23 กรกฎาคม 2557

ลักษณะเฉพาะของผู้นำที่รับใช้

ลักษณะเฉพาะ 10 ประการของผู้นำที่รับใช้

ลักษณะเฉพาะของผู้นำที่รับใช้
  1. การฟัง:ที่ผ่านมาผู้นำจะให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการสื่อสาร และ ทักษะในการตัดสินใจ   แต่สำหรับผู้นำที่รับใช้ก็ตอกย้ำให้ความสำคัญดังกล่าวแต่เน้นย้ำความสำคัญในทักษะการฟังคนอื่นอย่างจดจ่อใส่ใจมากกว่า   ผู้นำที่รับใช้จะฟังให้ได้ยินถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้คนที่ทำงานกับตนให้ชัดเจนที่สุด   เขาจะฟังผู้อื่นด้วยใจที่เปิดกว้างเพื่อให้ได้ยินในสิ่งที่ผู้พูดๆ ถึง(และสิ่งที่ไม่พูดถึงด้วย)   เป็นการฟังจนได้ยินเสียงภายในชีวิตของคนพูด   แสวงหาความเข้าใจรอบด้านว่าผู้พูดต้องการที่จะบอกถึงอะไรบ้างทั้งในด้านจิตวิญญาณ  จิตใจ  ความคิด  อารมณ์  ความต้องการ และความรู้สึกด้วย
  2. เข้าอกเข้าใจ:ผู้นำที่เป็นคนรับใช้พยายามที่จะเข้าใจและลงลึกถึงความรู้สึกของคนอื่น   ว่าคนเราต้องการการยอมรับและให้ความสำคัญถึงลัษณะพิเศษ และ เฉพาะของคนๆ นั้น   แต่ละคนย่อมคาดหวังว่าเพื่อนร่วมงานมีความตั้งใจที่ดี   และไม่กีดกันหรือปฏิเสธตนในฐานะคนๆ หนึ่งที่มีศักดิ์ศรีและความสำคัญในความเป็นคน   ถึงแม้ตนอาจจะถูกปฏิเสธหรือตีตราในพฤติกรรมบางอย่างก็ตาม
  3. จิตวิญญาณแห่งการเยียวยารักษา:ผู้นำที่รับใช้เรียนรู้ถึงการเยียวยารักษาชีวิตภายใน  จะเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่หนุนเสริมเพิ่มพลัง   พลังที่ยิ่งใหญ่พลังหนึ่งของผู้นำที่รับใช้คือ เป็นผู้นำที่สามารถในการเยียวยารักษาบาดแผลชีวิตภายในของทั้งตนเองและเพื่อนร่วมงาน   ผู้นำที่มีจิตวิญญาณในการรับใช้คนอื่นเป็นผู้ที่มีความละเอียด และ อ่อนโยนในการสื่อสารกับผู้คนที่ตนรับใช้และนำ   ทั้งคนที่เขารับใช้และผู้นำต่างสัมผัสรับรู้ และ เข้าใจได้ว่าเขาเป็นผู้นำที่แสวงหาความสำคัญของชีวิตที่เป็นองค์รวมที่มีอยู่ในเพื่อนร่วมงานด้วยกัน
  4. ตระหนักรู้:ทั้งจิตสำนึก และ จิตใจที่ตระหนักรู้  จะหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่ผู้นำที่รับใช้   การอุทิศตนที่อ้าแขนเปิดรับความตระหนักรู้บางครั้งอาจจะทำให้เกิดความกลัว    เพราะผู้นำที่รับใช้อาจจะไม่เคยคิดมาก่อนว่าตนจะพบกับการตระหนักรู้แบบนี้   น่าสังเกตว่า  การตระหนักรู้มิได้นำมาซึ่งการปลอบใจเสมอไป   แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นตัวที่ทำให้ผู้นำที่รับใช้ถูกรบกวน   ผู้นำที่รับใช้มิใช่เป็นคนที่แสวงหาการปลอบประโลมใจ   แต่เขาเป็นคนที่มีจิตใจภายในที่เข้มแข็งมั่นคง  และมุ่งประเล้าประโลมใจผู้อื่น
  5. การเชิญชวนเข้ามีส่วนร่วม:ผู้นำที่เป็นคนรับใช้จะใช้การเชิญชวนผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ   มากกว่าการใช้อำนาจที่ตนมีจากตำแหน่งในการตัดสินใจ   เขาจะตัดสินใจด้วยการเชิญชวนคนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อนำสู่การตัดสินใจร่วมกัน   มากกว่าใช้การตัดสินใจของตนไปบีบบังคับให้คนอื่นต้องทำตาม   และนี่คือลักษณะที่แตกต่างอย่างชัดเจนของผู้นำแบบเดิมกับผู้นำที่รับใช้   ผู้นำที่รับใช้จะเป็นคนที่มีความสามารถและทักษะที่มีประสิทธิภาพในการเอื้อให้เกิดข้อตกลงจากการตัดสินใจร่วมกัน
  6. มีมุมมองหลักคิดที่กว้างไกล:ผู้นำที่รับใช้เป็นคนที่มุ่งมองหา “นิมิตที่กว้างไกล”  กล้า “ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง”   มีความสามารถที่มองลงไปในปัญหาที่พบ (ในองค์กร) ด้วยมุมมองที่มีหลักคิดหลักพิจารณา   มิใช่การคิดแก้ปัญหาไปวันๆ ผู้นำที่รับใช้จะเป็นคนที่แสวงหาความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างหลักคิดกับความเป็นจริงที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
  7. มองได้ไกลอย่างทะลุปรุโปร่ง:การมองการณ์ไกลอย่างทะลุปรุโปร่งทั้งกระบวนการจะช่วยให้ผู้นำที่เป็นคนรับใช้สามารถเข้าใจถึงอดีต  และสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน   และสามารถมองทะลุว่าจะเกิดผลเช่นไรในอนาคต   และนี่คือรากเหง้าความนึกคิดที่หยั่งรู้ของผู้นำที่รับใช้
  8. จิตวิญญาณแห่งการเป็นคนรับใช้:การเป็นผู้นำขององค์กร  ผู้อำนวยการ  ผู้จัดการ  หรือแม้แต่กรรมการอำนวยการต้องมีจิตวิญญาณที่ต้องการทำทุกอย่างให้องค์กรที่ตนรับผิดชอบ   เป็นองค์กรที่สร้างสิ่งดีที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคมชุมชน  (มิใช่เพียงแต่ “กระเป๋า” ของตนเอง  และความมั่นคงของตนเองและพรรคพวก)
  9. อุทิศตั้งใจเสริมสร้างการเติบโตของคน:ผู้นำที่รับใช้เชื่อและศรัทธาในคุณภาพ  ศักยภาพ  และความสามารถที่มีอยู่ในตัวตนของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน ว่าจะทำงานอย่างเกิดผลเป็นรูปธรรมดังนั้นผู้นำที่เป็นคนรับใช้จึงมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการเสริมสร้างเพื่อนร่วมงานแต่ละคนที่จะเป็นคนที่เติบโต เข้มแข็งขึ้นทั้งร่างกาย  จิตใจ  จิตวิญญาณ  และการทำงานอาชีพที่มีประสิทธิภาพในแต่ละตัวคน
  10. เสริมสร้างความเป็นชุมชน:ความสำนึกที่ชัดเจนของผู้นำที่รับใช้ที่จะต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นองค์กรท้องถิ่นไปสู่ความเป็นองค์กรชุมชนที่เป็นสากลนั้น   สิ่งแรกที่จะต้องเปลี่ยนคือ มุมมองและทัศนคติของผู้คนในองค์กรที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง   ไม่เช่นนั้นเพื่อนร่วมงานในองค์กรจะเกิดความรู้สึกว่ากำลังสูญเสีย(ชุมชนองค์กรที่ตนคุ้นชิน)  และเกิดความรู้สึกที่ไม่มั่นคง   อาจะนำสู่การต้านการเปลี่ยนแปลง   ดังนั้น ผู้นำที่รับใช้จะมุ่งเน้นใช้ความเป็นชุมชนในองค์กรร่วมกันศึกษาและแสวงหาว่าถ้าจะพัฒนาชุมชนในองค์กรของตนให้เป็นองค์กรใหญ่ หรือ องค์การที่เป็นสากลจะทำได้อย่างไร   และต้องการพัฒนาองค์กรของตนไปสู่องค์กรที่มีความเป็นชุมชนแบบไหน   แล้วแต่ละคนจะเข้ามามีส่วนร่วมเกื้อหนุนค้ำจุนกันอย่างไรบ้าง


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น