17 พฤษภาคม 2556

หว่านเมล็ดแห่งความอดทน


ท่านจะบ่มเพาะเมล็ดแห่งการอดทนในการรอคอยแก่ลูกหลานอย่างไร 

ในยุคของไมโครเว็บ  ยุคความล้ำหน้าของคอมพิวเตอร์ที่มีความไวเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง   ในยุคที่ความเร็วหรือความไวกลายเป็นการเสพติดชนิดหนึ่งสำหรับมนุษย์ที่สังคมยังมิได้ตีตราว่าร้ายต่อการเสพติดนั้น   กลับถูกมองว่าดีเสียอีก  

ไม่ต่างอะไรที่คนในยุคของเราที่เสพติดเรื่องความหวาน   และมีแนวโน้มที่จะเสพหวานมากขึ้น   และในที่สุดความหวานที่เราเสพติดกลับเป็นตัวสร้างอันตรายบั่นทอนความแข็งแรงของสุขภาพมนุษย์  

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่จะต้องฝึกฝนบ่มเพาะนิสัย หรือ วินัยความอดทนในชีวิตประจำวันของตนเอง   และจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่ ฝึกหัด บ่มเพาะ บุตรหลานหรือนักเรียนของตนให้เกิดวินัยความอดทนรู้จักรอในชีวิตประจำวัน   และ

ที่สำคัญคือ การฝึกหัดบ่มเพาะวินัยชีวิตไม่สามารถกระทำด้วยการสอนทางคำพูดหรือให้ข้อมูลความรู้เท่านั้น   แต่จะต้องฝึกฝนบ่มเพาะด้วยกิจกรรมที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆ  และด้วยการมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่กลุ่มเป้าหมายเห็นได้จริงในวินัยเรื่องนั้นๆ ในชีวิตประจำวันของผู้สอนด้วย   ต่อไปนี้เป็นบางวิธีการในการบ่มเพาะฝึกฝนความอดทนในการรอคอยสำหรับลูกหลานของเรา และ เด็กในยุคนี้
  • การสร้างขอบเขตที่ชัดเจน:   “คุณครู/พ่อแม่ จะเสิร์ฟอาหารแก่พวกเรา   ถ้าพวกเรารอด้วยความเป็นระเบียบ และ เงียบเสียงด้วยความอดทนเป็นเวลา 5 นาที”  หรือ  “การจำหน่ายตั๋วโดยสารของเราจะไม่สามารถเปิดขายได้  จนกว่าท่านผู้โดยสารจะจัดแถวคิวให้เป็นระเบียบ  เพื่อเราจะสามารถให้บริการจำหน่ายตั๋วอย่างเป็นระเบียบด้วยความสงบแก่ท่านผู้โดยสาร”   ให้กำหนดประเด็นและขอบเขตที่ชัดเจนก่อนที่กลุ่มเป้าหมายจะได้สิ่งที่ต้องการ
  • การปรับเปลี่ยนความสนใจใหม่:  การที่เด็กจะต้องเข้าแถวรอคิวในกิจกรรมต่างๆ  มักพบว่าเด็กขาดความอดทนที่จะรอคอย  การหันเหความสนใจจากสิ่งที่คิดหรือทำอยู่เป็นกลวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการอดทนในการรอคอยได้สำหรับคนทุกช่วงอายุ,   ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะชวนเล่มเกมทายอะไรเอ่ย,   ถ้าเป็นเด็กโตชวนให้เสนอความคิดถึงกิจกรรมที่อยากทำในช่วงปิดเทอม   ให้ใช้วิธีการหันเหความสนใจของกลุ่มเป้าหมายไปในสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจตามความเหมาะสมกับกลุ่มอายุ
  • สอนด้วยการเป็นแบบอย่าง:  ไม่ว่าเด็กอายุ 3 ขอบ หรือ 13 ปีต่างก็เรียนรู้ได้อย่างดีจากแบบอย่างที่พวกเขาเห็น   มิใช่เด็กเล็กเท่านั้นที่เรียนรู้จากแบบอย่างที่เขาเห็นแม้แต่วัยรุ่นก็เรียนรู้อย่างดีเช่นกันจากแบบอย่างที่เขาเห็นด้วย   หรือเราอาจจะให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจเลือกรายการพฤติกรรมตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากแต่ละประเด็นที่เราจะแสดงบนกระดาน  เช่น  (1) เธออยากได้รองเท้าคู่สวยในห้าง   เลยหยิบมาหน้าตาเฉย หรือ  (2) เธอจะเก็บสะสมเงินจนครบตามราคาแล้วไปซื้อมา,   (3) เธอรีบวิ่งข้ามถนนใหญ่ทันทีทันใดเพื่อจะสามารถไปทันรถประจำทางที่กำลังแล่นมาอีกฟากหนึ่งใช่หรือไม่?   ที่สำคัญคือ เราจะต้องเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมในสิ่งที่เราสอนเราฝึกแก่คนอื่น
  • หลีกเลี่ยงคำพูดอย่างเช่น “เร็วเข้า  เร็วๆ”:   หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “เร็วเข้า  รีบๆ  เร็วๆ” กับเด็กเล็ก หรือ เด็กก่อนวัยเรียน   แต่อาจจะใช้วิธีการกำหนดช่วงเวลาสำหรับกิจกรรมนั้นๆ   เมื่อเด็กเล็กในวันนี้ถูกการกระตุ้นให้ต้องทำเร็วๆ  ต้องรีบเร่งในชีวิตประจำวันเป็นการปลูกฝังบ่มเพาะนิสัยการกดดันในตัวเขาและมีแนวโน้มที่เด็กจะนำไปใช้กับคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว  การกดดันตนเอง   และใช้ชีวิตที่รีบเร่ง  ซึ่งยังผลให้กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน  หรือมักโมโหโทโสเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นมิได้เป็นไปตามที่คาดหวังหรือปรารถนา  หรือเร็วอย่างที่ตนต้องการ   เมื่อเด็กเติบโตและมีวุฒิภาวะมากขึ้นก็พร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าใจว่า   ทำไมถึงมีความสำคัญที่จะไม่ทำให้คนอื่นต้องรอคอยตนเองอย่างไม่เหมาะสมหรือจำเป็น
  • จัดการการทดลอง:  เด็กเล็กจะสนุกกับการปลูกพืชและดูการเติบโตของพืชที่เขาเพาะปลูกนั้น   ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเอาเมล็ดไปเพาะปลูกที่ดินแล้วคอยเฝ้าดูการงอก การเติบโตของต้นไม้ต้นนั้น   แล้วให้อธิบายให้เด็กได้เรียนรู้ถึงกระบวนการของชีวิต   ชีวิตต้องการมีเวลาที่มันจะค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นตามกระบวนการชีวิตของมัน   เพื่อสอนให้เด็กได้เรียนรู้ว่า  ชีวิตมีเวลาขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงและเติบโต   หรืออาจจะเรียนรู้จากพระธรรมปัญญาจารย์ 3:1 ที่ว่า “มี​ฤดู​กาล​สำ​หรับ​ทุก​สิ่ง และ​มี​วาระ​สำ​หรับ​เรื่อง​ราว​ทุก​อย่าง​ภาย​ใต้​ฟ้า​สวรรค์”
  • เล่นเกมกระดาน:  เกมกระดานส่วนใหญ่ต้องเล่นทีละฝ่ายหรือทีละคน เช่น หมากหนีบ  หมากฮอส  หมากข้าม  ฯลฯ นั่นหมายความว่ามีคนเล่นและต้องมีคนรอ  เล่นครั้งละคน  ที่เลือกให้เล่นเกมประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ลูกของเราเรียนรู้ที่จะอดทนรอให้ถึงรอบของตนเอง   แม้บางครั้งเขาจะไม่รู้สึกในเรื่องนี้ก็ตาม   ให้เลือกเกมประเภทนี้ที่เหมาะสมกับวัย   สำหรับเด็กโตอาจจะเล่นหมากฮอส หมากข้าม  และการเล่น “สะแครบเบอร์” (การต่อคำ)น่าจะเหมาะสำหรับวัยรุ่นขึ้นไป
  • การรับรู้และการเสริมเพิ่มพลังในการรอคอยอย่างอดทนอย่าตั้งหน้าตั้งตาเป็นพ่อแม่ที่จะเอาแต่สอนให้ลูกเป็นคนที่อดทนในการรอคอย  จนลืมที่จะรับรู้และชื่นชมในความอดทนและการรอคอยของลูก   เมื่อลูกอดทนรอคอยให้เราป้อนอาหารให้น้องที่ยังเป็นทารกของเขา   ให้ขอบคุณที่ลูกอดทนอย่างดี   เมื่อลูกของเราเก็บหอมรอมริบเงินซื้อเครื่องไอแพด  เมื่อเงินครบแล้วจึงค่อยซื้อ   ท่านควรจะบอกกับลูกว่า “พ่อ/แม่ชื่นชมและภูมใจในความอดทนของลูกที่รอคอยจนสะสมเงินพอซื้อด้วยเงินสด   แทนที่จะซื้อเงินผ่อนและต้องเสียดอกเบี้ยอีกมิใช่น้อย”
  • อย่าทำตนจัดการให้ลูกทุกอย่าง:   การที่พ่อแม่ลงมือช่วยลูกทุกเรื่อง หรือ ลงมือทำแทนลูกทุกอย่างนั่นเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่คาดคิดและรู้ตัว   ไม่เป็นการผิดที่เราต้องการให้ลูกมั่นใจว่าเราอยู่เคียงข้างเขาเสมอ   ซึ่งแตกต่างจากการที่เราทำทุกอย่างแทนลูก   ตัวอย่างเช่น  เมื่อลูกทำโทรศัพท์มือถือหาย   อย่าซื้อหรือหาโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ให้ลูกทันที   แต่ให้ลูกออมเงินของเขาเองเพื่อจะมีส่วนร่วมในการซื้อมือถือเครื่องใหม่   อย่าลงไปจัดการทุกเรื่องแทนลูก
  • เตรียมตัวสำหรับการรอคอย:  บางครั้งเรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าลูกของเราจะต้องรอคอย เช่น  ต้องรอคอยแพทย์ที่โรงพยาบาล  หรือต้องรอคอยเพื่อจะเข้าห้องพักรับการรักษา   ให้เราเตรียมจิตใจของลูกสำหรับการรอคอย   ให้ลูกได้เตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ หรือ สิ่งที่เขาจะทำในเป้ส่วนตัวของเขาเมื่อต้องนั่งรอหมอ
  • รักษามุมมองที่สร้างสรรค์:   ถ้าเราบ่นว่าในการที่เราต้องรอคอยเข้าคิว หรือการที่เราบ่นว่าจดหมายที่เราคาดหวังไม่มาสักที   ลูกๆ ของเราก็จะซึมซับเอาความไม่อดทนของเราเข้าไปในชีวิตของเขา   ให้เรายังตั้งมั่นที่จะให้การรอคอยของเราในชีวิตเป็นแบบอย่างที่สร้างสรรค์  เช่น ใช้โอกาสที่จะทำความรู้จักและพูดคุยกับคนที่ต่อคิวในแถว”  หรือ เมื่อต้องรอจดหมายและเช็คคืนเงินภาษี  อาจจะกล่าวว่า “ฉันคาดหวังว่าเช็คคืนเงินภาษีจากสรรพกรจะมาถึงวันนี้   แต่ถ้ายังมาไม่ถึงก็ไม่เป็นไร...” 


ไม่ว่าเด็กจะอายุเท่าใด  การเรียนรู้ที่จะรอคอยเป็นการเสริมสร้างทักษะที่มีคุณค่าที่จะติดตัวในชีวิตของเขาตลอดไป  

ในวันนี้ให้เรามีความสุขกับการอดทนในการรอคอย   ช่วงเวลาเช่นนั้นเป็นโอกาสที่เราจะใกล้ชิดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้ามายิ่งขึ้น,   เป็นเวลาที่เราจะสนิทสัมพันธ์กับลูกหลาน,   เป็นโอกาสที่เราจะเอาใจใส่สนใจเพื่อนหรือคนอยู่ข้างๆของเรา   ในเวลาที่อดทนรอคอยกลายเป็นเวลาของการสร้างสรรค์เยี่ยงพระฉายาหนึ่งของพระเจ้า  

การอดทนรอคอยคือโอกาสของการสร้างสรรค์ชีวิตครับ

มีความสุขกับการอดทนรอคอยในวันนี้กับพระคริสต์!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น