01 ตุลาคม 2563

ไม่มีใครบอกฉันเลยว่า “เทศนาน่าเบื่อ”?

การที่ศิษยาภิบาลไม่ได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์คำเทศนาของตนจากสมาชิก ไม่ได้หมายความว่าการเทศนาของตนดีแล้ว เป็นที่ยอมรับชื่นชอบของสมาชิกเสมอไป

สิ่งหนึ่งที่สมาชิกพูดกันลับหลังศิษยาภิบาลคือ เทศนาน่าเบื่อ เทศน์ฟังไม่รู้เรื่อง จริง ๆ แล้วสมาชิกกลุ่มนี้อยากจะบอกกับศิษยาภิบาลตรง ๆ ใจจะขาด แต่แล้วก็ไม่ได้บอกสักที ไม่ใช่ทุกเรื่องสมาชิกจะทำอย่างที่เขาอยากจะทำได้   ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สมาชิกจะพูดตรงไปตรงมากับศิษยาภิบาลของตนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเทศนาน่าเบื่อ แต่ผมว่าสมาชิกเขามีเหตุผลของเขาที่ไม่บอกศิษยาภิบาลตรง ๆ ว่าเทศนาน่าเบื่อ

[1] สมาชิกรักศิษยาภิบาลของเขา พวกเขาไม่ต้องการทำให้ศิษยาภิบาลต้องเสียใจ

พวกเขารู้ดีว่า การที่วิพากษ์วิจารณ์การเทศนาของศิษยาภิบาลเป็นเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์เจาะเข้าที่หัวใจคุณลักษณะของศิษยาภิบาล ดังนั้น เขาเลือกที่จะเงียบดีกว่าทำให้ศิษยาภิบาลต้อง “เจ็บปวดหัวใจ”

[2] สมาชิกเต็มใจที่จะอดทนกับการเทศนาที่ต่ำกว่าระดับที่ดี เพราะพวกเขารู้อยู่เต็มอกว่าศิษยาภิบาลรักเขา  

เมื่อเราอภิบาลเลี้ยงดูชีวิตจิตวิญญาณของสมาชิกด้วยการอุทิศเสียสละตนเองเป็นเวลายาวนาน เขารู้ว่าศิษยาภิบาลเอาใจใส่เขา พวกเขาไม่ต้องการทำให้เราต้องได้รับความรู้สึกเจ็บปวดในชีวิต พวกเขาจึงไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือบอกเราถึงคำเทศนาที่น่าเบื่อ

[3] สมาชิกให้เกียรติในการทรงเรียก และให้การเคารพในตำแหน่งศิษยาภิบาล  

แม้ว่าเขาจะต้องอดทนกับการฟังเทศนาที่น่าเบื่อ เขาก็ไม่พูดอะไร เขารู้สึกว่าไม่กล้าที่จะต่อว่าผู้นำที่เป็นคนของพระเจ้าทรงเจิมที่ยืนที่ธรรมมาสน์

[4] พวกเขาไม่เคยรู้ว่า ที่ศิษยาภิบาลขอเขาให้ช่วยประเมิน สะท้อนกลับคำเทศนาของศิษยาภิบาลว่าทำไมถึงขอเขาทำสิ่งนี้  

ความคิดที่ขอให้ช่วยประเมินคำเทศนาเป็นเรื่องแปลกสำหรับสมาชิก พวกเขาจะพูดกันถึงเรื่องการเทศนาของศิษยาภิบาล แต่เขาจะไม่พูดเรื่องนี้กับศิษยาภิบาลของเขาโดยตรง

[5] พวกเขาสำนึกถึงความผิดบาปในชีวิตของตน แล้วคิดว่า เขามีสิทธิอะไรที่จะมาพูดเรื่องนี้กับศิษยาภิบาล

เขารู้ตัวดีว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่พวกเขาใส่ใจในการฟังเทศนาอย่างตั้งใจ และเมื่อเขาฟังเทศนาก็ไม่ได้เชื่อฟังและทำตามพระวจนะของพระเจ้าทุกครั้งเสมอไป ความรู้สึกผิดทำให้เขาเงียบในเรื่องนี้

[6] บางครั้งการออกไปจากคริสตจักรด้วยเหตุผลว่าไม่ได้รับการเลี้ยงดู ดูจะง่ายกว่าการไปพูดเรื่องการเทศนาที่น่าเบื่อกับศิษยาภิบาล

ทั้งนี้ก็เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะสร้างบาดแผลเจ็บปวดแก่ศิษยาภิบาลจากการพูดความจริง

[7] สมาชิกไม่แน่ใจว่าศิษยาภิบาลจะฟังสิ่งที่เขามาบอกหรือเปล่า

ทั้งนี้อาจจะเพราะสมาชิกคนนั้นมีประสบการณ์ว่า เวลาวิจารณ์เกี่ยวกับงานพันธกิจที่ศิษยาภิบาลทำ ศิษยาภิบาลมักจะปกป้องตนเองเสมอ

ศิษยาภิบาลทุกท่านต่างต้องการสมาชิกที่รักและเคารพศิษยาภิบาลได้ช่วยประเมินการเทศนาเพื่อที่ศิษยาภิบาลจะได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาการเทศนาของตนให้มีประสิทธิภาพที่ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน จำเป็นที่ศิษยาภิบาลจะต้องเต็มใจรับฟังความเห็น และ การสะท้อนคิดเของสมาชิก แม้บางครั้งมันจะเจ็บปวดก็ตาม

แต่การที่จะทำสิ่งนี้ได้จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยน “ฐานเชื่อกระบวนคิด” และ “ความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ” อย่างแนบแน่นที่สมาชิกมีต่อศิษยาภิบาล และศิษยาภิบาลเชื่อและไว้วางใจสมาชิกว่ารักตนและต้องการให้ศิษยาภิบาลของพวกเขาเทศน์ได้อย่างมีพลังและเกิดผล สิ่งนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคล และ ที่จะต้องเสริมสร้างขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่เขาได้รับในความสัมพันธ์ดังกล่าว  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น