06 เมษายน 2561

ขั้นตอน 1-4 ในการรับมือ...จากผลการกระทำผิดพลาด


ในตอนก่อนเราพบว่า   ผู้นำที่ยิ่งใหญ่นั้น   มิใช่ยิ่งใหญ่เพราะไม่เคยกระทำสิ่งที่ผิดพลาด   หรือ  ทำความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย   แต่ความจริงก็คือ ที่คน ๆ นั้นเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เพราะ  เขาสามารถจัดการกับผลของความกระทำผิดพลาดที่ได้ทำลงไปอย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก

แต่สัญชาตญานที่แท้จริงของเราเมื่อทำสิ่งผิดพลาด  เรามักปิดบังซ่อนเร้น  เก็นซุกผลของการประทำผิดพลาดไว้ใต้เสื่อไม่ให้ใครได้รู้ได้เห็น!

เมื่อเราได้การกระทำผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นในชีวิต   เราจะเอาชนะสัญชาตญาณดังกล่าวได้อย่างไร?  

ขอบพระคุณสำหรับประสบการณ์ที่มีผู้แบ่งปันเมื่อครั้งก่อน  ผมได้ประมวลเข้าเป็นขั้นตอนการรับมือจัดการผลการกระทำที่ผิดพลาดเป็น 7 ขั้นตอนต่อไปนี้   ถ้าเราสามารถที่จะเอาการกระทำ 7 ขั้นตอนดังต่อไปนี้แทนการที่เราจะกระทำตามสัญชาตญาณเมื่อเรากระทำผิดพลาดไป   และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ช่วยทำให้ คู่ชีวิต  เจ้านาย หรือ ลูกน้อง  ทีมงานเกิดการยอมรับนับถือเรามากยิ่งขึ้น หรือ สร้างความไว้วางใจในตัวเรามากยิ่งขึ้นก็ได้

1. ให้เราเป็นคนแรกที่บอกถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ตระหนักเสมอว่า  เราจะไม่ซุกซ่อนความผิดพลาดที่เรากระทำ   ให้เราเปิดเผยความผิดพลาดที่เกิดขึ้น  

ผู้นำส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องการที่มารู้ภายหลังในความผิดพลาดของเราที่เกิดขึ้น   ดังนั้น ไม่รอให้หัวหน้าหรือคนอื่นจับได้ว่าเราได้กระทำการผิดพลาด   แต่บอกเขาถึงความผิดพลาดที่เราได้ทำลงไป   ให้พวกเขารู้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้   แทนที่ปล่อยให้หัวหน้า/ผู้คนมาทราบเอาเองภายหลัง  การบอกถึงความผิดพลาดที่เราทำลงไปจะไม่ลดความเชื่อถือในตัวเรา   แต่เขาจะเกิดความเชื่อมั่นเราเพิ่มมากขึ้น

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ จะไม่เก็บซ่อนสิ่งที่ตนทำผิด  แต่จะรีบบอกถึงสิ่งที่ทำผิดต่อหน้าคนที่ตนทำงานด้วยกัน

2.   ระบุถึงความร้ายแรงของปัญหาทั้งหมด

อย่าพยายามที่จะทำให้ปัญหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ดูเบาบางหรือเล็กน้อยลง   เพราะจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าที่ท่านคิด   ให้ระบุความรุนแรงผลจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นอย่างชัดเจน  ตามความเป็นจริง  อย่าทำให้ปัญหาและผลของปัญหาเบา หรือ หนักกว่าความเป็นจริงที่มันเป็น  แต่ถ้าสามารถบอกถึงแนวโน้มที่อาจจะรุนแรงกว่าที่บอก  แต่ท่านยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดความรุนแรงถึงขนาดนั้นหรือไม่? ...ให้บอกด้วยว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้รุนแรงกว่าที่คิด

ทั้งนี้เพื่อว่าทั้งหัวหน้า หรือ ทั้งทีมงานสามารถมีโอกาสร่วมกันหาแนวทางในการแก้ความรุนแรงจากความผิดพลาดนั้น หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่จะทำให้ผลความผิดพลาดเกิดความรุนแรงมากขึ้น

ถ้าต่อมาปรากฏว่า ผลของการทำผิดนั้นรุนแรงอย่างที่เราคาดการณ์  ทั้งทีมงานมีโอกาสร่วมกันรับมือจัดการได้ทันเวลา   แต่ถ้าความรุนแรงนั้นไม่เกิดขึ้นตามที่เราคาดการณ์ทุกคนก็จะโล่งใจ

การไม่ปิดบังซ่อนเร้นผลการกระทำผิดพลาดที่ชัดเจน  เปิดโอกาสให้ทั้งทีมงานได้รับรู้เท่าทันสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ และ ที่อาจจะเกิดขึ้น   เป็นผลดีที่จะทำให้ทีมงานมีประสบการณ์ร่วมในการรับมือกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทีม 

3.  ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด   ถึงแม้ว่าท่านมิใช่ต้นเหตุหลักก็ตาม

ภาวะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คือผู้นำที่ยอมก้มหัวลงรับผิดชอบต่อการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในทีมงาน   แม้ตนเองจะมิใช่ต้นเหตุหลัก  หรือ สาเหตุที่แท้จริงก็ตาม   แต่เราสำนึกเสมอว่า ในฐานะผู้นำ อะไรที่เกิดขึ้นในทีมงานเป็นความรับผิดชอบของผู้นำทีมด้วย

ดังนั้นอย่าเสียเวลาที่จะไป “หาแพะ” หรืออ้างข้าง ๆ คู ๆ ว่า  เวลาตกลงกันเรื่องนี้เราไม่อยู่ในที่ประชุมบ้าง  ตอนดำเนินการเรื่องนี้เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นบ้าง   การบ่ายเบี่ยงว่าตนเองไม่ใช่สาเหตุหลักจะทำให้ความเชื่อมั่นของทีมงานต่อผู้นำลดลง  ผู้นำจะถูกมองว่า “เอาตัวรอด” กลายเป็นผู้นำแบบ “เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ลูกน้อง”

แต่การที่ผู้นำทีมลุกขึ้นมารับเอาการกระทำผิดพลาดนั้นเป็นความผิดพลาดของตนเองด้วย   เป็นการเปิดโอกาสให้ทีมงานไม่ต้องเกิดความกลัวต่อการ “สาดโคลน” ความผิดในทีมงาน   แต่ทุกคนลุกขึ้นรับมือจัดการกับปัญหาอย่างผู้นำทีม   โอกาสที่จะจัดการรับมือกับผลการกระทำผิดพลาดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น   สิ่งที่ตามมาคือ  ทีมงานจะเชื่อมั่นในภาวะผู้นำของตนเพิ่มมากขึ้น

4.   สร้างโอกาสที่ทีมงานจะร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกให้รู้เท่าทันปัญหา

การที่ผู้นำทีมกระโดดลงมารับความผิดพลาดอย่างเต็มตัว  เปิดโอกาสให้ผู้นำสามารถชวนทีมงานได้ร่วมกันพิจารณาและวิเคราะห์ด้วยกันอย่างมีพลังถึงผลความผิดพลาดที่จะเกิด และ ที่อาจจะเกิดขึ้น 

ในเวลานั้นเองที่เราสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ในทุกแง่มุมของทีมงานเข้ามาปะติดปะต่อเป็นภาพรวม  ทำให้เราสามารถมาร่วมพลังกันคิดวิเคราะห์เจาะลึกลงในทุกด้าน และ ในประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในทีมงาน  จนสามารถเห็นภาพใหญ่ของผลจากความผิดพลาดที่ได้กระทำลงไป

แน่นอนครับ  กระบวนการในการจัดการรับมือกับการกระทำผิดพลาดในองค์กรจะมีพลังในการขับเคลื่อน

นี่จะเป็นการสะท้อนถึงคุณภาพภาวะผู้นำของท่านในสายตา  ความรู้สึก  การยอมรับ  และความน่าเชื่อถือของท่านในฐานะผู้นำจากทีมงาน

และถ้าเป็นความผิดพลาดของคนหนึ่งในทีมงาน  และ รีบเปิดเผยความผิดพลาดต่อผู้นำ  เมื่อนั้น ผู้นำจะร่วมกันเป็นเจ้าของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น   และทีมงานคนนั้นจะเป็นคนให้ข้อมูลกับผู้นำทีมและทีมงาน   เพราะตนอยู่กับความผิดพลาดที่ได้ทำลงไป   คนนั้นจะเป็นคนที่เรียนรู้จากประสบการณ์นี้อย่างดี   และในเวลาเดียวกันจะเป็นลูกทีมที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำทีม และ เพื่อนร่วมทีมด้วย

(อีก 3 ขั้นตอน (5-6-7) จะนำมาแบ่งปันกันในตอนต่อไปครับ)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น