวที่มีอันจะกินจะปล่อยให้คนรุ่นต่อไปดำเนินกิจการงานต่อ ในกรณีนี้เป็นเรื่องการตัดสินใจส่วนตัวและความสะดวกส่วนตนเป็นตัวกำหนด

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เราไม่สามารถค้นพบการเกษียณอายุที่ชัดเจนในพระคัมภีร์ เพราะนั่นมิใช่วัฒนธรรม และ วิถีชีวิตของเรื่องราวคนในพระคัมภีร์ จึงมีส่วนทำให้คนเกษียณอายุในเมืองยังยืนยันว่า เขาหยุดหรือถอนตัวจากงานประจำที่เคยทำ แต่งานการทรงเรียก งานการรับใช้ ยังเป็นงานชีวิตที่เขาจะต้องทำต่อไปตลอดชีวิตจนกว่าจะทำอะไรไม่ได้แล้วเท่านั้น

การเกษียณอายุ กับ ความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวในคริสตจักรท้องถิ่น?

ในสภาคริสตจักรฯ ของเรา คนทำงานในองค์กร สถาบัน หน่วยงานของสภาคริสตจักร เมื่อเกษียณอายุจากงานที่ทำจะได้รับเงินสะสมจากสภาฯ เป็นเงินก้อนโต (ถ้าไม่ได้มีการกู้ไปใช้ก่อนหน้านี้ในขณะทำงาน) เมื่อเกษียณแล้วก็จะไม่มีเงินเดือน และสวัสดิการที่เคยได้รับต่อไป แต่มีเสรีภาพที่จะไปทำงานอื่นที่หาได้

ประเด็นที่กำลังก่อตัวความขัดแย้งคือ บุคลากรเกษียณเหล่านี้บางท่านที่เคยสำเร็จหลักสูตรบางหลักสูตรของสถาบันศาสนศาสตร์ของสภาฯ ได้สมัครสอบเป็นครูศาสนา และเข้าสมัครเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรท้องถิ่น ทำให้ถูกกล่าวหาว่าไปแย่งที่ทำงานของคนที่เรียนจบสถาบันรุ่นใหม่ ๆ จากพระคริสต์ธรรม? หรือ กลายเป็นตัวแข่งตัวเลือกศิษยาภิบาลใหม่ของคริสตจักรท้องถิ่น และยังถูกกล่าวอ้างว่า เพื่อคนกลุ่มนี้จะได้รับสวัสดิการเมื่อเป็นศิษยาภิบาล? แต่ประเด็นความขัดแย้งที่อาจจะปะทุขึ้นคือ “มาแย่งที่ทำงานของคนจบรุ่นใหม่?”

มีหลายท่านที่แบ่งปันความคิดแก่ผมว่า แม้จะเกษียณจากงานในองค์กรมาแล้วแต่ยังมีใจรับใช้พระเจ้า มีภาระใจที่จะช่วยงานคริสตจักร เป็นสิ่งที่ดีและน่าชื่นชมขอบคุณท่านเหล่านี้ แต่สิ่งที่เราจะต้องมาพูดคุยหาทางออกด้วยกันคือ   จะรับใช้อย่างไร จะรับใช้แบบไหน จะรับใช้อะไร ที่จะช่วยเสริมหนุนให้การขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นเข้มแข็ง เติบโต และเกิดผล? (คงไม่จำเป็นจะต้องเป็นศิษยาภิบาลเท่านั้นใช่ไหม?)

จะทำอย่างไรที่จะปรับเปลี่ยน “ความรุนแรงของความขัดแย้งที่อาจจะระเบิดขึ้น” ให้กลายเป็น “พลังการขับเคลื่อนชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร” ที่มีอานุภาพเปลี่ยนแปลงสังคมโลก แล้วนำไปสู่การเสริมสร้างแผ่นดินของพระเจ้าบนโลกใบนี้”?

ผมเห็นว่า ก่อนที่เราจะพูดคุยกัน เราคงต้อง “ปรับเปลี่ยนฐานเชื่อกรอบคิด (Mindset) เกี่ยวกับชีวิตในช่วงหลังเกษียณอายุกันก่อน

แต่เนื่องจากคำว่า “เกษียณอายุ” มีความหมายเฉพาะตัวของมันว่า “ครบกำหนดทำงาน สิ้น หมดวาระที่กำหนด  เลิกทำสิ่งที่เคยทำ” ซึ่งมีความหมายแคบแค่การทำงานในองค์กร ราชการ หน่วยงาน หรือ สถาบัน ข้อเขียนต่อไปนี้จึงจะใช้คำว่า “ช่วงชีวิตที่สาม” แทน (ช่วงชีวิตแรก 20-34 ปี ช่วงชีวิตที่สอง 35-54 ปี และช่วงชีวิตที่สาม 55 ปีเป็นต้นไป) ซึ่งมิได้มีความหมายที่จำกัดคับแคบ แต่เปิดกว้างที่เราสามารถมองใหม่เรื่องนี้ให้กว้างขึ้น

ฐานเชื่อกรอบคิด (Mindset) ของชีวิตช่วงที่สาม ข้างล่างนี้ได้นำเสนอเป็นตัวอย่าง

เปลี่ยนฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ของชีวิตช่วงที่สาม

อาจจะต้องกลับมาคิดใหม่ และ วิจัยใหม่ว่า คนที่อยู่ในช่วงที่สามของชีวิต อาจจะมิใช่ช่วงชีวิตที่คิดว่าหยุดหรือถอนตัวจากงานประจำที่เคยทำทั้งหมด แต่กลับเป็นช่วงชีวิตที่น่าจะคิดว่า เป็น “ช่วงเวลาทองแห่งการเกิดผลที่มีคุณค่าในชีวิต” (หรือ เป็นช่วงการเกิดผลที่มีคุณภาพสุดยอดของแต่ละคน) ที่ต่างไปจากช่วงชีวิตที่ผ่านมา

1) เป็นช่วงชีวิตที่พระเจ้าทรงเรียกให้ทำในสิ่งสำคัญเฉพาะที่พระองค์ประสงค์ในช่วงชีวิตนี้

2) เป็นช่วงชีวิตที่เป็นโอกาสใหม่ ที่คนในช่วงชีวิตที่สามจะคิด ตัดสินใจ เลือก และขีดเส้นเขตแดนชีวิตของตนได้ตามความมั่นใจในประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมา (ไม่ใช่รอ หรือ ต้องเดินตามกรอบที่คนอื่นหรือสังคมขีดกรอบให้แก่ตนเอง) ต้นทุนชีวิตที่สะสมมามากมายที่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างอิสระ นำมาใช้ให้เกิดผลเป็นประโยชน์กับคนวงกว้างตามใจปรารถนา ที่สนองตอบอย่างสอดคล้องกับสังคมโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง  

3) เป็นช่วงชีวิตที่ “คุณค่าความสำคัญของชีวิต” ไม่ต้องพึ่งพิง ตำแหน่ง ฐานะ ชนชั้น หน้าตา การยอมรับ (จากคนรอบข้าง พรรค-พวก) 

4) เป็นช่วงชีวิตที่สร้างสรรค์ตามศักยภาพ และ ตามบริบทชีวิตของตนเองที่มีพระเยซูคริสต์เป็น “เสาหลัก” หรือ “แก่นกลาง” ในช่วงชีวิตนี้ (กล่าวคือเป็นช่วงชีวิตที่ผูกพันติดสนิทกับพระคริสต์มากยิ่งขึ้นท่ามกลางบริบทชีวิตที่ตนกำลังเผชิญอยู่)

5) เป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขกับการ “ให้ชีวิต” เช่น ให้เวลา ความคิด กำลังใจ กำลังกาย ความรักเมตตา การยกโทษ โอกาส ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและหนุนเสริม ทรัพย์สินสิ่งของที่มี และถามคำถามที่กระตุ้นคิด

6) เป็นช่วงชีวิตที่ “ฟังอย่างใส่ใจ” ฟังเสียงจากองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกวัน และ เสียงของผู้คนรอบข้างในสถานการณ์ต่าง ๆ

7) เป็นช่วงชีวิตของการเงียบ ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ถ่อม  สุขุมรอบคอบ  

8) เป็นช่วงชีวิตของการ “ถาม” (คำถามอย่างเป็นมิตร) เพื่อกระตุ้นก่อเกิดให้ต้อง “คิด มอง ตัดสินใจ” ใหม่ ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคมโดยภาพรวม

9) เป็นช่วงชีวิตที่ยังก้าวเดินต่อไป (มิใช่ช่วงชีวิตที่หยุด หรือ ถอนตัวจากงานประจำ หรือ งานที่เคยทำเท่านั้น แต่เป็นช่วงเวลาชีวิตที่ก้าวย่างต่อไปในงานชีวิตใหม่) มิใช่การก้าวเดินไปตามกระแสของสังคม แต่ก้าวเดินต่อไปตามการทรงเรียกของพระเจ้าในชีวิตช่วงที่สาม ไม่ใช่การก้าวเดินไปด้วยความรีบเร่งตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก แต่ก้าวเดินติดตามพระคริสต์ไปด้วยความไว้วางใจ และ ถ่อม-สุขุม ตามจังหวะเวลาแห่งพระราชกิจของพระองค์

ท่านมีประเด็น “ฐานเชื่อกรอบคิด” ของชีวิตช่วงที่สามอย่างอื่นอะไรอีกบ้างครับ?

ถ้า “ฐานเชื่อกรอบคิด” ของช่วงชีวิตที่สาม เป็นอย่างที่แบ่งปันข้างต้นนี้ เราคิดว่า บุคลากรที่เกษียณอายุจากสถาบัน หน่วยงาน องค์กร หรือ ราชการ จะมีบทบาทอะไร เช่นไร ในชีวิตช่วงที่สามต่อการขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจคริสตจักร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น