05 ตุลาคม 2563

วุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชน

คู่มือการสร้างเสริมวุฒิภาวะทางการเมืองคริสตชนในชีวิตจิตวิญญาณของตน

จงยอมรับผู้ที่อ่อนแอในความเชื่อ
โดยไม่ตัดสินเขาด้วยเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกัน
                              โรม 14:1 สมช.

วุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชน

โดยแก่นแท้แล้ว การมีวุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชน คือความสามารถที่เรานำเอาระบบคุณค่าและคุณธรรมคริสตชนมาใช้ในเหตุการณ์ในขณะนั้น การที่คริสตชนเราต้องเข้ามาใส่ใจในเรื่องวุฒิภาวะทางการเมืองเพราะท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันแบ่งออกเป็นขั้วเป็นฝ่ายที่คอยต่อสู้ห้ำหั่นเอาแพ้เอาชนะ ทำลายกัน  

เราพบอีกว่าที่ผ่านมาเมื่อคริสตชนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในสังคมโลก มักออกมาในรูปว่าเราจะยืนอยู่กับขั้วไหนทางการเมืองที่มีในสังคมขณะนั้น แล้วเราก็ถกเถียงการเมืองบน “ฐานเชื่อกระบวนคิด” ตามโลกทัศน์ที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกแตกขั้วที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานั้น (ถ้าเป็นเช่นนี้มันไม่ช่วยแก้ปัญหา หรือ เสริมสร้างสิ่งดีงามใดใดแน่)

แต่ในฐานะคริสตชน ที่เรามีโลกทัศน์บน “ฐานเชื่อกระบวนคิด” ตามพระวจนะของพระเจ้า ซึ่งให้ระบบคุณค่าและคุณธรรมของการดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากโลกทัศน์ของสังคมโลกปัจจุบัน และนี่คือส่วนหนึ่งในระบบคุณค่าและคุณธรรมแห่งแผ่นดินของพระเจ้า ที่คริสตชนแต่ละคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะนำเอาระบบคุณค่าและคุณธรรมของพระเยซูคริสต์เข้าไปเป็นระบบคุณค่าและคุณธรรมในสังคมที่เราอยู่และเกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่จับต้องขับเคลื่อนในชีวิตประจำวันได้ บทบาทนี้ขอเรียกว่า “วุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชน” 

และนี่มิใช่ความรับผิดชอบที่เราจะเลือกทำหรือไม่ทำ แต่เป็นส่วนหนึ่งในพระมหาบัญชาที่คริสตชนแต่ละคนจะต้องมีในชีวิตประจำวันที่มีวุฒิภาวะการเมืองแบบคริสตชน และ เป็นส่วนหนึ่งในพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ให้เราแต่ละคนสานต่อจากพระราชกิจของพระองค์ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้เป็นสังคมชุมชนคุณภาพชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

1. รู้เท่าทันว่า...เรายืนอยู่ที่ไหน

ก่อนอื่น เราต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ บริบทของสังคมของเราให้ถูกต้องชัดเจนจะช่วยให้เราเข้าใจอย่างถูกต้อง  เพื่อนำเราไปสู่วุฒิภาวะทางการเมืองแบบคริสตชนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่นี้หมายถึงการที่เรารู้เท่าทันและเข้าใจทั้งสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ และมุมมองทัศนคติของผู้คนในสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้นอย่างชัดเจน เพราะการที่เราจะปรับทิศทางการเมืองของสังคมจะต้องปรับทิศทางชีวิตและการดำเนินชีวิตของเรา และการที่เราจะปรับเปลี่ยนวิถีการปฏิบัติในชีวิตของเรา เราต้องปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติและวิธีในการคิดของเราก่อน

2. ตระหนักชัดว่า “บริบท” มิใช่ “อัตลักษณ์”

หลายคนคิดว่าบริบทและอัตลักษณ์ในชีวิตของเขาเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือว่าบริบทนั้นมีอิทธิพลกำหนดอัตลักษณ์ของเรา การที่เราจะมีวุฒิภาวะทางการเมืองเราต้องเข้าใจทั้งสองเรื่องอย่างอิสระของมัน   โดยทั่วไป เราสามารถที่จะเลือกว่าเราจะอยู่ที่ไหน และ จะเข้าร่วมในคริสตจักรใด ในขณะที่เราไม่สามารถเลือกที่จะเกิดได้ ไม่สามารถจะเลือกเกิดในเชื้อชาติใด หรือเลือกเกิดเป็นลูกของพ่อแม่คู่ไหน และเราก็ไม่สามารถที่จะควบคุมบริบทสถานการณ์โดยรอบในชีวิตของเราทั้งหมด 

แต่เราสามารถและควรบ่มเพาะอัตลักษณ์ของเราเองโดยการตระหนักว่าอะไรสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของเรา

ค้นหาและสะท้อนคิด: ถึงบริบทที่มีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ของท่าน

[1] เขียนถึงสถานการณ์ในบริบทชีวิตของท่าน โดยการตอบคำถามตามข้างล่างนี้

1. ท่านเกิดที่ไหน?

2. ท่านเป็นคนรุ่นที่เท่าใดในครอบครัวใหญ่ของท่าน?

3. ใครคือพ่อแม่ หรือ คนที่เลี้ยงดูท่าน?

4. บุคคลในข้อ 3. มีอาชีพการงานอะไร?

5. ท่านมีครอบครัว หรือ ยังเป็นโสด?

6. ท่านมีลูกหรือไม่?

7. ท่านมีการศึกษาระดับสูงสุดระดับไหน?

8. ถ้าท่านมีอาชีพรับจ้าง ขณะนี้ท่านรับจ้างทำงานชนิดใด?

[2] หลังจากที่ท่านเขียนถึงรายการเกี่ยวกับบริบท/สถานการณ์ที่มีอิทธิพลบ่มเพาะอัตลักษณ์ของท่าน ขอช่วยบอกว่า ประสบการณ์ชีวิตในสถานศึกษาท้าทายและอิทธิพลต่อชีวิตท่านอย่างไรบ้าง? แล้วประสบการณ์ชีวิตในบ้านท้าทายและมีอิทธิพลต่อท่านอย่างไรบ้าง? และประสบการณ์ในที่ทำงานได้ท้าทายและมีอิทธิพลต่อชีวิตของท่านอย่างไร? สิ่งท้าทาย และ อิทธิพลทั้งสิ้นเหล่านี้ได้สอนอะไรและอย่างไรบ้างในการบ่มเพาะ ปรับแต่งการเติบโตขึ้นในชีวิตของท่าน?

3. เปิดความคิดจิตใจ

หลังจากระบุบริบทและสถานการณ์อื่น ๆ ที่หล่อหลอมอัตลักษณ์ของเราแล้ว เราต้องเต็มใจรับฟังความคิดของคนอื่นและพร้อมที่จะขัดเกลาปรับเปลี่ยนความคิดของเรา การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เปิดกว้างช่วยให้เห็นชัดถึงกระบวนทัศน์มุมมองย่อมสร้างเสริมความเข้าใจถึงสังคมโลก และยิ่งเราเปิดใจฟังคนอื่นและสังเกตคนอื่นมากเท่าใดเราก็จะเรียนรู้เท่าทันตนเองมากขึ้นเท่านั้น

ครั้งต่อไป ถ้าท่านถูกยั่วยุให้ตอบโต้ถกเถียงกับคนอื่น ให้ท่านใช้เวลาสักครู่หนึ่ง หายใจลึก ๆ แล้วตรวจสอบตนเองว่า อารมณ์ความรู้สึกนี้มาจากไหน จริง ๆ แล้วอะไรที่ทำให้ท่านรู้สึกไม่พอใจ? ประสบการณ์สอนท่านอย่างไรบ้างในเรื่องนี้? ท่านจะหนุนเสริมให้การพูดคุยปรึกษากับคนอื่นเป็นไปในทางสร้างเสริมมากกว่าการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนได้อย่างไร?

สะท้อนคิด: เพื่อรู้เท่าทันกระแสขับเคลื่อนทางความคิดและอารมณ์ของตน

การบันทึกความนึกคิดของเราเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เยี่ยมยอดในการติดตามสภาพทางอารมณ์ของเรา เมื่อท่านค้นหาตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบัน ให้เราเริ่มกระบวนการนี้ เมื่อเราอ่านบทความ ข้อเขียน หรือข้อความของใครบางคนที่มีความคิดเห็นที่เราไม่เห็นด้วย ให้เราเขียนบันทึกประเด็นที่ทำให้ท่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรง และใช้โอกาสนี้ที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับตัวท่านเองมากยิ่งขึ้น ใช้เวลาตลอดสัปดาห์ข้างหน้านี้ในการค้นหาข้อเขียน ความคิดทางการเมืองที่สวนทางต่างกระแสคิดกับท่าน แล้วบันทึกความนึกคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าท่านคิดเห็นเช่นไรต่อความคิดเหล่านั้นที่ท่านอ่านหรือฟัง เพื่อท่านสามารถย้อนกลับมาพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่ท่านได้บันทึกไว้ภายหลัง

4. ระบบคุณค่าของคริสตชนที่ใช้ตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบัน

วุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชน (การเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ทางการเมือง) เกิดจากการที่เราสังเคราะห์จริยธรรมและคุณธรรมที่มาจากพระคัมภีร์ ในแต่ละบริบทที่เฉพาะ และเป็นคำชี้แนะที่ไว้วางใจได้ เพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน นั่นแสดงว่า การที่เราจะเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้โดยไม่จำเป็นที่เราจะต้องยอมสละทิ้ง (หรือยอมสูญเสีย) ความเชื่อศรัทธาของเรา

สะท้อนคิด: คริสต์คุณธรรมและจริยธรรมที่คริสตจักรของเราบ่มเพาะเสริมสร้างสมาชิกด้านวุฒิภาวะทางการเมืองแบบคริสตชน

ขณะนี้ท่านได้รวบรวมบันทึกถึงบริบทของท่านเอง ต่อไปให้ท่านรวบรวมความคิดเกี่ยวกับบริบทคริสตจักรของท่านเอง

1. อะไรคือหัวข้อหรือประเด็นการเทศนายอดนิยมในแต่ละสัปดาห์ในคริสตจักรของท่าน?

2. ท่านได้รับความคิดเห็นจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในคริสตจักรเกี่ยวกับประเด็นอะไรที่พวกเขาชื่นชอบ? ทำไมเขาถึงชื่นชอบ?

3. อะไรคือประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือ ประเด็นที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันบ่อยครั้งในคริสตจักร?  ทำไมประเด็นเหล่านี้ถึงนำสู่ความขัดแย้งในคริสตจักร?

ในก้าวเดินแรกนี้ เป็นการทบทวนตรวจสอบตนเองเพื่อจะรู้เท่าทันว่า ตนเองมีวุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชนแบบไหน? ทำไมตนเองถึงมีวุฒิภาวะทางการเมืองคริสตชนแบบนั้น? ถ้าจะมีการปรับแก้ เสริมสร้างวุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชน เราจะต้องทำอะไร อย่างไร?

กระบวนการในก้าวแรก (ตามเอกสารชุดนี้) จะเกิดผลเมื่ออ่านแล้ว ลงมือทำตามขั้นตอนที่เสนอ ซึ่งเป็นการสำรวจทบทวน “วุฒิภาวะทางการเมืองของคริสตชน” ในตัวเราเอง ถ้าเราคิดจะพัฒนาเสริมสร้างให้ตนเองเป็น “ผู้ใหญ่ในพระคริสต์ด้านการเมือง” เราต้องรู้เท่าทันตนเองก่อนว่าเรากำลังมีสภาพชีวิตจิตวิญญาณทางการเมืองแบบไหน?   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? และจะก้าวต่อไปในทิศทางไหน? และจะก้าวอย่างไร?

ข้อเขียนนี้ซึมซับความคิดจาก Pastoring for Political Maturity, “Political Maturity” ใน FULLERformation

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น