23 มกราคม 2556

รับมือความขัดแย้ง

คริสตชน “สามารถ” ตอบสนองต่อความขัดแย้งหลากหลายทางเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า


“ที่คุณอยากจะแต่งงานกับเขาก็เพียงเพื่อคุณจะรีดเอาทุกอย่างที่เขามี   เมื่อคุณได้ของเหล่านั้นแล้วคุณก็จะทิ้งเขาไป”  นี่คือวาทะเผ็ดร้อนของลูกสะใภ้ที่มีนามว่า “เจนนี่” (นามสมมติ)  ที่พูดจาขัดขวางด้วยการสร้างความเจ็บปวดแก่ว่าที่ภรรยาคนใหม่ของพ่อสามี ที่ชื่อว่า “ภักดิพร” (นามสมมติ) 

ภักดิพร นั่งอยู่ข้างโต๊ะอาหารระเบียงร้านหรู   เมื่อได้ยินการคาดการณ์ตราหน้าของเจนนี่  ที่ผ่าฟาดลงในความรู้สึกของเธอทำให้เกิดความปวดหัวจี๊ดพุ่งขึ้นอย่างฉับพลัน   เธอชำเลืองไปรอบๆ ดีที่ยังไม่มีแขกคนอื่นในร้าน  ภักดิพรแปลกใจในคำพูดที่ร้อนแรงของเจนนี่   ภายในใจของเธออธิษฐานขอการทรงนำจากพระเจ้า

เสียงภายในบอกว่า “จงนิ่ง สงบ และเงียบ”   ดังนั้น ภักดิพรจึงไม่พูดอะไรตอบโต้คำกล่าวหาที่รุนแรงของเจนนี่

เจนนี่มองภักดิพรด้วยสายตาที่อยากกินเลือดกินเนื้อ  พร้อมกับกล่าวว่า  “นี่คุณไม่ใช่คนธรรมดาแน่   แม้ฉันจะว่าเธอแบบตรงไปตรงมาเธอก็ยังเฉยได้”

ภักดิพร พูดกับตนเองในใจว่า “ถ้าฉันจะตอบโต้เธอกลับ  แล้วมันจะช่วยให้อะไรดีขึ้นล่ะ?”   ภักดิพรคิดถึงตัวอย่างของพระเยซูคริสต์เมื่อถูกจับในสัปดาห์สุดท้ายในชีวิตของพระองค์   แม้พระองค์จะถูกคนรอบข้างกล่าวคำเย้ยหยัน  พูดจาส่อเสียดดูถูก  หมิ่นและหยามพระองค์   แต่พระองค์มิได้ตอบโต้ด้วยคำร้อนแรงแต่อย่างไร (ดู 1เป-โตร 2:23)[1]  

ถูกของเจนนี่ครับ   การที่หลีกเลี่ยงตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนต่อศัตรูคู่ปรปักษ์  เป็นการตอบสนองที่ไม่ธรรมดาครับ   เพราะนั่นเป็นการตอบสนอง “เยี่ยงพระคริสต์”  ภักดิพร ต้องอดกลั้นกล้ำกลืนคำพูดเผ็ดร้อนด้วยการอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อทูลขอ “พระคุณของพระเจ้า” สำหรับสถานการณ์นี้   ในสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดการสรรเสริญ  ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้อย่างไร   หากเราจะใช้วิธีการแบบ “คมเฉือนคม”

ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ยากจะเลี่ยง

ในโลกที่พิกลพิการอย่างทุกวันนี้  เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับความขัดแย้ง   เกิดความคุกรุ่นระหว่างสามีภรรยา   เกิดอาการหนองกลัดในความสัมพันธ์ของครอบครัว   เกิดพิษร้ายในความสัมพันธ์ระหว่างมิตรสหาย   และความไม่พอใจที่สะสมเพิ่มพูนจนนำไปถึงจุดเดือดพล่านในที่ทำงาน

ภักดิพร เกิดความรักในตัว ชำนาญ  พ่อสามีของเจนนี่  ที่เป็นหม้ายเหมือนกับตน   ทั้งสองได้พบคบหากันมาเป็นเวลา 9 เดือนหลังจากที่ภรรยาของชำนาญได้จากโลกนี้ไป   แต่เจนนี่ไม่เห็นด้วย!

หลายวันผ่านไปภายหลังที่ภักดิพรถูกกล่าวหาด้วยคำพูดที่ร้อนแรง  เธอยังโกรธ และ ร้อนรุ่มจากคำพูดนั้นที่สุมคุกรุ่นในจิตใจของเธอ   เธอได้เล่าความรู้สึกโกรธที่เธอมีต่อเจนนี่ให้เพื่อนสนิทของเธอฟัง

เพื่อนคนหนึ่งพูดตรงไปตรงมากับภักดิพรว่า  “ฉันรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับคุณชำนาญจะดีได้  ก็ต่อเมื่อเธอมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกสะใภ้ของคุณชำนาญ”

คำพูดดังกล่าวทำให้ภักดิพรต้องครุ่นคิดอย่างมาก   นั่นหมายความว่าการรับมือกับความขัดแย้งนี้จะต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่าที่คิด   อีกทั้งเธอเกิดความขัดแย้งในจิตใจ  เธอทูลถามพระเจ้าแบบซื่อๆ ว่า  “พระเจ้าข้า  จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะรักคนบางคนที่ทำต่อข้าพระองค์อย่างเหยียดหยาม ดูหมิ่นและชิงชัง?   นี่เป็นสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้ทำเช่นนั้นหรือ?”

เพื่อนอีกคนหนึ่งของภักดิพรได้บอกเธอว่า “ฉันเข้าใจนะว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัส  เพราะแค่คิดก็เหนื่อยหน่ายใจแล้ว   ฉันคิดว่า เธอคิดถูกนะว่าพระเจ้าประสงค์ให้เธอทำดีกับทุกคน   ตอนนี้เธออาจจะรู้สึกว่าเธอไม่สามารถที่จะรักคนบางคนอย่างเช่นเจนนี่   แต่พระเจ้าจะใช้สถานการณ์นี้สร้างความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นถึงคุณค่าในชีวิตของเธอ   เธอจะตระหนักชัดถึงคุณค่าชีวิตของเธอชัดเจนยิ่งขึ้น  อย่าไปยึดเกาะกับความรู้สึกของตนเองที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

ความขัดแย้ง  เป็นสิ่งที่เราท่านต่างไม่ชอบ  สำหรับภักดิพรถึงขั้นที่ “เกลียด” ความขัดแย้งเลยทีเดียว   และในหลายต่อหลายครั้งที่เราตอบสนองต่อความขัดแย้งด้วยท่าที และ วิธีการที่แย่มาก   และมักมีความคิดว่า  เราต้องหลีกลี้หนีจากความขัดแย้ง   แต่ความจริงในชีวิตของเรา หลายครั้งยากที่จะเลี่ยงได้

ถ้าเช่นนั้นเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง?   เราจะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างไว้วางใจและด้วยทัศนคติ ด้วยมุมมองชีวิตที่จะให้เกียรติ ยกย่อง และสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไร?   ท่านเปาโล ท้าทายเราในเรื่องนี้ว่า...

“อย่าทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ใครเลย   แต่จงมุ่งกระทำสิ่งที่ใครๆ ก็เห็นว่าดี[2]
 ถ้าเป็นได้  เท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับเรา   จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน”[3]  (โรม 12:17-18 ฉบับมาตรฐาน)

มีบางครั้งที่เราจำเป็นต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งแบบซึ่งหน้า   โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องเผชิญความขัดแย้งที่มีผลกระทบต่อความเป็นความตาย หรือ ตกในอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตของผู้คน   ที่ต้องการการช่วยเหลือ  แก้ไข  ปกป้องชีวิตผู้คนเหล่านั้น   เช่น  การที่ลูกถูกรังแกจากเพื่อนในโรงเรียนเป็นประจำ  และดูร้ายแรงขึ้นทุกที   หรือการที่เพื่อนของเราถูกทำร้าย   เราสามารถกระทำแบบเผชิญหน้าแบบไปตรงมาได้ เช่น  การไปปรึกษากับครูและผู้บริหารโรงเรียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น   หรือในกรณีที่สองอาจจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ตำรวจมาจัดการและรับผิดชอบ  

ในบางเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์จำเป็นต้องเผชิญความขัดแย้งรุนแรงแบบซึ่งหน้าตรงไปตรงมา   เช่น กรณีที่พระองค์ทรงคว่ำโต๊ะแลกเงิน   และกวาดล้างพวกพ่อค้าเครื่องบูชาที่เอารัดเอาเปรียบคนยากจน  คนที่มาจากต่างถิ่นแดนไกล   ซึ่งเป็นระบบการขูดรีด เอารัดเอาเปรียบคนเล็กน้อยด้อยอำนาจจากกลุ่มผู้นำศาสนาที่ใช้อำนาจจากตำแหน่งคบคิดกับพ่อค้าขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากประชาชนคนเล็กน้อย   ผู้นำศาสนาใช้พื้นที่พระวิหารสำหรับนมัสการพระเจ้าไปเป็น “ถ้ำของพวกโจร” (ดู มัทธิว 21:12-13)  

พระเยซูคริสต์ทรงเผชิญหน้ากับความขัดแย้งซึ่งหน้าแบบตรงไปตรงมา   เมื่อความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของหลักการความเชื่อศรัทธาที่กระทบต่อสุขภาวะชีวิตของคนยากคนจนคนเจ็บป่วยที่ไม่มีทางช่วย  เช่น  กรณีที่พระเยซูคริสต์ทรงรักษาคนเจ็บคนป่วย  คนง่อยคนพิการ  คนที่ถูกอำนาจของผีร้ายครอบงำในวันสะบาโต     พระเยซูเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขความเชื่อศรัทธาที่ผิดๆ  และความเชื่อศรัทธาที่กีดกันหยามเหยียดชีวิตคนยากคนจนคนเล็กน้อย  เช่น   ในวันสะบาโตหนึ่ง  ที่ธรรมศาลาพระเยซูพบคนมือลีบข้างหนึ่ง   พระองค์ถามคนในธรรมศาลานั้นว่า  “ในวันสะบาโตควรจะกระทำการดีหรือกระทำการร้าย   ควรจะช่วยชีวิตหรือควรจะทำลายชีวิต?” พระองค์ทรงรักษาคนมือลีบคนนั้นให้หายปกติ   การเผชิญหน้าแบบฟันธงสร้างความโกรธแค้นแก่พวกฟาริสีอย่างยิ่ง   พวกเขาออกไปปรึกษากับพวกของเฮโรดที่จะร่วมมือกันหาทางฆ่าพระเยซู (มาระโก 3:1-6 ฉบับมาตรฐาน  และดูอีกเรื่องหนึ่งเพิ่มเติม ลูกา 13:10-17)   ที่พระเยซูทรงเผชิญหน้าความขัดแย้งแบบตรงไปตรงมานี้ก็เพื่อที่จะปกป้องและทรงรักษาชีวิตของคนมือลีบ และ หญิงที่ป่วยเป็นโรคหลังโกงมา 18 ปี  และเป็นการเผชิญหน้ากับหลักการความเชื่อศรัทธาเพื่อความถูกต้อง   แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อพระองค์ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องความขัดแย้งส่วนตัว  พระองค์ทรงตอบสนองด้วยการสงบเงียบ

จงเป็นเหมือนพระคริสต์แม้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง

แล้วถ้าตัวเราเองต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่เจ็บปวด หรือ ร้อนแรงเราควรจะทำอย่างไร?   และต่อไปนี้เป็นบทเรียนที่เก็บจากประสบการณ์ตรงของบุคคลต่างๆ  ที่เผชิญหน้าและผ่านทะลุสถานการณ์ความขัดแย้งในชีวิต

1. อย่าให้รากแห่งความขมขื่นหยั่งรากในจิตใจของเรา

“จงระวังอย่าให้ใครพลาดไปจากพระคุณของพระเจ้า   และอย่าให้มีรากความขมขื่นงอกขึ้นมาสร้างความเดือดร้อน  และทำให้คนเป็นอันมากแปดเปื้อนมลทิน”  (ฮีบรู 15:15 อมตธรรม)   ถ้าเราไม่รีบกำจัดหรือถอนรากถอนโคนรากของความขมขื่น  ความขมขื่นจะทำลายทั้งตนเองและคนอื่นรอบข้าง   เราต้องปลดปล่อยความขุ่นเคืองความไม่พออกพอใจให้ออกไปจากจิตใจของเราด้วยการอธิษฐาน     การถอนรากถอนโคนรากแห่งความขมขื่นมิได้กระทำเสร็จสิ้นในครั้งเดียว   อาจจะต้องกระทำหลายครั้งด้วย

บางครั้งรากของความขมขื่นจะสร้างความท้อแท้  ความเจ็บปวด  หรือความโกรธขึ้นในจิตใจของเรา   เมื่อภักดิพรได้รับการต่อต้าน  ขัดขวางจากคนในครอบครัวของคุณชำนาญ   คุณภักดิพรต้องจัดการกับความรู้สึกในจิตใจของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า  สารภาพถึงความโกรธของเธอและทูลขอพระคุณจากพระเจ้า   และที่สำคัญคือภักดิพรอธิษฐานทูลขอพระเจ้าให้รักษาจิตใจของเธอมิให้ “แข็งกระด้าง” ต่อผู้คนที่ทำให้เธอเจ็บปวดในชีวิต

2. สำรวจจิตใจของตนเองก่อนตำหนิข้อผิดพลาดของผู้อื่น

คำตรัสของพระเยซูที่ตรัสกับพวกฟาริสีก็เป็นคำท้าทายสำหรับเรา  “คนหน้าซื่อใจคด   จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของท่านก่อน  แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด  จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้” (มัทธิว 7:5 ฉบับมาตรฐาน)   ก่อนที่จะไปกล่าวถึง หรือ ไปจัดการกับความผิดของคนอื่น   ให้เราเริ่มจากการพิจารณาตนเอง  ค้นหาจุดบกพร่องหรือความผิดของเราก่อน   ภักดิพร กล่าวว่า  เธอได้ทูลขอพระเจ้าให้ทรงกระทำการในชีวิตของคนในครอบครัวของคุณชำนาญ   แต่เธอพบว่า พระเจ้าทรงเริ่มกระทำการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเธอก่อน   คือเธอพบสิ่งที่เธอสามารถและจะต้องรับผิดชอบในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น   เธอต้องเปิดชีวิตจิตใจของเธอเพื่อรับการทรงเปลี่ยนแปลงจากพระคริสต์   เพื่อชีวิตของเธอจะเป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   ภักดิพรบอกว่า   สิ่งที่ยากแสนยากคือการที่ทูลขออธิษฐานต่อพระเจ้าในการทรงสร้างเธอขึ้นใหม่จากการมีจิตใจขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจต่อคนในครอบครัวของคุณชำนาญ

3. มองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยมุมมอง “แว่นตา” ของคู่กรณี

คุณภักดิพร กล่าวจากประสบการณ์ของเธอว่า  ไม่ว่าความเกลียดชัง หรือ ความเป็นปรปักษ์ที่คนในครอบครัวคุณชำนาญมีต่อเธอจะสร้างความเจ็บปวดมากอย่างไรก็ตาม   แต่นั่นมิใช่ความขัดแย้งส่วนตัว (ระหว่างเธอกับเจนนี่)   เพราะเธอมาหวนพิจารณาเห็นว่า   เมื่อครอบครัวของคุณชำนาญต้องประสบกับความสูญเสีย  เจ็บปวดเพราะการจากไปของแม่ในครอบครัว   เขาได้สูญเสียผู้ที่เป็นคนเชื่อมโยงสัมพันธ์ให้ครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน   เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงในวาระอะไรก็ตาม  แม่งานที่เชื่อมโยงให้ทุกคนมาร่วมกันได้คือแม่   และพวกเขาได้สูญเสียคนสำคัญคนนี้   แล้วจู่ๆ จะมีคนใหม่มาแทนที่แม่คนเดิมของเขา   เมื่อคุณภักดิพรใคร่ครวญถึง “ใจเขาใจเรา” ในสถานการณ์ดังกล่าว   จึงเข้าใจถึงมุมมอง หรือ ทัศนคติของคนในครอบครัวคุณชำนาญ   คุณภักดิพรบอกว่า  เมื่อตระหนักชัดเช่นนี้จิตใจของเธอก็เปิดออกกว้าง   เข้าอกเข้าใจพวกเขามากขึ้น   และเป็นการง่ายยิ่งขึ้นมากที่จะตอบสนองต่อคนในครอบครัวคุณชำนาญด้วยความรักและเมตตาแบบพระคริสต์

4. ค้นให้พบในสิ่งที่ตนเองต้องเปลี่ยนแปลง

คุณภักดิพรเรียนรู้แล้วว่า   เธอไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก และมุมมองในชีวิตของคนอื่นได้   แต่เธอสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมอง ความคิด ความรู้สึกของตนเองให้ถูกต้องได้   เมื่อเข้าใจเช่นนี้เธอเริ่มถามตนเองว่า   ฉันจะมีการตอบสนองอย่างรับผิดชอบในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร?   ฉันได้ทุ่มเทเต็มกำลังทั้งสิ้นของฉันเพื่อให้เกิดการคืนดีหรือยัง?  

นี่เป็นมาตรการที่จริงจังเข้มงวดของความจริงใจที่ภักดิพรมีต่อตนเอง   เธออธิบายว่า  เมื่อเรามองสถานการณ์จากมุมมองของตนเอง  เป็นการง่ายที่ทำให้เราคิดและเชื่อว่า  “เราเป็นฝ่ายถูก” ในสถานการณ์นี้   สิ่งที่เราตอบสนองไปนั้นถูกต้องแล้ว   พวกเขาต่างหากที่เป็นฝ่ายผิด  แต่เมื่อเราอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วยสำนึกในความอ่อนแอของตนเอง  ทูลขอพระเจ้าทรงช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้เราเห็นความจริงแท้ในตนเอง   เราก็จะพบความจริงว่า  แท้จริงแล้วเรามิใช่ฝ่ายถูกเลยในสถานการณ์นี้   ดังนั้น  ต่อพระพักตร์พระเจ้าเราจึงมีโอกาสที่จะเรียนรู้และเติบโตขึ้นจากการทรงเสริมสร้างเราขึ้นใหม่จากพระองค์

ภักดิพร เริ่มอธิษฐานเผื่อสมาชิกในครอบครัวของคุณชำนาญ   ตอนแรกเธออธิษฐานขอพระเจ้าช่วยให้คนในครอบครัวของคุณชำนาญเปิดโอกาสให้เธอบ้าง  และให้พวกเขาชื่นชมในตัวเธอบ้าง   แต่ต่อมาคำอธิษฐานของภักดิพรเปลี่ยนไปเป็นว่า  ขอพระเจ้าโปรดเมตตาและประทานพระคุณของพระองค์ทรงช่วยให้เธอตอบสนองต่อทุกสถานการณ์ให้เป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

5. ทูลขอพระเจ้าให้การตอบสนองของเราต่อความขัดแย้งสะท้อนถึงพระคุณของพระองค์

ภักดิพร เล่าต่อไปว่า  เมื่อเธอทูลขอพระเจ้าประทานให้เธอเป็นคนที่สงบสุขุมขณะต้องเผชิญหน้ากับความร้อนแรงของเจนนี่   ความสัตย์ซื่อของพระเจ้าปรากฏชัดแจ้งแก่เธอ   แทนที่เจนนี่จะตอบกลับด้วยความก้าวร้าวรุนแรงอย่างที่เคยเป็นมาก่อน  แต่กลับมีช่องว่างโอกาสที่ภักดิพรจะตอบสนองประเด็นคำถามของเจนนี่ด้วยความจริงใจ  ตรงไปตรงมา  ด้วยความสุภาพ  ซึ่งภักดิพรกล่าวว่า   เธอรู้แน่ชัดเลยว่านี่เป็นการทรงตอบคำอธิษฐานที่เธอทูลขอพระคุณจากพระเจ้า

เมื่อเราทูลขอการทรงนำด้วยความจริงใจจากพระเจ้า  พระเจ้าจะประทานแก่เราเสมอ  งานของเรา ความสำเร็จของเราจะตามมาหลังจากที่พระเจ้าทรงนำเรา   ประเด็นใหญ่อยู่ที่ว่า   เราฟังการทรงนำของพระเจ้า หรือ เรานิ่งเฉย ละเลย หรือมองข้ามการทรงนำของพระองค์?   เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์ตอบสนองคำอธิษฐานของเรา   เรายอมเชื่อฟังพระองค์หรือไม่?  เราไว้วางใจพระองค์ และ สนใจในการทรงนำของพระองค์แค่ไหน?  

6. แสวงหาจุดเหมือนของเรากับคู่กรณี

เราสามารถแสวงหาจุดเหมือนของเรากับผู้ที่เรามีความขัดแย้งตึงเครียดได้หรือไม่?   เรามีระบบคุณค่าอะไรบ้างที่ยึดถือเหมือนกันในชีวิต? (เช่นเรื่อง ครอบครัว  มิตรภาพ  สัตว์เลี้ยง  งานอดิเรก)

เจนนี่เป็นคนที่รักเทิดทูนลูกสาวของเธอ  ดังนั้น ภักดิพรก็ชื่นชมในลูกสาวของเจนนี่   คุณชำนาญและภักดิพรมีโอกาสไปร่วมงานในโรงเรียนที่ลูกสาวเจนนี่เรียนอยู่หลายครั้ง   และลูกสาวของเจนนี่ก็มาหาทั้งคุณชำนาญและภักดิพรด้วย   หลานๆ ได้มาช่วยคุณชำนาญในการปลูกดอกไม้   เล่นน้ำในสระว่ายน้ำด้วยกัน   เล่นเกมด้วยกัน  ภักดิพรอธิษฐานให้เจนนี่สามารถเห็นถึงความจริงใจที่เธอสนใจลูกสาวของเจนนี่

หลายปีมาแล้ว  หลังจากที่ภักดิพรและคุณชำนาญได้แต่งงานกัน   เจนนี่ได้รู้แล้วว่าภักดิพรรักลูกสาวของเธอ   ดังนั้น  เมื่อไม่นานมานี้เจนนี่กระทำต่อภักดิพรที่ดีขึ้น    แต่ภักดิพรก็รู้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งยังมิได้รับการแก้ไขทั้งหมด    เธอเห็นถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าทรงกระทำกิจของพระองค์ในเรื่องนี้  และเธอวางใจว่าพระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเธอ และ คนรอบข้างของเธอต่อไปด้วย

7. รักเมตตาและอธิษฐานเผื่อ “ศัตรู” คู่กรณีของเรา

ถึงแม้เจนนี่จะไม่เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อภักดิพร  แต่ภักดิพรยังตอบสนองต่อเธออย่างดีต่อไป   ภักดิพรบอกว่า  พระเจ้าตรัสกับเธอให้อธิษฐานเผื่อเจนนี่ต่อไปอีก  อธิษฐานเผื่อสถานการณ์   และอธิษฐานต่อพระองค์เพื่อที่ตนจะเติบโตเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ลำบากทุกข์ยากนี้

คำสอนของพระเยซูบนภูเขา  ตรัสสอนว่า “แต่เราบอกพวกท่านว่า  จงรักศัตรูของท่าน   และจงอธิษฐานเผื่อบรรดาคนที่ข่มเหงท่าน   เพื่อท่านจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์   เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน  และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม”  (มัทธิว 5:44-45 ฉบับมาตรฐาน)   ภักดิพรบอกว่า  การที่เราเข้าใจถึงความรักเมตตาของพระเจ้าดีขึ้นทำให้เราเรียนรู้ที่จะรักคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย   เมื่อเราสามารถมองตนเองว่าเป็นเหมือนคนอื่นๆ ที่ยืนอยู่ใต้กางเขนของพระเยซูคริสต์ที่ต้องการพระคุณของพระเจ้าเหมือนกัน   เมื่อนั้น  เราจะสามารถที่จะอธิษฐานเพื่อ “คนๆ นั้น”   บางครั้งเราอาจจะไม่ต้องการที่จะคิดว่า  พระเจ้าทรงรัก “คนๆ นั้น” เท่ากับที่พระองค์ทรงรักเรา   แต่พระองค์ทรงรักเขาคนนั้นเท่ากับรักเรา   เมื่อรู้ว่า พระเจ้าทรงชื่นชมในสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง  พระองค์ปีติชื่นชมในทุกคนที่ทรงสร้าง  ช่วยให้เราสามารถที่จะอธิษฐานเพื่อศัตรูคู่ปรปักษ์ของเรา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าพระองค์ทรงยอมตายเพื่อตัวเรา  และพระองค์ก็ทรงยอมตายเพื่อคนๆ นั้นด้วย!

พระคุณพระเจ้าในความทุกข์ยากลำบาก

พระเจ้าทรงเรียกให้เราเชื่อฟังพระองค์  ดังนั้น  เราจึงอธิษฐานขอพระเจ้าช่วยกระทำให้จิตใจของเราถ่อมอ่อนโยนลง   และในเวลาเดียวกันก็อธิษฐานเผื่อผู้คนที่เรายังมีความขัดแย้งกันอยู่   และบางครั้งก็ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิดเราตั้งใจพยายาม  และบางครั้งความเจ็บปวดนี้บาดลงลึกด้วยซ้ำ

ดังนั้น เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบาก  เราต้องปล้ำสู้กับความโกรธ   จนกว่าเราจะยอมสารภาพและยอมเปิดชีวิตให้พระคุณความรักของพระเจ้าเข้ามาชโลมในชีวิตจิตใจของเรา   สิ่งที่เราทำได้คือถ่อมจิตใจลงและอธิษฐาน  “ใช่แล้วพระเจ้าข้า   ข้าพระองค์เอง  ที่ต้องขอพระองค์ทรงเปลี่ยนจิตใจของข้าพระองค์ใหม่”   และด้วยการทรงช่วยของพระเจ้า   เราสามารถเลือกที่จะดำเนินชีวิตด้วยพระคุณของพระเจ้าในทุกสถานการณ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499



[1] เมื่อเขากล่าวคำหยาบคายต่อพระองค์  พระองค์มิได้ทรงกล่าวตอบเขาด้วยคำหยาบคายเลย  เมื่อพระองค์ทรงทนทุกข์  พระองค์ไม่ได้ทรงขู่อาฆาต   แต่ทรงมอบพระองค์เองไว้แก่พระเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างยุติธรรม (ฉบับมาตรฐาน  ดูประกอบ มัทธิว 27:39; ยอห์น 8:48-49)
[2] ดูเพิ่มเติม   สุภาษิต 20:22; มัทธิว 5:39; 1โครินธ์ 6:7;  1เทสะโลนิกา 5:15; 2โครินธ์ 8:21; 1เปโตร 2:12; 
[3] ดูเพิ่มเติม  มาระโก 9:50; ฮีบรู 12:14;

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น