09 เมษายน 2561

ขั้นตอน 5-7 ในการรับมือ...จากผลการกระทำผิดพลาด


จากตอนก่อนเราได้แบ่งปันกันถึงขั้นตอนที่ 1-4 ในการรับมือกับผลที่เกิดขึ้นที่มีการกระทำผิด  
(1) ให้เราเป็นคนแรกที่บอกถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  (2) ระบุถึงความร้ายแรงของปัญหาทั้งหมด  
(3) ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด   ถึงแม้ว่าท่านมิใช่ต้นเหตุหลักก็ตาม และ (4) สร้างโอกาสที่ทีมงานจะร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกให้รู้เท่าทันปัญหา   ในตอนนี้จะเป็นสามขั้นตอนสุดท้าย

5.   ต้องการความช่วยเหลือ

โดยธรรมชาติ การยอมรับว่าเป็นการกระทำผิดของตนอาจจะยังมีความรู้สึกอับอาย หรือ กลัวอะไรบางอย่างอยู่  แต่เมื่อเรายอมรับว่านี่เป็นความรับผิดชอบของเรา  ดังนั้นสำนึกที่จะต้องลุกขึ้นรับมือและจัดการผลการกระทำผิด เป็นตัวกระตุ้นให้เราลุกขึ้นเอาชนะความกลัวและความรู้สึกอับอายดังกล่าว

เหมือนกับเรื่องเด็กทำแจกันของแม่ตกแตก  รีบเก็บเศษ และ ชิ้นส่วนของแจกันที่แตกซ่อนไม่ให้ใครเห็น   และพยายามหาทางเชื่อมชิ้นส่วนแจกันนั้นด้วยกาวหวังว่ามันจะกลับมาเป็นแจกันดั่งเดิม  แต่ก็ยังไม่สำเร็จสักที  การซ่อนการกระทำผิดดังกล่าวสามารถซ่อนไปสักชั่วเวลาหนึ่ง   แต่วันหนึ่งความจริงจะต้องปรากฏขึ้น   แต่ที่เลวร้ายคือความสำนึกผิดถึงการกระทำนั้นมันกระตุ้นเตือนให้ความกลัวย้อนกลับมาทับถมเราทุกวัน  ทำให้เกิดความเครียดกังวล  และกลัวว่าแม่จะต้องรู้เข้าสักวัน   การทำเช่นนี้ ผลของการกระทำผิดจะไม่ได้รับการแก้ไขจัดการ   และความกลัวกังวล และ ความเครียดยิ่งทับถมเพิ่มพูนมากขึ้นในตัวคนทำผิดทุกวัน

แต่ถ้าเราเปิดเผยการกระทำผิดพลาดให้กับทีมงานได้รู้เรื่องแต่แรก   สิ่งที่จะตามมาทันทีคือ ผู้นำที่ดีจะนำเราให้ช่วยกันรับมือจัดการกับผลของการกระทำผิดนั้น   การกระทำผิดพลาดและผู้กระทำยอมรับอย่างเปิดเผย  เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานช่วยกันรับมือ จัดการ และแก้ไขสถานการณ์ได้ทันเวลา

6.   ติดตามผลทันทีและอย่างต่อเนื่อง   จนกว่าผลการกระทำผิดได้รับการแก้ไข

อย่าทำให้ผู้นำทีม หัวหน้า หรือ เพื่อนร่วมทีมถามถึงความเป็นไป ความก้าวหน้าของการจัดการแก้ไขนั้น   แต่ผู้กระทำความผิดพลาดเป็นคนที่จะบอกทุกคนในทีมงานถึงความเป็นไป และ ความก้าวหน้าของเรื่องนี้     ถ้าเป็นได้มีการแจ้งความเป็นไป/ก้าวหน้าเป็นรายวัน  และบอกถึงสถานการณ์มีความรุนแรงแค่ไหน  มีความรีบด่วนที่จะต้องจัดการเท่าใด   เพื่อบอกให้ทุกคนรู้และมั่นใจว่า  ผลของการกระทำผิดนั้นเรามิได้ทิ้ง เฉยเมย  แต่รับมือกับมันอย่างใกล้ชิด

7.   มิใช่เพียงแก้ปัญหา   แต่แก้ไขปรับปรุงระบบการทำงาน  

เมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข   ให้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่งโดยถามตนเองว่า  “ปัญหาหรือการกระทำผิดนี้  มีทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำได้ไหม?  หรือ เราสามารถป้องกันได้โดยการปรับปรุงระบบการทำงานใหม่ให้ดีขึ้นอย่างไร?”

เราตระหนักดีว่า ระบบการทำงานมิใช่สิ่งตายตัวถาวรเปลี่ยนไม่ได้   แต่ตรงกันข้ามระบบการทำงานถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้ในการทำงานของทีม   และเป็นกระบวนการที่เราสามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาได้โดยการสังเคราะห์บทเรียนรู้จากการกระทำที่ผ่านมาของเรา  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิด หรือ ถูกต้องก็ตาม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้  รวมถึงประสบการณ์ในการรับมือของผู้กระทำผิดพลาดและทีมงาน  ให้เรานำประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้มาถอดบทเรียน  เพื่อให้ได้บทเรียนรู้ว่า  องค์กรของเราจะต้องมีการปรับปรุง แก้ไข พัฒนา และ เสริมสร้างระบบการทำงานให้ดียิ่งขึ้นอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หาทางพัฒนาระบบการทำงานที่ป้องกันมิให้ปัญหาการกระทำผิดที่ผ่านมาเกิดซ้ำอีกในการทำงานของทีมงานของเรา

ใครก็ตามในทีมงาน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นหัวหน้า ลูกน้อง สมาชิกในทีมงานคนใดคนหนึ่งที่รับมือจัดการกับผลการกระทำผิดของตน  และ รับมือจัดการกับปัญหาที่เกิดอย่างใส่ใจ จริงจัง จริงใจ และ เปิดใจเช่นนี้   ในสายตาของทีมงานย่อมเกิดการยอมรับ นับถือ และ มั่นใจ ในภาวะผู้นำของคน ๆ นั้น  และประสบการณ์เช่นนี้นำไปสู่การได้รับความไว้วางใจอย่างหนักแน่นมั่นคงขึ้น

แนวทางและกระบวนการการจัดการรับมือกับผลการกระทำผิดข้างต้นนี้  มิใช่สำหรับหัวหน้างาน หรือ ผู้นำทีมงานเท่านั้น   แต่หมายรวมถึงสมาชิกในทีมงานทุกคน   และมิเพียงแต่การทำงานในอาชีพการงานของเราเท่านั้น  แต่รวมไปถึงครอบครัว คริสตจักร กลุ่มเพื่อน  ตลอดจนการมีชีวิตและทำงานในชุมชนสังคมด้วย

จากประสบการณ์ท่านคิดเห็นอย่างไรกับกระบวนการการรับมือและจัดการกับปัญหา และ ผลการะทำผิดที่เกิดขึ้น   ท่านมีอะไรจะเพิ่มเติม  ชี้แนะเพื่อให้มีความสมบูรณ์และประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนจัดการมากกว่านี้ครับ?   กรุณาแบ่งปันประสบการณ์ หรือ ให้ข้อชี้แนะด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น