14 พฤษภาคม 2558

ยิ่งแก่ยิ่งแกร่ง!

ฉะนั้น​เรา​จึง​ไม่​ย่อ​ท้อ ถึง​แม้​ว่า​สภาพ​ภาย​นอก​ของ​เรา​กำ​ลัง​ทรุด​โทรม​ไป
แต่​สภาพ​ภาย​ใน​นั้น​ก็​ได้​รับ​การ​เปลี่ยน​ใหม่​ทุก ๆ วัน
(2 โครินธ์ 4:16 มตฐ.)

วันนี้ผมนั่งคุยกันในกลุ่มคนที่ไม่ได้รับราชการแต่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลเดือนละหกร้อย/เจ็ดร้อยบาทต่อเดือน   มีคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า   ทุกวันนี้อะไรครองโลก?   เพื่อนเราตอบไปต่าง ๆ นานา   ตั้งแต่ เทคโนโลยีสมัยใหม่จนถึงอำนาจแห่งวิญญาณชั่ว  แต่มีเด็กหญิงอายุประมาณ 12 ปีที่คุณตาพามาด้วยพูดขึ้นว่า “คนแก่”

ใช่!  ถ้าคนแก่ครองโลกแล้วโลกนี้จะเป็นอย่างไร?

เมื่อพูดถึงเรื่อง “คนแก่” ใช่ว่าทุกคนจะมีมุมมองเรื่องนี้เหมือนกัน   แต่ก็พอประมวลขมวดเป็น 3 มุมมองหลักคือ

มุมมองแรก   เขามองว่า ความแก่เป็นเรื่องของอายุ  กล่าวคือ มองความแก่ตามอายุจำนวนปีเดือนที่เกิดมาในโลกนี้   ถึงกับมีคำกล่าวว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข”   ตามมุมมองนี้คนเราไม่มีความสามารถที่จะไป “หยุด” การเพิ่มมากขึ้นของอายุ

มุมมองที่สอง   มุมมองความแก่ตามสภาพของร่างกายที่เห็น  โดยธรรมชาติทั่วไปแล้ว  คนที่มีอายุมากขึ้นมักจะมีร่างกายที่เสื่อมโทรม อ่อนแอลงไปเป็นธรรมดาโลก   เช่นมีคำพูดกันว่า  “เขามาเป็นผู้จัดการได้อย่างไร  ดูซิ แก่จนเดินไม่ไหวแล้ว   หาคนหนุ่มสาวที่แข็งแรงกว่านี้ไม่มีแล้วหรือในวงการของเรา?”  

แต่ว่า  บางคนอายุยังไม่เท่าใดแค่ดูหน้าแก่  ผมตกเป็นจำเลยในกรณีนี้  คนรอบข้างมักมองว่าผมแก่กว่าพี่ชาย หรือ พี่ชายดูหนุ่มกว่าผม   แล้วมักทักผมว่า “ได้พบกับน้องชายยัง  เขามาเชียงใหม่วันนี้นะ?”   ใช่ครับ  ผมของผมก็หงอก   แต่พี่ชายมีผมดกดำ (แต่มีบางคนกระซิบบอกผมว่า  พี่เขาย้อมผม)   บนใบหน้าของพี่ชายยังไม่มีรอย “ตีนกา” แต่เพื่อนสนิทของผมเขาบอกว่าผมก็ไม่มีตีนกาเหมือนกัน  แต่เป็น “ตีนอีแร้ง”? (นี่กำลังให้กำลังใจกันหรือเปล่าเนี่ยะ?)   รวมความว่า   คนเรามักมองกันว่าแก่หรือไม่ด้วยสภาพร่างกายของคน ๆ นั้นที่คนอื่นจะมองเห็นได้

มุมมองที่สาม   แก่ไม่แก่มันอยู่ที่ใจ!  คนเรามองกันว่าแก่ไม่แก่ขึ้นอยู่ที่สภาพจิตใจของคนนั้นที่มีอิทธิพลแสดงออกในการดำเนินชีวิตประจำวันของเขา  และที่สำคัญมุมมองที่สามนี้สร้างพลังต่อการรู้สึกของคน ๆ นั้นว่าแก่ไม่แก่แค่ไหน!  

ขอตั้งข้อสังเกตว่า  การมองความหนุ่มสาวแก่หง่อมตามอายุปฏิทินที่มนุษย์คิดสมมติขึ้น   แน่นอนครับเราไปหยุดเวลาตามปฏิทินไม่ได้   แต่ถ้าเราจะใช้มุมมองวัดความแก่ตามสภาพร่างกายแล้ว   ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเคยใช้ชีวิตและเอาใจใส่สุขภาพร่างกายของตนในอดีตที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน   แต่มารู้ตัวอีกทีดูเหมือนว่า เราจะกลับไปเป็นเหมือนวันเก่าก่อนคงลำบาก   จะย้อนยุคย้อนเวลากลับไปดูแลสุขภาพใหม่ก็ไม่ได้   คนกลุ่มนี้มักรับไม่ได้กับร่างกายที่เสื่อมทรุดโทรมลง   ยิ่งกว่านั้น กลับไปมีจิตใจที่เกาะยึดอยากกลับไปมีชีวิตเหมือนเมื่อยังหนุ่มยังสาว   แต่บางคนที่มีอายุและสภาพร่างกาย 80 ปี  แต่จิตใจของเขาดูเหมือนเพิ่ง 45 ปี  ดูเขาไม่เหมือน “คนแก่” 

ถึงแม้คำว่า “คนแก่” จะมีนัยยะไม่เลวร้ายเท่ากับคำว่า “คนชั่ว”   แต่ในห้วงความคิดและมุมมองของเราส่วนใหญ่ก็ยังมีมุมมองต่อคำว่า “คนแก่” เอียงไปทางลบอยู่ดี   ไม่ว่าจะแก่หง่อมเงอะงะ  โรคภัยรุมสุม  นอนไม่หลับ  ผู้คนที่มาสัมผัสสัมพันธ์ด้วยน้อยลง (ไม่เหมือนตอนเป็น “หมาล่าเนื้อ” ที่มีหน้าที่ตำแหน่งการงาน)   ตาฝ้าฟาง  หูตึง  หลังค่อม  เดินตุปัดตุเป๋  ฯลฯ   แต่เราต้องไม่ลืมคำถามของพระคริสต์ที่ว่า “มี​ใคร​ใน​พวก​ท่าน​ที่​โดย​ความ​กระ​วน​กระ​วาย สามารถ​ต่อ​อายุ​ของ​ตน​ให้​ยืน​นาน​ขึ้น​อีก​นิด​หนึ่ง​ได้” (มัทธิว 6:27 มตฐ.)

แต่เราเคยคิดเคยมองว่า “ยิ่งแก่ชีวิตยิ่งแกร่ง”  หรือไม่?

นี่มิใช่กระบวนการ “หลอกตนเอง”   แต่เป็นกระบวนการที่ต้องเปิดใจยอมรับความจริง   ยอมรับการฝ้าฟางของตา  ความตึงของหู  ความเชื่องช้างุ่มง่ามของร่างกาย  “สภาพภายนอกของเรากำลังทรุดโทรมไป”   ต่อให้ใช้เครื่องสำอางของสำนักไหนก็เอาไม่อยู่   เราอาจจะลบรอยตีนกาบนใบหน้าวันนี้   พรุ่งนี้มันก็กลับมาใหม่

แต่จิตใจและจิตวิญญาณภายในเราไม่ได้แก่ไปพร้อมกับอายุและร่างกาย!  การทำงานภายในชีวิตของเราสวนกระแสกับวิธีทำงานของร่างกายภายนอกและเวลาตามปฏิทิน และที่สำคัญคือ ไม่ควรมี “รอยตีนกา” บนชีวิตจิตวิญญาณของเรา! แต่ให้ชีวิตจิตวิญญาณภายในของเรา “ได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ทุก ๆ วัน”   ฉบับอมตธรรม แปลว่า “แต่จิตใจภายในของเรากำลังฟื้นขึ้นใหม่ทุกวัน”  คิดถึงการเป็นขึ้นจากความตายและมีชีวิตใหม่ของพระคริสต์

นี่ไงครับที่ว่า “ยิ่งแก่ชีวิตยิ่งแกร่ง”  แกร่งเพราะชีวิตในวัยนี้เกิดคุณค่าและความหมายตามพระประสงค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น