02 พฤษภาคม 2557

พูดด้วยพลังแบบไหน?

อย่า​ให้​คำ​เลว​ร้าย​ออก​จาก​ปาก​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย
แต่​จง​กล่าว​คำ​ดีๆ ที่​เสริม​สร้าง​และ​ที่​เหมาะ​กับ​ความ​ต้อง​การ (ตามความจำเป็นของเขา)
เพื่อ​จะ​ได้​เป็น​คุณ​แก่​คน​ที่​ได้​ยิน

(เอเฟซัส 4:29 มตฐ.  ในวงเล็บ อมต.)

เมื่อเราย้อนอ่านพระธรรมก่อนหน้านี้  ในเอเฟซัส 4:22-24  ได้ให้ภาพที่ชัดเจนถึง “ชีวิตในพระเยซูคริสต์” ว่าเป็นชีวิตที่ละทิ้ง (ขับไล่) “ตัวเก่า” ของเรา   ในอมตธรรมใช้คำว่า “ทิ้งตัวตนเก่า” เกี่ยวกับวิถีชีวิตเดิม”  แล้ว “รับการสร้างท่าที ความคิด จิตใจขึ้นใหม่” (ข้อ 23 อมต.)  “ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่” (มตฐ.)   ในข้อที่ 25 บอกเราว่า “...จง​ละทิ้ง​ความ​เท็จ ให้​พวก​ท่าน​แต่​ละ​คน​พูด​ความ​จริง​กับ​เพื่อน​บ้าน​ของ​ตน” (มตฐ.)   ในข้อที่ 26 บอกให้เราอย่าถูกครอบงำด้วยอำนาจชั่วด้วยความโกรธที่เกิดขึ้นในตัวเรา   และในข้อที่ 28  ขโมยให้ละทิ้งนิสัยขโมยเสีย   แต่ให้ทำงาน   ใช้มือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์   เผื่อจะมีอะไรแบ่งปันแก่คนขัดสน

เอเฟซัส 4:29 เป็นคำสอนที่ต่อจากข้างต้นที่กล่าวแนะนำถึงคริสต์จริยธรรม   โดยเริ่มจากการละทิ้ง หรือ ขับไล่สิ่งที่เลว ชั่วร้ายออกจากตัวตนในชีวิตของเราก่อน   แล้วจึงค่อยเปิดชีวิตรับสิ่งดีสร้างสรรค์เป็นคุณประโยชน์เข้าในชีวิตใหม่ หรือ ชีวิตในพระเยซูคริสต์ของเรา   พระธรรมข้อนี้กล่าวว่า “อย่าให้คำเลวร้าย (sapros) ออกจากปากของท่านทั้งหลาย  แต่​จง​กล่าว​คำ​ดีๆ (agathos) ที่​เสริม​สร้าง  ที่เหมาะสมตามความจำเป็นของเขา (อมต.)”

ภาษากรีกคำว่า sapros  มีความหมายว่า  เลวทราม เน่าเสีย ขยะแขยง  เป็นสิ่งที่มีคุณภาพต่ำทราม  เป็นสิ่งที่เลวสิ่งชั่ว  หรือ  เป็นสิ่งที่อันตราย ทำลายคนอื่น    พระเยซูคริสต์ได้ใช้คำนี้ในมัทธิว 7:17  “ต้น​ไม้​ดี​ (agathos) ย่อม​ให้​แต่​ผล​ดี ต้น​ไม้​เลว (sapros ) ​ก็​ย่อม​ให้​ผล​เลว”

คริสตชนพึงละทิ้งให้ห่างไกลจากการใช้คำพูดที่สร้างแต่การทำร้ายทำลาย และ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่คนอื่น   คำพูดที่รังแต่รื้อถอนทำลายให้หักพังแทนที่จะเป็นคำพูดที่สร้างเสริมเพื่อนบ้าน

ใช่ครับ  คริสตชนควรใช้คำพูดที่เสริมสร้าง หรือ สร้างสรรค์   คำพูดที่ออกมาจากปากของเราควรเป็นคำพูดที่หนุนเสริม  เป็นคุณเป็นประโยชน์ (agathos) ตามความจำเป็นของผู้ได้ยินได้ฟัง (ข้อ 29)  รากศัพท์ภาษากรีกที่เราแปลว่า “เป็นประโยชน์”  มีความหมายพื้นฐานว่า “ดี”  ขอตั้งข้อสังเกตว่า  คริสตชนสามารถใช้พลังแห่งคำพูดเพื่อให้เกิดสิ่งดี 2 ประการคือ

ประการแรก  คำพูดของเราสามารถเสริมสร้างผู้ฟังตามสิ่งที่จำเป็นต้องการของเขา

ประการที่สอง  คำพูดของเราสร้างประโยชน์แก่ผู้ได้ยินได้ฟัง

ตามความหมายรากศัพท์ในพระธรรมตอนนี้มีความหมายลึกซึ้งหนักแน่นว่า  คำพูดของเราสามารถ ให้คุณแก่คนที่ฟังเรา  คำพูดของเราสามารถเป็นแหล่งแห่ง “พระคุณ” สำหรับคนอื่น หรือ คนที่ได้ยินได้ฟังเราพูด

เอเฟซัส 4:29 ท้าทายคริสตชนไทยในปัจจุบันให้ใคร่ครวญพิจารณาอย่างละเอียดสุขุมว่า   เราใช้พลังแห่งคำพูดของเราไปในทางใด
  • คำพูดของเราบางครั้งกระชากทำร้ายทำลายคนอื่นหรือไม่?
  • คำพูดที่บ่น กล่าวหา ตัดสิน จนทำให้ผู้ฟังเกิดความสิ้นหวัง   ชุมชนเกิดความแตกหักหรือไม่?
  • หรือเราใช้พลังแห่งคำพูดเพื่อให้เกิดสิ่งดี   เพื่อเสริมสร้างผู้คนรอบข้างเรา   และคำพูดของเราเป็นช่องทางแห่ง “พระคุณของพระเจ้า” สำหรับผู้ได้ยินได้ฟังหรือไม่?


ในช่วงฤดูการหาเสียงของคนที่อยากเป็นผู้บริหารองค์กรคริสต์ศาสนาระดับชาติ   พึงใคร่ครวญและสุขุมในการใช้ “คำพูด” ของตน   ที่ไม่ตกภายใต้การครอบงำของอำนาจชั่ว  ที่จะก่อให้เกิดความบาดหมาง  สร้างความเจ็บปวดแก่คนอื่น   กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่นทั้งที่เป็นเท็จและจริง    พูดดีใส่ตัว  สาดชั่วใส่คนอื่น   แต่สิ่งที่อันตรายและเสียหายอย่างมากคือ   คำพูดที่ทำให้คริสตจักรซึ่งเป็นพระวรกายของพระคริสต์ฉีกขาด  แตกหักเป็นเสี่ยงๆ

ผมฝัน(หวาน)ว่า   ฤดูการหาเสียงปีนี้ในองค์กรคริสตจักรไทยของเรา   เป็นการหาเสียงด้วยพลังคำพูดที่เสริมสร้างกันและกัน (ไม่ว่าใครจะอยู่ในพรรค พวก หรือ กลุ่มไหนก็ตาม)   เป็นพลังคำพูดที่เป็นความจริงจากใจ  ที่พูดด้วยความสัตย์ซื่อและรับผิดชอบ (ไม่ว่าจะพูดบนธรรมาสน์ บนเวที  หรือ  การพูดส่วนตัว  รวมไปถึงการพูดกระซิบเพื่อให้คนบางคนเท่านั้นได้ยิน)   เป็นคำพูดที่ให้คุณ หรือ เป็นพระคุณสำหรับคนที่ได้ยินได้ฟัง และ สำหรับชุมชนคริสตจักร

แต่ที่ไม่ต้องฝันเลยครับว่า   วันนี้ให้เราพูดคำดีมีพระคุณที่เสริมสร้างกันทั้งในครอบครัว  ที่ทำงาน  ชุมชน และในกลุ่มเพื่อนของเราครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น