01 มกราคม 2557

เขาว่าฉันเบี้ยวพระเจ้า?

ทำไมเรียนจบพระคริสต์ธรรมแล้วไม่ทำงานในคริสตจักร?

“คนเรียนจบพระคริสต์ธรรมแล้วต้องทำงานรับใช้พระเจ้าในโบสถ์ในคริสตจักร...” 

“เวลามาเรียนในพระคริสต์ธรรม   ก็รับทุนที่เป็นเงินถวายจากคริสตจักร   แล้วเมื่อเรียนจบ  ทำไมไปทำงานอย่างอื่นเสีย...  นี่มิใช่การเบี้ยวพระเจ้าหรือ?”

“เมื่อมาสมัครเรียนก็ให้สัมภาษณ์ว่าพระเจ้าทรงเรียกจึงมาเตรียมตัวรับใช้พระองค์   แต่เมื่อเรียนจบแล้วกลับไปทำงานองค์กรงานพัฒนาชุมชน   ทำอย่างนี้เป็นการสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าหรือเปล่า?”

คำถามแบบนี้สามารถถามหรือได้ยินไปอีกเป็นร้อยเป็นพันคำถามครับ   และหลายคนก็ตกเป็นจำเลยของคำถามเหล่านี้   บ่อยครั้งก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร   ไม่กล้าไปปรึกษาใคร   เพราะคิดว่าตนกำลังทำผิด   กลายเป็น “ตราบาป” ที่แขวนคอประจานตนเองไปตลอดเวลา   หาคำตอบไม่พบ   หาทางออกไม่ได้!

แก่นหลักของประเด็นนี้อยู่ที่ “กรอบคิดกรอบเชื่อ” ของเราต่อเรื่อง “การทรงเรียกและการตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้าในชีวิตของเรา”   ตราบใดที่เราขาดความเข้าใจและความเชื่อที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทรงเรียกของพระเจ้าในชีวิตของเรา   อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสที่จะใช้ชีวิตที่เราดำเนินอยู่จริงแต่ละวันที่จะตอบสนองต่อการทรงเรียกของพระเจ้าอย่างมีคุณค่าและความสุข

กรอบคิดกรอบเชื่อที่คับแคบและสายตาสั้นที่มีอยู่อย่างกลาดเกลื่อนทั่วไปในคริสตจักรไทยของเราคือ   พระเจ้าทรงเรียกคนให้รับใช้พระองค์ในงานพันธกิจการรับใช้ของคริสตจักร(เท่านั้น)   กล่าวขยายความ  งานต่างๆที่เราต้องทำ ต้องรับผิดชอบ ไม่เคยคิดที่จะเอามาเป็นส่วนหนึ่งในสาระบบการทรงเรียกของพระเจ้า   ดังนั้น  คริสตชนจึงมักจำกัดขีดเส้นการทรงเรียกของพระเจ้าเพียงงานรับใช้ในคริสตจักร   กระทำศาสนพิธี  เลี้ยงดูจิตวิญญาณของสมาชิกในคริสตจักร   แล้วออกไปประกาศให้มีคนมารับเชื่อใหม่เพิ่มมากขึ้น

เรื่องในทำนองนี้เกิดขึ้นในคริสตจักรฝรั่งด้วยเช่นกันครับ   และพยายามมีอิทธิพลทางกรอบคิดกรอบเชื่อของคริสตชนไทยบางส่วนด้วยเช่นกัน   ผมขอยกตัวอย่างข้อเขียนของ Carolyn Custis James ที่เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองในเรื่องนี้ในบทความเรื่อง “Is This Enough?

หลังจากที่เรียนจบพระคริสต์ธรรม   เธอได้รับใช้ในงานรับใช้ต่างๆ ที่เธอชอบเป็นทีมผู้อภิบาลคนหนึ่งในคริสตจักรที่เท็กซัส   เธอรับผิดชอบพันธกิจสตรีวัยรุ่น   นำกลุ่มเรียนพระคัมภีร์ในแต่ละสัปดาห์   มีส่วนในพันธกิจด้านดนตรี   และยังมีโอกาสใช้เวลากับหนุ่มสาวในคริสตจักร

เมื่อเธอแต่งงานจึงต้องย้ายงานตามสามีไปที่เพนสิเวเนีย ติดตามและสนับสนุนการศึกษาต่อของสามี   เธอต้องเปลี่ยนจากงานในคริสตจักรไปทำงานด้านบริหารในโรงพยาบาล   รับผิดชอบในงานด้านการจัดการ  งานคอมพิวเตอร์  และการพัฒนาซอฟแวร์   โอกาสที่จะทำงานพันธกิจคริสตจักรถูกกระทบกระเทือน   งานที่เธอทำอย่างมีความสุขในเวลานั้นกลับถูกมองเหมือนว่าเธอได้ก้าวออกไปจากงานรับใช้ตามกระแสการทรงเรียก

เมื่อลูกสาวของเธออายุสามขวบ   ครอบครัวของเธอต้องย้ายถิ่นฐานไปไกลที่ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ   สนับสนุนสามีของเธอเป็นเวลาสี่ปีในการศึกษาระดับปริญญาเอก   และในช่วงเวลานั้นเธอต้องใช้ความรู้จากการพัฒนาซอฟแวร์ในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว   เกิดช่องว่างกว้างเป็นเวลา 13 ปีที่เธอห่างเหินออกไปจากงานพันธกิจ(แบบทางการ)   เพราะเธอต้องใช้เวลาและพลังชีวิตทำงานกับลูกค้าของเธอ   จนเธอไม่มีเวลาเหลือที่จะทำสิ่งอื่นใด   และความรู้สึกผิดว่าตนเองไม่ได้รับใช้พระเจ้าฝังแน่เกาะกุมในจิตใจของเธอในเวลานั้น

ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อนคนหนึ่งของเธอ ได้กล่าวคำพูดที่ปลดปล่อยให้เธอเป็นอิสระจากกรอบคิดกรอบเชื่อที่คับแคบเกี่ยวกับการรับใช้พระเจ้าและการทรงเรียกของพระองค์ว่า  “บางครั้งชีวิตครอบครัวก็เป็นพันธกิจการหนึ่งที่พระเจ้าทรงเรียก”  แล้วเพื่อนของเธอได้ช่วยชี้ให้เธอเห็นถึงเหตุผลและความสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่เธอกระทำในเวลาช่วงนั้น

แท้จริงแล้วแม้ว่าเธอจะมิได้เป็นผู้นำในกลุ่มเรียนพระคัมภีร์  หรืออาสารับใช้ในพันธกิจคริสตจักร   แต่เธอยังรับใช้พระเจ้าตามการทรงเรียกของพระองค์   เพื่อนคนนั้นได้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้เธอเห็นถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างงานที่เธอทำอยู่กับการทรงเรียกของพระเจ้า   ให้ภาพชัดเจนในงานรับใช้พระเจ้าแก่เธอ   แม้คำอธิบายของเพื่อนจะไม่ได้ครอบครอบคลุมพื้นที่ชีวิตที่เป็นไปได้ทั้งหมดในการรับใช้พระเจ้าที่พระองค์ทรงมอบหมายด้วยการทรงไว้วางใจเราที่จะใช้โอกาสเหล่านั้นในการรับใช้พระองค์

Carolyn Custis James กล่าวว่า  การทรงเรียกของพระเจ้ามิได้เริ่มต้นที่พระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์(มัทธิว 28:18-20)   แต่การทรงเรียกครั้งแรกของพระเจ้ามีเมื่อพระองค์ทรงสร้างชายและหญิงตามพระฉายาของพระองค์ (ปฐมกาลบทที่ 1-2)  ที่ชี้ชัดว่า  ทุกสิ่งที่เรากระทำในชีวิตประจำวันมีค่าความหมายในการรับใช้พระเจ้า   เธอได้เขียนไว้ในข้อเขียนเรื่อง Half the Church ว่า  “พระเจ้าทรงให้เราอยู่ท่ามกลางพระราชกิจที่พระองค์กำลังกระทำในโลกนี้   พระองค์มิได้ให้เราเป็นผู้ชมผู้ดูการทำพระราชกิจของพระองค์   แต่พระองค์เรียกให้เราเป็นตัวแทนและเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นล้อมรอบชีวิตประจำวันของเรา”

พระฉายาของพระเจ้าที่ทรงฝังเข้ามาในชีวิตของเรา   พระองค์ทรงเรียกให้เราเป็นตัวแทนของพระองค์  เป็นตาของพระองค์  เป็นมือเป็นแขนของพระองค์   เป็นเสียงของพระองค์   และพระองค์ยังหวังให้เราที่จะเอาใจใส่ที่ฟังให้ได้ยินเสียงร้องของผู้คนที่ได้รับความเจ็บปวดในชีวิต  ได้รับการกดขี่ข่มเหง   เพื่อมุ่งมองสอดส่องว่ามีสิ่งใดบ้างไหมที่มิได้เป็นไปตามที่พระองค์ประสงค์   และดำเนินการให้สิ่งเหล่านั้นให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามพระประสงค์ในพระนามของพระองค์

นั่นหมายความว่า  ทุกที่ที่เราไป  ทุกสิ่งที่เราทำ  เราจะกระทำทุกสิ่งเหล่านั้นเพื่อรับใช้พระเจ้า   ตั้งแต่การที่จะดูแลเอาใจใส่วิถีการดำเนินชีวิต  ทรัพยากรโลก   มีส่วนในการปลดปล่อยคนที่ถูกบีบบังคับให้อิสระ   เอาใจใส่คนที่หิวโหย   ปลดเปลื้องให้ผู้คนที่เราทำงานด้วยหลุดรอดออกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง  ทั้งในที่ทำงาน  หรือแม้แต่การกล่อมลูกน้อยให้นอนหลับ   นี่เป็นงานรับใช้ตามการทรงเรียกของพระเจ้าทั้งสิ้น

สำหรับพระคริสต์แล้ว   พระองค์รับใช้ตามการทรงเรียกของพระบิดาท่ามกลางคนที่ต่ำต้อยเล็กน้อยที่สุดในสังคม   คนที่ถูกโลกมองข้าม  ทอดทิ้ง  และหลงลืม   พระองค์ทรงกระทำพระราชกิจอย่างเงียบเรียบง่าย   แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นก็ตาม   พระองค์ตรัสว่า  “เราบอกความจริงแก่ท่านว่าสิ่งใดที่ท่านทำให้แก่ผู้เล็กน้อยที่สุดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรา   ท่านก็ได้ทำให้เราด้วย” (มัทธิว 25:40 อมตธรรม)

พันธกิจที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายให้เรารับใช้นั้นไม่มีกรอบจำกัด   ตั้งแต่เกิดจนเราจากโลกนี้ไปคือพื้นที่โอกาสชีวิตที่พระเจ้าทรงประทาน และ ทรงเรียกให้เรารับใช้พระองค์

น่าเสียดายที่กรอบคิดกรอบเชื่อในการทรงเรียกของพระเจ้าถูกขีดเส้นให้คับแคบอึดอัด   และตัดส่วนโอกาสสำคัญและพื้นที่ชีวิตที่พระเจ้าทรงเรียกคริสตชนส่วนใหญ่ให้รับใช้พระองค์ออกไปจากกรอบคิดกรอบเชื่อของคริสตชนไทยในปัจจุบัน  

มองในมุมกลับนี่ก็เป็น “การเบี้ยว” การทรงเรียกของพระเจ้าในอีกแง่มุมหนึ่งเช่นกันหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น