25 มีนาคม 2563

ครอบครัวในภาวะที่สั่นคลอนหวั่นไหว

ในไม่กี่วันที่ผ่านมา   สังคมประเทศไทยเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็วเมื่อต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน หวั่นไหว ต้องรับมือกับภัยอันตรายที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น   และก็มีประสบการณ์ที่จะใช้ในการรับมือที่จำกัดและยากลำบาก   เราหลายคนคงไม่เคยคิดมาก่อนว่า   ครอบครัวคือปราการด่านสำคัญที่ใช้ในการป้องกันการรับเชื่อไวรัส โควิด-19  ซึ่งที่ผ่านมาครอบครัวมีความสำคัญน้อยลงมากในสายตามุมมองของหลายต่อหลายคนในปัจจุบัน

แต่วันนี้  เราต้องเก็บกักตนเองอยู่ด้วยกันในครอบครัว   ผมว่า มันก็ดีกว่าที่เราต้องเก็บกักตัวเองในหอพักโดดเดียวตัวคนเดียวยาวนานไม่น้อยกว่าครึ่งเดือน   เมื่อมีโอกาสพูดคุย สนทนากันทั้งทางโทรศัพท์  เฟสบุ๊ค  ไลน์ ฯลฯ  มีคำถามคล้ายๆกันว่า...

ต้องอยู่ในบ้านด้วยกันตั้งครึ่งเดือน  แล้วเราจะทำอะไรดี?  

แล้วภาพและบริบทของแต่ละครอบครัวก็ไม่เหมือนกัน   ดังนั้น  ความคิดที่จะทำอะไรด้วยกันที่คงต้องเลือกแตกต่างกันไปให้เหมาะสมสำหรับแต่ละครอบครัว   บางครอบครัวมีลูก  และยังขึ้นอยู่กับว่าลูกอยู่ในวัยไหน   บางครอบครัวเหลือพ่อแม่สูงอายุอยู่กันสองตายาย   และบางบ้านอยู่ตัวโดดเดี่ยวคนเดียว

จุดประสงค์ของข้อเขียนนี้   ต้องการเชิญชวนให้เรามาช่วยกันระดมประสบการณ์ ความคิด  ทบทวนว่า   ในภาวะเช่นนี้ เราจะทำอะไร  อย่างไร  เมื่อใดและทำไปทำไม  เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแบ่งปันความคิดเห็นเชิงปฏิบัติได้ด้วยกัน   ที่จะพลิกจาก “ความรู้สึกที่เบื่อหน่าย”  “ความรู้สึกที่เครียด กลัว ไม่มั่นคง”   ให้เป็นเวลาของการทบทวนและการค้นพบคุณค่าและความหมายของชีวิตในภาวะที่สั่นคลอน หวั่นไหว เบื่อหน่าย....

ผมขอเริ่มต้นลองขยับเสนอความคิดเชิงปฏิบัติสักสี่ซ้าห้าประการก่อน   และหวังว่าจะได้รับข้อเสนอที่ดีดีจากท่านผู้อ่านหลายๆท่านนะครับ

1.  พูดคุยกันในครอบครัว

เมื่อวิกฤติที่เราต้องเก็บกักตัวให้อยู่แต่ในบ้านในครอบครัว   เราสามารถใช้เวลาที่อยู่ด้วยกัน(แม้ถูกบังคับให้ต้องอยู่ด้วยกัน)ในการพูดคุยสนทนากัน   ชวนกับทบทวนถึงประสบการณ์ในอดีต  พูดคุยถึงชีวิตที่ผ่านมา   ที่มีทั้งประสบการณ์ของความกลัว กังวล ทุกข์ใจ   แต่หลายครั้งที่เราพบกับความชื่นชมยินดี   ในภาวะเหล่านี้เราแต่ละคนทำเช่นไร   และเกิดผลอย่างไร   แล้วอาจจะวกเข้ามาในสถานการณ์ตอนนี้ที่เราต้องอยู่บ้านด้วยกัน  เราแต่ละคนคิดอย่างไร  รู้สึกอย่างไร  แต่ละคนคิดว่าเราน่าจะใช้เวลาที่เราอยู่ด้วยกันนี้ในการทำอะไร   อย่างไร  เพื่ออะไรอะไรคือสิ่งดีดีที่จะเกิดขึ้นจากการที่เราต้องอยู่ด้วยกันในช่วงนี้?

มีข้อพระคัมภีร์บางตอนที่อาจจะใช้อ่าน ใคร่ครวญ ทั้งส่วนตัวและด้วยกันในครอบครัว   สดุดี 46:1 และ 56:3, ฟิลิปปี 4:6-7, สุภาษิต 5:5-6, มัทธิว 6:31-33, อิสยาห์ 26:3, สดุดี 37:25, เอเฟซัส 6:10-19.

2.  อธิษฐานด้วยกันในครอบครัว

ในเวลาที่มีความรู้สึกวิตก กังวล  สั่นคลอน  หวั่นไหว  เบื่อหน่าย...  ให้เราอธิษฐาน  ซึ่งอาจจะอธิษฐานเป็นการส่วนตัว  และอธิษฐานด้วยกัน   ในเวลานี้เราควรช่วยให้แต่ละคนเห็นชัดถึงความเชื่อของเรามากกว่าความกังวลห่วงกลัวเท่านั้น   และความเชื่อจะทำให้เรามีความมั่นคงไม่สั่นคลอนในชีวิตอย่างไร   คริสต์ชนทุกคนได้รับการทรงเรียกให้อธิษฐานอย่างไม่ย่อท้ออ่อนละอาใจ  และ หยุดหย่อน  อย่างเนื้อเพลงไทยนมัสการบทที่ 148  “เมื่ออธิษฐานนมัสการ”  ตอนช่วงท้ายของข้อที่หนึ่งมีเนื้อเพลงว่า  “ถ้าถูกข่มเหงหรือมีโศกทุกข์   จิตใจบรรเทาได้รับความสุข   ถ้าถูกทดลองจิตใจทุกข์ร้อน   จะได้บรรเทาเมื่อเฝ้าอ้อนวอน”

3.   ทำพันธกิจด้วยกันเป็นครอบครัว

ในช่วงที่อยู่ในบ้านในครอบครัวด้วยกัน  เราต้องไม่ลืมที่จะอธิษฐานเผื่อคนอื่นด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่กำลังได้รับความทุกข์มากมายในสถานการณ์เช่นนี้   และเมื่อเราอธิษฐานด้วยกัน   เราอาจจะร่วมกันเยี่ยมเยียนเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่เราอธิษฐานเผื่อ   ผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยว  แม่หม้าย ลูกกำพร้า   คนที่กำลังตกในความตระหนกกลัว  

ถ้าการไปเยี่ยมด้วยตัวของเราไม่สะดวก หรือ ไม่เหมาะสม   เราอาจจะเยี่ยมผ่านทางโทรศัพท์  ทางไลน์ หรือ ทางเฟสบุ๊ค หรือ ทางอีเมล์   ด้วยการถามไถ่  สนทนาให้กำลังใจ  อธิษฐานเผื่อ  อธิษฐานด้วยกัน  ซึ่งการทำพันธกิจเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับคนที่เราเยี่ยมเยียน และ สมาชิกในครอบครัวของเราด้วย  
แต่ถ้าเป็นการเยี่ยมผู้สูงอายุ หรือ คนที่อ่านได้ลำบาก  ให้ทำเป็นคำสนทนา หรือ คำอธิษฐานที่เป็น ไฟล์เสียง  เช่น “วอยซ์ไฟล์” “วอยซ์เมล์” ในไลน์  ในเฟสบุ๊ค เพื่อให้ผู้รับเปิดฟังแทนการอ่าน

4.   ให้เราวางใจในพระเจ้าร่วมกัน

พระวจนะของพระเจ้าบอกเราในเวลาที่หวาดหวั่นสั่นคลอนว่า   “...พระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ ความรัก และการบังคับตนเองแก่เรา” (2ทิโมธี 1:7 มตฐ.)   ในฐานะที่เป็นคริสต์ชน หรือ สาวกของพระเยซูคริสต์   ความรู้สึกต่อสถานการณ์ที่น่าหวั่นไหวนี้ควรแตกต่างจากการตอบสนองของคนทั่วไป   เพราะเราเชื่อมั่น  เรามีความหวังในพระเจ้าของเรา  และพระวิญญาณของพระเจ้าในตัวเราจะหนุนเสริมให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็ง มั่นคง  ด้วยความรักเมตตา  และมีชีวิตที่มีวินัยตามพระประสงค์ของพระเจ้า

5.   เติบโตเข้มแข็งด้วยกันในครอบครัว

ในเวลาที่สั่นคลอนหวั่นไหวเช่นนี้เป็นสภาวะแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์สำหรับการเติบโตขึ้นในชีวิตจิตวิญญาณของเราร่วมกัน   ลูกๆเรียนจากแบบอย่างชีวิตของพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว   ดังนั้น ในเวลาเช่นนี้ขอพ่อแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัวมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน   เพื่อเขาจะเรียนรู้ว่าเขาควรจะรับมือกับภาวะสั่นคลอนหวั่นไหวในชีวิตด้วยท่าทีเช่นไรในฐานคริสต์ชน   เขาจะมีความเชื่อ ความไว้วางใจในพระเจ้าด้วยการมีชีวิตที่ติดสนิทกับพระองค์ในทุกสถานการณ์   และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือแบบอย่างชีวิตในการใช้เวลาอย่างมีปัญญา   ไม่ใช้เวลากับความบันเทิงทางโทรทัศน์  แต่ใช้เวลาในการอ่าน  ในการเล่นด้วยกัน  และใช้เวลาในการรับใช้กันและกันในครอบครัว

ให้เราหันความเชื่อ ความหวังกลับไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เราไว้วางใจได้อย่างมั่นคง  และในเวลาเช่นนี้จะช่วยให้ลูกหลานของเรารู้และมีความใกล้ชิดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้ามากยิ่งขึ้น

“แต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ เรามีชัยเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ทรงรักเราทั้งหลาย  เพราะข้าพเจ้าแน่ใจว่า แม้ความตาย หรือชีวิต หรือบรรดาทูตสวรรค์ หรือเทพเจ้า หรือสิ่งซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ หรือสิ่งซึ่งจะมีในภายหน้า หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย   หรือซึ่งสูง หรือซึ่งลึก หรือสิ่งใดๆ อื่นที่ได้ทรงสร้างแล้วนั้น จะไม่สามารถทำให้เราขาดจากความรักของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้” (โรม 8:37-39 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น