13 พฤษภาคม 2557

จาริกไปบนวิถีแห่งกางเขน

เพราะ​ฉะนั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​เลียน​แบบ​ของ​พระ​เจ้า​ให้​สม​กับ​เป็น​บุตร​ที่​รัก
และ​จง​ดำ​เนิน​ชีวิต​ใน​ความ​รัก​เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​คริสต์​ทรง​รัก​เรา
และ​ประ​ทาน​พระ​องค์​เอง​เพื่อ​เรา ให้​เป็น​เครื่อง​ถวาย​และ​เครื่อง​บูชา​ที่​ทรง​โปรด​ปราน​แด่​พระ​เจ้า
(เอเฟซัส 5:1-2 มตฐ.)

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เคยไปทัศนศึกษาที่กรุงเยรูซาเล็ม   เมื่อกลับมาเล่าประสบการณ์ให้ผมฟังว่า   เขามีโอกาสไปเดินบนเส้นทางที่พระเยซูคริสต์แบกกางเขนไปที่ภูเขากะโหลกศีรษะ  เขาเรียกเส้นทางนี้ว่าเป็นเส้นทางแห่งกางเขน   และเมื่อเดินไปบนเส้นทางนี้มีจุดสำคัญที่เขาจะให้หยุดเพื่อใคร่ครวญและสะท้อนคิดถึงความรู้สึกของพระคริสต์ในแต่ละจุดจำนวน 12 จุด  เพื่อที่จะซึมซับความรู้สึกของพระองค์เข้ามาในความรู้สึกของเรา

แต่ในฐานะที่เราเป็นคริสตชนที่หลายคนยังไม่มีโอกาสที่จะไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม   จดหมายเอเฟซัสบอกกับเราว่า ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   เราควรที่จะดำเนินชีวิตที่จาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขน  โดยกล่าวไว้ว่า  “...จงเลียนแบบของพระเจ้า...   จงดำเนินชีวิตในความรักเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงรักเรา   และประทานพระองค์เองเพื่อเรา   เป็นเครื่องถวายและเครื่องบูชาที่ทรงโปรดปรานแด่พระเจ้า”   ขอให้สังเกตคำว่า “จงดำเนินชีวิตในความรัก”   เปาโลมิได้หมายถึงการเดินบนเส้นทางที่พระคริสต์แบกกางเขนในกรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น   แต่ท่านหมายถึงการที่เราจะดำเนินชีวิตประจำวันเฉกเช่นที่พระคริสต์ทรงแบกกางเขนไปบนเส้นทางนั้นไปทุกวัน

มีความหมายอย่างไรเมื่อพูดว่า “ดำเนินชีวิตในความรัก” ?   เปาโลได้อธิบายความหมายนี้ด้วยการชี้ชัดไปที่การยอมสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์  โดยกล่าวว่า “ประทานพระองค์เองเพื่อเรา” (ข้อ 5:2)     ถึงแม้ตลอดชีวิตของพระเยซูคริสต์ได้สำแดงความรักของพระองค์อย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายรูปแบบต่อประชาชน (ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงอาหาร  การเยียวยารักษาความเจ็บป่วย  การอยู่เคียงข้างประชาชนคนเล็กน้อย   การสั่งสอน และ ฯลฯ)   และความรักที่สูงสุดที่สำแดงผ่านชีวิตของพระเยซูคริสต์คือ การที่พระองค์ให้ชีวิตของพระองค์แก่มวลมนุษยชาติและแก่เราบนกางเขน   กล่าวได้ว่า หัวใจแห่งความรักของพระคริสต์คือการที่พระองค์ยอมให้ชีวิตของพระองค์แก่คนอื่น   และเปาโลบอกให้เรา “เลียนแบบ” ความรักของพระคริสต์ดังกล่าวในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   ให้เราดำเนินชีวิตแต่ละวันไปบนวิถีแห่งกางเขนแบบพระคริสต์   ที่ให้ชีวิตของตนเพื่อคนอื่น

หลายคนคงถามในใจว่า  คุณหมายความว่าอย่างไรกัน?   ให้เราพิจารณาในเอเฟซัส 5:2 ได้พูดเรื่องอื่นอะไรอีกไหมก่อน   เปาโลบอกว่า พระคริสต์ให้ชีวิตของพระองค์ “แก่เรา”   พระคริสต์ทรงสำแดงความรัก “แก่เรา”   เป็นการสำแดงความรักที่สูงสุด   แต่พระธรรมข้อนี้กล่าวต่อไปว่า   “ให้เป็นเครื่องถวายและเครื่องบูชาที่โปรดปรานแด่พระเจ้า”   นั่นหมายความว่า   เปาโลต้องการให้คริสตชนแต่ละคนดำเนินชีวิตแต่ละวันที่สำแดงความรักโดยยอมให้ชีวิตตนเองแก่คนอื่นรอบข้าง    พระคริสต์มิได้เพียงให้ชีวิตของพระองค์เพื่อปลดปล่อยให้เราหลุดรอดออกจากความบาปเท่านั้น   แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงดำเนินชีวิตให้เป็นที่โปรดปรานของพระบิดาด้วย   ด้วยการรักคนรอบข้างด้วยความรักที่เสียสละของพระคริสต์   พระองค์ยังให้ตนเองเป็นเครื่องถวายบูชาแด่พระเจ้าด้วย

เราก็เช่นกัน   เมื่อเรารักเพื่อนบ้านคนรอบข้างเรารักอย่างที่พระคริสต์ทรงรักเรา   เมื่อเราจาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขน   เรามิได้เดินไปด้วยความรักที่เสียสละที่เรามีต่อคนรอบข้างเท่านั้น   แต่นั่นเป็นการยกย่อง นมัสการ  การสรรเสริญพระเจ้าด้วย

ขอให้เราใคร่ครวญดีๆ ว่า   การที่เรารักเพื่อนบ้านด้วยความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์   เรากำลังทำภาระหน้าที่พร้อมกันสองประการด้วยกัน   การที่เราเอาใจใส่ด้วยรักและห่วงใยคนรอบข้าง  และเรากำลังนมัสการพระเจ้าด้วย   เป็นการที่เราสนองตอบต่อชีวิตของเพื่อนบ้าน และ เป็นการยกย่องพระเจ้าด้วย

เมื่อท่านใคร่ครวญถึงชีวิตของท่านเอง  ทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ชีวิตของท่านได้จาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขนของพระคริสต์หรือไม่?   ในลักษณะใดบ้าง?   ท่านเคยรักเพื่อนบ้านหรือคนอื่นอย่างที่พระคริสต์ทรงรักท่านและประทานพระองค์เองแก่ท่านบ้างหรือไม่?  อย่างไร?   ที่ผ่านมาท่านเคยได้รับความรักที่เสียสละจากคนอื่นบ้างหรือไม่  อย่างไร?

ตลอดวันนี้   เมื่อเราดำเนินชีวิตประจำวันของเรา  ให้เราตระหนักรู้ว่า เรากำลังจาริกไปบนเส้นทางแห่งกางเขนของพระคริสต์   เราจาริกไปบนเส้นทางที่เราให้ชีวิตที่เรามีอยู่แก่ผู้คนที่เราสัมพันธ์และสัมผัส   ด้วยความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์   และสำนึกด้วยว่า ในเวลาเดียวกันนั้นเรากำลังนมัสการ เทิดทูนและยกย่องสรรเสริญพระเจ้าด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น