11 มีนาคม 2556

จะนำคนอื่น...ให้นำตนเองก่อน


มีผู้ใหญ่ที่ผมนับถือในฐานะที่ปิดทองหลังพระเสริมสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีภาวะผู้นำทั้งในองค์การทั่วไป  ในหน่วยงานสถาบันคริสตชน  และ ผู้นำคริสตจักร   ผมได้ยินท่านนั้นย้ำแล้วซ้ำอีกว่า   ผู้นำที่แท้จริงไม่ต้องพึ่งพิงยึดเกาะ “ตำแหน่ง” หรือคำสั่ง   ผู้นำที่แท้จริงคือคนที่ผู้คนแวดล้อมต้องการที่จะติดตามเขา  แม้ผู้นำคนนั้นไม่มีฐานะตำแหน่ง หรือ ไม่มีอำนาจที่จะสั่งแต่ประการใด

แต่ที่แย่และไม่เอาไหนที่เห็นบ่อยในผู้นำคือ   แม้จะมีตำแหน่ง มีอำนาจ  แต่ผู้คนลูกน้องกลับไม่ยอมติดตามเขา  ลับหลังลูกน้องก็ “บุ้ยปาก” ใส่

ตอนนี้ท่านอยู่ในฐานะอะไร?

ผู้คนรอบข้างยอมฟังและตามท่านไหม?

หรือท่านต้องทั้งผลักและดันพวกเขาให้ทำตามที่ท่านต้องการตลอดเวลา?

ในฐานะที่เราทำงานในตำแหน่งต่างๆ   เราอาจจะมีตำแหน่ง  เราอาจจะมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือลูกน้องของเรา   และเราอาจจะมีอิทธิพลที่น้อยนิดต่อผู้ที่รับบริการจากเรา

ในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการ หรือ ขายบริการ   โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ซื้อหรือรับบริการจากเราไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามที่เราเสนอ   แต่อย่างไรก็ตามการที่ผู้รับบริการจากเราจะยอมทำตามที่เราแนะนำหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคนๆ นั้นว่าเขา “ไว้ใจ” เราหรือไม่แค่ไหน   เขาจะรับบริการของเรา  เขาจะซื้อสินค้าของเราหรือไม่  ขึ้นอยู่กับว่าเขาไว้วางใจเราหรือไม่

ในชีวิตของเรา  การงานของเรา  หรือชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของเราเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจของเรา   ว่ามีมากน้อยแค่ไหน  

แต่เรามักมีคำถามอยู่ว่า  “แล้วภาวะผู้นำคืออะไร?”   ถ้าเราค้นหาในกูเกิล ในพจนานุกรมทางการบริหารจัดการเราจะพบว่า  ไม่มีคำอธิบายที่แน่นอนตายตัวเพียงคำอธิบายเดียว   เราอาจจะพบคำอธิบายที่แบ่งภาวะผู้นำออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น  ผู้นำประเภท นำการเปลี่ยนแปลง   ผู้นำที่เลื่อนไหลไปตามสถานการณ์   หรือ  ผู้นำผู้รับใช้   แน่นอนครับเราย่อมยอมรับว่าผู้นำมีหลายประเภท   แต่ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า  แล้วภาวะผู้นำมันคืออะไรกันแน่?

ภาวะผู้นำเป็นความสามารถกระทำให้เกิดแรงบันดาลใจ หรือ โน้มน้าวจิตใจความคิดของผู้คนให้ติดตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่แสดงออกมาในรูปการกระทำ

บางคนพยายามที่จะอธิบายว่าเป้าหมายปลายทางของภาวะผู้นำ   คือการนำไปสู่ปลายทางที่สร้างสรรค์   แต่คำจำกัดความในลักษณะนี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่า   ไม่ว่าการกระทำอาชญากรรมที่ร้ายแรงก็มีผู้นำผู้บงการในการทำ   สงครามที่มีผู้นำที่นำไปให้เกิดผลปลายทางที่ลบและทำลายล่ะ  คนพวกนี้ไม่เป็นผู้นำหรือ?

แต่การที่ได้รับแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่สำคัญ   เพราะแรงบันดาลใจเป็นแรงที่กระตุ้นให้ผู้คนยอมที่จะติดตามหรือกระทำตามความคิดหรือข้อเสนอของผู้นำคนนั้น   และส่วนมากก็เต็มใจที่จะกระทำตามเสียด้วย   ถ้ามีคนที่ยอมติดตามแต่ไม่สบายใจ หรือไม่เต็มใจ  ถ้าเช่นนั้นเขาผู้นั้นก็จะมิได้อยู่ภายใต้การนำของผู้นำคนนั้น   แต่เป็นการถูกบังคับขู่เข็ญให้ต้องทำตาม  หรือบางครั้งก็เป็นเพราะสถานการณ์พาไป หรือบังคับ   ส่วนมากแล้วเป็นการทำตามเพราะความกลัว   และการทำเช่นนั้นก็จะเกิดผลในเชิงลบ   ถ้าคนๆ นั้นทำไปเพราะฝืนทำ

ท่านอาจจะคิดย้อนไปในประสบการณ์ที่ผ่านมา  ไม่ว่าในประวัติศาสตร์ของโลก  หรือประสบการณ์ในอดีต   ท่านเคยถูกกดดันครอบงำจากผู้นำที่ไม่ปกติคนใดบ้าง?   ผู้นำคนใดบ้างที่ท่านยอมฟังและทำตามด้วยความเต็มใจ?  ในทัศนะมุมมองของท่าน  ผู้นำคนนั้นมีท่าทีลักษณะเช่นไร?   เป็นผู้นำที่...
  • สัตย์ซื่อ
  • มั่นใจ ชัดเจน
  • กล้าหาญ
  • ไม่เห็นแก่ตัวเอง
  • มีความรู้
  • จงรักภักดี
  • มีสมรรถนะ/ความสามารถ
  • ไว้ใจได้  อยู่กับร่องกับรอย  มั่นคง
  • เป็นผู้มีวุฒิภาวะ
  • เป็นผู้มีวินัยในชีวิต
  • มีความเห็นอกเห็นใจ/มีจิตใจที่เมตตากรุณา

คุณสมบัติหลายอย่างเหล่านี้เป็นบุคลิกลักษณะที่ใช้ในการขับเคลื่อนชีวิตในการกระทำของเราและมีผลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ   ในการทำงานเราสามารถฟังเสียงสะท้อนถึงคุณสมบัติภาวะผู้นำได้ดังนี้

“ถ้าเขาเป็นคนที่มาทำงานสาย หนีการประชุม  มักเลื่อนเวลาเสร็จงานบ่อยๆ   แล้วเขาจะมาคาดหวังให้ฉันต้องมีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากเขาได้หรือ?”

“แท้จริงฉันก็อยากจะเป็น “คนหนึ่งในทีมงาน” และ “เป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์” นั้นด้วย   แต่ฉันก็ไม่แน่ใจว่าเรามีวิสัยทัศน์อะไรกันแน่  แล้วคุณล่ะ  รู้หรือไม่ว่ามันคืออะไร?”

“วันนี้หัวหน้าอารมณ์บูดอารมณ์เน่า   แล้วพวกเราจะต้องลอยเคว้งอย่างงี้หรือ  ฉันไม่ต้องการเป็นหนังหน้าไฟ   ไม่อยากเป็นกระโถนท้องพระโรงรองรับอารมณ์   เห็นทีฉันควรจะหางานใหม่ดีกว่า”

“ถ้าเขายอมปรับเปลี่ยนความคิด  ฉันก็จะยอมทำตามเขา...  ฉันรอดูว่าเขาจะเอายังไงกันแน่   ก่อนที่ฉันจะเสียเวลาและความพยายามไปมากกว่านี้”

คำพูดเช่นนี้ที่เราได้ยินบ่อยๆ ใช่ไหม?  ทั้งในองค์กรขนาดเล็กและองค์กรที่ใหญ่โต   ขอสรุปภาพรวมว่า

ถ้าผู้นำไม่มีการกระทำที่เป็นแบบอย่าง และไม่ได้แสดงออกว่าเป็นผู้ที่สามารถนำตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ   คนที่ติดตามเขาก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้  

บ่อยครั้งผู้ตามมิใช่โง่(ที่จะให้ผู้นำจูงจมูก)แต่เขาเบื่อที่จะตาม   เขาจะยอมตามเมื่อเขาเห็นว่าผู้นำคนนั้นมีความพร้อมที่จะนำเท่านั้น   แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำ สามารถนำตนเองได้อย่างดี   และมีคุณสมบัติตามที่กล่าวข้างต้น    จากนั้น ผู้นำคนนั้นจำเป็นต้องพัฒนาสิ่งต่อไปนี้
  • มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน   เพื่อคนตามจะรู้ว่าผู้นำจะนำพวกเขาไปที่ไหน   ไปสู่จุดหมายปลายทางใด
  • มีทักษะความสามารถในการสื่อสารวิสัยทัศน์ดังกล่าว  เพื่อจะบอกอย่างชัดเจนถึงเส้นทางที่เขาจะนำไป  
  • มีความสามารถในการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ   เพื่อจะทำให้ผู้คนเห็นวิสัยทัศน์ที่มีชีวิต  อย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นจริง
  • เป็นผู้นำที่ผู้ร่วมงานพร้อมจะติดตาม ทะลุ ฟันฝ่าผ่านอุปสรรค  ทางอ้อม  ทางเบี่ยง  และทางตัน ด้วยความมุ่งมั่น มานะพากเพียร

ให้เราเริ่มต้นการนำด้วยการจัดการภายในส่วนตัวของเรา “บ้านของเรา” ให้เรียบร้อยเสียก่อน  หลักคิดการเป็นผู้นำคือเราผู้นำหนึ่งคนจะนำผู้คนอีกหลายคน   การที่เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเราจำเป็นต้องมีทักษะในหลายเรื่องด้วยกัน   แม้แต่การนำตนเองก็ตาม   สิ่งที่ผู้นำองค์กรหรือกลุ่มต่างๆ ต้องเผชิญคือ
1.     การบริหารจัดการเวลา...  ในประการนี้ครอบคลุมไปถึงความสามารถในการจัดการเวลาของเราเองด้วยความสัตย์ซื่อรับผิดชอบ   ลำดับสิ่งมาก่อนหลัง   และการนำสู่ความสำเร็จ
2.     การจัดการความขัดแย้ง...  เผชิญหน้าประเด็นความขัดแย้งด้วยความมั่นใจและมีจิตใจเมตตา   ที่ให้ความมั่นใจว่าความขัดแย้งจะได้รับการจัดการและบรรลุในเวลาที่เหมาะสมด้วยท่าทีที่สร้างสรรค์
3.     ด้วยความรับผิดชอบ...  มุ่งมองผลที่จะเกิดขึ้น   คาดหวังความสำเร็จ   ต้องการความพากเพียรพยายาม
4.     การจัดการความเครียด...  ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไร   ผู้นำจะไม่ปล่อยสถานการณ์นั้นทำให้ทีมงานสูญเสียความมั่นใจ  หรือ เกิดการเสียขวัญและกำลังใจ

การมีทักษะ 5 ประการข้างต้นเป็นรากฐานของการจัดการตนเอง  การนำตนเอง   ด้วยเหตุนี้ การนำด้วยการเป็นตัวอย่าง    ตามแบบอย่างการนำของพระคริสต์ที่นำด้วยการรับใช้   และมีชีวิตที่เป็นตัวอย่างดังนี้
  • พระองค์มีชีวิตที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจความของบาป   อย่างที่พระองค์ต้องการให้ผู้คนไม่อยู่ใต้ความบาป
  • พระองค์ให้การสอนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก  ตามด้วยการพักผ่อน   และมีเวลาอธิษฐาน
  • พระองค์มอบหมายความรับผิดชอบให้สาวกของพระองค์ทำให้คริสตจักรเติบโตขึ้น  เพื่อให้พระกิตติคุณขยายกว้างออกไป
  • พระองค์จัดการความขัดแย้งด้วยการเผชิญหน้า  เช่น ทรงบอกพวกฟาริสีอย่างตรงไปตรงมาว่าพระองค์คิดอย่างไร   หรือที่พระองค์บอกพวกเขาว่าถ้าใครไม่เคยทำบาปให้คนนั้นเอาหินขว้างหญิงคนนี้ก่อน   หรือที่ทรงบอกหญิงสะมาเรียคนนั้นว่าอย่าทำบาปอีก
  • ในการจัดการความเครียด   พระคริสต์ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เผชิญหน้ากับกางเขนโดยที่ไม่ได้โยนกลองความผิดไปให้คนอื่น   ไม่มีการแก้ตัว   แต่พระองค์เผชิญหน้าวิกฤติชีวิตด้วยความถ่อมและความควากล้าหาญที่หาเปรียบมิได้  เพื่อให้สำเร็จตามสิ่งที่พระเจ้าต้องการเห็น  คือให้มวลมนุษย์รอดพ้นจากอำนาจแห่งความบาป 

เราอาจจะไม่สามารถเป็นผู้นำสมบูรณ์แบบอย่างพระเยซูคริสต์   แต่เราพยายามที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์ในชีวิตจิตวิญญาณของเรา   เพื่อเราจะเติบโตขึ้น เราต้องเพียรพยายามในการพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำแบบพระคริสต์อย่างต่อเนื่อง  

ผมเชื่อว่าก้าวแรกในกระบวนการนี้คือการที่เราเรียนรู้ที่จะนำตนเองอย่างดีก่อน  แล้วท่านคิดอย่างไรครับ?   และท่านคิดว่าควรจะมีทักษะที่สำคัญอะไรอีกในการเป็นผู้นำในงานรับผิดชอบของท่าน?

สุขศานติกับการทำงาน และ การใช้ชีวิตในวันนี้   เพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น