08 ธันวาคม 2554

รอคอยแบบไหน?

เทศกาลเตรียมรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์เป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอย แต่การรอคอยเป็นสิ่งที่ไปคนละทางกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ขาดความอดทนในการรอคอย

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป: จากการรอคอยสู่ความรีบเร่ง

อย่างที่เราท่านมีประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวันแล้วว่า ในสังคมสมัยใหม่หรือสังคมแห่งความทันสมัยนี้เป็นวัฒนธรรมให้คุณค่ากับการเกิดผลิตผล ผลงานที่เกิดขึ้น ประโยชน์ที่ได้รับ และความสำเร็จในชีวิต ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นถ้าเราสามารถได้สิ่งเหล่านี้โดยการลงทุนลงแรงและใช้ความพยายามที่น้อยลง ใช้เวลาน้อยลง เอื้ออำนวยความสะดวกสบายมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น เช่น การซักผ้าด้วยเครื่องซักผ้า และในเวลาเดียวกันเราก็เกิดความรู้สึกที่ต้องเร่งรีบไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว

ชีวิตทุกวันนี้ตกอยู่ในสภาพเร่งรีบ เร่งรัดมิใช่หรือ? แม้แต่อาหารเช้าของฝรั่งเขายังเรียกว่า “หยุดความรีบเร่ง” (breakfast) นี่แสดงว่ายังรู้ตัวอยู่บ้างนะ แต่กลับยอมรับความรีบร้อนเป็นบรรทัดฐานในวิถีชีวิตของคนเราในปัจจุบัน

สิ่งสำคัญคือเราท่านถูกเลี้ยงดูหล่อหลอมให้เติบโตในวัฒนธรรมความรีบร้อน มีความอดทนรอคอยลดน้อยลง และเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ถูกคนรุ่นเราหล่อหลอมต่อไป อิทธิพลวัฒนธรรมความรีบเร่งรีบร้อนนี้กำลังแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างสู่สังคมชนบท และ ชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์ เฉกเช่นการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ผมมีโอกาสไปทำวิจัยในชุมชนหนึ่งในพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่ภูเขาอำเภอแม่ออน เชียงใหม่ ของ “คนเมือง” เขาเปลี่ยนไปทำไร่ข้าวโพดอ่อนส่งบริษัท จากการสนทนากลุ่ม ชาวบ้านได้เล่าว่า “ตอนนี้พวกเรากำลังปลูกพืชไร้ญาติ” ทำให้ผมงงอย่างยิ่ง จนออกปากถามว่าทำไมถึงว่าอย่างนั้นครับ? พวกเขาช่วยกันอธิบายว่า เมื่อก่อนนี้เวลามีงานแต่ง งานตาย งานบุญ พวกเราจะไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในฐานะเป็นญาติพี่น้องเป็นคนในชุมชนด้วยกัน แต่เมื่อมาทำไร่ข้าวโพดอ่อนเราไม่มีเวลาไปงานเช่นนั้น ได้แต่ฝากซองไปเท่านั้น ทำให้เราเห็นชัดว่าเราไม่มีความสัมพันธ์อย่างในวัฒนธรรมเดิมของเรา ปัจจุบันพวกเราเป็นเหมือนคนไม่มีญาติ ไม่มีมิตร มีแต่การเป็นสมาชิกสหกรณ์เท่านั้น

วัฒนธรรมทันสมัยแห่งความรีบเร่ง รีบร้อน และการทุ่มเทชีวิตเวลาทั้งหมดที่เรามีให้กับ “ผลผลิตและรายได้” จนต้องตัดสิ่งที่เคยมีค่าอื่นๆ ออกไปจากชีวิต แล้วกลับมารับเอาบรรทัดฐานคุณค่าชีวิตระบบใหม่คือ “ผลผลิตและรายได้” คือคำตอบของชีวิต ดังนั้น จึงทุ่มเททุกวิถีทางให้ได้ผลผลิตและรายได้ให้มากที่สุด ลงแรงลงทุนน้อยที่สุด หรือถ้าจำเป็นต้องทำบางสิ่งบางวิธีที่อาจจะขาดด้อยด้านศีลธรรม จริยธรรม หรือ ตัดทอนความเชื่อความศรัทธาบางประการออกไปก็ยอมทำ ขอให้ได้มาเพียง “ผลผลิตและรายได้ และ ความสำเร็จ” ที่อยู่ข้างหน้า(และอยากได้มากขึ้น)

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสร่วมทีมวิจัยเรื่องชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในบริบทต่างๆ เช่น พี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง พี่น้องชาติพันธุ์ลาหู่ พี่น้องคริสตจักรในพื้นที่ราบทั้งในเมืองใหญ่ ชานเมือง และชนบท สิ่งที่ผมพบว่าในทุกบริบทมีเหมือนกันคือ วัฒนธรรมความรีบเร่งรีบร้อนในชีวิตคริสเตียน เวลาที่เราจะมีสัมพันธภาพกันอย่างที่ผ่านมาในอดีตน้อยลงจนเกือบขาดหายไป แต่ที่น่าตกใจครับ เราพบความจริงว่า สมาชิกส่วนใหญ่ในคริสตจักรทุกบริบทไม่เว้นแม้แต่ในคริสตจักรของพี่น้องชาติพันธุ์ที่เราเข้าใจว่า “เคร่งครัด” และมีชีวิตใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า กลับเปลี่ยนเป็นชีวิตที่รีบเร่งและรีบร้อนที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิตในแต่ละวัน จนไม่มีเวลาที่จะสงบใจอธิษฐานกับพระเจ้า และ ใคร่ครวญถึงพระวจนะของพระองค์ เพราะต้องใช้เวลาในการทำมาหากิน เวลาสุมหัวรวมกลุ่มพูดคุยกันก็จะพูดคุยในเรื่องการทำมาหากิน และ สาระบันเทิงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจจากสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน เพราะรู้สึกว่าชีวิตนี้ทำงานหนักมาตลอดทุกวัน ต้องการการพักผ่อน ต้องการความบันเทิงในชีวิต โทรทัศน์รายการต่างๆ ละครสำหรับแม่บ้านและเยาวชนคนหนุ่มสาว มวยสำหรับพ่อบ้านและผู้ชาย ตั้งวงสนทนาแล้วดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่อนคลายความเหนื่อยอ่อน และ ฯลฯ ระบบคุณค่าในชีวิตและชุมชนแม้แต่คริสตจักรเปลี่ยนไปมากแล้วครับ

โอกาสพลิกฟื้นรับพระคริสต์เข้าในชีวิตประจำวัน

แล้วช่วงเวลาของเทศกาลเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นได้จริงหรือครับ? นอกจากการประกอบศาสนพิธีในโบสถ์วันอาทิตย์ที่ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล และผู้ปกครองพยายามทำให้มีขึ้นตามเทศกาล สมาชิกแต่ละคน ผู้ปกครองแต่ละท่าน ศิษยาภิบาลแต่ละครอบครัวจะสามารถเอาชนะวัฒนธรรมสมัยใหม่แห่งความรีบร้อนเร่งรัดนี้ได้เช่นไร คริสตจักรปัจจุบันจะช่วยให้สมาชิกคนในคริสตจักรที่จะ “รอคอย” พระเจ้า ใคร่ครวญถึงน้ำพระทัยของพระองค์ แสวงหาความเข้าใจถึงพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร? เราจะแน่ใจได้ไหมว่า ระบบคุณค่าของศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง มัคนายก และสมาชิกวัยต่างๆ ในคริสตจักรมิได้เปลี่ยนแปลงและถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมทันสมัยที่เร่งรัดรีบเร่งดังกล่าวมาแล้ว?

ในช่วงเวลาของการเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระคริสต์ในชีวิตของเราน่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าในการพลิกฟื้นชีวิตและจิตวิญญาณของเราให้เข้มแข็ง มีพลัง เติบโตขึ้นในพระคริสต์ขึ้นใหม่ ทุกวันในช่วงเวลานี้วันหนึ่งอย่างน้อย 10-15 นาทีขึ้นไปเราควรจะ “หยุด” ความรีบเร่งรีบร้อนในชีวิตของเรา เหมือนเราหยุดรถเมื่อมาถึงทางแยก เพื่อดูซ้ายดูขวา ดูหน้าดูหลัง ก่อนจะตัดสินใจเคลื่อนรถต่อไป

ในความรีบเร่งเราจะไม่หยุดรถ เพราะเราคิดว่า “เราเป็นทางเอก” รถคันอื่นต้องหยุดให้ฉันผ่านไปก่อน หรือไม่ก็คิดว่าถนนน่าจะว่างเลยไม่หยุดรถดูซ้ายดูขวา หรือเพราะไฟมันสีเหลืองแล้ว เร่งส่งให้ทันพ้นก่อนไฟแดง หรือไม่ก็บอกกับตนเองว่า ไฟเพิ่งสีแดง ไฟของแยกอื่นยังไม่เขียว รีบเร่งข้ามไปก่อนที่จะต้องเสียเวลารออีก 4-5 นาที และเราก็ใช้นิสัยนี้กับชีวิตและความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าด้วยครับ (จะรู้ตัวหรือไม่ก็มีค่าเหมือนกันครับ)

ให้เรา “หยุด” ความรีบเร่งร้อนใจในชีวิตของเราแต่ละวันอย่างน้อยครั้งละ 10-15 นาทีเพื่อที่จะสงบใจกลับมาอยู่ตรงหน้าพระเจ้า มีเวลาใคร่ครวญถึงพระวจนะของพระองค์ มีเวลาที่จะสนทนาและฟังเสียงของพระองค์ในห้วงสำนึก ความคิด และในจิตวิญญาณของเรา อธิษฐานต่อพระองค์ แสวงหาน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์

จากนั้น ในช่วงที่เราดำเนินชีวิต ทำการงานในวันนั้น ให้เราไวและสนใจว่า พระเจ้าสำแดงพระประสงค์ ผ่านการงานและชีวิตของเพื่อนรอบข้างอะไรบ้าง พระเจ้าตรัสผ่านเพื่อนฝูงคนสนิทอะไรบ้าง แล้วคิดใคร่ครวญว่าเราจะตอบสนองพระองค์อย่างไรท่ามกลางธุรกิจการงาน ความรับผิดชอบ และสัมพันธภาพที่เรามีต่อคนรอบข้าง พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้างเรา พระองค์สำแดงอะไรบ้างแก่เราในวันนี้ เราจะตอบสนองพระองค์อย่างไร?

แท้จริงแล้ว การรอคอยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือเราคุ้นชินกับการรอคอย

หลายคนมีประสบการณ์เชิงลบกับการรอคอย หลายคนไม่ชอบการรอคอย จนมีเพลงเก่าแก่เพลงหนึ่งบอกว่า “การรอคอยคือความเจ็บปวด”

เรารอคอยในลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนรอคอยการกลับมาของลูกที่ไปทำงานในต่างจังหวัด/ต่างแดน วันนี้บางคนต้องยืนแถวรอคอยที่จะคิดเงินและจ่ายเงินในห้างสรรพสินค้า บางคนรอยคอยคำตอบจากบริษัทที่ตนไปสมัครงานไว้ บางคนรอคอยที่จะมีบุตร บางคนรอคอยว่าปีนี้จะได้เงินโบนัสเท่าไหร่ บางคนรอคอยที่จะมีคนมาซื้อที่ดินของตน หรือบางคนรอคอยว่าธนาคารจะตอบอย่างไรกับเงินที่ไปทำเรื่องกู้ไว้ หลายต่อหลายคนรอคอยว่าเมื่อไหร่ที่วิกฤติเศรษฐกิจจะผ่านพ้นไปสักที และเมื่อไหร่หนอโอกาสทองทางเศรษฐกิจจะมีมาอีกคำรบหนึ่ง?

รอคอยแบบไหน?

ประสบการณ์การรอคอยในช่วงเวลาการเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระคริสต์จะแทรกซึมเข้าในจิตวิญญาณ และช่วยให้การรอคอยในชีวิตในภาวการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นให้เป็นการรอคอยที่มีคุณค่าและความหมายในชีวิตได้อย่างไร?

การรอคอยโดยทั่วไปแล้ว เรารอคอยผลที่เราคาดหวังหรือต้องการให้เกิดขึ้น สิ่งที่ทำให้เรา “อดทน” คือความหวังนั้น ถ้าสิ่งที่เราคาดหวังเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเท่าใดในชีวิตของเรา เราก็จะอดทนได้มากเท่านั้น สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ถ้าในที่สุดสิ่งที่เราคาดหวังเกิดขึ้นเป็นจริง เราก็ดีใจ เรารู้สึกว่าการรอคอยของเราประสบความสำเร็จ เรามีประสบการณ์เชิงบวกต่อการรอคอย และจะส่งผลต่อการรอคอยครั้งต่อๆ ไปในชีวิต

ถ้าการรอคอยนั้นไม่เกิดผลตามคาดหวัง เราจะรู้สึกว่า “เสียเวลา” ที่รอคอย เกิดความไม่พอใจ จะรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับความคาดหวังในการรอคอยครั้งนั้นว่ามากน้อยแค่ไหน และแน่นอนครับ ประสบการณ์การรอคอยครั้งนี้ก็จะประทับตราเชิงลบในชีวิตจิตใจของเราและมีผลกระทบต่อการรอคอยครั้งต่อๆ ไปในชีวิตด้วยเช่นกัน

แต่การรอคอยในช่วงเวลาการเตรียมชีวิตรับการเสด็จมาของพระคริสต์นั้นแตกต่าง! อย่างน้อยที่สุดมุมมองของการรอคอยการเสด็จมาของพระคริสต์มิใช่การรอคอยในสิ่งที่เราต้องการและคาดหวังในสิ่งที่เราต้องการ แต่เป็นการรอคอยที่แสวงหาว่า ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราผ่านพบในแต่ละวันนั้น พระคริสต์มีพระประสงค์ให้เราทำอะไร ทำอย่างไร ทำกับใคร ทำเพื่ออะไร? นั่นหมายความว่า การเตรียมรับการมาของพระคริสต์คือการเตรียมรับพระประสงค์ของพระเจ้าในเหตุการณ์ที่เราพบเจอในแต่ละวัน เป็นพระประสงค์ของพระคริสต์ที่ต้องการให้เรามีส่วนร่วมกับพระองค์ ที่เราพบเจอในที่ทำงาน ที่เราพบเจอในชุมชน และที่เราพบเจอในคริสตจักรด้วย

ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาของการรอคอยที่แสวงหาพระประสงค์ที่เราจะร่วมพระราชกิจกับพระเจ้าท่ามกลางสถานการณ์ที่เราพบในชีวิตของเรา การที่เราต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละวัน ทั้งที่เราพึงพอใจและสลดท้อแท้ใจ จึงเป็นเวลาที่เราจะใคร่ครวญ แสวงหา ฟังพระสุรเสียงภายในชีวิตจิตใจของเราว่า พระองค์มีพระประสงค์อะไร เพื่อเราจะรับการมาของพระประสงค์นั้น และมอบกายถวายชีวิตเพื่อทำตามพระประสงค์ดังกล่าว ถ้าเรายอมให้พลังแห่งการเสด็จมาของพระคริสต์แทรกซึมเข้าในชีวิตจิตวิญญาณของเราเพื่อขับเคลื่อนชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ เช่นนี้แล้ว แน่นอนครับ เราจะประสบพบกับคุณค่าและความหมาย และความชื่นชมยินดีในการเสด็จมาของพระคริสต์ครับ

ถ้าเช่นนั้น ในช่วงเวลาแห่งการเสด็จมาของพระคริสต์ในชีวิตของเราและที่พระคริสต์ทรงบังเกิดในชีวิตของเรา จึงเป็นช่วงเวลาและโอกาสในชีวิตของเรา ที่จะสำแดงน้ำพระทัยของพระคริสต์ที่ทรงเอาใจใส่ปกป้อง ปลอบประโลม ช่วยกอบกู้ผู้เล็กน้อยผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคน และ ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มนุษย์กลุ่มต่างๆ สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แห่งตน

ให้จิตวิญญาณแบบพระคริสต์บังเกิดแทรกซึมเข้าเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตวิญญาณของเรา เฉกเช่น พระราชกิจของพระเมสสิยาห์ตามอิสยาห์ 40:1-11 พระเมสสิยาห์เป็นเหมือนผู้เลี้ยงแกะที่อิสราเอลรอคอย และนี่เป็นพระราชกิจที่พระคริสต์รอคอยให้เราท่านเข้ามีส่วนร่วมตามลักษณะการกระทำพระราชกิจของพระองค์ที่ว่า

พระองค์ทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์เหมือนผู้เลี้ยงแกะ
พระองค์ทรงรวบรวมลูกแกะไว้ด้วยพระกรของพระองค์
พระองค์ทรงอุ้มไว้ที่พระทรวง
และจะค่อยๆ นำแม่แกะที่มีลูกอ่อน(ไปพร้อมกับพระองค์)
(อิสยาห์ 40:11 ฉบับมาตรฐาน ในวงเล็บเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
089-2628-310

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น