10 มกราคม 2554

ยืนมั่นท่ามกลางมรสุมชีวิต (ตอนที่ 1)

2โครินธ์ 6:1, 3-6
[เปาโลกล่าวว่า] 1ในฐานะผู้ร่วมงานของพระเจ้า เราวิงวอนท่านว่าอย่าสักแต่รับพระคุณของพระเจ้า...3เราไม่ทำให้ใครสะดุดเพื่อไม่ให้พันธกิจของเราเสียความเชื่อถือ(เป็นที่คนอื่นติเตียนได้) 4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าเราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง ไม่ว่าในทางอดทนอดกลั้น ในความทุกข์ร้อน ความยากเข็ญและความลำเค็ญ 5ในการถูกเฆี่ยนตี การถูกจองจำ และการจลาจล ในการตรากตรำ ทำงาน การอดหลับอดนอน และ ความหิวโหย 6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(อมตธรรม, ข้อความในวงเล็บเป็นสำนวนจาก TBS71b, อักษรเอนเป็นของผู้เขียน)

มรสุมชีวิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอนในชีวิตของเราแต่ละคน และเราเชื่อว่าพระเจ้าทรง “จัดเตรียม” คุณค่าและความหมายสำหรับเราแต่ละคนในพายุคลื่นลมที่ซัดถาโถมเข้าในชีวิตของเรา ชีวิตที่ยุ่งเหยิง ซับซ้อนจนสับสน หรือเกิดสิ่งเลวร้ายย่อมจะเกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคนได้เสมอ

แต่เราต้องมั่นคงและชัดเจนว่าในทุกวิกฤติชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่เราจะไว้วางใจองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงเสริมสร้างและหนุนช่วยให้ชีวิตของเราได้เติบโต เข้มแข็ง และเกิดผลมากยิ่งๆ ขึ้น

เมื่อเราจะเผชิญหน้ากับพายุแห่งชีวิต เป็นโอกาสที่พระองค์จะสอนให้เรามอง “มรสุมชีวิต” นั้นด้วยสายตาและมุมมองจากเบื้องบน พระองค์ทรงช่วยให้เรามองมรสุมชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นด้วยสายตาและมุมมองแบบพระคริสต์ คือมองว่านี่คือโอกาสที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะสำแดงพระกำลังและพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา และผ่านชีวิตของเรา

ทุกครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับพายุแห่งชีวิต เราต้องถามตนเองว่า เราจะเผชิญหน้าและดำเนินชีวิตท่ามกลางมรสุมชีวิตในทางที่จะทำให้เกิดการเทิดทูนสรรเสริญ และ ยกย่องพระเจ้าได้อย่างไร

ประการแรก: ดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์
4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าให้เราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง...
6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และ
(ด้วย)ความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(2โครินธ์ 6:6)

มรสุมชีวิตมิใช่เรื่องแปลกในชีวิตของเปาโลอย่างแน่นอน จากจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโครินธ์ เปาโลได้บอกผู้อ่าน(บอกเรา)ว่าเมื่อต้องเข้าสู่พายุแห่งชีวิตเราควรจะมีท่าที และ การกระทำเช่นไรเพื่อที่จะสามารถอยู่รอดและปล้ำสู้จนเกิดความเข้มแข็งและเติบโตในชีวิต น่าสังเกตว่าชีวิตที่บริสุทธิ์เป็นเรื่องแรกที่ท่านกล่าวถึง ท่านกล่าวอย่างชัดเจนมั่นคงว่า พลังชีวิต ศักดิ์ศรี และชีวิตที่น่านับถือนั้นเกิดจากการที่คนๆ นั้นอุทิศตนด้วยการมีชีวิตประจำวันที่บริสุทธิ์ จิตใจที่บริสุทธิ์เป็นการเปิดใจของตนให้กับพลังอำนาจของพระเจ้าที่สถิตในตัวเราได้ดำเนินการในชีวิตของเรา แต่จิตใจที่ไม่บริสุทธิ์นั้นกัดกร่อน พัดเซาะเสถียรภาพ ความมั่นคงในชีวิตของเราแต่ละคน ในขณะที่จิตใจที่บริสุทธิ์หนุนนำให้เกิดพลังเข้มแข็งจากเบื้องบนเป็นรูปธรรมในตัวเรา และด้วยพลังที่มั่นคงเข้มแข็งนี้เองที่หนุนเนื่องให้ชีวิตของเรายืนมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ล้มลง

สดุดี 51:10 (อมตธรรม)
10ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงสร้างจิตใจที่บริสุทธิ์ในข้าพระองค์
และทรงฟื้นจิตวิญญาณอันมั่นคงขึ้นใหม่ภายในข้าพระองค์

ผู้ประพันธ์สดุดีบทนี้ได้เชื่อม “จิตใจที่บริสุทธิ์” กับ “จิตวิญญาณอันมั่นคง” ซึ่งรากศัพท์ของภาษาฮีบรูของคำว่า “ความมั่นคง” ในที่นี้มีความหมายว่า “ติดแน่น ยึดแน่น หรือ ไม่เปลี่ยนแปลง” และบ่งชี้ให้เห็นว่าพลังอย่างมั่นคงเช่นนี้ในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นมีความสัมพันธ์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับพระเจ้าเท่านั้น ความมั่นคงเด็ดเดี่ยวและมีเสถียรภาพในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตที่ต้องเผชิญกับพายุที่กระโชกรุนแรง ชีวิตที่ต้องพบกับมรสุมที่บ้าคลั่ง บางครั้งพายุชีวิตนั้นกระหน่ำพัดเพื่อเปิดเผยความผิดบาปของเราที่ได้พยายามปกปิดและต้องการกลบฝังให้มิดชิดนั้น ถ้าเราหลีกเลี่ยงหรือหลบลี้ในการจัดการกับอำนาจความบาปที่มีในชีวิตของเรา พระเจ้าจะทรงกระตุ้นและผลักดันให้เราเกิดการเชื่อฟังพระองค์โดยการทรงอนุญาตให้เกิด “พายุ” ในชีวิตของเรา แต่สำหรับคนที่มิได้กระทำความบาปผิดพายุชีวิตก็จะกลับกลายเป็นพลังที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงชีวิตที่บริสุทธิ์ของคนนั้น และเป็นพลังหนุนเสริมการดำเนินชีวิตของเขาต่อไป

ประการที่สอง: แสวงหาความเข้าใจ
4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าให้เราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง...
6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และ
(ด้วย)ความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(2โครินธ์ 6:6)

ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าความเข้าใจของมนุษย์นั้นมีความจำกัดและมักถูกครอบงำและทำให้บิดเบือนคลาดเคลื่อนจากสัจจะความจริง ในขณะที่ความเข้าใจตามทางของพระเจ้าหรือตามพระประสงค์ของพระองค์นั้นล้ำลึกหาจุดสุดปลายไม่ได้และไม่มีสิ่งใดที่จะมาทำร้ายทำลายหรือครอบงำได้ บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรานั้นเรียนรู้จากประสบการณ์การเผชิญกับพายุชีวิตที่กระหน่ำรุนแรง ขึ้นอยู่กับคนๆ นั้นยึดมั่นคงในพระวจนะแห่งชีวิตให้เป็นรากฐานหรือเสาหลักในชีวิตหรือไม่

ผู้เรียนคนหนึ่งในชั้นเรียนพระคัมภีร์ที่กำลังเรียนในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 6:6 ถามผู้สอนว่า ทำไมพระคัมภีร์ตอนนี้ในต้นฉบับถึงบอกว่า “จงให้บทบัญญัติทั้งปวงซึ่งข้าพเจ้าแจ้งท่านในวันนี้ “อยู่เหนือ” จิตใจ(upon our hearts) ของท่าน” แตกต่างอย่างไรกับคำแปลในภาษาไทยของทั้งฉบับอมตธรรม และ สมาคมพระคริสต์ธรรมฯ ที่แปลว่า “อยู่ในใจ” (in our heart) ของท่าน” ผู้สอนได้อธิบายว่า ถ้าเราพิจารณาจากภาษาเดิม พระคัมภีร์ต้องการชี้ชัดว่า พระบัญญัติของพระเจ้านั้นมิได้เข้าไปอยู่ภายใต้กรอบคิดและวิธีเข้าใจของมนุษย์ แต่ตรงกันข้ามพระบัญญัติของพระเจ้านั้นต้องการครอบครองเหนือจิตใจของมนุษย์ เพื่อพระบัญญัติของพระเจ้าจะเป็นแสงสว่างที่ฉายส่องทางที่มนุษย์ควรเดิน และมีพลังในการแก้ไขปรับเปลี่ยนจิตใจ กรอบคิด และวิธีคิดของมนุษย์ ดังนั้น เราจึงควรให้พระวจนะของพระเจ้านั้นครอบครองเหนือจิตใจของเรา และเมื่อใดที่จิตใจของเราของแตกหักและฉีกขาด พระวจนะของพระเจ้าจะแทรกตัวเข้าไปในชีวิตจิตใจของเราและทรงกระทำงานของพระองค์ในการเยียวยารักษาปะชุนจิตใจและชีวิตของเราขึ้นใหม่

ในทุกสถานการณ์ของชีวิตที่ส่งผลให้ชีวิตจิตใจของเราแตกหักและฉีกขาดอันเกิดจากการที่เราพยายามควบคุมบังเหียนชีวิตด้วยตนเองและใช้มุมมองชีวิตของตนเองเป็นทิศทางขับเคลื่อนชีวิต แต่ท่านจงมั่นใจและเชื่อมั่นในพระเจ้า และรู้ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยกู้ท่านให้ได้รับความเข้าใจใหม่และความจริงใหม่ที่เป็นสัจจะและความเข้าใจที่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์

ประการที่สาม: เรียนรู้ที่จะอดทน

4...ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าให้เราพิสูจน์ตัวเองในทุกทาง...
6ด้วยความบริสุทธิ์ ความเข้าใจ ความอดทน และ
(ด้วย)ความกรุณาในพระวิญญาณบริสุทธิ์ และในความรักจริงใจ
(2โครินธ์ 6:6)

ผู้เขียนต้องสารภาพความจริงว่า ตนเองมิได้เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความอดทน เพราะบ่อยครั้งเป็นคนที่ไม่อดทน ไม่ยอม “รอคอย” และนี่น่าจะเป็นที่มาของ “มรสุม” “พายุ” หรือ “การทดลอง” ในชีวิตของผู้เขียน ยากอบก็คงมีปัญหาในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ต่างกันที่ยากอบมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องนี้

ยากอบ 1:2-4 (TBS71b)
2ดูก่อนพี่น้องของข้าพเจ้า เมื่อท่านทั้งหลายประสบความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ก็จงถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี 3เพราะท่านทั้งหลายรู้ว่า การทดลองความเชื่อของท่านนั้น ทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง 4และจงให้ความมั่นคงนั้นบรรลุผลอันสมบูรณ์ เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนที่ดีพร้อม มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีสิ่งใดบกพร่องเลย

โดยปกติแล้วเราท่านพยายามหลีกเลี่ยงการทดลอง หรือ สถานการณ์ที่ก่อเกิดความทุกข์ยากในชีวิตของเรา แต่ยากอบบอกกับผู้อ่านของท่านว่า ให้เราเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ด้วยมุมมองแห่งความชื่นชมยินดี ในที่นี้ท่านมิได้หมายความว่า ให้เราชื่นชมยินดีที่ต้องถูกทดลอง ที่ต้องทุกข์ยากลำบาก แต่ท่านหมายความว่าเมื่อเราอยู่ท่ามกลางการทดลอง และ ความทุกข์ยากลำบากนั้นจงมีจิตใจที่ชื่นชมยินดี ความชื่นชมยินดีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะรากแห่งความเชื่อศรัทธาของเราเชื่อมั่นคงว่าพระเจ้าทรงกำลังควบคุมเหนือทุกสถานการณ์ชีวิต ความชื่นชมยินดีดังกล่าวเป็นทัศนคติและมุมมองชีวิตที่เราเลือกเพราะเราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าการถูกทดลอง หรือ การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางทุกข์ยากลำบากนั้นมิใช่การลงโทษจากพระเจ้า

ความทุกข์ยากลำบาก หรือ มรสุมชีวิตเป็นเครื่อง “ฝัดร่อน” “หลอมและหล่อ” และเป็นเครื่องวัดถึงการเจริญเติบในชีวิตของเรา การที่เรามีความอดทนก็เป็นการที่เราให้โอกาสกับพระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในชีวิตของเรารวมถึงการทดลองที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย แต่ถ้าเราหลบลี้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ความทุกข์ยากลำบาก มรสุมชีวิต หรือการทดลอง ผลที่เกิดขึ้นก็คือความอ่อนแอ หรือ มีวุฒิภาวะต่ำด้อย แคระแกร็นด้านจิตวิญญาณ พระเจ้าทรงเสริมและสร้างชีวิตบุคลิกภาพและจิตวิญญาณของเราเมื่อเราเปิดชีวิตและยอมร่วมมือกับพระองค์ในการทรงสร้างเราขึ้นใหม่ นั่นหมายความว่าเราจะต้องยอมตน และ เปิดชีวิตให้พระองค์เข้ามาในชีวิตของเราด้วยความเชื่อศรัทธา ไว้วางใจในพระองค์ อดทน และยอมรับพระราชกิจแห่งการทรงสร้างเราขึ้นใหม่

สงบและใคร่ครวญ

เมื่อเราใคร่ครวญภาวนา
เราจะพบว่า พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อและเที่ยงธรรมในชีวิตของเรา
แม้บางครั้งเราเองอาจจะถูกกระตุ้นชักจูงให้ทำสิ่งต่างๆ เพื่อตนเอง
ในเวลานี้ให้เราแต่ละคนได้มีโอกาสที่จะเปิดชีวิตจิตใจ
รับการชำระให้สะอาดอีกครั้งหนึ่งจากองค์พระผู้เป็นเจ้า
รับสายตาใหม่ มุมมองใหม่จากเบื้องบน
เพื่อจะสามารถมองเห็น “คุณค่าความหมาย” ที่ล้ำค่า ที่ฝังซ่อนอยู่ในการทดลอง ในการยากลำบาก
ให้องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดช่วยเราที่จะเลือกชีวิตจิตวิญญาณที่ชื่นชมยินดี
ถึงแม้ว่าในตอนนี้ตนจะไม่เข้าใจเลยว่าพระเจ้ากำลังทรงกระทำอะไรให้เกิดขึ้นในชีวิต
เพื่อเราจะมีชีวิตที่เป็นพยานถึงกำลังอันไพบูลย์ของพระเจ้า ที่ทำงานท่ามกลางความอ่อนแอในชีวิตของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น