16 มกราคม 2558

ท่านเป็นผู้นำแบบไหน?:

ช่วยให้ทีมงานพบความคิดของตนเอง หรือ ใส่ความคิดให้กับทีมงาน?

โดยทั่วไปแล้ว ผู้นำมักมองตนเองหรือบ่อยครั้งที่คนอื่นมองว่า “ผู้นำ” ต้อง “เก่ง” กว่าคนอื่นในทีมงาน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักคิดว่า “ผู้นำ” ต้องเป็นคนที่มีความรู้  มีข้อมูล ที่รอบด้าน  ที่เป็นปัจจุบัน และ ครบถ้วนกว่าลูกน้องในทีมงาน   ดังนั้น ผู้นำประเภทนี้จึงมักทำหน้าที่ “ใส่” ข้อมูล ความรู้ และวิธีการให้แก่ลูกน้องในทีมงาน   เพื่อพวกเขาจะทำงานที่มีประสิทธิภาพ และ เกิดประสิทธิผล (ตามที่ตนต้องการ) มากยิ่งขึ้น

และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นกรอบความคิดของผู้นำที่ “หลอกตนเอง”   เป็นความจริงและเป็นความรับผิดชอบของผู้นำที่จะต้องทำให้ทีมงานมีความรู้ ข้อมูล และวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นปัจจุบัน   แต่ผู้นำไม่จำเป็นจะต้องเป็น “ผู้รอบรู้” แต่เพียงผู้เดียว   เพราะในความจริงแล้วสิ่งที่ผู้นำรู้  อาจจะมีคนอื่นในทีมงานที่รู้ด้วย   เพียงแต่เขาอาจจะมีวีการนำเสนอ  กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างจาก “ผู้นำ” เท่านั้น   และในความแตกต่างกันนั้นมิใช่ของผู้นำดีกว่ามีประสิทธิภาพกว่า คนในทีมงานคนอื่น ๆ เสมอไป

หน้าที่ของ “ผู้นำ” คือ ทำอย่างไรที่จะให้ทีมงานมีข้อมูล ความรู้ และทักษะวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด   จะด้วยการนำเสนอ หรือ การสื่อสารแบ่งปันของผู้นำต่อทีมงาน   หรือ  การทำหน้าที่กระตุ้น หนุนเสริม หรือ ดูดดึงความคิด ข้อมูล หรือ ทักษะดังกล่าวจากทีมงานบางคนที่มีความสามารถ  และที่เราไว้เนื้อเชื่อใจ   ให้เขาเป็นผู้ที่นำเสนอความคิด ข้อมูล วิธีการใหม่ ๆ สำคัญ ๆ แก่ทีมงาน

ผู้นำบางคนอาจจะรู้สึกว่า   ตนไม่ได้แสดงถึงภาวะผู้นำของตนต่อทีมงาน   และเกรงว่าภาวะผู้นำของตนจะลดทอนลง และ คนอื่นในทีมจะมีความสามารถมีอิทธิพลต่อการนำทีมขยับมากขึ้นกว่าตน   จนกลายเป็นความคิดที่หลอกตนเองว่า  “ภาวะผู้นำคือการที่เราต้องเหนือกว่าคนอื่น ๆ ทีมงาน”   “ภาวะผู้นำคือคนที่รู้ทุกเรื่อง ทำทุกสิ่งได้ดีกว่าคนอื่น”   ถ้าผู้นำที่มีความคิดที่ “หลอกตนเอง” เช่นนี้ย่อมจะไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนอื่นแสดงความรู้ ความคิด ข้อมูล และ วิธีการที่สำคัญแก่ทีมงาน   เพราะ “กลัว” ลูกทีมบางคนจะเกินหน้า   และนี่คือจุดแห่งภาวะถดถอยขององค์กร

ผู้นำต้องยอมรับความจริงอีกประการหนึ่งว่า   ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ผู้นำนำเสนอ หรือ ใส่ข้อมูลลงไปในทีมงานจะเป็นที่ “ยอมรับ” ของลูกทีมเสมอไป   แต่ผู้นำกลับมาคิดน้อยอกน้อยใจเมื่อคนในทีมงานเสนอเรื่องเดียวกัน   แต่อาจจะมีวิธีการสื่อสารนำเสนอที่แตกต่างกัน   กลับเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เข้าอกเข้าใจของทีมงาน   ผู้นำที่หลอกตนเองก็จะพยายามชี้ให้คนอื่นในทีมงานเห็นว่า   สิ่งที่คนนั้นนำเสนอก็เรื่องเดียวกันกับที่เขาได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้   พยายามทำตนเป็น “เจ้าของความคิด”    ไม่ต่างอะไรกับอาการของสุนัขที่ถ่ายปัสสาวะรดที่ต่าง ๆ เพื่อประกาศความเป็นเจ้าของอาณาเขตเช่นใดเช่นนั้น

การกระทำเช่นนี้ของ “ผู้นำที่หลอกตนเอง” กลับสร้างความขัดแย้งในใจของลูกน้องในทีมงาน  หรือทำให้คนอื่นในทีมงานเห็นว่า ผู้นำจิตคับใจแคบไม่ยอมรับความคิดเห็น หรือ ข้อเสนอของคนอื่นในทีมงาน   และในความเป็นจริงหนึ่งคือ ตัวผู้นำเองมีศักยภาพความสามารถในการสื่อสารในบางเรื่องที่อาจจะด้อยกว่าคนในทีมงานก็ได้

การที่ผู้นำยอมรับความจริงเหล่านี้   แทนที่ผู้นำจะแสดงออกถึงการที่ตนเองเป็นผู้รู้ทุกเรื่องเก่งในทุกสิ่ง   แต่กลับเสาะแสวงหาทีมงานที่มีข้อมูลความรู้ และ ทักษะความสามารถในด้านต่าง ๆ   แล้วช่วยดูดและดึงเอาสิ่งดี ๆ เหล่านั้นออกมาจากคน ๆ นั้น   แล้วให้เขานำเสนอสื่อสารกับทีมงาน   การกระทำเช่นนี้ เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและคุณค่าในตัวทีมงานแต่ละคน   อีกทั้ง คนในทีมได้เห็นถึงความใจกว้างและความใส่ใจในการหนุนเสริมคนในทีมงานของผู้นำ   ทีมงานจะยอมรับในตัวผู้นำมากยิ่งขึ้น   และไว้วางใจผู้นำของตนอย่างไม่คลางแคลงใจใด ๆ    และนี่เป็นสายร้อยรัดเชื่อมประสานให้ทีมงานมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งขึ้น

ผู้นำในวันนี้เขาเลิกที่จะทำตัวเป็น “พระเอก” ในทีมงาน   แต่มุ่งสร้างพระเอกในทีมงานให้มีหลากหลายคนหลากหลายบทบาทที่หนุนเสริมกันและกัน   นำไปสู่ทีมงานที่ทรงประสิทธิภาพและขับเคลื่อนไปอย่างมีคุณภาพ

ณ วันนี้   เราต้องการผู้นำที่มีความสามารถในการดูดดึงความคิดความสามารถให้ออกมาจากจากทีมงานแต่ละคนให้มากมายหลากหลายที่สุด   เพราะนั่นเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและพลังความสามารถแก่การทำงานของทีมงาน   อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างเติมเต็มพลังใจ   ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในทีมงาน   และการขับเคลื่อนที่ประสานหนุนเสริมกันและกันอย่างเป็นระบบ   และทีมงานแต่ละคนทำงานด้วยความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองด้วย

วันนี้เราต้องการผู้นำที่ “สร้างพระเอก” ในทีมงานให้มีมากมายหลากหลาย   มากกว่าผู้นำที่ทำตัวเป็น “พระเอก” ในทีมงานเสียเอง   เราต้องการทีมงานที่ทุกคนเป็นเจ้าของ   ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิด การแสดงความคิดเห็น   มีส่วนในการวางแผน  และมีส่วนในการขับเคลื่อนตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละคนในทีมงาน   เราไม่ต้องการทีมงานของผู้นำที่เป็นคนเก่งอยู่เพียงคนเดียว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น