19 ตุลาคม 2563

เทศนา...ที่ผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง

การเทศนาของพระเยซูดึงดูดฝูงชนจำนวนมหาศาลและพระคัมภีร์มักจะบันทึกปฏิกิริยาเชิงบวกของฝูงชนเหล่านั้นที่มีต่อคำสอนของพระองค์ เช่น

[1] มัทธิว 7:28 “...ฝูงชนก็พากันเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.)

[2] มัทธิว 22:33 “...เมื่อประชาชนได้ยินดังนี้ก็เลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.)

[3] มาระโก 11:18 “...ประชาชนทั้งปวงเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.)

[4] มาระโก 12:37 “...ฝูงชนกลุ่มใหญ่ฟังพระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี” (อมธ.)

ฝูงชนไม่เคยได้ยินใครสอนอย่างที่พระเยซูคริสต์ได้สอน พวกเขาทั้งเลื่อมใส ชื่นชมยินดี และประหลาดใจ

การเทศน์และสอนที่ดึงดูดความสนใจของผู้ที่ยังไม่เชื่ออย่างพระเยซูคริสต์ พระองค์ต้องสื่อสารสัจจะความจริงด้านจิตวิญญาณตามแนวทางของพระองค์ ผมเชื่อว่า พระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เป็นแบบอย่างในการเทศนาของเรา แต่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่นักเทศน์ส่วนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการตีความหมายของศัพท์แสงภาษาที่ใช้ในคำเทศน์   ตามหลักการวาทศิลป์ของอริสโตเติล และ กรีก มากกว่าที่จะเรียนจากแบบอย่างการสอนการเทศน์ของพระเยซูคริสต์

ในยอห์น 12:49 ยืนยันว่า “เพราะเราไม่ได้พูดตามใจของเราเองแต่พระบิดาผู้ทรงส่งเรามาได้ทรงบัญชาเราว่าจะพูดอะไรและพูดอย่างไร” (อมธ.) นี่หมายความว่า ทั้งเนื้อหา และ วิธีการ กระบวนการสื่อสารนั้นมาจากพระบิดา นี่เป็นประเด็นน่าสังเกตที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเรามักจะมองข้ามมุมมอง ท่าทีในการเทศนาของพระเยซูคริสต์

มีหลายสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้จากแบบอย่างและกระบวนการสื่อสารของพระเยซูคริสต์ มิใช่เพียงแต่เนื้อหาเท่านั้น  แต่ในที่นี้ขอชี้ถึงตัวอย่างวิธีการเทศนาของพระเยซู 3 ประการด้วยกัน ดังนี้

พระเยซูเริ่มต้นกล่าวถึง “ความจำเป็นต้องการ” บาดแผลและความเจ็บปวด” และ “ความสนใจ” ในชีวิตของผู้ฟัง

ปกติ พระเยซูคริสต์จะสอนเพื่อตอบประเด็นคำถาม และ ตอบสนองปัญหาเร่งด่วนในชีวิตของฝูงชนกลุ่มนั้น ๆ ที่กำลังฟังพระองค์ เรียกได้ว่าพระองค์เกาถูกที่คันของประชาชนคนฟัง คำเทศนาของพระองค์เป็นไปแบบตรงไปตรงมา พระองค์จะตอบสนองตรงประเด็น และ จุดมุ่งหมายในเวลานั้นเสมอ

เมื่อพระเยซูเทศนาครั้งแรกที่นาซาเร็ธ พระองค์อ่านจากพระธรรมอิสยาห์ที่ประกาศถึงว่า พันธกิจและการเทศนาของพระองค์เป็นการทำอะไร ทำกับใคร และทำให้เกิดอะไร ว่า...

“พระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ทรงเจิมตั้งข้าพเจ้าไว้
ให้ประกาศข่าวดีแก่ผู้ยากไร้
พระองค์ทรงใช้ข้าพเจ้ามาประกาศอิสรภาพแก่ผู้ถูกจองจำ
และให้คนตาบอดมองเห็น
ให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่
ให้ประกาศปีแห่งความโปรดปรานขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลูกา 4:18-19 อมธ.)

ขอตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสิ้นนี้เป็นการเน้นย้ำถึงการตอบสนองความจำเป็นต้องการ การเยียวยารักษาบาดแผลและความเจ็บป่วย การปลดปล่อยคนที่ถูกกดขี่ พระเยซูคริสต์มี “ข่าวดี” ที่จะแบ่งปันกับผู้คน และประชาชนต้องการที่จะฟังเรื่องราวเหล่านี้ พระเยซูคริสต์มีข่าวสารที่ให้ประโยชน์ในทางปฏิบัติสำหรับชีวิตของประชาชนที่กำลังฟังพระองค์  สัจจะ/ข่าวดีของพระองค์จะ “ปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระ” และนำพระพรจากพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของประชาชน

ดังนั้น ประชาชน/ผู้ฟังของพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในการสอนการเทศน์ของพระองค์ และพระองค์มี “ข่าวดี” หรือ “พระกิตติคุณ” ที่จะเป็นคำตอบเชิงรูปธรรมต่อ “ความจำเป็นต้องการ” “บาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิต”  และ “ความสนใจ” ของผู้ฟัง

สาระข่าวสารรากฐานสำหรับ “ผู้หลงหาย” จะต้องเป็น “ข่าวดี”

ถ้ามิใช่ “ข่าวดี” นั่นก็ไม่ใช่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เราต้องเรียนรู้ในการสื่อสารแบ่งปันพระกิตติคุณที่แสดงออกชัดถึง “สาระข่าวสาร” และ “สิ่งที่ดี” พระกิตติคุณเป็นเรื่องของพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำเพื่อเรา และ เป็นโอกาสที่เราจะมีชีวิตในพระคริสต์ ความจำเป็นต้องการที่ล้ำลึกในชีวิตของเราคือการที่เราจะมีสัมพันธภาพส่วนตัวกับพระคริสต์ ข่าวดีหรือพระกิตติคุณนำเสนอสิ่งที่ “ผู้หลงหาย” ได้รับการอภัยโทษบาป เป็นไทจากสิ่งที่ครอบงำในชีวิต เสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ชีวิตที่มีเป้าหมาย มีความรักเมตตา ได้รับการยอมรับจากพระเจ้า และพลังในการดำเนินชีวิต ข่าวดีของพระเยซูคริสต์เป็นการชำระความผิดบาปในอดีต ให้ความมั่นใจในอนาคต และการหนุนเสริมคุณค่าความหมายของชีวิตในปัจจุบัน

ผู้คนต่างหลั่งไหลมาหา “ข่าวดี” เสมอ

ในทุกวันนี้ สังคมโลกเต็มล้นไปด้วย “ข่าวร้าย” และสิ่งสุดท้ายที่ผู้คนได้ยินคือข่าวร้ายในคริสตจักร ผู้คนทั้งหลายต่างมุ่งมองหาความหวัง ความช่วยเหลือ และกำลังใจ พระเยซูคริสต์เข้าใจอย่างดีในเรื่องนี้ และนี่คือสาเหตุที่พระเยซูคริสต์รู้สึกสงสารประชาชน พระองค์รู้ชัดแจ้งว่า ฝูงชนนั้นเป็นเหมือนฝูงแกะ “ที่...ถูกรังควานและไร้ที่พึ่งเหมือนลูกแกะขาดคนเลี้ยง” (มัทธิว 9:36 อมธ.)

เมื่อเราเทศนา ให้เราเริ่มต้นการเทศน์ของเราด้วยความจำเป็นต้องการของผู้คนที่ฟังเทศน์ ท่านจะได้รับความสนใจจากผู้ฟังทันที นักสื่อสารทุกคนเข้าใจและใช้หลักการนี้ ยกเว้นศิษยาภิบาลจำนวนหนึ่ง!?

ครูที่มีปัญญาย่อมรู้ว่าเขาจะต้องเริ่มสอนจากสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ แล้วนำไปสู่บทเรียนที่ต้องการจะสอนผู้เรียน

ผู้เสนอขายสินค้ารู้เสมอว่า เขาจะต้องเริ่มต้นการเสนอขายสิ่งที่เป็นความต้องการจำเป็นของลูกค้า ไม่ใช่เริ่มต้นจากสินค้าที่ตนอยากจะขาย ผู้จัดการที่อัจฉริยะย่อมรู้ว่าเขาจะเริ่มการบริหารจัดการจากการร้องเรียนของคนงาน มิใช่เริ่มต้นในสิ่งที่ผู้จัดการต้องการทำ ให้เราเริ่มต้นจากจุดที่กลุ่มชนเป้าหมายตามที่เขาเป็นอยู่ หรือ ประสบอยู่เพื่อนำพวกเขาไปยังจุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้เขาไปให้ถึงคือพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ถ้าเราเรียนรู้จากตำราเกี่ยวกับสมอง เราจะเรียนรู้ว่าที่ฐานของก้านสมองมีตัวกรองที่เรียกว่า Reticular Activating System พระเจ้าทรงเมตตาเราโดยใส่ตัวกรองนี้ไว้ในความนึกคิดของเรา ทั้งนี้เพื่อช่วยไม่ให้เราอยากรู้อยากเห็นสิ่งเร้ามากมายที่เกิดขึ้นรอบตัวเราในทุกเรื่อง ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อสิ่งเร้านับล้านที่มันกระหน่ำเข้ามาในแต่ละวันอย่างมีสติ มันจะเคลื่อนย้ายและจัดเรียงสิ่งที่เราเห็น ได้ยิน และได้กลิ่นอย่างต่อเนื่องโดยส่งต่อสิ่งเร้าเพียงไม่กี่อย่างไปยังจิตสำนึกของเรา ด้วยการกระทำนี้ช่วยให้สิ่งเร้าไม่ประเดประดังเข้ามาจนเรารับไม่ไหว หากเราต้องตอบสนองสิ่งเร้าทุกอย่างที่รับรู้ของเรา เราคงแทบคลั่ง! แต่พระเจ้าให้เรามีตัว Reticular Activating System ช่วยตัดสินใจว่าจะเลือกสนใจสิ่งเร้าตัวไหน

อะไรที่ผู้คนสนใจ? มีสามสิ่งที่ผ่านระบบ Reticular Activating System  คือ “สิ่งที่เราให้คุณค่า” สิ่งที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ” และ “สิ่งที่คุกคาม หรือ ที่ทำให้เรากลัว” นี่เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อวิธีการเทศนาและสั่งสอนของศิษยาภิบาล หากเราต้องการดึงดูดความสนใจของคนที่ไม่สนใจ เราจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสามสิ่งที่กล่าวข้างต้นมาใช้ในการสื่อสารสาระข่าวสารเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ  

ในการสื่อสารแบ่งปัน “ข่าวดี” ในลักษณะเฉพาะเพื่อจะดึงดูความสนใจของผู้ฟังที่ยังไม่เชื่อ เราเรียนรู้ว่าการแสดงคุณค่าต่อผู้ฟังคนนั้นสอดคล้องกับวิธีที่พระคริสต์ใช้สอนมากที่สุด พระเยซูทรงสอนในแบบที่คนฟังเข้าใจถึงคุณค่า และ ประโยชน์ของสิ่งที่พระองค์กำลังพูด พระองค์ไม่ได้คุกคามหรือสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ที่ยังไม่เชื่อด้วยเรื่องที่น่ากลัว ความจริงแล้ว การคุกคามพระองค์ทรงใช้กับพวกผู้นำศาสนาที่คิดในแนวคิดตามประเพณีนิยม แต่สำหรับคนที่ทุกข์ยากลำบากพระองค์ให้การปลอบโยน

กระบวนการเทศนาของพระเยซูคริสต์ที่ทรงพลังเข้าถึงชีวิตจิตใจผู้ฟังเทศน์ พระองค์เริ่มต้นจากการรู้เท่าทันความเป็นจริงในชีวิตของผู้ฟัง และ ให้ความสำคัญกับ “ความจำเป็นต้องการ” และ “บาดแผลความเจ็บปวดที่ผู้ฟังกำลังประสบ” และ “ความสนใจของผู้ฟังในขณะนั้น” แล้วพระองค์ใช้ “ข่าวดี” หรือ “พระกิตติคุณของพระองค์” เป็นคำตอบต่อความจำเป็นต้องการ บาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิต ความสนใจของพวกเขา เพื่อผู้ฟังจะสัมผัสกับ “พระกิตติคุณ” ด้วยชีวิตของตนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเกิดประสบการณ์ที่นำไปสู่ชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวันของเขา

การเทศนาของเราเข้าถึงและรู้เท่าทันชีวิตจริงของผู้ฟังมากน้อยแค่ไหน? และคำเทศนาของเราได้ช่วยให้ผู้ฟังได้รับ “คำตอบสำหรับชีวิตของเขา” อย่างเป็นรูปธรรมจาก “ข่าวดี/พระกิตติคุณ” ของพระเยซูคริสต์หรือไม่? จนผู้ฟังยอมมอบกายถวายชีวิตทำตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์หรือเปล่า?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น