04 กรกฎาคม 2557

ผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักร(2)?

ผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักร ตอนที่ (1) กล่าวถึงลักษณะภาวะผู้นำแบบบารนาบัส  เป็นภาวะผู้นำที่จำเป็นและต้องการอย่างมากในคริสตจักร   ในภาวะที่อัครทูตสงสัยไม่ไว้วางใจการกลับใจใหม่และการประกาศของเซาโล   ถึงข่าวดีของพระเยซูคริสต์ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมในอดีตของเซาโล  และอัครทูตยังไม่เชื่อแน่ว่า ที่เซาโลกลับใจเป็นสิ่งแท้จริงใจไม่หลอกลวง   บารนาบัสเข้ามาเชื่อมประสานให้อัครทูตรู้ถึงข้อมูลความจริง  ให้อัครทูตเปิดใจ  เพื่อนำสู่ความไว้วางใจกัน  ยอมรับกันและกัน  เพื่อที่จะรับใช้พระเยซูคริสต์ร่วมกัน

สำหรับคริสตจักรแล้ว   ผู้นำที่ทรงอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่   คือผู้นำที่เสริมสร้างคนอื่นให้มีภาวะผู้นำที่สร้างสรรค์   เอื้ออำนวยคนเหล่านั้นเปิดใจรับคนต่างขั้วต่างฝ่าย   สร้างให้ผู้นำเหล่านั้นได้เรียนรู้เท่าทันความจริงของแต่ละฝ่าย   แล้วเชื่อมประสานให้เกิดความไว้วางใจกันแทนความสงสัยและใจคับแคบ   เป็นผู้เชื่อมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถหันหน้ามาร่วมพลังในการทำงานรับใช้พระคริสต์   ผู้นำที่ทรงอิทธิพลแบบนี้เป็นผู้นำที่เป็น “สะพาน” เชื่อมภาวะผู้นำที่ขัดแย้งกันให้สามารถเปิดใจยอมฟัง  ยอมรับ  และร่วมในการทำพันธกิจสู่เป้าหมายเดียวกัน

ลักษณะของภาวะผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักรอีกประการหนึ่งคือ  “สร้างเสริมคนพลาด  หล่อหลอมคนพลั้ง”  ให้กลับตั้งตัวใหม่   และมีภาวะผู้นำที่ผู้คนสามารถไว้เนื้อเชื่อใจอยากร่วมงานด้วย   ซึ่งภาวะผู้นำที่ทรงอิทธิพลประการนี้เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของคริสตชนที่อยู่ฝ่ายพระวิญญาณด้วย (กาลาเทีย 6:1 มตฐ.)

ทั้งเซาโลและบารนาบัส ต่างเป็นคนยิวที่มีประสบการณ์ชีวิตในวัฒนธรรมของคนต่างชาติ เซาโลเป็นยิวที่ถือสัญชาติโรมัน   ในขณะที่ โยเซฟ บารนาบัส ไปใช้ชีวิตในต่างแดนต่างวัฒนธรรมที่เกาะไซปรัส   บารนาบัสเป็นคนที่เติบโตในเผ่าเลวี   ในขณะที่เปาโลได้รับการเล่าเรียนหล่อหลอมกับอาจารย์ที่ทรงภูมิความรู้ของยิว   เมื่อเซาโลกกลับใจและสามารถเข้านอกออกในชุมชนของอัครทูตแล้ว   ทั้งเซาโลและบารนาบัสรวมกันเป็นทีมทำพันธกิจประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์สำหรับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม   โดยในรอบแรกนี้ได้นำเอาคนหนุ่มที่ชื่อมาระโกร่วมทีมงานด้วย(กิจการ 12:25)    แต่ระหว่างการทำพันธกิจมาระโกละทิ้งเซาโลและบารนาบัส (ดู 13:13)   ในสายตาของเซาโลแล้วมองและตัดสินว่า มาระโกเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบและขาดความอดทนในการทำพันธกิจ

เมื่อเซาโลและบารนาบัสจะออกทีมพันธกิจในอีกรอบหนึ่ง   บารนาบัส เสนอให้นำมาระโกไปร่วมด้วยอีกครั้งหนึ่ง   เซาโลไม่เอาด้วย   เรื่องนี้กลายเป็นมุมมองความเห็นที่แตกต่างกันจนบารนาบัส และ เซาโลต้องแยกทีมและแยกทางกันในการทำพันธกิจ   เซาโลร่วมทีมกับสิลาส   ส่วนบารนาบัสนำมาระโกร่วมทีมไปด้วยมุ่งสู่การทำพันธกิจที่เกาะไซปรัส บ้านเมืองที่บารนาบัสอาศัยอยู่ (ดู 15:36-39)

น่าสังเกตจุดเด่นเฉพาะในภาวะผู้นำของทั้งสองท่าน   เซาโลเป็นผู้นำที่มุ่งมั่นปั้นมือตรงรี่ไปสู่เป้าหมาย   ต้องการให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จ   ดังนั้น   ทีมงานทุกคนต้องมีความพร้อม  มีคุณภาพ  ทีมงานที่ด้อยประสิทธิภาพให้คัดออก   เพราะนอกจากจะไม่เกิดผลเต็มที่แล้วยังมีโอกาสกลายเป็นตัวถ่วงหรือตัวสร้างปัญหาให้กับทีมงานได้

ในขณะที่บารนาบัสมีอีกมุมมองอีกมุมหนึ่งว่า   ความผิดพลาดครั้งหนึ่งของคนไม่สามารถตีตราหรือใช้เป็นเครื่องวัดว่าคนๆ นั้นไม่มีประสิทธิภาพในการทำพันธกิจ   และท่านมองว่า การทำพันธกิจที่เกิดผลเกิดจากการที่คนมีประสิทธิภาพในการรับใช้พันธกิจตามของประทานและความสามารถที่พระเจ้าประทานให้   ดังนั้น   คริสตจักรจะต้องให้โอกาสแก่ทุกคน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เคยผิดพลาดควรได้รับโอกาสใหม่และการเอาใจใส่เพื่อเสริมสร้างคนๆ นั้นเป็นพิเศษ   มุมมองของบารนาบัสมองว่า การทำพันธกิจที่เกิดผลย่อมต้องมีคนทำพันธกิจที่มีประสิทธิภาพ   คนที่มีประสิทธิภาพมิใช่มีมาแต่กำเนิด   แต่คริสตจักรจะต้องเอาใจใส่และเสริมสร้างแต่ละคนให้ของประทานที่มีในชีวิตของเขาได้รับการพัฒนาเป็นความสามารถที่ใช้ทำพันธกิจได้   ดังนั้น  บารนาบัสทุ่มเทเสริมสร้างมาระโกให้มีภาวะผู้นำที่รับใช้ผ่านพันธกิจที่กระทำ   ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านการกระทำจริง

อีกประการหนึ่ง  ผู้นำที่ทรงอิทธิพลอย่างบารนาบัสมิได้มองว่า  การแยกทีมกับเซาโลเป็นการแตกแยกในการทำพันธกิจ   แต่มองว่าจะทำพันธกิจอย่างไรที่สามารถเกิดผลตามเป้าหมายใหญ่ของคริสตจักร   คือการประกาศถึงข่าวดีของพระเยซูคริสต์   ซึ่งทั้งสองทีมต่างมีเป้าหมายเดียวกัน   และในเวลาเดียวกันทีมของเซาโลกับสิลาสก็สามารถมุ่งหน้าสู่เป้าหมายได้เต็มกำลังความสามารถตามของประทานสำหรับทั้งสอง   ในขณะที่บารนาบัสและมาระโกก็มุ่งหน้าสู่การประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์ในเกาะไซปรัส   และบารนาบัสมีโอกาสที่จะเสริมสร้างและหล่อหลอมมาระโกให้มีภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพด้วย

ภาวะผู้นำที่ทรงอิทธิพลในคริสตจักรแบบบารนาบัส   จะต้องเป็นผู้นำที่มีความสามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคริสตจักรอย่างสร้างสรรค์และด้วยใจเมตตาและเสียสละแบบพระคริสต์   และมองว่าการเสริมสร้างคนจะต้องใช้เวลา และ ให้โอกาสคนๆ นั้นที่จะเรียนรู้ใหม่   จนสามารถสำแดงชีวิตที่ได้รับการทรงสร้างใหม่จากพระคริสต์ที่คนอื่นเห็นประจักษ์ได้

ภายหลังเปาโลได้เห็นและประจักษ์ถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและมีประสิทธิภาพของมาระโก   เปาโลยอมรับมาระโกมาร่วมทีมงานของท่านในภายหลัง  และเรียกมาระโกว่าเป็นลูก (1เปโตร 5:13)   เมื่อเปาโลต้องโทษจำคุกครั้งแรก มาระโกก็อยู่ด้วยกับท่าน (โคโลสี 4:10;  ฟิเลโมน ข้อ 24)   และเมื่อช่วงบั้นปลายชีวิตของเปาโล   ท่านได้ขอให้มาระโกมาอยู่กับท่าน  และท่านกล่าวว่า มาระโกเป็นประโยชน์ต่อท่านในการทำพันธกิจ (2ทิโมธี 4:11)

จากประสบการณ์ของเปาโลท่านได้เขียนบทเรียนนี้ไปถึงคริสตจักรที่กาลาเทียว่า  “พี่​น้อง​ทั้ง​หลาย แม้​จับ​ใคร​ที่​ละเมิด​ประ​การ​ใด​ได้ พวก​ท่าน​ซึ่ง​อยู่​ฝ่าย​พระ​วิญ​ญาณ จง​ช่วย​คน​นั้น​ด้วย​ใจ​สุภาพ​อ่อน​โยน​ให้​เขา​กลับ​ตั้ง​ตัว​ใหม่...” (กาลาเทีย 6:1)

ผู้นำที่ทรงอิทธิพลอย่างบารนาบัส   มิได้มุ่งมั่นแต่จะสร้างผลงานความสำเร็จของตน  หรือสร้างอนุสาวรีย์หวังให้คนอื่นระลึกถึงตน    แต่ผู้นำที่ทรงอิทธิพลอย่างบารนาบัสตั้งใจเป็นผู้นำที่สร้างคน   เพื่อคนจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

ในวันนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไร  ทำที่ไหน  และทำกับใคร   ให้เราเป็นคนทำงานที่มีภาวะผู้นำที่ทรงอิทธิพลอย่างบารนาบัส   เพื่อในที่สุดจะมีผู้คนที่ทำงานชีวิตเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยความชิ่นชมยินดี

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น