31 ธันวาคม 2556

สะท้อนคิด... คริสต์มาสที่ผ่านมา

เลิกเฉลิมฉลองการมาของพระคริสต์เพียงปีละวัน   แต่ให้พระองค์เข้ามาในชีวิตของเราอีก 364 วันด้วย

พอแล้ว...   คริสเตียนคริสต์มาส! 

อย่าเข้าใจผมผิดนะครับ...   ผมไม่ได้หมายถึงผู้ที่มาในคริสตจักรเฉพาะในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเท่านั้น

แต่ผมหมายถึงคนที่มาคริสตจักรเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ต่างหากครับ!    ที่ให้เวลา  ให้ของขวัญ  และใส่ใจลูก  คนในบ้าน   และคนอื่นๆ   เฉพาะในวันคริสต์มาสเท่านั้นครับ!

ข้างบ้านผม  เพื่อนบ้านได้ทำฉากการประสูติของพระเยซูคริสต์   ผมได้เดินเลียบๆ เคียงๆ ทุกปี   มีอยู่ปีหนึ่งผมได้ยินเด็กน้อยพูดกับยายของตนว่า  “ยาย  พระเยซูเกิดในสวนสัตว์”   ผมคิดในใจว่า   เอ่อ...จริงของเด็กน้อย   เพราะที่พระเยซูเกิดมีทั้งแกะ  วัว  อูฐ  ไก่(ที่มาคุ้ยฟาง)   และสุนัขมานอนที่ฟางข้างๆ โยเซฟเพราะมันอุ่นดี ...แล้วก็มีตุ๊กตาทารกนอนในรางหญ้า   มีทั้งผู้มาเยี่ยมพระกุมารเป็นพวกนักปราชญ์ และ คนเลี้ยงแกะ  มีมารีย์และโยเซฟ พ่อแม่ของพระเยซูอยู่เคียงข้างรางหญ้า   เมื่อผมเดินเฉียดเข้าใกล้ๆ ฉากที่เพื่อนบ้านสร้างขึ้นได้กลิ่นฟางใหม่ กลิ่นดิน  ทำให้รู้สึกว่าได้บรรยากาศดี   แล้วคิดในใจไปว่า 

“เราต่างต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากในเทศกาลคริสต์มาสนี้ด้วยกันทั้งสิ้น” 

นักปราชญ์ต้องเดินทางไกลผ่านทะเลทราย หุบเหวห้วยธารน้ำที่ลำบาก   ชีวิตคนเลี้ยงแกะที่ไม่ต่างจากเกษตรกรรายย่อยในบ้านเมืองไทย   ที่มีความทุกข์ยากลำบากเป็นคู่ชีวิต   ทั้งมารีย์และโยเซฟหาที่ซุกหัวนอนไม่ได้   ต้องมาพึ่งคอกสัตว์เป็นที่เกิดของทารกน้อย   ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บมีฟางที่ให้ความอบอุ่นสำหรับคนยากไร้และสัตว์ในละแวกนั้น   ทารกน้อยที่มารีย์รู้ว่าเป็นพระเมสสิยาห์ที่พวกยิวรอคอยกลับต้องมาทนหนาวไร้ที่หลับพักพิง   ต้องมาขอยืมรางหญ้าของสัตว์เลี้ยงในคอกนั้นเป็นเปลนอน   พวกเราเองที่เฉลิมฉลองคริสต์มาสก็ต้องวุ่นวาย จับจ่ายใช้สอยเงินทองในเวลาช่วงนี้ค่อนข้างฟุ่มเฟือย   แต่พวกเราก็ไม่มีเวลาที่จะเอาใจใส่ใกล้ชิดลูกอย่างมารีย์และโยเซฟที่มีเวลากับลูกน้อย   เรามีแต่ของขวัญ  เงินทองที่ให้กับลูก   เราเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ต้องอดทน  ใช่ครับ...เราต่างต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากในเทศกาลคริสต์มาสมาตลอด

ทำให้ผมสะท้อนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมา... แท้จริงเรามิได้ทุกข์ยากลำบากในวันคริสต์มาสเท่านั้น!

ใช่ครับอีก 364 วันในหนึ่งปีของเราก็ทุกข์ยากลำบากด้วยเช่นกัน!    แน่นอนครับ  เราต้องสาละวนอยู่กับการทำมาหากินนั่นเป็นความทุกข์ยากที่หลายคนเห็นว่าไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้   และที่สำคัญคือเราต้องวุ่นวายใจกับการเสริมสร้างปล้ำสู้กับชีวิตของลูก   นอกจากที่ต้องเรียนตามภาคบังคับในโรงเรียนแล้ว   ยังต้องหาที่เรียนพิเศษให้ลูก   หาที่เรียนดนตรี  เล่นกีฬา  เต้นบัลเล่ต์  จ้างครูพิเศษมาสอนทำการบ้านให้ลูก   เพราะต้องการให้ลูกเก่ง เด่น ดี ดัง  และมีอาชีพที่โกยเงินโกยทองได้มากๆ ในอนาคต   และนี่คือที่มาที่พ่อแม่ไม่มีเวลาที่จะอยู่กับลูกอย่างใกล้ชิดด้วยชีวิตสัมพันธ์แบบครอบครัวเลย   ต่างคนต่างไปตามทางของตนเอง   ต่างคนต่างมีกิจกรรมประจำวันของตนเอง   แล้วในที่สุดก็ต่างคนต่างอยู่   ต่างคนต่างคิด   ต่างคนต่างเชื่อ!   และที่สำคัญคือ...

แล้วเราจะให้พระคริสต์อยู่ที่ไหนในชีวิตของเราและครอบครัวอีก 364 วันในหนึ่งปี?

ให้เวลา

ให้เวลากับคนในครอบครัว   ความใกล้ชิดสนิทสัมพันธ์กันในครอบครัว และ การเสริมสร้างกันและกันขึ้นในชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง   ไม่มีพระคัมภีร์ตอนใดที่บอกว่า “จงนำให้ลูกหลานของท่านมุ่งกระทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันตั้งแต่  การเรียนพิเศษ  การเรียนดนตรี  เปียอาโน และฝึกว่ายน้ำ ฯลฯ  เพื่อลูกหลานจะได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์”   แต่เรากลับพบว่า  พระคัมภีร์กำชับเราผู้เป็นพ่อแม่ว่า “จง​ฝึก​เด็ก​ใน​ทาง​ที่​เขา​ควร​จะ​เดิน​ไป    และ​เมื่อ​เขา​เติบ​ใหญ่ เขา​จะ​ไม่​พราก​จาก​ทาง​นั้น”  (สุภาษิต 22:6 มตฐ.)

นั่นหมายความว่า  เราต้องใส่ใจที่จะเอาสิ่งที่ต้องทำแต่อยู่นอกกรอบกิจกรรมประจำวันเข้ามาเป็นสิ่งกระทำในแต่ละวัน   ไม่ใช่มุ่งแต่เสริมสร้างลูกของเราให้เก่ง เด่น ดัง ด้วยการทุ่มเทเวลาชีวิตกับกิจกรรมที่เรียงรายไว้ทั้งวัน   แล้วในส่วนที่พระเจ้าประสงค์ให้เราบ่มเพาะในชีวิตของลูกกลับไม่ได้ทำ  และพึงระวังว่า การฝึกดนตรี หรือ เปียอาโน การเรียนพิเศษ   การซ้อมกีฬา และกิจกรรมประจำวันที่เต็มเหยียดในชีวิตของลูก  อาจจะกลายเป็นรูปเคารพในชีวิตประจำวันในชีวิตของลูกและพ่อแม่   

เราต้องตระหนักรู้ตัวเสมอว่า “ลูก” เป็นคนที่พระเจ้าประทานและมอบหมายให้เราดูแลรับผิดชอบในการบ่มเพาะ ฟูมฟัก เลี้ยงดู  ไม่มีทางเลี่ยงที่เราจะต้องใส่ใจในความรับผิดชอบที่จะ โค้ช, สอน, เป็นพี่เลี้ยง และ เป็นแบบอย่างแก่ลูกในการเสริมสร้างเขาให้เดิน “ในทางของพระเจ้า”   ในฐานะพ่อแม่เราคงต้องเรียนรู้ที่จะบอกปฏิเสธกับหลายกิจกรรมประจำวัน หรือ ในวันหยุดของลูก   เพียงเพราะเราเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่จะทำให้ลูกของเรา เก่ง เด่น ดัง หรือ ทำเงินได้มากๆ ในอนาคต   แต่ควรหาช่วงเวลาเพื่อให้ลูกมีโอกาสสัมผัสกับ “พันธกิจชีวิต” ที่จะเสริมสร้างเขาเป็นคนที่พระเจ้าพึงประสงค์   สร้างเขาให้เป็นคนอย่างที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้พ่อแม่ใส่ใจดูแล

ให้ตะลันต์ที่มีอยู่

เราสามารถใช้ตะลันต์ที่เรามีอยู่สร้างเสริมประโยชน์ในชีวิตของผู้คน   รวมถึงในชีวิตของลูกด้วย   ตะลันต์ความสามารถที่ว่านี้เป็นความสามารถที่มีในคนธรรมดาอย่างเราท่าน   เช่น  บางคนมีตะลันต์ในการทำอาหารบางอย่าง   ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก็อาจจะเปิดบ้านและรวมคนที่สนใจมาร่วมกันทำ  แบ่งปัน  และเรียนรู้จากกันและกัน   และให้ลูกของเรามีส่วนร่วมในการแบ่งปันตะลันต์นั้นด้วย    ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร  ขนม  หรือการทำเน็ตติ้ง  การจักสาน  การทำสวนที่บ้าน  นอกจากการที่เราได้เกิดการแบ่งปันเรียนรู้จากกันและกันแล้ว   ลูกของเราจะได้ซึมซับเอาเรื่องของความสัมพันธ์และการเอื้ออาทรที่มีต่อกันเข้าในชีวิตของเขา

พ่อแม่บางท่าน ได้นัดหมายและพาลูกของตนเองไปเยี่ยมคนต่างๆ ที่มีตะลันต์ที่แตกต่างหลากหลาย   เพื่อไปดูและพูดคุย ไถ่ถามถึงการใช้ตะลันต์ของเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมีความสำคัญและเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง   ทั้งนี้ลูกจะได้เรียนรู้ถึงชีวิตที่รับใช้พระเจ้านั้นมีมากมายหลายทาง   และที่สำคัญคือแต่ละคนรับใช้พระเจ้าตามตะลันต์ความสามารถที่ตนมีอยู่   หลายคนที่ได้มีโอกาสใช้ตะลันต์ความสามารถที่ตนมีอยู่รับใช้คนอื่นๆ   และการกระทำเช่นนั้นกลายเป็นสะพานนำคนอื่นเข้ามาร่วมชีวิตในคริสตจักร   “...แต่​ละ​คน​ได้​รับ​ของ​ประ​ทาน ก็​ให้​ใช้​ของ​ประ​ทาน​นั้น​ปรนนิบัติกัน​และ​กัน ดัง​เช่น​ผู้​รับ​มอบ​ฉันทะ​ที่​ดี​เกี่ยว​กับ​พระ​คุณ​นา​นา​ประ​การ​ของ​พระ​เจ้า” (1เปโตร 4:10 มตฐ.) 

ให้สิ่งของ

เรามักคิดว่าเราถวายทรัพย์ในวันอาทิตย์ก็พอแล้ว   ยิ่งกว่านั้นบางคนที่สัตย์ซื่อในการถวายสิบลดก็คิดว่าตนทำได้ดีเยี่ยมตามพระคัมภีร์แล้ว   การให้ทรัพย์สินสิ่งของแก่คนอื่นนั้น   เป็นการสอนและให้แนวทางชีวิตแก่ลูกหลานของเราด้วยเช่นกัน

ในยุควัตถุนิยม   หลายคนในคริสตจักรมีทรัพย์สิ่งของที่เหลือใช้มากมาย   ที่ซุกเก็บไว้ในตู้ในลิ้นชัก  และที่เอาไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ(เพราะมันเกะกะบ้าน)  แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งอาจจะต้องใช้มัน   แต่จนแล้วจนรอด สิบปี ยี่สิบปี   ก็ไม่ได้เอาไปใช้

บ่อยครั้งที่เราบริจาคสิ่งของเหลือใช้เรามักง่ายครับ   เอาไปให้มูลนิธิ หรือ องค์กรสาธารณกุศลช่วยเอาไปแจกจ่ายแทนเราหน่อย (เราไม่รู้ว่าจะเอาไปให้ใคร หรือ ไม่มีเวลาที่จะมาคิดพิจารณาทำเช่นนั้น?)   การกระทำเช่นนั้นก็เหมือนกับการกวาด “ขยะทรัพย์สมบัติ”  ออกไปจากบ้านเราไปกองไว้ที่องค์กรสาธารณะกุศล

การให้สิ่งของ  ความสำคัญมิได้อยู่ที่สิ่งของที่เราให้ไป   การให้สิ่งของแก่ใครก็ตามความสำคัญอยู่ที่คนที่เราให้และจิตใจน้ำใจของเราที่ต้องการมีความสัมพันธ์ด้วยรักเมตตาที่ลึกซึ้งกับผู้รับ    ดังนั้น   ให้เราเลิกให้ของที่ไม่ดีแล้ว  ไม่ใช้แล้วให้ออกไปจากบ้าน   แต่ให้เราให้ด้วยใจรักผูกพัน   ต้องการช่วยเหลือแบ่งปันกัน    ให้สิ่งที่มีค่าและจำเป็นสำหรับผู้รับ   ให้ด้วยความผูกพันใส่ใจในชีวิตของเขา    การให้สิ่งของแบบนี้ต่างหากที่มีจิตวิญญาณการให้เยี่ยงพระคริสต์ที่จะซึมซับเข้าในจิตใจและจิตวิญญาณของลูกที่ไปกับเราด้วย

สุดท้าย   เช้าวันนี้ผมสะท้อนคิดได้ว่า...  ปีใหม่นี้   ผมจะเอาจริงเอาจังกับการใช้เวลาชีวิตที่ได้รับ   ใช้ตะลันต์ความสามารถที่พระเจ้าประทาน   และใช้ทรัพย์สินสิ่งของที่มีอยู่อย่างรับผิดชอบ    ผมตั้งใจอุทิศสิ่งแรกของแต่ละวันแด่พระองค์   ทุกๆ รุ่งอรุณ  ที่สมองปลอดโปร่ง  แจ่มใส  ความคิดเฉียบคมขอถวายสำหรับพระคริสต์   และให้ทุกเช้าในปีนี้เป็นรุ่งอรุณที่พระคริสต์เข้ามาในชีวิตของผมครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น