11 กรกฎาคม 2557

ระวัง...ความไว้วางใจจะขึ้นสนิม!

เมื่อความไว้วางใจในความสัมพันธ์ของเรากับทีมงานเกิดการหักงอ หรือ ฉีกขาด   ให้รีบซ่อมแซมพลิกฟื้นความไว้วางใจขึ้นใหม่ทันที  มิเช่นนั้นความไว้วางใจที่ “ถลอก ฉีก หัก” จะขึ้น “สนิม”  แล้วสนิมนั้นจะกัดกร่อนความไว้วางใจในความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันให้ผุกร่อนและหักพังได้  

ในฐานะที่เราเป็น “ผู้นำ” คนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับใดก็ตาม   จะเป็นการพูดจา  ท่าทางที่เราแสดงออก   หรือการกระทำของเราย่อมเป็นที่เพ่งเล็งในสายตาของทีมงาน   บางครั้งอาจจะเป็นคำพูดที่เราพูดออกไปแล้วไปทำร้ายทำลายความไว้วางใจที่เขามีต่อเรา   บางครั้งก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ถูกกาละเทศะ  กล่าวด้วยท่าทางน้ำเสียงที่ค่อนข้างแรงและแข็งกร้าวทั้งๆ ควรพูดด้วยความเมตตาในบริบทนั้น   บางครั้งก็ละลืม  เลยไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนสัญญาไว้   ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมิใช่เป็นการกระทำผิดอย่างโจ่งแจ้งตั้งใจ   แต่ก็เป็นการสนองตอบที่ไม่ค่อยดีของเรา   และนี่เป็น “ตัวกัดกร่อน” ที่ทำให้ความไว้วางใจใความสัมพันธ์ของเรากับทีมงานเสียหาย

แล้วจะ “ซ่อมแซม” ความไว้วางใจในความสัมพันธ์อย่างไร?

ยอมรับ ความจริงว่า ความไว้วางใของเราแตกหัก

ถ้าใครมีรถยนต์คงต้องตรวจตราอยู่เสมอว่า   มีส่วนใดของรถเกิดการถลอก บุบ หรือฉีกขาดหรือไม่    ถ้ามีจะต้องซ่อมแซม  มิเช่นนั้น จะทำให้ขึ้นสนิม   แล้วสนิมก็จะกัดกินทำให้เหล็กในบริเวณนั้นผุกร่อนแล้วลามเป็นพื้นที่กว้างต่อไป   นานเข้าจะส่งผลร้ายทำให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างของรถนั้นได้   ถ้าเจ้าของรถละเลยมองข้ามไม่ใส่ใจสนิมที่เกิดขึ้น  เมื่อมันลามใหญ่โตขึ้นก็ต้อง “จ่าย” ค่าซ่อมมากขึ้นด้วย    เรามักมองว่า “ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอก  ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร”   เรามักลวงตนเองเช่นนี้  

เฉกเช่นเดียวกันกับความไว้วางใจที่ฉีกขาดที่เรามักมองว่า   ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร   เรื่องอย่างนี้ทิ้งไว้สักพักหนึ่งแล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง   เวลาจะช่วยเยียวยารักษา  และนี่คือการลวงตนเองที่อันตราย   ยิ่งกว่านั้น ผู้นำบางคนเมื่อเกิดบาดแผลความไว้วางใจในความสัมพันธ์มักโทษคนอื่นสร้างความเจ็บปวดให้ทีมงานบางคนแทนที่จะลุกขึ้นยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น   หรือไม่ก็ยุยงว่ามีบางคนที่อยู่เบื้องหลังในการทำลายความไว้วางใจในทีมงาน

เลิกใช้เทคนิคแย่ๆ แบบเก่าๆ เหล่านี้เถิดครับ    เราต้องยอมรับความจริงว่า   ความไว้วางใจกันตอนนี้เกิดบาดแผล  เกิดความร้าวฉาน หรือ ถึงขนาดฉีกขาด   การยอมรับความจริงเช่นนี้ย่อมเป็นการเปิดประตูสู่การเยียวยารักษา

เลือก ที่จะให้อภัยพฤติกรรมของคนอื่น

เมื่อเรายอมรับถึงความแตกหักของความไว้วางใจในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น   เราต้องก้าวต่อไปเพื่อที่จะให้อภัยแก่กัน   อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คนอื่นเคยกระทำผิดต่อเรา   เราอาจจะรู้สึกว่าสาสมปล่อยให้เขาจมดิ่งต่อไป   เรายังเก็บงำซ่อนเร้นความขุ่นเคืองบาดแผลไม่พอใจในอดีตไว้ในจิตใจของเรา   ถ้าเช่นนี้ บาดแผลความไว้วางใจจะไม่สามารถเยียวยารักษาได้   การเยียวยาเริ่มต้นที่การรับรู้ว่าได้เกิดบาดแผลในความไว้วางใจ   แล้วตามด้วยเปิดใจยอมให้อภัยในสิ่งผิดพลาดที่เขาเคยกระทำต่อเรา   การที่จะก้าวให้ข้ามขั้นตอนนี้อาจจะไม่ใช่ง่ายเลย   บางคนจะรู้สึกเจ็บปวดด้วย   แต่การกระทำเช่นนี้จะเป็นการซ่อมแซมและเสริมเพิ่มความแข็งแกร่งในความไว้วางใจที่เราจะมีต่อกันในอนาคต

เลือก ที่จะขอโทษทันที

ถ้าเราเป็นฝ่ายที่กระทำให้ความไว้วางใจที่มีต่อกันต้องเสียหายฉีกขาด   เราต้องพร้อมที่จะเป็นผู้ขอโทษผู้ที่เราทำให้เกิดบาดแผลในความไว้วางใจทันที    และในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายในเชิงทรัพย์สินสิ่งของเราอาจจะต้องหาทางที่จะชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น   การขอโทษคงมิใช่เพียงการกล่าวคำว่า “ขอโทษ” หรือ การขอโทษด้วยวาจาเท่านั้น    แต่ให้เราขอโทษด้วยการกระทำ   และด้วยจิตใจที่สำนึกผิด

เลือก ที่จะรักษาและซ่อมแซมสิ่งที่มีค่าที่สุด

ชีวิตจริงมันยิ่งกว่าละครฉากหนึ่ง   เมื่อเราเป็นผู้ที่ทำให้ความไว้วางใจที่มีต่อกันเกิดฉีกขาดเสียหาย   เราต้องรีบยอมรับความผิดที่เราได้กระทำลงไปและแสดงความรับผิดชอบในส่วนที่เราเป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายทันที   โปรดตระหนักชัดว่า   สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนอื่นจะให้แก่เรานั้นมิใช่เรื่องเวลา  แรงงาน   หรือความพยายาม   แต่สิ่งสำคัญและมีค่าที่สุดที่ท่านจะได้รับจากเพื่อนคือ ความไว้วางใจ

แต่คนไทยเราหลายคนมักเลือกที่จะรักษาหน้ามากกว่า   โดยเฉพาะคนที่เป็นใหญ่เป็นโต

ดังนั้น   จงกระทำทุกหนทางที่จะรักษาไว้ หรือ เรียกคืนความไว้วางใจให้กลับมามีดั่งเดิมให้ได้   ถ้าความไว้วางใจของเราเกิดการฉีกขาดเสียหายไปแล้ว   ความเชื่อใจกันจะคงเหลืออยู่อีกหรือ?   เราจะอยู่  จะคบกัน  และจะทำงานด้วยกันได้อย่างไร?

ในการที่เราต้องเลือกสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดของเราในเวลานั้น   เราก็ต้องยอมรับว่าเราจะต้อง “ยอมสละ” บางสิ่งก่อนในเวลานั้น   เพื่อแลกกับการรักษาสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดไว้   และให้อิทธิพลของสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดเยียวยารักษาเพื่อกู้คืนบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าที่เรา “ยอมสละ” ในเวลาต่อมา

แล้วเราคิดว่าอะไรคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดและมีคุณค่ายิ่งของเราในงานที่เราทำอยู่ในวันนี้ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น