20 มกราคม 2554

คุณค่าพระวจนะ

ผมเคยอ่านเรื่องราวของชายชราที่มีอาชีพและเกือบทั้งชีวิตใช้กับการเป็นกรรมกรในเหมือง ทำงานในเหมืองใต้ดินและเจาะเข้าไปในภูเขาใหญ่ เมื่อชายชราคนนี้เสียชีวิต ญาติห่างๆ ของเขาได้มาที่เหมืองเพื่อเก็บข้าวของมีค่าที่เหลืออยู่ของชายชราที่จากไปแล้ว เมื่อพวกเขาเข้าไปในกระท่อมพักโกโรโกโสที่มีห้องพักอยู่ด้านหน้า ในห้องนั้นเขาพบหม้อหุงข้าวเก่าๆ ใบหนึ่ง เครื่องมือในการขุดเจาะแร่ แล้วพบโต๊ะเก่าๆ ที่แตกหักพร้อมกับเก้าอี้สามขาตัวหนึ่งที่อยู่ข้างๆ หน้าต่างเล็กๆ มีตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ใช้งานได้วางบนตรงกลางของโต๊ะ พวกญาติได้รวบรวมทรัพย์สินของชายชราและนำขึ้นรถกระบะ ขณะที่กำลังจากออกรถ เพื่อนของกรรมกรชราได้เข้ามาในบ้าน แล้วถามพวกญาติๆ ว่า “ถ้าผมจะขอสิ่งที่เหลืออยู่ในบ้าน ที่ท่านไม่เอาแล้วได้ไหม?”

ญาติห่างๆ คนหนึ่งตอบว่า “คุณเอาไปเลย เพราะเราเอาของมีค่าไปหมดแล้ว” ชายคนนั้นได้ขอบคุณบรรดาญาติของชายชรา แล้วยืนส่งจนพวกเขาออกไปลับตาจากที่นั่น ชายคนนั้นเข้าไปในที่พัก ก้มลงใต้โต๊ะ เขาพบแผ่นไม้พื้นห้องแผ่นหนึ่ง เป็นฝาที่ปิดช่องบนพื้นห้องบริเวณใต้โต๊ะ เมื่อเปิดฝานั้นออกข้างในขุดเป็นโพลงลึกลงไป แล้วเขาก็ล้วงลงไปในโพลงนั้น ค่อยๆ เอาของที่อยู่ในโพลงนั้นออกมา เขานำทองคำทั้งหมดที่เพื่อนชราของเขาได้เก็บสะสมไว้จากแร่ทองคำที่เขาพบขณะทำงานในเหมืองมาเป็นเวลาหลายสิบปี มูลค่าทองคำเหล่านั้นรวมกันแล้วหลายสิบล้านบาท มีเพียงเพื่อนสนิทคนนี้ของชายชราที่สิ้นชีวิตรู้ว่าเพื่อนของเขาได้ทิ้งสมบัติที่มีค่ามากมายอยู่เบื้องหลัง

ญาติห่างๆ ของชายชราผู้ล่วงลับกับเพื่อนสนิทของชายแก่คนนี้มีจุดประสงค์ที่เหมือนกันคือ ทั้งสองฝ่ายต่างค้นหา “สิ่งที่มีค่า” แต่ทั้งสองพวกมีความแตกต่างคือ ญาติสนิทค้นหาของที่มีค่าที่ชายชราทิ้งไว้ตามมุมมองของพวกเขาว่าอะไรมีค่า ตามสิ่งที่พวกเขาสามารถมองเห็นได้ และตามความต้องการของพวกเขา ซึ่งแตกต่างจากเพื่อนสนิทของชายชราที่รู้ว่าเพื่อนชราผู้ล่วงลับของเขาได้เก็บสะสมสิ่งที่มีค่าที่แท้จริงไว้ที่ไหนจึงสามารถนำสิ่งที่มีค่าเหล่านั้นออกมา

เช่นเดียวกัน พระเยซูคริสต์ต้องให้พวกเราได้รู้จักพระองค์ แต่เราเป็นเหมือนญาติห่างๆ ของชายชราคนนั้น หรือ เพื่อนสนิทของชายชรา ถ้าเราจะรู้จักพระคริสต์ดีกว่า เราจะต้องค้นให้พบถึงสิ่งที่มีคุณค่าที่พระองค์มีสำหรับเรา คำถามคือแล้วสิ่งที่มีค่าสูงสุดเหล่านั้นอยู่ที่ไหน? อะไรเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งที่อยู่ในพระวจนะของพระเจ้า พระคริสต์ได้ตรัสว่า “...ในหนังสือม้วนได้เขียนถึงข้าพระองค์...”(ฮีบรู 10:7, อมตธรรม) ในพระธรรมสดุดี บทที่ 19 ได้บรรยายถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของพระวจนะพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา

ประการแรก เราพบว่า พระวจนะของพระเจ้าสมบูรณ์ “บทบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ไร้ที่ติ ”(อมตธรรม, สดุดี 19:7 ฉบับ TBS71b แปลว่า “กฎหมายของพระเจ้ารอบคอบ) “บทบัญญัติ หรือ กฎหมายของพระเจ้า” คำนี้ในภาษาฮีบรูหมายถึงพระวจนะของพระเจ้า เป็นการหมายถึงพระวจนะทั้งสิ้นของพระเจ้า ดังนั้น เราสามารถที่จะแปลความหมายในข้อนี้ว่า พระวจนะของพระเจ้า หรือ พระคัมภีร์นั้นสมบูรณ์ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า มลทิน บกพร่อง ทำผิด และการใช้ตรรกะเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์ตามกรอบคิดของมนุษย์ เมื่อสังคมเปลี่ยน เราไม่จำเป็นที่จะลู่ไปตามลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือถูกพัดไปกับพายุของการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่เรายังสามารถที่จะยืนมั่นบนรากฐานแห่งพระวจนะของพระเจ้า

ประการที่สอง เราพบว่า พระวจนะของพระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา “บทบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าสมบูรณ์ไร้ที่ติ ฟื้นฟูจิตวิญญาณ”(ข้อที่ 7 เน้นที่อักษรเอน) คำว่า “ฟื้นฟูจิตวิญญาณ” ในภาษาฮีบรูยังมีความหมายครอบคลุมถึง “การกลับใจหันกลับมาหาพระเจ้า” “การเปลี่ยนแปลงชีวิต” “การซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่” หรือการฟื้นฟูชีวิตจิตวิญญาณขึ้นใหม่ พระวจนะของพระเจ้าจะเปลี่ยนแปลงฟื้นฟูชีวิตจิตวิญญาณของเราขึ้นใหม่ ท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ว่าพระวจนะข้อหรือตอนที่ท่านอ่านในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ได้เปลี่ยนแปลง ฟื้นฟู หรือซ่อมแซมเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของท่านขึ้นใหม่ในสถานการณ์ต่างๆ ที่ชีวิตเป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะท่านได้สร้างวินัยชีวิตในการอ่าน ศึกษา และใคร่ครวญพระวจนะของพระเจ้าเป็นประจำในชีวิตของท่าน

ประการที่สาม เราพบว่า พรวจนะของพระเจ้าได้สร้างเสริมปัญญาแก่ผู้ศึกษาใคร่ครวญอย่างไม่น่าเชื่อ “กฎเกณฑ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเชื่อถือได้ กระทำให้คนรู้น้อยมีปัญญา” (อมตธรรม, ข้อที่ 7ข) ศัพท์ภาษาฮีบรูคำนี้โดยทั่วไปจะแปลว่า “ธรรมดา” มาจากรากศัพท์ภาษาฮีบรูที่มีความหมายว่า “ประตูที่เปิดออก” หมายถึงการที่คนใดคนหนึ่งเปิดใจเปิดความคิดของตนยอมรับ อย่างกับการเปิดประตูรับแขก โดยคนๆ นั้นจะไม่พยายามควบคุมดัดแปลงความคิดที่เข้ามาหรือออกไป พระคัมภีร์ตอนนี้กำลังบอกกับผู้อ่านว่า ถ้าท่านศึกษาพระวจนะ ถ้าท่านจดจำพระวจนะข้อนั้นๆ และที่มีความสำคัญกว่านั้น ถ้าท่านประยุกต์สัจจะความจริงในพระวจนะของพระเจ้าสู่การกระทำ ก็จะทำให้ท่านเป็นคนที่มีปัญญาจากสัจจะของพระวจนะที่ดูธรรมดา

ประการที่สี่ เราเรียนรู้ว่า พระวจนะของพระเจ้าถูกต้อง “ข้อบังคับขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นถูกต้อง ให้ความชื่นชมยินดีแก่จิตใจ” (อมตธรรม, ข้อ 8) ตามศัพท์ในภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ตอนนี้มีความหมายว่า พระวจนะของพระเจ้าได้เปิดวิถีแห่งชีวิตที่ถูกต้องให้เราเดินไป เราไม่จำเป็นที่จะต้องวนเวียนหลงทางท่ามกลางความคลุมเครือในหมอกควันตามกรอบคิดของมนุษย์ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องอ่านพระคัมภีร์ทีละข้อ ทุกข้อ ทีละบท

ประการที่ห้า เราเกิดความตระหนักชัดว่า พระวจนะของพระเจ้ากระทำให้เราเกิดความชื่นชมยินดี “ข้อบังคับขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นถูกต้อง ให้ความชื่นชมยินดีแก่จิตใจ” (อมตธรรม, ข้อ 8) บางครั้งบางคนที่กลัวจะกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า คนๆ นั้นก็จะเกิดความไม่สบายใจ แต่ถ้าใครเปิดใจยอมรับพระวจนะของพระเจ้าด้วยความเต็มใจ และให้ชีวิตเป็นไปตามพระวจนะเขาก็จะได้รับความชื่นชมยินและสันติสุข ด้วยการดำเนินชีวิตตามพระวจนะของพระเจ้าท่านจะได้รับสันติและผาสุก

เมื่อท่านอ่าน ศึกษา ใคร่ครวญ ท่องจำ และยอมเชื่อฟังกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า ชีวิตของท่านจะได้รับการเปลี่ยนแปลงตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง และนี่คือความสำเร็จแห่งชีวิตของคริสเตียน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น