09 พฤษภาคม 2561

คำพูดของพ่อแม่ “สร้างหรือทำลาย” ลูก?

ในฐานะพ่อแม่   หลายครั้งที่ผ่านมาในอดีต เรามักพูดอะไรกับลูกโดยมิได้คิดไตร่ตรองรอบคอบก่อน  แต่เมื่อมีโอกาสกลับมาทบทวนสะท้อนคิด ถึงกับต้องสะดุ้งตกใจว่า ตอนนั้นเราพูดกับลูกเช่นนั้นไปได้อย่างไร?   มารู้สึกมาสำนึกได้ว่าคำพูดเช่นนั้นมันทำร้ายจิตใจของลูก  มันสร้างบาดแผลลึก ๆ ในใจของลูก  ทำลายความสัมพันธ์ที่มีต่อลูก  และที่สำคัญกว่านั้นคำพูดเหล่านั้นมันมีอิทธิพลที่หล่อหลอมกลายเป็นกรอบคิดกรอบเชื่อของลูกโดยเราไม่ตั้งใจ และ ตัวลูกเองก็ไม่รู้ตัวด้วย   เราต้องยอมรับว่า  เพราะคำพูดของเราที่พูดต่อลูกที่ผ่านมาในอดีตที่เป็นอิทธิพลทำให้ลูกเป็นคนอย่างที่เขาเป็นบางด้านในปัจจุบัน

(1)   “ถ้าลูกทำตัวแบบนี้   อย่าหวังว่าจะได้อะไรจากพ่อแม่อีกเลย”  

นอกจากเป็นการข่มขู่สร้างความกลัวแก่ลูกแล้ว   ยังเป็นการสร้างกรอบคิดเรื่องการทำดีทำถูกต้องเป็นการต่อรอง หรือ เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนต้องการกับพ่อแม่   คำพูดของพ่อแม่ในทำนองนี้สร้างกรอบคิดผิด ๆ ในตัวลูก  เช่น  ถ้าลูกต้องการอะไรก็ต้องทำตัวอย่างที่พ่อแม่ต้องการหรือพอใจ   การทำดีมิใช่เป็นคุณธรรมหรือค่านิยมในตัวลูก   แต่ที่ลูกทำดีก็เพื่อที่จะแลกเอาบางสิ่งบางอย่างที่ลูกต้องการในเวลานั้น

(2)   การกล่าวโทษ กล่าวร้ายแบบหว่านแห

เช่น  “ทุกวันนี้...ลูกไม่เคยทำสิ่งที่ดีอะไรเลย”  หรือ  “ลูกเป็นคนที่ไม่เอาไหนเสมอ”   “ลูกนอนดึกตื่นสายเสมอ”   คำพูดในทำนองนี้ของพ่อแม่สร้างกรอบคิดในตัวลูกว่าเป็นคนที่ไม่ดีเสมอตลอดเวลา   สร้างความรู้สึกของลูกว่า พ่อแม่ไม่เคยมองเห็นส่วนดีของเขาบ้างเลย  หรือไม่ก็คิดว่าพ่อแม่คอยจับผิดเขาอยู่เสมอ   การพูดแบบนี้ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ   เป็นการทำลายความมั่นใจในคุณค่าตัวของลูก   และถ้ามิได้รับการเยียวแก้ไขจนถึงวัยรุ่น หรือ เป็นผู้ใหญ่   เป็นการเปิดช่องให้เขาคิดทำสิ่งที่เลวร้ายแรงมากขึ้น  โดยไม่สำนึกว่าจะเกิดสิ่งเลวร้ายที่รุนแรงมากขึ้น เช่น  “ไหน ๆ เราก็ถูกมองว่าเป็นคนเลวแล้ว   ถ้าจะทำความเลวมากขึ้นอีกครั้งจะเป็นไรไป?” เป็นต้น

(3)   คำกล่าวที่ตัดสินให้ร้ายแก่ลูก

คล้าย ๆ กับประเด็นที่กล่าวมาก่อนนี้  แต่มีความเด่นชัดตัดสินลูกลงไปเลยว่า เป็นคนไม่ดี เป็นคนเลว  “ลูกเป็นคนขี้เกียจหาตัวจับยาก”   “ลูกเป็นนักเรียนที่แย่มาก”   “ทำไมลูกถึงทำตัวเป็นคนที่ไม่น่าคบตลอดเวลา”  นอกจากที่จะสร้างภาพลักษณ์ ตัวตนของลูกในสายตาของลูกเองว่า  เป็นคนเลวแล้ว ยังเป็นการทำร้ายจิตใจลูก และ ทำลายความเชื่อมั่นในตนเอง  และทำลายความมีคุณค่าในตนเอง   หมดความภาคภูมิใจในตนเอง   ทำลายความกล้าในการแสดงออก   และสร้างความกลัวและความกังวลที่จะเป็นคนเปิดเผยในสังคม

(4)   “เห็นไหม...เชื้อไม่ทิ้งแถว  ขี้เกียจตัวขึ้นขนอย่างพ่อมันเลย”   

นอกจากจะพูดตัดสินลูกแล้ว   ยังนำเอาพฤติกรรมของลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ลูกมีความสัมพันธ์ด้วย   และในบางกรณีใช้เรื่องลูกตีชิ่งกระทบอีกคนหนึ่ง   อย่างประโยคข้างต้น นอกจากกล่าวร้ายต่อลูกแล้วยังตีชิ่งถึงพ่อของลูกอีกด้วย   นอกจากจะเป็นการทำร้ายทำลายจิตใจ ความรู้สึก และ ความมั่นใจ ภูมิใจในตัวลูกแล้ว   ยังทำให้ลูก(คนนี้)มองพ่อในมุมมองลบอีกด้วย   ซึ่งน่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกคู่นี้แน่นอน   และในเวลาเดียวกัน   การที่พูดร้ายเช่นนี้เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับพ่อของเด็กด้วย

(5)   “ทำไมลูกเป็นคนที่ไม่เคยทำอะไรถูกต้องสักเรื่อง”  

คำพูดนี้ลูกคงรู้สึกว่า  ตนเองถูกพ่อแม่เหยียบนอกจากแบนติดพื้นแล้ว ยังถูกกระทบให้จมลงในดินอีกด้วย  ประโยคนี้พ่อแม่กำลังกล่าวหาว่าลูกเป็นคนที่ทำอะไรต่อมิอะไรผิดพลาดทุกเรื่องทุกเวลา   นอกจากจะเป็นการทำร้ายทำลายจิตใจ ความเชื่อมั่นในตนเอง  ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองแล้ว   ยังเป็นประโยคที่ตัดความสัมพันธ์กับลูกโดยไม่รู้ตัวและตั้งใจ   เพราะลูกเกิดความรู้สึกว่า พ่อแม่มองตนอย่างลบ ๆ  และมองว่าตนไม่เคยทำสิ่งที่ถูกต้อง   ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่จะเกิดช่องว่างที่ถ่างห่างออกไป   เมื่อลูกมีเรื่องอะไรในชีวิตก็ไม่คิดที่จะมาปรึกษาพ่อแม่ของเขาอีก   เพราะเขาคิดว่าพ่อแม่ต้องจะมองเขาในแง่ลบแน่นอน   เขาเริ่มไปฟังคำแนะนำจากเพื่อน  จากรุ่นพี่   จากคนในแก๊งที่ตนอยู่ด้วย   เมื่อถึงเวลานั้นอะไรจะเกิดขึ้นครับ?

(6)   “พ่อลำบากกับลูกมากแล้วนะ...ถ้าลูกไม่เกิดมาในบ้านนี้ก็จะดีกว่า”  

ถ้าเป็นไฟฟ้าในบ้าน   ก็เป็นเหมือนฟิวส์ขาด แล้วไฟก็จะดับไปทั้งบ้าน   ประโยคนี้นอกจากจะเป็นการทำร้ายทำลายความรู้สึก ความมั่นใจ ความสัมพันธ์ และ ความสำคัญในตนเองของลูกแล้ว   ยังเป็นเหมือนการไล่ให้ลูกออกจากบ้านโดยพ่อแม่ไม่ตั้งใจและรู้ตัว   เพราะพ่อแม่บอกกับเขาว่า “ถ้าไม่มีลูกในบ้านนี้ก็จะดีกว่า”   นอกจากเขาไม่มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิตแล้ว   ยังเป็นเศษขยะชีวิตที่พ่อแม่ต้องการกวาดเขาให้ออกไปจากบ้าน(ในความรู้สึกของลูก)   และถ้าเกิดเรื่องความขัดแย้งขัดใจระหว่างลูกกับพ่อแม่อีกครั้ง   โอกาสที่ลูกจะตัดสินใจหนีออกไปจากบ้านเกิดขึ้นได้เสมอ

ท่านครับ   คำพูดที่พ่อแม่พูดกับลูกในเวลาที่ไม่พอใจ  ต้องการให้ลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต  และพูดออกมาโดยขาดการยั้งคิดไตร่ตรอง   มันมิใช่การพูดผิดพูดพลาดไปเท่านั้น    มันเป็นเรื่องอนาคต ความเป็นความตายในชีวิตของลูกครับ

เพราะสิ่งที่พ่อแม่พูดกับลูกต้องตระหนักชัดว่า   เป็นคำพูดที่ “สร้างหรือทำลาย” ลูกของเรานะครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น