24 กุมภาพันธ์ 2554

พระกิตติคุณครึ่งใบ...?

สังคมไทยในทุกวันนี้ถูกแทรกแซง และ แทรกซึมจากวัฒนธรรมกระแสหลักที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักคิดและแนวทางการดำเนินชีวิตเสรีที่แยกส่วนแยกตัวเองออกเป็นเอกเทศ ให้ความสำคัญกับเสรีแบบปัจเจกชน เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ติดยึดกับวัตถุและประโยชน์นิยมเพื่อตนเองและพวกพ้อง มีความสุขกับการบริโภคในรูปแบบต่างๆ กระแสวัฒนธรรมโลกปัจจุบันที่หลอกลวงฉ้อฉลนี้ได้ไหลบ่าอย่างรุนแรง กระแทกชนชีวิตผู้คน ชุมชน ชาติ ไม่ละเว้นแม้แต่พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ห่างไกล และคริสตจักรที่บอกตนเองว่าเป็นสาวกของพระคริสต์

วัฒนธรรมกระแสหลักดังกล่าว มิได้ไหลบ่าเข้ามาในชุมชนเท่านั้น แต่แทรกแซงและแทรกซึมลึกลงในจิตวิญญาณ ความเชื่อศรัทธาของบรรดาสมาชิกในคริสตจักร ยังผลให้กลายเป็นคริสเตียนปัจเจกชน ที่เข้าใจพระกิตติคุณเป็นพระกิตติคุณสำหรับแต่ละบุคคล เป็นเรื่องการช่วยกู้และความรอดของแต่ละคน และการเปลี่ยนแปลงตนเองของคริสตจักรที่กำลังเป็นอยู่เช่นนี้ เป็นกระบวนการที่คริสตจักรกำลังทำลายตนเองอย่างไม่รู้เท่าทัน เพราะเป็นอิทธิพลของกระแสพลังแห่งความตายที่กำลังคืบคลานและแฝงตัวครอบงำและวางตัวเป็นใหญ่ในความเชื่อ ความคิด และความเข้าใจของคริสเตียนไทยปัจจุบัน

คริสตจักรปัจจุบันกำลังประกาศ “พระกิตติคุณยอดด้วน” (พระกิตติคุณหัวกุดท้ายด้วน) เรียกให้สุภาพหน่อยว่าเป็น “พระกิตติคุณครึ่งใบ” เพราะมิได้ให้ความสำคัญของพระกิตติคุณที่ครบถ้วน มุ่งเน้นความสำคัญที่ให้คนรับพระเยซูคริสต์ แต่ขาดการสร้างให้เป็นสาวกที่เข้าร่วมในพระวรกายของพระเยซูคริสต์และในการมีชีวิตที่ประกาศ “พระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า” คือการประกาศถึงการที่พระคริสต์ทรงครอบครองชีวิตของผู้คนและสังคม ตลอดถึงระบบสังคมด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการ “หดย่อพระกิตติคุณ” ที่เน้นเพียงแต่การตัดสินใจรับเชื่อส่วนบุคคล แต่ชีวิตคริสเตียนล้มเหลวต่อพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์ที่สั่งให้สร้างชุมชนคริสตจักรตามพระประสงค์ขึ้น เพื่อให้ชุมชนคริสตจักรได้สำแดง “แผ่นดินของพระเจ้า” ให้ผู้คนได้เห็นและสัมผัสอย่างเป็นรูปธรรม และถ่ายทอดข่าวสารของพระคริสต์ที่เป็นคำตอบชีวิตและจิตวิญญาณของผู้ที่หลงหายในวัฒนธรรมที่เจริญฟู่ฟ่า ในสังคมที่ชีวิตที่ฉีกขาดและแตกหัก ในชุมชนที่คนเล็กคนน้อยถูกย่ำยี ถูกเอาเปรียบ และถูกปล้นโอกาส และคุณค่าชีวิต

โดยทั่วไปอย่างที่เห็นๆ กัน การประกาศพระกิตติคุณของเราถูกแทรกซึมหรือรับอิทธิพลของความคิดแบบบริโภคนิยม ไม่ต่างจากการโฆษณาขายสินค้าและขายบริการคือเน้นสิ่งที่คนๆ นั้นจะได้ความรอด ความช่วยเหลือ การอวยพระพร และการประกาศแบบนี้มักเป็นการประกาศกับคนห่างไกลหรือคนแปลกหน้า เพราะเป็นการประกาศพระกิตติคุณด้วยชุดหลักการคำสอน(ที่ดูค่อนข้างตายตัว) แต่บ่อยครั้งการแสดงออกในชีวิตประจำวันมิได้ส่อสำแดงถึงพระเยซูคริสต์ แล้วคริสเตียนจะสำแดงพระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้าในสังคมทันสมัยแต่มีใจที่คับแคบ สายตาสั้น และลดทอนคุณค่าของชึวิตได้อย่างไร?

ประการที่สำคัญที่สุดคือ คริสเตียนต้องสำแดงชีวิตประจำวันให้ผู้คนรอบข้างได้มองเห็นชัดเจนว่า ชีวิตที่เข้าอยู่ภายใต้การครอบครองของพระคริสต์ในชุมชนคริสตจักรนั้นมีชีวิตและเป็นอยู่ในสภาพเช่นไร เพราะก่อนที่คริสตจักรได้รับการทรงเรียกให้ประกาศ ให้พูดและกระทำสิ่งใดๆ พระคริสต์ทรงเรียกให้ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่มีเอกภาพ รักซึ่งกันและกัน เป็นชุมชนที่ดำเนินชีวิตภายใต้การครอบครองตามพระประสงค์ของพระคริสต์ แต่น่าเศร้าใจที่คริสตจักรในปัจจุบันเกิดรอยร้าว มีแผลฉีกขาด ที่รอการเยียวยา แล้วคริสตจักรจะทำพันธกิจอะไรได้ นอกจากการประกอบศาสนพิธีเท่านั้น

คำเชิญชวนและการทรงเรียกของพระคริสต์นั้นทรงเรียกเรา “ให้เข้าไปในแผ่นดินของพระเจ้า” คือการที่เราเข้าไปเพื่อรับการกอบกู้ออกจากความเป็นปัจเจก และ ความแปลกแยก เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนประชากรของพระเจ้าที่พระองค์ครอบครอง C.S. Lewis เคยเขียนไว้ในทำนองนี้ว่า เมื่อ คริสเตียนรวมตัวกันในพระวรกายของพระคริสต์ พวกเขารักซึ่งกันและกัน ช่วยกันและกัน ชีวิตที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของพวกเขาได้กลายเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ถึงพระเจ้า... เปาโลได้ย้ำเตือนว่า คนต่างชาติซึ่งครั้งหนึ่งถูกแบ่งแยกออกจาก “พลเมืองของอิสราเอล” แต่ได้ถูกนำเข้าใกล้ “โดยพระโลหิตของพระคริสต์” เพื่อพระองค์จะทรงสร้างเขา “ให้เป็นคนใหม่” (มนุษยชาติใหม่) และทำให้ทั้งสองพวกกลายเป็นหนึ่งเดียวกันและเกิดสันติสุข และ “ให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกับพระเจ้าโดยไม้กางเขน” (เอเฟซัส 2:12-16, อมตธรรม) และนี่เป็นความหมายที่ลุ่มลึกของพระราชกิจแห่งการทรงช่วยกู้ของพระเจ้า เป็นแผนการแห่งการทรงกอบกู้ที่มุ่งหน้าจากอิสราเอลสู่การก่อร่างสร้างประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่ซึ่งก็คือคริสตจักร จะไม่เป็นยิวหรือคนต่างชาติอีกต่อไปแต่เป็นประชากรใหม่ของพระเจ้า

ในเอเฟซัส 5:30 เปาโลเขียนไว้ว่า “เราทั้งหลายเป็นอวัยวะ(อวัยวะหนึ่ง)ในพระกายของพระองค์” นั่นหมายความว่าเราเป็น สมาชิก(คนหนึ่ง) ในพระกายของพระคริสต์ เรามักเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงคำสอนในตอนนี้ เรามักเปรียบการเป็นอวัยวะหนึ่ง เป็นเหมือนเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคริสตจักร ซึ่งวัฒนธรรมกระแสหลักได้แทรกแซงความคิดความเข้าใจของคริสเตียนในที่นี้ เปาโลพูดชัดเจนว่า คริสเตียนแต่ละคนเป็นอวัยวะหนึ่ง หรือ เป็นคนหนึ่งของพระคริสต์

แต่ความเข้าใจของคริสเตียนการเป็นสมาชิกมักมีความหมายคล้ายกับการเป็นสมาชิกของสมาคม สมาชิกชมรม หรือ กลุ่ม ความหมายการเป็นสมาชิกในที่นี้ คือการที่คนๆ นั้นเต็มใจเข้าร่วมองค์กรนั้น และจะเข้าใจต่อไปว่า เมื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรใดองค์กรหนึ่งก็จะมีสิทธิในฐานะสมาชิกขององค์กรนั้น และคริสเตียนกลุ่มนี้ก็จะเข้าใจว่าการเป็นสมาชิกคริสตจักรควรมีสิทธิในฐานะสมาชิกคริสตจักรด้วย ซึ่งแตกต่างจากความจริงในพระคัมภีร์ว่า เราเป็นสมาชิกคริสตจักรหมายความว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่อคริสตจักร (พระวรกาย) และคริสตจักรมีชีวิตอยู่เพื่อพระคริสต์ แต่เรามักเข้าใจผิดเสมอว่า คริสตจักรตั้งอยู่เพื่อตัวเรา พระกิตติคุณที่ถูกแทรกซึมจากวัฒนธรรมปัจเจกนิยมจะเข้าใจคริสตจักรว่าตั้งอยู่เพื่อรับใช้หรือตอบสนองความต้องของการสมาชิกที่มาร่วมในคริสตจักร บ่อยครั้ง คริสตจักรจึงกลายเป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าพร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือกลายเป็นที่ผ่อนคลายความเครียดให้ความบันเทิง สมาชิกคริสตจักรทำตัวตามอิทธิพลบริโภคนิยม

เปาโล พยายามให้ความหมายของการเป็นสมาชิกคริสตจักร ในความหมายของการเป็นอวัยวะหนึ่งในพระกายของพระคริสต์ คือแยกออกจากพระองค์ไม่ได้ เพราะแยกจากพระองค์แล้วอวัยวะชิ้นนั้นก็หมดชีวิต แต่อวัยวะในพระวรกายของพระคริสต์จะต้องทำงานประสานเสริมหนุนกันและกัน เป้าหมายของการทำงานประสานกัน ทั้งหมดมุ่งไปสู่ความต้องการของพระกาย คือพระประสงค์ของพระคริสต์

ในตอนท้ายของเอเฟซัสบทที่สอง เปาโลเขียนไว้ว่า “ท่านทั้งหลายได้รับการสร้างขึ้นบนฐานรากของเหล่าอัครทูตและผู้เผยพระวจนะ โดยมีพระเยซูคริสต์เองเป็นศิลามุมเอก ในพระองค์ ทุกส่วนของอาคารทั่วทั้งหมดต่อกันสนิท และประกอบขึ้นเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า และในพระองค์ท่านก็เช่นกันกำลังรับการทรงสร้างขึ้นด้วยกัน ให้เป็นที่ประทับซึ่งพระเจ้าสถิตอยู่โดยพระวิญญาณของพระองค์” (เอเฟซัส 2:20-22 อมตธรรม) ในที่นี้เน้นชัดถึงแผนการแห่งการช่วยกู้ของพระเจ้าที่เป็นพระราชกิจให้เราร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์ พวกเราทุกคนร่วมกันเข้าเป็นพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตของพระวิญญาณบริสุทธิ์ มิใช่ “ข้าพเจ้าเป็นวิหารของพระเจ้า” หรือ “คุณเป็นวิหารของพระเจ้า” ชีวิตคริสเตียนเป็นชีวิตที่ได้รับการทรงเรียกให้เป็น “ชีวิตของเรา” มากกว่า “ชีวิตของฉัน”

อีกประการหนึ่งที่ต้องเข้าใจชัดเจนว่า ชุมชนคริสตจักรมิใช่เป็นที่ที่ผู้คนมาร่วมกันเพราะมีค่านิยมเดียวกัน แต่ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่ต้องการพิสูจน์ให้คนอื่นได้เห็นถึงพระราชกิจแห่งการทรงช่วยกู้ของพระเจ้าในโลกนี้ หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งคือ คริสตจักรคือชุมชนที่มุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นพยานถึงแผ่นดินของพระคริสตที่เข้ามาในโลก การเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงพระราชกิจของพระเจ้านี้เริ่มต้นที่การกลับใจของแต่ละชีวิตแต่ละคน ที่ทำให้แต่ละคนได้รับการเปลี่ยนแปลงชีวิต พลังการเปลี่ยนแปลงชีวิตนี้เกิดการก่อตัวเป็นพลังร่วมในชุมชนคริสตจักร ชุมชนคริสตจักรมีเจตนาที่จะเป็นพยานถึงการเสริมสร้างสัมพันธภาพใหม่กับพระเจ้า และสัมพันธภาพที่มีต่อกันและกันระหว่างสมาชิกในชุมชนคริสตจักร เป็นชุมชนที่ยอมสละชีวิตของตนเองด้วยความรักกรุณา เพื่อมีชีวิตที่ทวนกระแสวัฒนธรรมหลักปัจจุบัน

พระเยซูคริสต์ทรงตั้งหลักการประการหนึ่งสำหรับความเชื่อศรัทธาที่แจ้งชัดแท้จริงสำหรับคริสตจักรเมื่อพระองค์ตรัสว่า 35ถ้าเจ้าทั้งหลายรักกันและกัน ดังนี้แหละคนทั้งปวงก็จะรู้ได้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:35 TBS71b) ในคำอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ในยอห์นบทที่ 17 ได้กล่าวย้ำว่า เอกภาพในความสัมพันธ์ของเรานั้นทำให้ผู้คนเห็นชัดว่าพระบิดาได้ส่งพระบุตรเข้ามาในโลก เอกภาพในความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นพยานที่มีพลังและอิทธิพลของคริสตจักรในสมัยเริ่มแรกด้วยการที่ “ผู้เชื่อทั้งปวงมีความคิดจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีใครอ้างว่าทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นของตนเอง แต่พวกเขาแบ่งปันทุกสิ่งที่ตนมี” (กิจการ 4:32 อมตธรรม) การที่เขารักกันและกันเป็นพลังที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาร่วมเป็นสาวกในชุมชนคริสตจักร ทำให้เกิดพลังอำนาจในการประกาศว่า พระคริสต์เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอด

คำถามที่คริสตจักรจำเป็นจะต้องถามตนเองว่า ปัจจุบันเรากำลังตกเป็นทาสของวัฒนธรรมกระแสหลักเหมือนอิสราเอลที่ต้องตกไปเป็นเชลยที่บาบิโลนหรือไม่? ถ้าใช่ นั่นเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง แต่ในฐานะชุมชนคริสตจักรของพระคริสต์ ถ้าเรายอมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในพระวรกายของพระคริสต์ และประกาศถึงพระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า ย่างก้าวแรกที่ไม่ต้องสงสัยคือ แต่ละคนต้องกลับใจเสียใหม่ แต่เราจะไม่หยุดเพียงแค่นั้น แต่ยอมมอบกายถวายชีวิตให้เป็นของพระคริสต์ด้วยการมีชีวิตรักกันและกันในชุมชนคริสตจักรซึ่งเป็นพระมหาบัญชาของพระคริสต์ และเป็นชีวิตที่เป็นพยานอย่างเป็นรูปธรรมถึงแผ่นดินของพระเจ้า

ชุมชนคริสตจักรปัจจุบันต้องไม่ยอมมีชีวิตในพระกิตติคุณครึ่งใบเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น