06 ธันวาคม 2556

รอเวลาที่เหมาะสม หรือ ผัดวันประกันพรุ่งกันแน่

ท่านต้องตัดสินใจ!
แต่ท่านไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร  
ดังนั้น  ท่านจึงยังไม่ตัดสินใจ  

บางครั้งการที่ยังไม่ตัดสินใจอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะอาจจะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะตัดสินใจในเรื่องนั้น   จอห์น แมกซ์เวลล์ เคยกล่าวไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า  การนำมีความสำคัญพอๆ กับการที่เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  หรือที่เราจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง    ดังนั้น  เวลาที่เหมาะสมมีบทบาทอันสำคัญในการตัดสินใจของเราหลายต่อหลายครั้ง   การตัดสินใจที่ยังไม่ตัดสินใจอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดก็ได้ใครจะไปรู้   ทั้งนี้เพราะเราอาจจะต้องการมีข้อมูลในเรื่องที่เราจะตัดสินใจมากกว่าที่เรามีอยู่  หรือ ผู้คนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของเราควรจะมีโอกาสในการเตรียมตัวล่วงหน้า

แต่การรั้งรอการตัดสินใจ  เป็นวิธีการที่จะนำไปถึงเวลาที่เหมาะสมเสมอไปหรือ?   การที่ท่านไม่ตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ เพราะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นมากกว่าหรือเปล่า?   หรือมันเป็น “การผัดวันประกันพรุ่ง” กันแน่?   แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า การที่เราไม่ตัดสินใจครั้งนั้นเป็นการผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่?

การอ้างว่ารอเวลาที่เหมาะสมอาจกลับกลายเป็นการผัดวันประกันพรุ่ง...
1. เมื่อไม่มีกำหนดเส้นตาย (วันสิ้นกำหนด) ของเรื่องนั้นๆ ที่เราต้องตัดสินใจ
2. เมื่อเราถามบ่อยๆ ว่า  “แล้วฉันจะทำเรื่องนี้ให้เสร็จช้าที่สุดได้เมื่อไหร่?”   แทนที่จะถามว่า  “ฉันจะทำเรื่องนี้ให้เสร็จเร็วที่สุดได้เมื่อไหร่?”
3. เมื่อเราพบเรื่องนั้นกลับมาปรากฏในรายการที่ต้องทำของเราครั้งแล้วครั้งเล่า   เป็นเรื่องที่เรายังพบว่าไม่ได้ทำวันแล้ววันเล่า  เดือนแล้วเดือนเล่า (อย่าให้ถึงปีแล้วปีเล่าเลย)
4. เมื่อเรื่องนั้นถูกตัดหรือขีดฆ่าออกไป   มิใช่เพราะว่าท่านได้ทำสำเร็จแล้ว   แต่เพราะว่าเรื่องนั้นเลยเวลาที่ควรจะทำแล้ว

นักธุรกิจชาวอเมริกัน Victor Kiam กล่าวไว้ว่า  “การผัดวันประกันพรุ่งคือฆาตกรที่ลอบฆ่าโอกาสของเราอย่างนิ่มนวล”   และก็เป็นความจริงด้วยว่า การที่เราหยุดหรือชะลอการตัดสินใจยาวนานอาจจะทำให้การตัดสินใจของเราไม่เหมาะสมก็ได้”   เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป   โอกาสก็จะสูญหายไปด้วย

ต่อไปนี้เป็นประเด็นคำถามที่ท่านสามารถใช้ในการตรวจสอบ  เพื่อท่านจะสามารถก้าวข้ามการผัดวันประกันพรุ่งได้ 

ประเด็นพิจารณาตามกฏของเมอร์ฟี่

มีความเป็นไปได้ไหมว่า การตัดสินใจของฉันอาจจะผิดพลาด?
ถ้าฉันตัดสินใจลงไปแล้วฉันพร้อมจะรับมือกับผลที่เกิดขึ้นหรือไม่?

อัลเบิร์ต ไอสไตน์ กล่าวไว้ว่า “ท่ามกลางความยากลำบากปูทางไปสู่โอกาส”   กฎของเมอร์ฟี่ กล่าวว่า มันอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาด   ท่านสามารถที่จะรับมือกับแผนการที่ย่ำแย่นั้นได้ไหม?   โอกาสที่จะได้รับมันสมน้ำสมเนื้อมีคุณค่าพอหรือไม่?   ถ้าคำตอบคือใช่   นั่นอาจจะเป็นเวลาที่ควรตัดสินใจ

ประเด็นพิจารณาการเตรียมพร้อม

เราได้เตรียมพร้อมในเรื่องที่เราจะตัดสินใจนี้หรือไม่?

โปรดตระหนักว่า  การเตรียมพร้อมไม่จำเป็นที่เราจะมีคำตอบสำหรับทุกคำถาม หรือ เป็นความเห็นด้วยของคนส่วนใหญ่เสมอไป   นายพล Colin Powell เคยกล่าวไว้ว่า  ถ้าหมายเลข 0 หมายถึงว่าไม่มีข้อมูล  100  หมายถึงเรามีข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการตัดสินใจ   เขาก็จะรอไปจนถึงมีหมายเลขถึง 60 จากนั้นเขาก็จะใช้ความกล้าหาญทางสัญชาตญาณ และการหยั่งรู้ของเขา  รวมกับประสบการณ์ที่เขามี     ในการตัดสินใจเลือกการเตรียมพร้อมเมื่อมีอย่างน้อยมี 60

ประเด็นพิจารณาทางเลือก

ในการรอของฉันทำให้ทางเลือกของฉันเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง?

ถ้าการรอทำให้เรามีเวลาที่เหมาะสม   นั่นหมายความว่าการชะลอการตัดสินใจย่อมเพิ่มโอกาสแก่เรา   อาจจะด้วยการที่เราจะได้รับข้อมูลสำหรับการตัดสินใจที่เพิ่มมากขึ้น   หรือเป็นการเปิดทางสำหรับโอกาสใหม่ๆ   อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าเวลาสำหรับการชะลอการตัดสินใจทำให้คุณค่าทางโอกาสลดน้อยถอยลง   อาจะเป็นเวลาที่เราต้องตัดสินใจ

ประเด็นพิจารณาเส้นตาย

เมื่อไหร่ที่เป็นเวลาเหมาะสมสำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้อง?

Connie Gersick ได้ทำการศึกษาผลกระทบของกำหนดเส้นตายสำหรับการตัดสินใจ   ข้อมูลที่เธอได้รับได้แสดงผลที่แม่นยำว่า  ช่วงกลางระหว่างการตัดสินใจกับเส้นตายที่กำหนดของงานนั้นๆเป็นช่วงเวลาที่ลงมือทำงานนั้นอย่างจริงจัง   ถ้าไม่มีเส้นตายที่กำหนด  งานนั้นอาจจะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย   การกำหนดเส้นตายที่แน่ชัด   จะช่วยท่านทำการตัดสินใจอย่างเป็นกระบวนการมุ่งสู่ปลายทางของงานนั้น

การผัดวันประกันพรุ่งอาจจะลดความกดดันตึงเครียดเพียงเวลาสั้นๆ   แต่มันกลับเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวฉุดรั้งความก้าวหน้าเป็นเวลาที่ยาวนาน   ถ้าในเรื่องใดที่ท่านรู้สึกว่าจะผัดวันประกันพรุ่ง   ท่านสามารถที่จะใช้ประเด็นพิจารณาที่เสนอข้างต้นในการตัดสินใจของท่าน   และเมื่อเป็นเวลาอันควรท่านต้องตัดสินใจ  

อย่ารอจนถนนโล่งแล้วค่อยขับรถออกจากบ้าน!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น