23 กรกฎาคม 2557

รับมือความขัดแย้งในการทำงาน

ครั้งหนึ่งเมื่อผมต้องรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในงานที่ทำ   เพื่อนบอกผมว่า  “ใจเย็น ๆ ”

มันก็จริงของเพื่อนคนนี้   เราอยู่ในสังคมโลกที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความชั่วร้ายทั้งด้านความนึกคิด   ท่าทีที่แสดงออก  และพฤติกรรมที่เรากระทำต่อคนอื่น....ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ   ยิ่งถ้างานที่ทำต้องอยู่ท่ามกลางการสื่อสารที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ   เกิดการเข้าใจผิด   ต้องทำงานท่ามกลางการแข่งขัน   หรือการชิงดีชิงเด่น  หรือถึงขนาดปัดแข้งปัดขากันแล้ว   สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่   ความขัดแย้งยิ่งลงลึกซับซ้อน   สร้างบาดแผลลึก ๆ ในชีวิต   ทำให้เกิดความเจ็บปวดในความรู้สึก  และเกิดการฉีกขาดในความสัมพันธ์  ความตึงเครียด   ความไม่ลงรอยย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งในที่ทำงาน  บริษัท  องค์กร  โรงเรียน  โรงพยาบาล  หรือแม้แต่ในคริสตจักร   ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีแค่ไหน  หรือพยายามที่จะเป็นคนดีปานใด   เราก็จะพบว่า  “เจอเข้าแล้วกับความขัดแย้ง   ชนอย่างจังกับปัญหา”   แต่เราก็คงต้องยอมรับความจริงด้วยว่า   ไม่ใช่ว่าทุกความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป   เพราะในบางครั้งบางความขัดแย้งเป็น “ความขัดแย้งที่สร้างสรร” ได้

สิ่งที่หายไปเมื่อขัดแย้งจนโกรธ

ผมกลับมาคิดถึงคำเตือนสติของเพื่อนเมื่อผมเผชิญหน้ากับ “คู่ขัดแย้ง”  จนเกิดความโกรธ  อารมณ์เดือดพล่าน   ทำให้ผมพูดเสียงดังขึ้น   คิดแต่ว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาผิดและผมถูกอย่างไร   เกิดจิตใจที่ขุ่นข้นมัวหมอง   ท่าทางที่แสดงออกที่จริงจังพัฒนาไปสู่ท่าทีที่ “ตึงตัง”หรือบางครั้งแสดง “หน้ายักษ์หน้ามาร”  โดยไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ!

ใช่...เพื่อนถึงต้องบอกผมว่า “ใจเย็น ๆ ”  

ใช่สินะ   ตอนนั้นผมถูกพลังร้ายครอบงำ   สุมไฟผลักดันไปสู่ความร้อนแรงเดือดพล่าน   และมันกำลังทำลายทั้งผม  เพื่อน  และองค์กรที่ผมทำงานด้วย   ใช่ผมต้องใจเย็น ๆ   ผมต้องกลับมามีสติ   กลับมาที่ความตั้งใจต้องการแก้ไขความขัดแย้ง   ต้องการแก้ปัญหา   ไม่ใช่จะเอาชนะเพื่อนร่วมงานคนนั้น

ใช่สินะ   ผมแก้ปัญหา และ ความขัดแย้งได้    แต่ผมแก้ไขตัวเพื่อนไม่ได้!

ใช่สินะ   ผมลืมไปแวบหนึ่งเมื่อโกรธจัดว่า   ผมเป็นคริสตชน   ผมเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในการทำงาน

รับมืออย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้ง?

1. ตั้งจิตให้มั่น
ก่อนที่เราจะทำหรือตอบโต้อะไรออกไป   ให้เรานำสถานการณ์นั้นปรึกษากับพระเจ้า   เพื่อพระองค์จะประทานจิตใจที่ถ่อม สุภาพ มั่นคง สงบแก่เรา   เพื่อเราจะมีมุมมองในเรื่องดังกล่าวที่สร้างสรรค์และสันติ   และที่สำคัญเราควรขอพระเจ้าทรงเปิดเผยแก่เราว่า   เรามีส่วนอะไรที่ผิดพลาดในเหตุการณ์นี้   เพื่อเราจะรู้เท่าทันตนเองและกลับใจ   อธิษฐานเผื่อแต่ละคนที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้   รวมถึงคู่ขัดแย้ง และ คนที่เราโกรธด้วย   ทั้งนี้จะเป็นการ “ปรับจิตใจ” ของเราให้เป็นจิตใจที่เชื่อฟังพระเจ้า   การที่เราอธิษฐานเช่นนี้ก่อนย่อมช่วยให้เราหลุดรอดออกจากจิตใจที่ต้องการเอาชนะ  จิตใจที่ต้องการให้เขาได้รับโทษที่สาสมในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น

2. แยกปัญหา/ความขัดแย้งออกจากตัวบุคคล
เราสามารถแก้ปัญหาและความขัดแย้งได้   แต่เราแก้คู่ขัดแย้งของเราไม่ได้   ในเรื่องนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่าที่เราขัดแย้งกันนี้เป็นความขัดแย้งส่วนตัว  เป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สร้างความขุ่นเคืองรำคาญใจหรือทำให้เราโกรธจนต้องเผชิญหน้ากัน   ในบางเรื่องเราเพียงปล่อยและวางเสีย   เราควรยกโทษ  แล้วเดินหน้าต่อไป

เราน่าจะถามตนเองว่า   นี่เป็นความขัดแย้งด้วยเรื่องส่วนตัว   หรือเป็นการขัดแย้งเพราะมีปัญหาต้องแก้ไข?   เราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพื่อนที่ดีกับทุกคนในที่ทำงาน   แต่ในฐานะคริสตชนเราพึงพยายามที่จะเป็นคนที่มีจิตใจเมตตา และ ให้ความนับถือในความเป็นคนของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน

3. อย่าขยายความขัดแย้งให้เป็นเรื่องใหญ่โต
เมื่อเกิดความขัดแย้งพยายามขีดวงความขัดแย้งให้แคบหรือเล็กที่สุด   ให้เราแก้ไขความขัดแย้งเฉพาะในวงของผู้ขัดแย้งด้วยกันเท่านั้น   นี่เป็นหลักการจากพระคัมภีร์ (มัทธิว 18:15-16) ที่เหมาะสมและใช้ได้ในที่ทำงาน   แต่ถ้าคู่กรณีพยายามทำให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่  เช่น  เอาความขัดแย้งไปให้ผู้บริหารระดับสูงขึ้นจัดการแทนที่จะเริ่มจัดการกันเองในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น   ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง   เพิ่มความรุนแรงในความขัดแย้ง   แล้วยังกระทำให้ความสัมพันธ์และความไว้วางใจเลวร้ายลงไปอย่างมากเกินกว่าที่คิดและเข้าใจ

4. ความรับผิดชอบที่สำคัญในการรับมือความขัดแย้ง
ถ้าเราเป็นคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงในความขัดแย้งดังกล่าว  สิ่งแรกที่เราจะต้องพิจารณาอย่างเปิดใจและจริงใจคือ   เรามีความบกพร่องผิดพลาด หรือ มีส่วนที่ทำให้เกิดความบกพร่องหรือผิดพลาดหรือไม่   ถ้ามีสิ่งแรกที่เราต้องรับผิดชอบในความขัดแย้งดังกล่าวคือ   เราต้องไปขอโทษคู่กรณีของเราในสิ่งเหล่านั้น   หลายครั้งหลายคนที่ทำเช่นนี้จะพบปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจคือ   ความขัดแย้งถูกแก้ได้เกินคาด

แต่ถ้าเรามิใช่คู่กรณีในความขัดแย้ง   เราต้องระวังที่จะเข้าไปจัดการความขัดแย้งนั้น   เพราะถ้าเราเข้าไปจัดการความขัดแย้งในเวลาที่ยังไม่เหมาะสมแม้ว่าเราจะเป็นผู้บริหารของเขาก็ตาม   อาจจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีเราอาจจะถูกใครบางคนยืมมือของเราเอาผิดหรือลงโทษอีกคนหนึ่งก็ได้

ดังนั้น   เรามีหน้าที่ให้กำลังใจให้คู่กรณีพูดคุยหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยกันเองก่อน

5. แสวงหาจุดร่วม
ให้คู่กรณีมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายร่วมของงานที่ทั้งคู่รับผิดชอบ   เพื่อจะค้นหาแนวทางการปฏิบัติงานของแต่ละคนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายที่เหมาะสม  สร้างสรรค์  และหนุนเสริมกันและกัน   และประเด็นสำคัญคือการที่ช่วยกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นการสร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์แก่องค์กร   ถึงแม้ว่าเป้าหมายงานความรับผิดชอบของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน    แต่เป้าหมายร่วมขององค์กรเป็นจุดเดียวกัน   ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันทำเพื่อไปให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวขององค์กร

สิ่งที่ต้องชัดเจนเสมอ

เราแต่ละคนต้องตระหนักชัดเสมอว่า   เราเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในที่ทำงาน หรือ ในแต่ละงานที่เราทำ (2โครินธ์ 5:20)   และหนทางหนึ่งที่เราสามารถสำแดงความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์แก่เพื่อนร่วมงานของเราคือ  การที่เรารับมือกับความขัดแย้งอย่างไรในงานที่ทำ   เรารับมืออย่างไรในความทุกข์ยากลำบากในงานที่ทำ   ในขณะที่คนอื่นอาจจะหลีกเลี่ยง  เมินเฉยไม่สนใจ  หรือเอาเรื่องขัดแย้งไปนินทาว่าร้าย คุ้ยเขี่ยหาความผิดกัน   แต่ในฐานะคริสตชนท่านคือพลังแห่งสันติ   พลังแห่งการคืนดี  พลังแห่งสมัครสมานสามัคคี   และพลังที่จะช่วยคู่กรณีหลุดรอดออกจากการครอบงำของอำนาจแห่งความขัดแย้งนั้น

เมื่อเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งในการทำงาน   โปรดตระหนักชัดถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของท่านคือ  “ไม่​ว่า​พวก​ท่าน​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด ก็​จง​ทำ​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​เหมือน​ทำ​ถวาย​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ไม่​ใช่​เหมือน​ทำ​ต่อ​มนุษย์    ... เพราะ​(ในการทำงาน)ท่าน​กำ​ลัง​รับใช้​พระ​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​อยู่” (โคโลสี 3:23-24)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น