12 มกราคม 2554

ยืนมั่นท่ามกลางมรสุมชีวิต (ตอนที่ 2)

อ่าน 2โครินธ์ 6:1, 3-6
[เปาโลกล่าวว่า] 1ในฐานะผู้ร่วมงานของพระเจ้า เราวิงวอนท่านว่าอย่าสักแต่รับพระคุณของพระเจ้า...3เราไม่ทำให้ใครสะดุดเพื่อไม่ให้พันธกิจของเราเสียความเชื่อถือ(เป็นที่คนอื่นติเตียนได้) 4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าเราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง ไม่ว่าในทางอดทนอดกลั้น ในความทุกข์ร้อน ความยากเข็ญและความลำเค็ญ 5ในการถูกเฆี่ยนตี การถูกจองจำ และการจลาจล ในการตรากตรำ ทำงาน การอดหลับอดนอน และ ความหิวโหย 6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(อมตธรรม, ข้อความในวงเล็บเป็นสำนวนจาก TBS71b, อักษรเอนเป็นของผู้เขียน)

ในความคิด ความรู้สึกตามกระแสสังคมในปัจจุบัน จะเป็นการดีสำหรับผมอย่างมากถ้าผมไม่ต้องเผชิญหน้ากับมรสุมในชีวิตอีกต่อไป แต่นั่น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ในทุกมรสุมชีวิตที่เราต้องพบพานผมเชื่ออย่างมั่นคงว่า พระเจ้ามิเพียงที่จะปลอบและหนุนเสริมให้กำลังแก่ผมในการมีชีวิตท่ามกลางมรสุมนั้น และพระองค์ทรงทำงานในชีวิตผม เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนาชีวิตและบุคลิกชีวิตของผม ทุกมรสุมชีวิตคือโอกาสที่พระคริสต์ทรงช่วยเราให้เติบโตเข้มแข็งขึ้นในพระองค์และในความไว้วางใจในพระองค์มากยิ่งๆ ขึ้น ในชีวิตของเปาโล ท่านคุ้นเคยกับมรสุมชีวิตที่เลวร้าย และคุ้นชินกับความจริงที่ทำให้ท่านเจ็บปวดในชีวิต ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสตจักรในเมืองโครินธ์ท่านได้ชี้ชัดถึงสัจจะ 5 ประการที่ประยุกต์ใช้ได้เมื่อชีวิตต้องฝ่ามรสุมที่แรงกล้า โดยชีวิตของเรายังสามารถยืนมั่นคงได้

ในตอนที่หนึ่งได้ใคร่ครวญถึงสัจจะ 3 ประการแรก คือ
1. ประการแรก ดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์
2. ประการที่สอง แสวงหาความเข้าใจ
3. ประการที่สาม เรียนรู้ที่จะอดทน

ประการที่สี่: ดำเนินชีวิตด้วยความกรุณา

เมื่อชีวิตต้องชนกับสิ่งเลวร้าย เราจะ(เรียก)ร้องขอให้บางคนช่วยเหลือเอาใจใส่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายนั้น หลายคนจะหันหน้าเข้าหาพระคริสต์เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติมากกว่าสถานการณ์อื่นใดในชีวิต การดำเนินชีวิตด้วยความกรุณาคือการที่ชีวิตได้สำแดงออกถึงความเมตตา และ ความรัก ออกมาในทางการกระทำของเรา ความกรุณาคือความรักที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องกระตุ้นให้ตนเองตระหนักชัดในกรอบคิด มุมมองถึงความสำเร็จในชีวิตของเรา ที่มิใช่มุ่งมองหาแต่ความสำเร็จเพื่อตนเองและพวกพ้อง หรือทุ่มเทกับความสำเร็จเพื่อความเด่นดังมั่นคงของตนเอง แต่เราควรมีมุมมองความสำเร็จในชีวิต ด้วยจิตใจที่มุ่งทำความสำเร็จในความจำเป็นต้องการและคุณภาพชีวิตของคนรอบข้าง คนที่เราเกี่ยวข้อง และมวลชน ผมจะไม่แปลกใจเลยเมื่อถึงวันที่จะต้องเข้าพบองค์พระผู้เป็นเจ้าในสวรรค์ ที่ผมจะพบกับผู้คนมากมายหลายคนที่ไม่คิดว่าจะได้พบ และ พบผู้คนมากมายที่ผมไม่รู้จักแต่ที่เขาเหล่านั้นอยู่ที่นั่นเพราะเขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทชีวิตของตนในการรับใช้พระเจ้าอย่างเต็มที่ ในการช่วยเหลือและกระทำแก่คนรอบข้างตามพระประสงค์ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้คนที่ติดตามพระองค์เป็น “คนดีรอบคอบเฉกเช่นพระบิดาที่ทรงเป็นผู้ดีรอบคอบ” (ดูมัทธิว 5:43-48) พระเจ้าจะทรงตอบสนองคนเช่นนี้ที่กระทำความรักเมตตากรุณาอย่างเงียบๆ ไม่มีผู้คนมองเห็นหรือได้ยิน

ศิษยาภิบาลท่านหนึ่งได้เล่าเรื่องคุณแม่ของท่านที่มีจิตใจกรุณาว่า วันหนึ่ง เมื่อท่านกลับจากที่ทำงานมาถึงบ้าน พบแม่ของท่านนั่งที่โต๊ะอาหารพร้อมกับชายแก่ข้างถนนคนหนึ่ง ที่คุณแม่ไปพบเขาขณะที่ออกไปจับจ่ายซื้อของเลยเชิญให้มาที่บ้านแล้วทำอาหารให้ผู้สูงอายุข้างถนนคนนั้นรับประทาน ในระหว่างการสนทนาบนโต๊ะอาหารแขกพิเศษของเราคนนี้ได้กล่าวแก่คุณแม่ของศิษยาภิบาลว่า “ผมหวังว่าในสังคมโลกปัจจุบันจะมีคนที่เป็นคนอย่างท่านมากกว่านี้” คุณแม่ของศิษยาภิบาลตอบทันควันว่า “โอ มีแน่ค่ะ เพียงแต่เราต้องมองหาคนเหล่านั้น” ชายชราคนนั้นได้ยินแล้วได้แต่สั่นศีรษะของตนด้วยรอยยิ้มพร้อมกับเอ่ยออกมาว่า “ท่านครับ ผมไม่จำเป็นต้องมองหาท่านเลย แต่ท่านต่างหากที่มองหาผม”

คนที่มีความจำเป็นต้องการได้เดินผ่านหน้าเราวันแล้ววันเล่าแต่เรา “มองไม่เห็น” พวกเขา เราแต่ละคนมีงานยุ่งวุ่นวายมากมายจนไม่สามารถมองเห็น “แกะที่บาดเจ็บ” ที่พระผู้เลี้ยงทรงส่งเข้ามาในวิถีการดำเนินชีวิตของเรา เลวร้ายกว่านั้น เรากลับมองว่า “แกะเหล่านี้” เป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย มาแย่งงานคนไทยทำ คนขี้เหล้าที่เข้ามารบกวนจิตใจของเราในที่ทำงาน หญิงโรคจิตที่ยอมนอนกับผู้ชายไม่เลือกหน้า เด็กชาวเขาที่มาตื๊อขายดอกไม้ตามสี่แยกใหญ่ๆ ในเมือง เกะกะ สร้างความรำคาญ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เราต้องขับรถระมัดระวังมากขึ้น คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นคนที่เข้ามารบกวน วุ่นวายในขณะที่เราต้องทำหน้าที่การงานมากมาย แต่คนเหล่านี้ที่เราไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วยอาจจะเป็น “แขก” ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าส่งเข้ามาในชีวิตของเราในแต่ละวัน ในพระธรรมฮีบรู 13:2 ได้เตือนสติเราว่า “2อย่าละเลยที่จะต้อนรับแขกแปลกหน้า เพราะว่าโดยการกระทำเช่นนั้น บางคนก็ได้ต้อนรับทูตสวรรค์โดยไม่รู้ตัว” วันนี้ เราพลาดโอกาสที่จะพบปะสัมพันธ์กับทูตสวรรค์กี่คนแล้วเพราะมีธุระการงานมากมาย

เราไม่ได้เป็นเหมือนกับพระบิดาในสวรรค์ ที่เมื่อพระองค์พบกับคนที่ต้องตกอยู่ท่ามกลางมรสุมแห่งชีวิต พระองค์ทรงยื่นความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักเมตตากรุณาสัมผัสกับชีวิตคนเหล่านั้น พระคริสต์สอนเราแล้วว่า ถ้าเรารักพระเจ้าอย่างจริงใจแล้วละก็เราจะต้องรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความรักเมตตากรุณาแท้จริงแล้วเป็นเรื่องของคุณภาพความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนรอบข้าง ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการที่เรารักพระเยซูคริสต์อย่างแยกไม่ออก เพราะมรสุมความทุกข์ยากในชีวิตของเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องที่พระเจ้าทรงเอาใจใส่ใกล้ชิดและพระองค์ประสงค์ให้เราเอาใจใส่ใกล้ชิดชีวิตของผู้คนเหล่านั้นด้วย สัจจะความจริงจาก 1ยอห์น 4:20-21 20ถ้าผู้ใดว่า “ข้าพเจ้ารักพระเจ้า” และใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นก็เป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่ไม่เคยเห็นไม่ได้ 21พระบัญญัตินี้เราทั้งหลายก็ได้มาจากพระองค์ คือว่าให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย” เราอาจจะทำตนเป็นคนที่เคร่งจริงจังในความเชื่อศรัทธาแต่กลับเป็นคนที่ “ไม่ใส่ใจ” ผู้คนรอบข้างก็ได้ ความรักเมตตากรุณามิได้ขึ้นอยู่กับเหตุผล หรือความรักเมตตามิได้ขึ้นอยู่กับความจำกัดขาดด้อยของเรา แต่ความรักเมตตากรุณาแสวงหาโอกาสที่จะสำแดงความรักกรุณา

ประการที่ห้า: บ่มเพาะ-ฝึกฝน และ มีประสบการณ์ในความรักเมตตา

เพราะเรามิได้มีความต้องการให้พระเจ้าอยู่กับเราท่ามกลางมรสุมความทุกข์ยากแห่งชีวิตเท่านั้น เรายังต้องการซึ่งกันและกันในท่ามกลางวิกฤติชีวิตนั้นด้วย ความรักแท้จะรู้ได้ก็ผ่านการทดสอบถึงสัมพันธภาพที่เรามีต่อกันในเวลาที่ชีวิตประสบความทุกข์ยาก เปาโลได้เขียนไว้ว่าให้เรา “พิสูจน์” ตนเองว่ามีความอดทนอดกลั้น และ ความเมตตากรุณา เราคงต้องมีเวลาที่พิจารณาใคร่ครวญถึงสัมพันธภาพของเราที่มีต่อคนอื่นว่าได้สำแดงออกถึงความลุ่มลึกชัดเจน ในความรักของพระเจ้า ในงานประจำวันที่เรากระทำมากน้อยแค่ไหน

จดหมายถึงคริสตจักรในเมืองเอเฟซัสเปาโลเขียนไว้ว่า (ข้าพเจ้าเปาโล) “...ขอวิงวอนท่านให้ดำเนินชีวิตสมกับพันธกิจอันเนื่องจากการทรงเรียกท่านนั้น 2คือจงมีใจถ่อมลงทุกอย่าง และใจอ่อนสุภาพอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก 3จงเพียรพยายามให้คงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งพระวิญญาณทรงประทานนั้นด้วยสันติภาพเป็นพันธนะ (เอเฟซัส 4:2-4) ดังนั้น จงเพียรพยายามในการดำเนินชีวิตทุกด้านของเราให้มีสัมพันธภาพต่อกันตามคำสอนนี้ของเปาโล

ให้เราเรียนรู้ที่จะเสริมสร้างสัมพันธภาพดังที่กล่าวนี้อย่างจริงจังเพื่อบรรลุถึงคุณภาพชีวิตคริสเตียน มีบางคนในบางครั้งที่อาจจะไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย ผิดหวังในตัวเรา เรามีทางเลือกอย่างน้อยสองทางในสถานการณ์นี้คือ ทางเลือกแรก เราจะตอบสนองสถานการณ์นี้อย่างไรเพื่อที่จะเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและเกิดศานติภาพท่ามกลางชุมชนของเรา หรือทางเลือกที่สอง เลือกที่จะเดินเข้าไปในเส้นทางสร้างความขัดแย้งเพื่อให้ได้ชัยชนะในชีวิตตามปรารถนาแห่งตน พระเจ้าทรงบัญชาให้เราเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเป็นเอกภาพ แต่ถ้าเราไม่ทุ่มเทและแสวงหาการเสริมสร้าง “ศานติ” ในทุกความพยายามและหนทาง มรสุมชีวิตและความทุกข์ยากลำบากก็จะเข้ามาช่วยและเสริมสร้างเราให้เกิดการเรียนรู้ และ เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในเรื่องนี้

มีสตรีคนหนึ่ง เธอมีอาชีพในการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ม้า เธอเคยเล่าไว้ว่า ม้าพันธุ์ดีเวลาที่เผชิญหน้ากับศัตรู ฝูงม้าเหล่านี้จะยืนเรียงเป็นวงกลมโดยหันหน้าเข้าหากัน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะใช้ขาหลังของตนดีดหรือเตะศัตรูที่เข้ามาโจมตี แต่ลานั้น แตกต่างแบบตรงกันข้ามเลยทีเดียว ลาจะหันหน้าออกหาศัตรูแล้วใช้ขาหลังดีดถีบพวกเดียวกัน

ในสมัยเริ่มแรกที่มีการผลิตลูกกอล์ฟ ผิวของลูกกอล์ฟจะเรียบ คนเล่นกอล์ฟค้นพบว่า ถ้าผิวของลูกกอล์ฟขรุขระสักนิดหนึ่งจะสามารถเคลื่อนตัวไปได้ไกลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตลูกกอล์ฟจึงผลิตให้ลูกกอล์ฟมีผิวที่มีปุ่มเล็กๆ บนผิวรอบนอก ชีวิตคนเราก็เป็นเช่นนั้น ถ้าชีวิตพบกับปุ่มความยากลำบากก็จะทำให้ชีวิตของเราเคลื่อนไปได้ดีขึ้นและไกลขึ้น ชีวิตต้องการมรสุมและความทุกข์ยากที่จะสอนให้เราได้เรียนรู้ว่าพระเจ้านั้นทรงเมตตากรุณาและสัตย์ซื่อ ลองคิดทบทวนย้อนหลังไปในความทรงจำของท่านว่า ครั้งสุดท้ายที่ท่านได้จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองถึงการที่ท่านได้เผชิญกับมรสุมหรือการทดลองในชีวิตของท่านนั้นเมื่อไหร่กันแน่?

ยากอบ 1:2-3 ได้เขียนไว้ว่า “2ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า เมื่อท่านทั้งหลายประสบความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ก็จงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี 3เพราะท่านทั้งหลายรู้ว่า การทดลองความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง”

ทางของพระเจ้านั้นสูงกว่าทางของมนุษย์เรา ส่วนมากแล้วมนุษย์เราจะตอบสนองในทิศทางที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับทางของพระเจ้า กล่าวด้วยความสัตย์จริงว่า หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าพระเจ้าได้เรียกให้ทำบางอย่างบางเรื่องที่ดูแล้วไม่เข้าท่า และเมื่อทำตามที่ทรงนำกลับพบกับปัญหา ความเชื่อศรัทธาเป็นการยอมเชื่อฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่เชื่อฟังเพราะมันมีเหตุมีผล เราพึงตระหนักว่า หัวใจของมรสุมชีวิตที่เราพบคือชัยชนะที่รอคอยเราแต่ละคนเข้าไปและบรรลุชัยชนะนั้น อะไรคือ “มรสุมชีวิต” ที่ทำให้ท่านต้องเดือดร้อนในวันนี้? อะไรคือก้าวย่างของท่านที่จะมุ่งหน้าเข้าไปเพื่อจะรับประสบการณ์ในพลานุ-ภาพของพระเจ้าท่ามกลางมรสุมชีวิตนั้น? พระบิดาเจ้าทรงรอคอยที่จะพบกับท่านในเวลาที่มืดมนสุดๆ ในชีวิตของท่าน พระองค์รอเวลาที่จะอ้าแขนออกเพื่อโอบกอดท่านไว้ในอ้อมแขนของพระองค์ จนกว่าพายุที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงจะสงบลง จุดเริ่มต้นในขณะนี้คือ...จงยอมตนต่อพระเจ้า แล้วจงชื่นชมยินดีกับแรงพายุที่พัดกระแทกชีวิตของท่านอย่างรุนแรง แต่ชีวิตทั้งสิ้นของท่านอยู่ในอ้อมแขนของพระบิดา ความรักเมตตาของพระองค์จะไม่ยอมให้ชีวิตของท่านต้องล่มจมพ่ายแพ้ แต่จงยอมรับพระกำลังของพระองค์และยืนมั่นด้วยพระกำลังของพระเจ้าที่มีในชีวิตของท่าน

ประเด็นใคร่ครวญในชีวิต

1) เมื่อท่านต้องพบกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากในชีวิต ใครคือคนแรกที่ท่านหันหน้าไปขอความช่วยเหลือ?
2) ท่านมีมุมมอง หรือ ทัศนคติอย่างไรต่อ “มรสุม” ที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่าน?
3) ท่านคิดว่า มุมมองและทัศนคติ ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? อย่างไร?
4) ขอท่านทบทวนและตรวจสอบดูว่า ในชีวิตของท่านมีอะไรที่เป็นสิ่งกีดขวางพระกำลังของพระเจ้า? ท่านจะจัดการหรือเคลื่อนย้าย “สิ่งกีดขวาง” ดังกล่าวออกจากชีวิตของท่านได้อย่างไรบ้าง?
5) ท่านจะจัดเตรียมตนเองล่วงหน้าที่จะเผชิญหน้ากับ “มรสุม” ชีวิตได้อย่างไร?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น