03 กุมภาพันธ์ 2563

“แม่ยาย”... “แม่ผัว” อย่าทำอย่างนั้น!

ไม่ว่า “แม่ยาย...แม่ผัว” หรือ “พ่อตา...พ่อผัว” ต่างก็มีความตั้งใจที่จะช่วยหนุนเสริมครอบครัวของลูกให้มีชีวิตที่มีความสุข เข้มแข็ง สนิทสนม และสร้างสรรค์ แต่บางครั้งเรื่อง “แม่ยาย แม่ผัว” ก็เป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์อกหนักใจแก่คู่สมรส จนกลายเป็น “อคติ” ถึงความสัมพันธ์เชิงลบของ “แม่ผัวกับลูกสะใภ้” ขอถอดประสบการณ์จากการสังเกตเรื่องนี้ในครอบครัวต่าง ๆ ผมพบข้อพึงใส่ใจอย่างระมัดระวัง ที่เตือนตนเอง ดังนี้ครับ

1. เคียงข้างแต่อย่าเข้าข้าง

เมื่อคู่ชีวิตครอบครัวใหม่ของลูกเกิดการถกเถียง โต้แย้ง หรือ ทะเลาะกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว ในฐานะ “แม่ยาย แม่ผัว พ่อตา พ่อผัว” อย่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นการเข้าไปแทรกแซงที่ไม่สร้างสรรค์นัก ให้ระลึกถึงพระวจนะของพระเจ้าครั้งเมื่อมีการแต่งงานที่ผู้ประกอบพิธีอ่านจากปฐมกาล 2:24 ว่า “เพราะเหตุนั้นผู้ชายจะละจากบิดามารดาของเขาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน” (มตฐ.) ทั้งสองจะ “ละบิดามารดา” ของตนและทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น การที่พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจะเข้าไป “แทรกแซง” ด้วยวิธีการใดก็ตาม ขอเป็นการเคียงข้างเขาทั้งสองคน เพราะทั้งสองเป็นคนเดียวกันแล้ว “อย่าเข้าข้างครับ”

2. ระวัง...คำพูดที่ทำให้ “สามี-ภรรยา” รู้สึกอับอาย

คำพูดของพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายที่ทำให้คนใดคนหนึ่งรู้สึกอับอาย ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจมีผลกระทบต่อความรู้สึก และ มุมมองของคู่สมรส และที่สำคัญกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวของลูก ซึ่งบางครั้งเป็นความรู้สึกขมขื่น ไม่พอใจ ที่สะสมในจิตใจของคู่สมรสหรือคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าถึงจุดระเบิดออกมาเมื่อใดย่อมก่อเกิดผลร้ายต่อครอบครัวลูกแน่นอน

ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายจะพูด จะวิพากษ์ วิจารณ์อะไรพึงระมัดระวัง ขอให้เป็นการเสริมหนุนครอบครัวของลูกให้เข้มแข็งขึ้น มิใช่สร้างความอับอายแคลงใจแก่ครอบครัวลูก แต่ถ้ามีเรื่องสำคัญจะต้องพูด ขอให้หาเวลาที่เป็นการพูดกันส่วนตัว

3. วิพากษ์วิจารณ์เรื่องบ้านของลูก

ปัจจุบันคู่สมรสมักจะหาบ้านพักสำหรับครอบครัวใหม่ของตน ไม่ว่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน หรือ ซื้อบ้านใหม่ ถ้าลูกทั้งสองไม่ได้ขอให้เราช่วยให้คำแนะนำ หรือ ความคิดเห็น อย่าด่วน “หลุดปาก” ไปวิจารณ์ แนะนำ ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี แย่กว่านั้น ไปสั่งให้ย้ายโน่นแก้ไขนี่ ตามรสนิยม หรือ ความคิดเห็นของตนเอง(แม่ยาย-แม่ผัว พ่อตา-พ่อผัว)

ให้เขาทั้งสองปรึกษา ตัดสินใจเลือกด้วยกัน และนี่คือโอกาสที่เขาทั้งสองจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ฟังเขาทั้งสองอย่างตั้งใจว่า ทำไมเขาเลือกบ้านนี้ จัดบ้านแบบนี้ เขารู้สึกอย่างไรกับบ้านใหม่ของเขา ร่วมชื่นชมยินดีกับเขาทั้งสองสำหรับก้าวใหม่อีกก้าวหนึ่งในชีวิตครอบครัว

4. วิพากษ์วิจารณ์ คู่ชีวิตในการเอาใจใส่ “ลูก” ของตน

บางครั้งการพูดถึงการดูแลเอาใจใส่ของคู่สมรสที่มีต่อลูกของตนทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ อาจะจะกระทบต่อจิตใจความรู้สึกของคู่สมรสอีกคนหนึ่งได้ เช่น ทำไมดูลูกผอมลงนะ อาหารไม่อร่อยเหมือนที่บ้านใช่ไหม? ไม่มีใครรีดเสื้อผ้าให้ลูกหรือ?... ทำไมเสื้อยับอย่างงี้? ใส่ไปทำงานได้ยังไงกัน? หรือ บางครั้งก็มีการพูดถึงคู่สมรสว่า “ทำอาหารไม่เป็น ทำอาหารไม่เก่ง” คำพูดเหล่านี้เมื่อคู่ชีวิตของลูกได้ยินเข้า ย่อมรู้สึกไม่สบายใจแน่ และ อาจจะกลายเป็น “จุด” ที่ทำให้เกิด “รอยร้าว” (ที่ซ่อนเร้น) ในความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตได้

5. วิจารณ์วิธีการเลี้ยงลูกของคู่สมรสของลูก

กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับ “แม่ผัวกับลูกสะใภ้” ซึ่งต่างอยู่ในช่วงเวลา และ บริบทที่แตกต่างกัน และมีชุดความรู้การเลี้ยงลูกที่อาจจะไม่เหมือนกัน คำพูดที่ว่า “แม่ไม่เคยเลี้ยงลูกอย่างนี้เลย” “แม่ไม่เคยปล่อยให้ลูกทำอย่างนี้เลยนะ” ความรู้สึกของลูกสะใภ้ หรือ ลูกสาว ก็อาจจะเถียงในใจว่า ก็แม่เลี้ยงลูกแบบหัวโบราณนี่ เดี๋ยวนี้เขาไม่เลี้ยงแบบนั้นแล้ว และแย่ที่สุดคือ แม่ผัว หรือ แม่ตัว แย่งเอาลูกไปเลี้ยงตามวิธีของตนเอง นี่รังแต่สร้างความไม่พึงพอใจ หรือ ความโกรธในใจแก่ “พ่อ-แม่มือใหม่”

6. พูดถึง “แฟนเก่า” ของลูกตน

การที่ “แม่ยาย/พ่อตา” หรือ “แม่ผัว/พ่อผัว” รื้อฟื้นพูดถึงเรื่องของแฟนเก่าของลูกตน ไม่ว่าจะเป็นด้านดี หรือ ล้มเหลว ย่อมสร้างสิ่งที่กระทบกระเทือนใจคู่สมรสของลูก เรื่องมันถูกฝังไปในอดีตแล้วจะขุดขึ้นมาพูดอีกทำไม? มันไม่ได้แก้ไขทำให้สิ่งเลวร้ายมันดีขึ้น แต่มันกลับจะสร้างบาดแผลรอยร้าวในจิตใจ ยิ่งถ้าเกิดการนำเอาแฟนเก่ามาเปรียบเทียบ เช่น ถ้าลูกแต่งงานกับแฟนเก่าคนนั้น ตอนนี้ก็จะได้เป็นเมียหมอ! เมียนายพล! ตอนนี้ก็จะได้ไปอยู่ในออสเตรเลียแล้ว! ฯลฯ อย่านำเรื่องแฟนเก่าของลูกมาพูดในครอบครัวใหม่

ทางเลือกที่ดีที่สุด เราต้องอดทนให้โอกาสแก่คู่สมรสเผชิญปล้ำสู้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตของเขาทั้งสอง เราผู้เป็นพ่อแม่พึงตระหนักชัดว่า การที่เราเข้าไปแทรกแซงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในครอบครัวของคู่สมรสลูกรังแต่จะสร้างบาดแผลรอยร้าวในความสัมพันธ์ และ ความไว้วางใจที่มีต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นทำให้มันเกิดขึ้นเลย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น