14 ตุลาคม 2563

7 คำถามสำหรับการเตรียมเทศน์

แบบอย่างการเทศนาที่ดี คือแบบอย่างการเทศน์ของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่เทศน์แบบ ยอห์น ผู้ให้บัพติสมา หรือ อย่างเปาโล หรือ นักเทศน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยปัจจุบันนี้ พระเยซูคริสต์เป็นนักสื่อสารตัวยงต้นแบบ ในพระคัมภีร์มัทธิว 7:28 กล่าวไว้ว่า “เมื่อพระเยซูตรัสสิ่งเหล่านี้จบแล้ว ฝูงชนก็พากันเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์” (อมธ.) ทำไมประชาชนถึงเลื่อมใสในคำสอนของพระองค์? เพราะทั้งเนื้อหา และ วิธีการ กระบวนการนำเสนอสื่อสารของพระองค์มาตรงจากพระบิดา พระเยซูคริสต์กล่าวว่า “เพราะเราไม่ได้พูดตามใจของเราเองแต่พระบิดาผู้ทรงส่งเรามาได้ทรงบัญชาเราว่าจะพูดอะไรและพูดอย่างไร” (ยอห์น 12:49 อมธ.)

จากประสบการณ์ของ ริก วอร์เรน ได้เล่าว่า เมื่อเขาเตรียมคำเทศนา เขาใช้ชุดคำถามในการเตรียมเทศน์ ข้างล่างนี้ สองคำถามแรกเป็นคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาของคำเทศนา ส่วนอีกห้าคำถามเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการนำเสนอสื่อสารอย่างไร

1. เราจะเทศนาให้ใครฟัง ใครเป็นผู้ฟังคำเทศน์นี้?

ถ้าพูดในภาษาปัจจุบัน การเทศนาของพระเยซูคริสต์มีผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง พระองค์เริ่มต้นการเตรียมเทศน์จากการรู้เท่าทันชัดเจนว่าใครคือผู้ฟังพระองค์ พระองค์รู้จักคนฟังของพระองค์ พระองค์รู้เท่าทันแม้แต่ความนึกคิดของผู้ฟัง   ดังนั้น คำถามแรกที่เราถามตัวเราเองคือ ใครคือผู้ฟังเทศนาที่เรากำลังเตรียมนี้ แล้วพยายามที่จะเห็นภาพของผู้คนเหล่านั้นในความนึกคิดของเรา โดยทั่วไปแล้วมี 3 แนวทางในการกระตุ้นดึงดูดความสนใจของผู้ฟังด้วยเนื้อหาดังนี้

[1] พูดในสิ่งที่ “มีคุณค่า” สำหรับผู้ฟัง

[2] พูดในสิ่งที่ “น่าสนใจ” สำหรับผู้ฟัง

[3] พูดในสิ่งที่ “สร้างความแปลกประหลาดใจ” สำหรับผู้ฟัง

สิ่งกระตุ้นดึงดูดความสนใจทั้ง 3 ประการร่วมกันจะสามารถที่จะทะลุทะลวงอุปสรรคการฟังโดยทั่วไปของของผู้คน   เป้าหมายของการเทศนาคือการที่จะขับเคลื่อนแต่ละคนจากจุดที่ชีวิตของเขาเป็นอยู่ไปสู่จุดที่พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้ผู้ฟังแต่ละคนมีชีวิตเป็นอยู่ ตระหนักชัดเสมอว่าให้เราเริ่มต้นจากชีวิตที่เขาเป็นอยู่จริงในขณะนี้

2. พระคัมภีร์ว่าอย่างไรในสิ่งจำเป็นต้องการของผู้ฟัง?

ริก วอร์เรน บอกว่า เขาจะค้นหาทุกคำตอบต่อประเด็นความจำเป็นต้องการของผู้ฟังจากพระคัมภีร์ และยังใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยการขุดค้นหาคำตอบจากพระคัมภีร์เท่าที่เขาจะหาได้ รวมทั้งเครื่องมือช่วยค้นหาต่าง ๆ ที่มีทางออนไลน์มากมายในปัจจุบัน ความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของพระคัมภีร์เป็นตัวกำหนดรูปแบบการนำเสนอด้วยการเทศนา ความเข้าใจถึงจุดประสงค์สูงสุดของพระคัมภีร์ไม่ใช่เพื่อมีไว้สอนประวัติศาสตร์ของอิสราเอล หรือ มิใช่เพียงการสอนข้อเท็จจริงของหลักความเชื่อจากพระคัมภีร์ แต่พระคัมภีร์มีจุดประสงค์สูงสุดคือเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้อ่านผู้ฟังแต่ละคน เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิด มุมมอง บุคลิกภาพ ท่าที พฤติกรรมในชีวิตของผู้ฟังแต่ละคน  เพราะ “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสั่งสอน การว่ากล่าวตักเตือน การแก้ไขข้อบกพร่อง และการฝึกฝนในความชอบธรรม” (2ทิโมธี 3:16 อมธ.) นั่นหมายความว่า การเทศนาจะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตเสมอ

การเทศนาเป็นกระบวนการรวบรวมข้อพระคัมภีร์ที่จำเป็นและสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้ฟังเข้าด้วยกัน ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในแต่ละบริบทของชีวิตจริง การเทศนาคือการที่ผู้เทศน์นำให้ผู้ฟังร่วมค่อย ๆ เจาะลึกลงในความหมายของข้อพระคัมภีร์ที่รวบรวมมา ทั้งความเชื่อมโยงของข้อพระคัมภีร์ที่กล่าวในเรื่องเดียวกัน และการอธิบายความหมายของข้อพระคัมภีร์ที่รวบรวมมา ด้วยการเทศนาเช่นนี้จะช่วยให้คริสตจักรแข็งแรงขึ้น

3. เราจะสื่อสารด้วยภาษาเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดได้อย่างไร?

ในพระธรรมยอห์น 10:10 จุดประสงค์ของการมาของพระเยซูคือ “...เราได้มาเพื่อเขาทั้งหลายจะมีชีวิตและมีชีวิตอย่างครบบริบูรณ์” (อมธ.) การเทศนาคือการที่จะช่วยให้ผู้ฟังรู้เห็นชัดเจนว่าเขาควรจะดำเนินชีวิต (เชิงปฏิบัติ) อย่างไร หลักคำสอนของพระเยซูคริสต์จะสอนในรูปแบบของการปฏิบัติเสมอ เพราะจุดประสงค์ของพระองค์คือการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ฟัง โดยเริ่มจากความเชื่อสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

4. การนำเสนอแบบไหนที่ให้กำลังใจที่สุด?

ในทุกสัปดาห์ผู้มาฟังเทศนามีความจำเป็นต้องการ 3 ประการหลักคือ ได้รับการเสริมหนุนเพิ่มพลังทางความเชื่อ ฟื้นฟูความหวังในชีวิตของเขา และ ความรักเมตตาของเขาได้รับการพลิกฟื้นเพิ่มพลังใหม่

เมื่อเราเทศนา เราคาดการณ์ว่าผู้ฟังต้องผ่านความทุกข์ยากลำบากด้านต่าง ๆ มาตลอดสัปดาห์ บทบาทของผู้เทศนาคือให้กำลังใจหนุนเสริมพวกเขาอย่ายอมแพ้ เมื่อเราเทศนาแก่คนที่มีบาดแผลหรือบาดเจ็บในชีวิตจิตใจ   เราควรใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องระวังคือจะไม่มีการสื่อสารแบบคำสั่งเช่น “คุณต้องทำอย่างงี้ซิ”  “ผมทำมาแล้วและประสบความสำเร็จ คุณควรทำตามผม” แต่น่าจะนำเสนอในทำนอง  “ลองทำเช่นนี้ดีไหม...น่าจะเกิดผลดี...” “ในชีวิตจริงของท่านทำเช่นนี้ได้ไหม? หรือ ควรมีการปรับแก้อย่างไรดีที่เหมาะสมสำหรับท่านมากที่สุด?”

ผู้เทศน์ควรหลีกเลี่ยงการนำเสนอที่ “ผู้เทศน์เหนือกว่าผู้ฟัง” “ผู้เทศน์ประสบความสำเร็จ”  “ผู้ฟังเทศน์พบแต่ความล้มเหลวในชีวิต” อย่ามัวแต่ตอกย้ำถึงความล้มเหลว เจ็บปวดของผู้ฟัง แต่กระตุ้นหนุนเสริมถึงความหวังที่รออยู่ข้างหน้า ที่เราจะไปให้ถึงด้วยกัน

5. เราจะนำเสนอด้วยวิธีการที่เรียบง่ายที่สุดได้อย่างไร?

พระเยซูคริสต์สั่งสอนสัจจะความจริงที่ลึกซึ้งด้วยวิธีการสื่อสารที่เรียบง่าย แต่เรามักทำตรงกันข้ามกับพระเยซูคริสต์  (เรามักทำสิ่งที่เข้าใจง่ายให้เข้าใจยาก) ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะทำให้เรารู้สึกและต้องการให้คนอื่นเห็นว่าเรามีความเข้าใจที่ลุ่มลึกกว่าคนอื่นหรือเปล่า?  

ความเรียบง่ายไม่ได้เป็นเหมือนความผิวเผิน ตื้นเขิน ไม่ลึกซึ้ง ทักษะที่ดีเลิศของพระเยซูคริสต์คือ การทำให้สัจจะความจริงที่ลึกซึ้งให้เป็นสัจจะความจริงที่เข้าใจง่าย

6. เราจะนำเสนออย่างเป็นกันเองได้อย่างไร?

ถ้าเราดูจากโฆษณาในโทรทัศน์ หรือ ออนไลน์มักจะเป็นการโฆษณาด้วยการมีคนเป็นพยานถึงประสบการณ์ของตน  หรือไม่ก็เป็นการเล่าเรื่องให้ฟัง ตัวอย่างเช่น พวกฟาริสีเมื่อพูดถึงคำสอนพวกเขาจะอ้างอิงบทบัญญัติต่าง ๆ แต่พระเยซูคริสต์กลับเล่าเรื่องสอนความจริง หรือ อุปมาเปรียบเทียบ จากสิ่งที่พบเห็นประสบตรงในชีวิตประจำวันของผู้ฟัง  และผู้เทศน์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องโปร่งใส ถ่อมตน และในหลายครั้งที่ต้องสารภาพถึงความอ่อนแอ ล้มเหลวของตนในการเทศนาของเราด้วยสติปัญญา นักสื่อสารที่ยิ่งใหญ่สำคัญจะถอด “หน้ากาก” ออก และสื่อสารด้วยความเป็นกันเอง หรือ เป็นเหมือนการสื่อสารแบบตัวต่อตัวกับผู้ฟังเทศน์

7. การนำเสนอแบบไหนที่น่าสนใจมากที่สุด? 

เราคงเคยได้ยินบางท่านบอกว่า ศิษยาภิบาลไม่ควรเทศนาแบบ “สาระบันเทิง” แต่ความหมายที่แท้ในที่นี้คือการใช้การสื่อสารที่บันเทิงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนให้ไปสู่ประเด็นที่เป็นสัจจะความจริงในชีวิต แต่การเทศนาไม่ควรลดคุณค่าลงมาเป็นเหมือนการเล่าเรื่องตลกปกฮาให้คนได้หัวเราะเท่านั้น บ่อยครั้ง ผู้ฟังเทศน์จำได้แต่เรื่องตลกที่ผู้เทศน์เล่าแต่ไม่รู้ว่าอะไรคือสัจจะสาระความจริงสำหรับการดำเนินชีวิตคริสตชน การที่มีความบันเทิงเราไม่ว่ากัน   แต่อย่าให้มีแต่บันเทิงจนทำให้จิตวิญญาณของผู้ฟังเหี่ยวเฉา เราไม่ควรที่จะตกอยู่ในกับดักกลัวว่าคนจะไม่สนใจคำเทศนาของเรา

แล้วท่านเตรียมเทศน์อย่างไรครับ? แบ่งปันกันในที่นี้ได้นะครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น