31 กรกฎาคม 2557

ใครเป็นเจ้าของใคร?

หลายต่อหลายคนในปัจจุบัน  มี สิ่งที่มีค่าที่ตนเองยอมทุ่มเงินซื้อไว้  ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรูราคาแพง   รถทันสมัยคันใหม่  แทปเลตรุ่นล่าสุด  สมาร์ทโฟนรุ่นเทคโนโลยีสูงสุด   ไปจนถึงสระว่ายน้ำในบ้านระดับมาตรฐาน   เรียกว่าเข้าเกณฑ์วัตถุนิยมเต็มขั้นอย่างงั้นเถิด  

แต่ขอโทษครับ บ้านหรูราคาแพงก็มีไว้ซุกหัวนอนในเวลากลางคืน   เพราะเวลาส่วนใหญ่ใช้ไปบนท้องถนนและที่ทำงาน   รถคันงามทันสมัยก็แค่นาน ๆ เอาออกไปใช้ที   เพราะที่ใช้เป็นประจำก็เจ้ากระบะคู่ชีพคันเก่าที่ใช้ไปทำงาน   สมาร์ทโฟนก็เอาไว้คุยทางไลน์กับเพื่อนฝูง   แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีการงานธุรกิจอะไรมากมายที่ต้องติดต่อสื่อสาร   และที่มีแทปเลตรุ่นล่าสุดแท้จริงก็ไม่จำเป็นเพราะใช้สมาร์ทโฟนแทนได้   แต่ก็อีกนั่นแหละ  เพราะมันกลายเป็นเครื่องบ่งชี้สถานะของเราในสังคมไปเสียแล้วครับ   และที่จะโหลดดูหนังฟังเพลงก็เป็นเพียงบางครั้งที่พอจะมีเวลาเท่านั้น

ที่แย่ยิ่งกว่านี้   กลับมาคิดได้ว่า   ตอนแรกเราอยากจะเป็นเจ้าของสิ่งมีค่า ทันสมัย และ หรูเลิศเหล่านี้   แต่ ณ วันนี้เรากลับต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะหาเงินมาผ่อนสิ่งของที่เราอยากมี อยากได้ อยากเป็นเจ้าของ   ที่แย่เอามาก ๆ คือ  สิ่งเหล่านี้มันกำลังเข้ามาเป็นเจ้าของชีวิตเรา   มันเข้ามาครอบงำบงการชีวิตของเราเสียแล้ว

ไหนจะค่าใช้จ่ายจิปาถะในแต่ละวัน   แต่ที่ต้องทำเงินให้ได้ก็เพราะต้องเอามาผ่อนสิ่งที่อยากได้ใคร่เป็นเจ้าของ  แล้วยังต้องหาเงินมาชดใช้เงินที่ใช้ไปล่วงหน้าทางบัตรเครดิต   เหนื่อยนะครับ   ใครว่าไม่เหนื่อย   หลายคืนทำให้นอนไม่หลับ   บางคืนหลับไม่สนิท   สะดุ้งตื่นเพราะใบทวงหนี้ที่เราไม่สามารถจ่ายตามกำหนด

จริงเลยครับ   ของพวกนี้กำลังเข้ามาครอบงำเป็นเจ้าของชีวิตของเราเสียแล้ว!

ใช่สินะ   เรากำลังสร้างชีวิตของเรา   สร้างคุณค่าของเรา ด้วยวัตถุสิ่งของเหล่านี้   แต่เอาเข้าจริงเรากลับไม่มีเวลาที่จะใช้สิ่งเหล่านี้อย่างสมค่าราคา และ ได้ความสุขจากมันอย่างที่คาดคิด   แต่กลับเป็นทุกข์เพราะตกเป็นทาสของมัน! (ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อจะได้เงินไปจ่ายค่างวด)

ในฐานะคริสตชน   มีหลักคิดหลักเชื่อในเรื่องนี้ดังนี้ครับ

1.  คริสตชนต้องรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่มีค่าที่แท้จริง

พระเยซูคริสต์ตั้งคำถามถามคนในสมัยของพระองค์   และถามเราคริสตชนในปัจจุบันว่า “...ถ้า(ท่าน)ได้สิ่งของหมดทั้งโลกแต่ต้องเสียชีวิตของตน?  ...คนนั้นจะนำอะไรไปแลกชีวิตของตนกลับคืนมา?” (มัทธิว 16:26) ในทัศนะของพระคริสต์ชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด   เพราะไม่มีวัตถุสิ่งของประการใดที่จะนำมาแลกเอาชีวิตคืนมาได้   พระเจ้าประทานชีวิตแก่เราซึ่งเป็นของประทานที่มีค่าสูงสุดจากพระองค์  แล้วพระองค์ประทานวัตถุสิ่งของเพื่อรับใช้มนุษย์ในการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

คริสตชนต้องระมัดระวังครับ   อย่าให้วัตถุสิ่งของเป็นสิ่งที่มีค่าเหนือชีวิตของเรา   นอกจากมันจะทำให้เราตกเป็นทาสของมันแล้ว   สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็น รูปเคารพในชีวิตของเราด้วย   อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก ถ้าใครรักโลก ความรักของพระบิดาไม่ได้อยู่ในผู้นั้น” (1ยอห์น 2:15)

ในการรับใช้พระเจ้า  ในการเลี้ยงดูฟูมฟักชีวิตประชากรของพระองค์  เราจะต้องรับใช้ตามพระประสงค์พระเจ้า   มิใช่รับใช้ด้วยเพราะเห็นแก่ทรัพย์สินเงินทอง  จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกท่าน โดยเอาใจใส่ดูแล  ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจ แต่ด้วยความเต็มใจ ตามพระประสงค์ของพระเจ้า  ไม่ใช่ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ แต่ด้วยใจกระตือรือร้น” (1เปโตร 5:2 มตฐ.)

2.   คริสตชนต้องใช้วัตถุเงินทองให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิตชุมชน

คำถามที่สำคัญคือ  คริสตชนจะใช้วัตถุสิ่งของและเงินทองที่พระเจ้าประทานแก่เราอย่างไร?   ในสมัยคริสตจักรเริ่มแรกในพระธรรมกิจการ   ผู้เชื่อได้ใช้ทรัพย์สินสิ่งของที่ตนมีค้ำจุนหนุนเสริมชุมชนผู้เชื่อให้สามารถอยู่รอดร่วมด้วยกัน  “...พวกเขาขายที่ดินและทรัพย์สิ่งของมาแบ่งให้แก่กันตามความจำเป็น” (กิจการ 2:45)   คนทั้งหลายที่เชื่อนั้นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และไม่มีใครอ้างว่าสิ่งของที่ตนมีอยู่นั้นเป็นของตนเอง แต่ทั้งหมดเป็นของส่วนกลาง” (กิจการ 4:33 มตฐ.)

คุณค่าของทรัพย์สินสิ่งของเกิดจากการใช้สิ่งของที่มีด้วยน้ำใจที่แบ่งปัน เอื้ออาทรต่อกัน   และที่สำคัญคือ การแบ่งปันเกื้อหนุนกันนั้นไม่มีสิ่งเคลือบแฝง (อย่างการสร้างอิทธิพลแบบประชานิยม)   แต่กระทำด้วยความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์   เปาโลกล่าวเรื่องนี้ไว้ว่า  แม้ข้าพเจ้าจะบริจาคสิ่งของของข้าพเจ้าทุกอย่างหรือยอมให้เอาตัวไปเผาไฟ แต่ไม่มีความรัก ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับข้าพเจ้า” (1โครินธ์ 13:3) ดังนั้น  การใช้ทรัพย์สินสิ่งของให้เกิดคุณค่านั้นเป็นการใช้ด้วยจิตใจที่รักเมตตา และ เสียสละแบบพระคริสต์ที่แบ่งปันเอื้ออาทรต่อกัน

3.   กลับใจใหม่ หัวใจใหม่ ท่าทีใหม่ในการใช้ทรัพย์สินเงินทอง

ตลอดชีวิตที่ผ่านมาศักเคียสหาทางกอบโกยเงินทองจากการเป็นคนเก็บภาษี  เขาสะสมสร้างความมั่งคั่ง   แต่เมื่อพระคริสต์ทรงเข้าไปในบ้าน ในชีวิตของเขา   ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลง   และสิ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงคือ   เขาเปลี่ยนมุมมองต่อทรัพย์สินเงินทองที่เขามีอยู่   เขาใช้ทรัพย์สินเงินทองตามแบบความรัก เมตตา และ เสียสละแบบพระคริสต์   ส่วนศักเคียสนั้นยืนขึ้นทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรัพย์สิ่งของของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ยอมให้คนยากจนครึ่งหนึ่ง และถ้าข้าพระองค์โกงอะไรของใครมา ก็ยอมคืนให้เขาสี่เท่า” (ลูกา 19:8)

ศักเคียสใช้ทรัพย์สินเงินทองตามระบบคุณค่าและคุณธรรมในแผ่นดินของพระเจ้า  แล้วปัจจุบันเราใช้ทรัพย์สินเงินทองของเราตามระบบคุณค่าและคุณธรรมของใคร?

พระเยซูคริสต์สอนให้เราใช้ทรัพย์สินเงินทองที่เราได้รับ   เพื่อให้ชีวิตของเราเป็นคน ดีพร้อม”  รากศัพท์ของคำว่า ชีวิตที่ดีพร้อมคือการที่ดำเนินชีวิตตามแบบของพระบิดาที่ทรงเป็นผู้ที่ดีพร้อม เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม เหมือนอย่างที่พระบิดาของท่าน ผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม” (มัทธิว 5:48 มตฐ.)   และพระองค์ตรัสอีกว่า “....ถ้าท่านต้องการจะเป็นคนดีพร้อม จงไปขายทรัพย์สิ่งของที่ท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนยากจน แล้วท่านจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ และจงตามเรามา” (มาระโก 10:22 มตฐ.)


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น