28 สิงหาคม 2563

“การเมือง” แบบพระคริสต์

ทุกเรื่องถูกโยงให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีเรื่องอะไรในขณะนี้ที่จะอ้างตนเองว่า “เป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง  

ปัจจุบัน “คริสตชน” ตกลงในหลุมพรางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมคริสตชนอาจจะโดยไม่รู้ตัวอย่างน้อย 3 วัฒนธรรม

[1] วัฒนธรรมที่ตีตราเหมาเข่ง กล่าวคือ ถ้ามีคนหนึ่งที่ยืนยันบางเรื่องที่เห็นต่างจากเรา ปัจจุบันเรามัก “ตรีตราเหมาเข่ง” ว่าคน ๆ นั้นคิดไม่เหมือนเราทุกเรื่อง

ตัวอย่างเช่น มีครอบครัวหนึ่งที่เป็นสมาชิกคริสตจักรหนึ่งมานาน 8-9 ปี มาร่วมงานคริสตจักรตลอด ลูกหลานเติบโตในคริสตจักรนี้ จนกระทั่งการเทศนาครั้งหนึ่งเขารู้สึกว่า ศิษยาภิบาลเอียงไปเป็น “ฝ่ายซ้าย” เขาตัดสินใจย้ายไปอยู่ในอีกคริสตจักรหนึ่ง ได้ยินเทศนามาเป็นร้อยครั้ง เมื่อมาได้ยินครั้งนี้ศิษยาภิบาลพูด “เอียงซ้าย” เลยตัดสินตีตราเหมาเข่งว่า คริสตจักรที่มีศิษยาภิบาล “เอียงซ้าย” เขาอยู่ด้วยไม่ได้แล้ว?

[2] วัฒนธรรม “สงครามเอาแพ้เอาชนะในวงการคริสตชน” ตนจะต้องเอาชนะให้ได้ การชนะกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าความรักเมตตา ทำให้เกิดการแยกข่ายแบ่งขั้วกันในคริสตจักร แบ่งแยกเป็น “พวกมิตร” และ “ศัตรู” ขึ้นในคริสตจักร และคริสตชนปัจจุบันกำลังได้รับผล “เชื้อร้าย” จากวัฒนธรรมตัวนี้ แต่ละคนคอยระวัง ถ้าถูกกล่าวร้ายจะได้ตอบโต้กลับทันที

ปัจจุบัน คริสตจักรหลายแห่งตกเป็น “เครื่องมือ” ของนักการเมือง มากกว่าการเป็นจิตสำนึกของชุมชน สังคม และชาติ คริสตจักรได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้ที่เป็นสำนึกของสังคม แต่คริสตจักรส่วนมากถูกครอบงำด้วยกระแสสังคมชาติจนตกเป็นเหยื่อของ “การเอาแพ้เอาชนะกัน” เพื่อนำไปถึงการที่ตน “จะได้รับผลประโยชน์” ที่ตนเองต้องการจากนักการเมือง คริสตจักรจึงตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองเพื่อแลกประโยชน์จากนักการเมืองที่สัญญาจะให้

[3] วัฒนธรรม “ยิ่งมากยิ่งดี” “ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งมีโอกาส” คริสตจักรปัจจุบันวิ่งไปตามกระแสทางจริยธรรมของสังคมส่วนใหญ่ เช่น ใครทำมากได้มาก ใครทำน้อยได้น้อย หรือทำอย่างไรเพื่อตนจะได้มากที่สุด “ยิ่งมากยิ่งดี” “ยิ่งอำนาจยิ่งมีโอกาส” ดังนั้น หลายต่อหลายคนในคริสตจักรจึงแสวงหาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจริยธรรมแบบนี้ตรงกันข้ามกับพระเยซูคริสต์หน้ามือเป็นหลังมือ กัดกร่อนแก่นกลางรากฐานของคริสตจักร

เราจะไม่สามารถ "แก้ปัญหา" ด้วยการมีมาก ๆ และยิ่งใหญ่ขึ้น

เราไม่สามารถ "รักคนอื่น" เพราะเรามีมาก ๆ และมีอำนาจ

เราไม่สามารถ "พบพระคริสต์" เพราะเรามีมาก ๆ

น่าเสียดายที่คริสตจักรปัจจุบันขาดการสนใจวิเคราะห์เจาะลึกถึงคำสอนและรูปแบบการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสต์ว่า พระองค์มีจุดยืนและแสดงออกเช่นไรต่อ “การเมือง” ในสมัยของพระองค์

การเมืองที่ “ให้ชีวิต” ของตนเองแก่ประชาชน

ในสมัยของพระเยซูคริสต์ แต่ละพวกแต่ละคนต้องการให้พระองค์ “เข้าข้าง” หนุนพวกตนเอง และต่อต้านฝ่ายตรงกันข้าม เพราะเห็นว่า “ประชาชน” ชื่นชมในพระเยซู แต่พระองค์ปฏิเสธ เพราะทุกฝ่ายต่างมีจุดยืน หลักคิด และ ข้อสมมติฐานที่พระองค์รับไม่ได้ พระองค์จึงปฏิเสธจะให้การสนับสนุน เพราะพระองค์เห็นว่าพวกเขามีสมมติฐานว่า  “อำนาจและทรัพยากรใด ๆ จะถูกใช้ตามประโยชน์ของผู้มีอำนาจเป็นหลัก” จะไม่ได้ถูกใช้เพื่อคนเล็กน้อยและคนส่วนรวมในสังคมชุมชน

คริสตจักรต้องตระหนักชัดว่า พระเยซูคริสต์เข้ามาในโลกนี้เพื่อที่จะ “คว่ำพลิก” และเปลี่ยนแปลงโลกนี้ขึ้นใหม่   เปาโลอธิบายถึงพระเยซูคริสต์ชัดเจนว่า

พระเยซู “ผู้ทรงสภาพเป็น “พระเจ้า” ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้ หรือ ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง (ฟิลิปปี 2:6 )

พระเยซูคริสต์มิได้เล่นเกม “เอาแพ้เอาชนะ” ตามกระแสสังคม แต่พระคริสต์ทรงใช้ชีวิตเพื่อที่ “จะยอมเสียสละชีวิต” หรือ “เล่นเกมเพื่อจะแพ้”

เราต้องเข้าใจว่า พระเยซูคริสต์ “เล่นเกม” ที่แตกต่างจากเรา พระองค์มี “กติกา” ในการเล่นไม่เหมือนเรา และพระองค์มี “ชัยชนะ” ที่แตกต่างจากเรา ทั้งนี้ที่พระองค์ไม่ยอมเข้าข้างกลุ่มไหน พวกไหน ก็เพราะกลุ่มต่าง ๆ ทั้งสิ้นต้องการให้กลุ่มอื่นแพ้ เพื่อตัวเองจะได้ชนะ

แต่... “พระเยซูคริสต์เล่นเกมเพื่อจะแพ้ เพื่อประชาชนจะสามารถชนะได้”

จากนั้น เปาโลอธิบายถึงพระเยซูคริสต์ต่อไปว่า “แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์” (ข้อ 7) กล่าวได้ว่าพระองค์ทรงกระทำตนให้เป็นมนุษย์ปุถุชน ยิ่งกว่ามนุษย์ธรรมดา พระองค์ลงมาเป็นทาสที่ต่ำต้อยด้อยค่าในความเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นคนสำคัญอะไรเลย พระองค์ปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ “พรรคใดพรรคหนึ่ง” หรือ “พวกใดพวกหนึ่ง” เพราะไม่ว่าพรรคไหน พวกไหน หรือ แม้แต่กลุ่มไหน ต่างก็ต้องการไขว่คว้าหาอำนาจและผลประโยชน์เพื่อตนเองทั้งสิ้น และที่พระองค์ “ทรงรับสภาพทาส” เพราะในแต่ละวัน “ทาส” จะแสวงหาว่าตนจะรับใช้นายอย่างดีได้อย่างไร จะรับใช้คนอื่น ๆ อย่างดีได้อย่างไร   แต่ถ้าเรากระทำตามความต้องการมุ่งหวังของตนเอง คริสตจักรก็ไม่ต่างจากองค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อตนเอง

ถ้าคริสตชนแต่ละคนเป็นอวัยวะหนึ่งใน “พระกาย” ของพระคริสต์ เราจะต้องทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้เป็นศีรษะของกายนั้น ดังนั้น ถ้าจะให้คริสตจักร ให้คริสตชนมีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน เราต้องปกป้องคนอื่น ปกป้องสิทธิของคนอื่น ทำเพื่อคนอื่นมากกว่าทำเพื่อตัวเราเอง เรียกร้องเพื่อตนเอง

คริสตจักรจะเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน เมื่อเรา “ยอมให้” มากกว่า “เรียกร้อง” ให้เป็นไปตามสิ่งที่เราต้องการ ความคิดนี้น่ากลัวหรือเปล่า ทำให้เรารู้สึกว่าเราสูญเสียอะไรบางสิ่งบางอย่างหรือเปล่า?

นี่คือสาเหตุที่พวกสาวกปฏิเสธความคิดของพระเยซูที่พระองค์จะถูกจับโดยพวกที่มีอำนาจ และพระองค์ได้อธิบายเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าแก่สาวก แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่เข้าใจ สาวกเข้าใจว่า การที่พระองค์ถูกจับ และถูกตรึงเสียชีวิตบนกางเขน นั่นหมายความว่า พระเยซูคริสต์และพวกสาวกแพ้ พวกสาวกสูญเสีย สาวกถามพระเยซูว่า “ถ้าพระองค์ถูกจับ และ ถูกฆ่าตาย แล้วเราจะชนะได้อย่างไร?” และพระองค์ตอบสาวกว่า “ด้วยวิธีการนี้แหละที่เราจะชนะ”  

พระเยซูไปเยรูซาเล็มเพื่อที่พระองค์จะแพ้เกมนี้ พระเยซูได้ชวนสาวกให้ร่วมในกระบวนการถึง 3 ปีเพื่อที่จะแพ้ในเกมนี้ บุตรมนุษย์ไม่ได้มาเพื่อที่รับการปรนนิบัติรับใช้ แต่พระองค์มารับใช้คนจำนวนมาก และยอมให้ชีวิตเป็นค่าไถ่ของประชาชนเหล่านั้น นี่เองที่พระองค์แตกต่างจากนักการเมืองอย่างสิ้นเชิง

พระคริสต์มาในโลกนี้เพื่อสถาปนาการปกครองของพระองค์ (แผ่นดินของพระเจ้า) ที่แตกต่างจากการปกครองตามวิถีแห่งโลกนี้ ด้วยระบบคุณค่าที่แตกต่างจากโลกนี้ พระองค์บอกว่า ในแผ่นดินแห่งการปกครองของพระองค์ คนต้นจะกลายเป็นท้ายคนท้ายจะกลับเป็นคนต้น  

แล้วสาวกก็ได้เรียนรู้บทเรียนนี้ จากในการเลี้ยงอาหารมื้อสุดท้าย พระองค์เป็นผู้ล้างเท้าสาวกแต่ละคน และเขาได้เห็นเหตุการณ์ที่กางเขนที่พระองค์อธิษฐานยกโทษคนที่ตรึงพระองค์ และพระองค์ยังบอกกับโจรคนหนึ่งที่ถูกตรึงข้างพระองค์ว่า เขาจะได้อยู่กับพระองค์ในเมืองบรมสุขเกษม  

และเมื่อพระองค์เป็นขึ้นจากความตาย พวกสาวกจึงมารวมตัวกันเพื่อพบกับพระองค์ สิ่งสำคัญที่คริสตชนปัจจุบันจะต้องเรียนรู้จากสาวกของพระคริสต์คือ พวกเขาปฏิเสธที่จะมีอำนาจเพื่อที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง   ใช่พวกเขาไม่ทำสิ่งใด ๆ เพื่อจะเป็น “ฝ่ายชนะ” แต่พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เขามีชีวิตอยู่ไม่ใช่เพื่อตนเองแต่เพื่อพระนามของพระเยซูคริสต์ และเพื่อชีวิตของมวลชน

คริสตจักรกับการเมือง

พระเยซูคริสต์บอกสาวกของพระองค์ว่า ด้วยกระบวนคิดกระบวนเชื่อเช่นนี้เองที่พระองค์จะสร้างคริสตจักรของพระองค์ขึ้น ถ้าท่านมีชีวิตที่ติดตามพระเยซูคริสต์ แบก “กางเขนของตน” ตามพระคริสต์ไป มิใช่แบกเอา “สิทธิของตนเอง” ตราบใดคริสตจักรในโลกนี้ยอมตนตกเป็นเครื่องมือของอำนาจแห่งโลกนี้ อำนาจนักการเมือง คริสตจักรจะตกอยู่ในสภาพที่มีแต่ความหวาดกลัว

หลักการของคริสตจักรของพระเยซูคริสต์คือ เราไม่ต้องการช่วงชิงชัยชนะเพื่อตนเอง แต่เราได้ชัยชนะเพื่อคนอื่น   ถ้าคริสตจักรเห็นแก่เงิน เห็นตำแหน่ง ชื่อเสียง เห็นแก่ผลประโยชน์สำหรับตนเอง นั่นไม่ใช่คริสตจักรของพระคริสต์แต่เป็นกลุ่มคนที่แสวงหาการรับใช้นักการเมืองแบบโลกนี้เพื่อผลประโยชน์แห่งตน

เมื่อคริสตชนไปออกเสียง ลงคะแนนบัตรเลือกตั้ง เราปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กฎหมายของประเทศเป็นสิ่งที่เราต้องทำ   แต่การกระทำนี้เรากระทำเพื่ออะไรเราต้องสัตย์ซื่อชัดเจนในเรื่องนี้ว่า เราออกเสียงเลือกตั้งเพื่อสังคมชุมชน เพื่อคนในชุมชนของเรา มิใช่เพื่อคริสตจักรเอง หรือ ตนเอง หรือ เพื่อนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่ง

นี่คือจุดยืนของพระเยซูคริสต์ “[6] ผู้ทรงสภาพเป็นพระเจ้า ไม่ทรงถือว่าความทัดเทียมกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่จะต้องยึดไว้” หรือใช้ฐานะเท่าเทียมกับพระเจ้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง “[7] แต่ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส ทรงถือกำเนิดเป็นมนุษย์ และทรงปรากฏอยู่ในสภาพมนุษย์” “[8] พระองค์ทรงถ่อมตัวลง ทรงยอมเชื่อฟังจนถึงความตาย กระทั่งตายบนกางเขน” 

พระองค์ผู้ทรงสถานะสูงสุด แต่พระองค์กลับถ่อมลงต่ำที่สุด พระองค์ยอมตนเพื่อคนชั่ว ด้วยความเชื่อฟัง จนยอมตายบนกางเขน และนี่เป็นที่แตกต่างจากกระแสแห่งโลกนี้อย่างสิ้นเชิง และด้วยหลักการของพระคริสต์นี้เองที่ทำให้โลกไม่เป็นไปอย่างเดิม

แล้วทำอย่างไรที่จะใช้หลักการของพระเยซูคริสต์เป็นหลักการที่จะเปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้เกิดสังคมที่สันติ-ยุติธรรม และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่มี “พระฉายาของพระเจ้า” เท่าเทียมกัน

เราต้องตระหนักเสมอว่า เป้าหมายของการมีคริสตจักรมิใช่เพื่อเราจะมารวมตัวกันที่คริสตจักร แต่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นดลใจให้ผู้คนให้ติดตามพระเยซูคริสต์ และมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นทุกวัน

นี่คือ “การเมือง” แบบพระคริสต์ ที่หยั่งรากลึกลงในพระกิตติคุณของพระองค์

คริสตจักรท้องถิ่น และ คริสตจักรระดับชาติในประเทศไทย พร้อมที่จะขับเคลื่อนการเมืองแบบพระคริสต์  “การเมืองบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” หรือไม่?  หรือยังเลือกที่จะขับเคลื่อนการเมืองแบบ “เอาแพ้เอาชนะ เอาอำนาจ เอาผลประโยชน์” กัน ที่ไม่รู้จักที่จะ “ให้ชีวิต” แด่พระคริสต์ท่ามกลางชีวิตมวลชนทั้งหลายในโลกนี้

การเมือง “แบบพระเยซูคริสต์”

การเมืองตามกระแสสังคมโลก มุ่งใช้ประชาชนให้เป็นเครื่องมือเพื่อตนเอง เพื่อจะได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์สำหรับตน  

แต่พระเยซูคริสต์มาเพื่อ “ให้ชีวิต” ของพระองค์เอง เพื่อปกป้อง ปกครอง เยียวยารักษา และเสริมสร้างชีวิตของประชาชนและสังคมโลกให้มีคุณภาพชีวิตเฉกเช่น “แผ่นดินของพระเจ้า” 

อีกทั้งยังเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนแต่ละคนที่จะมี ชีวิต จิตใจ และจิตวิญญาณแบบพระคริสต์ที่ “ให้ชีวิตตนเองแก่คนรอบข้าง” เพื่อร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพลิกคว่ำสังคมโลกของพระคริสต์ ให้เป็นชุมชนสังคมแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น