24 ธันวาคม 2563

คืนคริสต์มาสอันแสนว้าวุ่นและวุ่นวาย

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนในคริสตจักรต่างคาดหวังว่า ในช่วงเวลาคริสต์มาส จะเป็นช่วงเวลาที่ “สงบ-สุขสันติ” ในการเฉลิมฉลองคริสต์มาส ส่วนใหญ่หรือเกือบทุกคนพยายามหลีกเลี่ยง หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวาย สับสน หรือ เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นในช่วงของการเฉลิมฉลองคริสต์มาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนมัสการพระเจ้า รายการแสดงเช้าวันนั้น หรือ การจัดเลี้ยงต้อนรับแขกที่มาร่วม เราต้องการคริสต์มาสที่มีการจัดเตรียมที่พร้อมเรียบร้อย

แท้จริงแล้วเกือบทุกคนคาดว่าคริสต์มาสควรจะเป็นเวลาที่ “สงบ” และมี “ความสุข” ใช่ไหม? แม้แต่เพลงคริสต์มาสที่เราร้องก็บ่งบอกอาการเช่นนั้น เช่น  “คืนนั้นหน้าหนาว เงียบเหงาวังเวง...”  “ราตรีสงัด...ราตรีสวัสดิ์”  “มีหมู่บ้านน้อยชื่อเบธเลเฮม  หลับเงียบเกษมสบาย”  และท่านสามารถบอกได้อีกมากมายที่บ่งบอกถึงคริสต์มาสเป็นวันคืนแห่ง “ความสงบสุข”

แต่เมื่อครั้งคริสต์มาสคืนแรกที่เบธเลเฮมนั้น เป็นคริสต์มาสที่แสนจะว้าวุ่นกังวลโดยเฉพาะกับมารีย์และโยเซฟที่เดินทางไกลจากนาซาเร็ธถึงบ้านเบธเลเฮม ที่เดินทางอย่างทุลักทุเลเพราะมารีย์ท้องแก่และเดินทางติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 10 วันแล้ว ในระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร นักวิชาการทางพระคัมภีร์สันนิษฐาน หรือ ประมาณการว่า ทั้งโยเซฟและมารีย์เดินทางไปด้วยเท้า คงไม่ได้ขี่ลาอย่างที่เราเห็นในรูปการ์ดคริสต์มาส เพราะทั้งสองมีฐานะที่ยากจน

ปัญหาที่สร้างความวิตกกังวลแก่ทั้งสองคือ หาที่พักไม่ได้ และมารีย์ก็กำลังจะคลอดแล้ว ในคืนนี้ที่เบธเลเฮมไม่ได้เงียบสงบอย่างเพลงบอกเลย! ในที่สุดลงเอยด้วยการไปยืมใช้มุมหนึ่งของคอกสัตว์ ซึ่งมีนักวิชาการทางพระคัมภีร์บางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นถ้ำที่เขาใช้ในการเก็บสัตว์เลี้ยง และที่นั่นมารีย์ก็ได้คลอดทารกน้อยเพศชาย เอาผ้าอ้อม หรือ ฉีกจากเสื้อผ้าของแม่มาเป็นผ้าอ้อม พันทารกน้อย แล้ววางให้นอนที่รางหญ้าที่ใช้เป็นที่ให้อาหารสัตว์เลี้ยง ต่างเปลนอน... โล่งอกไปเปราะหนึ่ง ที่คลอดทารกออกมาได้และยังมีชีวิตอยู่!

ในขณะที่มารีย์กำลังพักผ่อนจากความเหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสทั้งจากการเดินไกล และ การเบ่งให้ทารกน้อยออกมา ทันใดนั้นก็ต้องแปลกใจที่มีพวกเลี้ยงแกะมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่นาน แล้วก็พากันเข้ามานมัสการทารกน้อยของเธอ พร้อมเล่าว่า “ทูตสวรรค์มาบอกพวกเขาว่า พระผู้ช่วยให้รอดมาบังเกิด และบอกหมายสำคัญคือ ทารกน้อยจะถูกพันด้วยผ้าอ้อมหรือผ้าที่ใช้แล้ว  และวางในรางหญ้า” คำบอกเล่าของคนเลี้ยงแกะยิ่งสร้างความตื่นเต้นระคนความตระหนก และฉงนว่า แล้วเรื่องนี้จบลงอย่างไรกันแน่?   แต่มารีย์ได้แต่เก็บเรื่องเล่านี้ไว้ในใจ พร้อมทั้งภูมิใจลึก ๆ ว่า ตนมีส่วนในการมาเกิดของพระผู้ช่วยให้รอดที่จะนำความสงบและสันติสุขกลับมาให้แก่อิสราเอลอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่คนเลี้ยงแกะได้มานมัสการทารกน้อยนั้นแล้ว ด้วยความตื่นเต้นของการมาบังเกิดของพระผู้ช่วยให้รอด “เมื่อพวกเขาเห็น (ทารกน้อยพันผ้าอ้อมนอนในรางหญ้า ตามคำบอกของทูตสวรรค์) แล้ว จึงเล่าเรื่องที่เขาได้ยินและได้เห็นถึงพระกุมารนั้น แก่คนที่เขาพบเห็น คนทั้งหลายที่ได้ยินก็ประหลาดใจเกี่ยวกับเรื่องที่คนเลี้ยงแกะบอกกับเขา” (ลูกา 2:17 สมช.)

แน่นอนครับ เรื่องแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์เช่นนี้ต้องมาพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาของตนเอง ผู้คนมากมายคงจะมาดูทารกน้อยพันผ้าอ้อมนอนในรางหญ้า ตามที่คนเลี้ยงแกะบอกพวกเขา ทั้งมารีย์และโยเซฟต้องงงอย่างยิ่ง มีผู้คนมามุงดูมากมาย น่าจะเรียกว่า “ยิวมุง” ถ้าอยู่ในบ้านเราเป็น “ไทยมุง”  หรือในพวกยิวไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ก็ได้นะ

คืนนั้น ทั้งมารีย์และโยเซฟอาจจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนอีกคืนหนึ่ง ความว้าวุ่นใจ ความสับสนวุ่นวาย ค่อย ๆ ลงตัวทีละเรื่อง ทำไม “คริสต์มาสถึงเป็นเวลาที่ว้าวุ่นใจ และ วุ่นวายไปเสียทุกเรื่อง?” ทั้งนี้เพราะ การมาบังเกิดของพระเมสิยาห์ พระผู้ช่วยให้รอดนั้น มิได้มาบังเกิดอย่าง “ฐานเชื่อกระบวนคิด” ตามที่ผู้คนนึกคิดและเข้าใจกัน ไม่ได้มาบังเกิดอย่างยิ่งใหญ่ แต่ตรงกันข้าม พระองค์มาบังเกิดอย่างผู้เล็กน้อย ต่ำต้อยสุดๆในสังคมมนุษย์โลก และมาบังเกิดเพื่อรับใช้ด้วยการให้ทั้งชีวิตของพระองค์ เปาโลเขียนไว้ว่า

“(พระเยซูคริสต์) ผู้ทรงสภาพพระเจ้า

แต่ไม่ได้ทรงยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า

พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง

มารับสภาพทาส

บังเกิดเป็นมนุษย์

และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์

พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง

และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!”

(ฟีลิปปี 2:6-8 อมธ.) 

การเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่แท้จริงมิได้เป็นการเฉลิมฉลองในช่วงเดือนธันวาคมของแต่ละปีเท่านั้น ถ้าเราต้องการเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่แท้จริง เราต้องเฉลิมฉลองในชีวิตประจำวันตลอดปี และเราสามารถเฉลิมฉลองได้ดังนี้ ตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า

“บัดนี้ถ้าเราเป็นบุตรของพระองค์แล้ว เราก็เป็นทายาทคือเป็นทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ ถ้าเราร่วมทนทุกข์อย่างแท้จริงกับพระองค์ เราก็จะร่วมในพระเกียรติสิริของพระองค์ด้วย” (โรม 8:17 อมธ.) เราก็จะเป็นคนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า

การเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่แท้จริงคือ การเฉลิมฉลองที่เราได้ร่วมทนทุกข์กับพระเยซูคริสต์  และร่วมในพระเกียรติสิริของพระองค์ และเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของพระเจ้า และนี่คือการที่พระคริสต์บังเกิดในชีวิตของเราอย่างแท้จริง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น