16 มกราคม 2556

ปีใหม่นี้...ข้าฯไม่ได้มาคนเดียว!


อ่านสดุดี 32:1-11

“เราจะสอนและชี้แนะทางที่เจ้าควรเดินไป
เราจะให้คำปรึกษา และ เฝ้าดูเจ้า”
(สดุดี 32:8 อมตธรรม)

เสียงหนึ่งในใจของผมบอกกับตนเองว่า  “นี่ ชื่อบทใคร่ครวญไปเลียนแบบชื่อหนังในอดีตเขามานะ”   ผมก็ยอมรับอยู่   แต่ชื่อหนังเรื่องนั้นชื่อว่า  “ข้าฯมาคนเดียว”   ซึ่งแตกต่างตรงกันข้ามกับชื่อบทใคร่ครวญนี้

ท่านคงเคยเห็นภาพวาดที่คริสเตียนได้นำมาติดฝาห้อง  ทั้งที่ทำงาน  ในห้องพัก  หรือห้องรับแขก   เป็นภาพที่ผมชอบมากครับ   ชายหนุ่มคนหนึ่งมือถือพวงมาลัยของนาวาแห่งชีวิตของเขา  ข้างขวามือของเขามีพระเยซูคริสต์ยืนเคียงข้าง   มือซ้ายของพระองค์แตะบนไหล่ด้านซ้ายของชายหนุ่ม   มือขวาของพระองค์ชี้ไปข้างหน้า   ดวงตาของชายหนุ่มจ้องเขม็งไปตามนิ้วชี้ของพระเยซูคริสต์   ผมได้ยินเสียงจากภาพนั้นว่า  “เราจะไปทางนั้น   และนั่นคือเป้าหมายปลายทางที่เราจะไปด้วยกัน”  

แม้ข้างหน้าจะมีลมพายุ และ คลื่นที่ถาโถมเข้ามา   แต่เรามิได้แล่นนาวาชีวิตของเราไปเพียงแต่ผู้เดียว   พระคริสต์อยู่ในนาวาชีวิตของเราด้วย   พระองค์มิได้กำลังหลับ   แต่พระองค์กำลัง “สอน” และ “ชี้แนะ” ทางที่เราควรจะไป!   และตลอดเส้นทางชีวิตพระองค์พร้อมให้คำปรึกษาแก่เรา

ในขวบปีที่ผ่านมา  บ่อยครั้งที่นาวาชีวิตของเราต้องฝ่าคลื่นแรงกล้า   เรือเกือบล่ม!

มิใช่เพราะนาวาชีวิตของเราไม่มีพระคริสต์   แต่เรามองข้ามและละเลยพระคริสต์ในชีวิตเรา   เราให้พระคริสต์ในชีวิตของเรา “นอนหลับ”   เราไม่ได้สนใจพระองค์  บางครั้งเราเอาพระองค์ไปซุกไว้ที่ไหนไม่รู้จนลืมว่าเรามีพระคริสต์ในชีวิตของเรา   แล้วเราพยายามสู้คลื่นที่รุนแรง   นาวาชีวิตเสี่ยงต่อการล่ม   เราพยายามช่วยตนเอง   พึ่งตนเองในส่วนที่เกินความสามารถในชีวิตของเรา   คำตอบที่ได้รับผมไม่อยากจะพูดถึง   เพราะเป็นตอกย้ำซ้ำเติมความเจ็บปวดในปีที่ผ่านมา

การที่เราเอาพระคริสต์ไปซุกไว้ในมุมไหนไม่รู้นั้นมิใช่เป็นการบังเอิญ   แต่เป็นความตั้งใจของเรา!

หลายครั้งที่เราเอาพระองค์ไปซุกไว้ในมุมอับของชีวิต   เพราะเรารู้และอยากจะทำในสิ่งที่พระองค์ไม่ประสงค์ให้เราทำ   “แต่พระองค์เจ้าข้าฯ จำเป็นจริงๆ ที่ข้าพระองค์ต้องทำเช่นนั้น   เพราะข้าพระองค์เห็นว่านี่เป็นทางเดียวที่ดีที่สุดสำหรับข้าพระองค์  หรือที่ข้าพระองค์จะทำได้ครับ  พระเจ้าข้าฯ?”

ใช่!   เป็นทางที่เราต้องการ   แต่มิใช่ทางที่พระองค์ประสงค์   ถ้าปล่อยให้พระองค์ชี้นำ และ ทำตามคำปรึกษาของพระองค์    เราก็ไม่รู้ว่าพระองค์จะนำเรื่องของเราให้จบลงอย่างไร   “ขอโทษเถิดพระเยซูคริสต์   ข้าพระองค์ขอทำตามสิ่งที่ข้าพระองค์รู้ว่าจะเกิดผลอย่างไรที่ชัดเจนเถิด”   ดังนั้น  “ข้าพระองค์จึงมิได้ขอคำชี้นำ และ คำปรึกษาจากพระองค์”

แต่ผมก็เคยได้ยินเพื่อนสนิทคนหนึ่งกล่าวว่า   ถ้าพระองค์ประสงค์เรื่องนั้นให้เป็นอย่างไร   ทำไมพระองค์ไม่ลงมือจัดการเรื่องนั้นเสียเองล่ะ   แล้วทุกอย่างก็จะได้สำเร็จให้รู้แล้วรู้รอดไป   “พระองค์จะมัวแต่ ชี้นำ’ ‘สอนและ ให้คำปรึกษา อยู่ให้เสียเวลาทำไม?”

ผู้เขียนสดุดีบทนี้ได้เขียนในข้อที่ 9 ว่า

“อย่าเป็นเหมือนม้าหรือล่อ   ที่ปราศจากความเข้าใจ
ซึ่งต้องใช้สายรั้งบังเหียนบังคับควบคุม   มิฉะนั้นจะไม่ยอมมาด้วย”

คำตอบนี้แสบๆ คันๆ ครับ   อย่าเป็นคนที่ผู้อื่นเอาเชือกร้อยจมูกแล้วจูงไป!

จินตภาพของผู้เขียนพระธรรมสดุดีในข้อนี้คือ “ม้าหรือล่อ” ที่แสนดื้อ!  ต้องใช้สายบังเหียนบังคับควบคุมเพื่อจะรั้งจะดึงให้มันยอมเดินตามเจ้าของของมัน   พระเจ้าไม่มีพระประสงค์เพียงให้เราเดินไปบนเส้นทางที่พระองค์ทรงกำหนดและไปถึงเป้าหมายปลายทางตามพระประสงค์เท่านั้น  สำหรับพระเจ้าแล้ว การที่สามารถฝ่าคลื่นแรงกล้าในชีวิตได้และไปถึงเป้าหมายปลายทางเท่านั้นยังไม่เพียงพอ    แต่พระองค์ประสงค์ที่จะใช้สถานการณ์ที่ทุกข์ยากลำบากที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน   เพื่อ “ชี้นำ”  “สอน”  และ  “ให้การปรึกษา”  แก่เราเพื่อที่จะเสริมสร้าง “ความเข้าใจ” ในการดำเนินชีวิต   ที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์   และที่สำคัญคือเข้าใจถึงพระประสงค์อันดีเลิศสำหรับชีวิตของเราแต่ละคน   และประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับจึงเป็นการหยั่งรากความเชื่อศรัทธาให้ลุ่มลึกลงไปอีก

จากประสบการณ์ชีวิตในขวบปีที่ผ่านมา   ผู้เขียนสดุดีบทนี้ย้ำเตือนเราผู้อ่านให้ระลึกได้ว่า   สิ่งที่เราพึงเริ่มต้นในวันนี้เวลานี้คือ  การที่เราต้อง “สารภาพบาป” ต่อพระองค์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่   เพราะพระองค์ทรงให้อภัย (ข้อ 5)   การสารภาพความบาปผิดต่อพระเจ้า   คือที่มาของความสุข   เพราะความสุขเป็นของคนที่ได้รับการอภัยจากพระเจ้า   ความบาปผิดที่เคยทำมาได้รับการขจัดออกไป (ข้อ 1)   ความสุขเป็นของผู้ที่พระเจ้าไม่ทรงถือโทษบาปของเขา (ข้อ 2)

ผู้เขียนสดุดีบทนี้ได้กล่าวจากประสบการณ์ชีวิตของตนว่า   ถ้าเราไม่ยอมสารภาพ  ผู้เขียนใช้ประโยคว่า “เมื่อข้าพระองค์นิ่งเงียบอยู่” (ข้อ 3)  ชีวิตของเราจะต้องตกในวังวนแห่งความเจ็บปวด ทุกข์ทนในชีวิตและจิตใจ   โดยผู้เขียนสดุดีใช้ภาษาภาพลักษณ์ว่า  “กระดูกของข้าพระองค์ก็สึกกร่อนไป”  “พละกำลังของข้าพระองค์ก็เหือดแห้งไป” (ข้อ 4)

ผู้เขียนสดุดีบทนี้จึงสรุปว่า  “ฉะนั้นผู้ที่ซื่อสัตย์ทุกคนจงอธิษฐานต่อพระเจ้า  ในขณะที่ยังมีโอกาสพบพระองค์ได้” (ข้อ 6)   ในขณะที่สถานการณ์ชีวิตยังดูราบเรียบ คลื่นลมชีวิตดูสงบ   นั่นหมายความว่าไม่จำเป็นต้องรอจนชีวิตจนตรอกหาทางออกไม่ได้แล้วค่อยอธิษฐานทูลขอต่อพระองค์

ที่เราเชื่อมั่นไว้วางใจพระเจ้าองค์นี้จนทูลอธิษฐานต่อพระองค์เพราะพระองค์...(ข้อ 7-8)
ทรงเป็นที่หลบภัยของเราแต่ละคน
ทรงคุ้มครองเมื่อชีวิตของเราตกในท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก
ทรงโอบล้อมชีวิตเราด้วยพระราชกิจแห่งการช่วยกู้
ทรง “สอน” ถึงสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระองค์
ทรง “ชี้แนะ” เส้นทางชีวิตที่เราควรจะมุ่งไป
ทรง “ให้คำปรึกษา” ในทุกสถานการณ์ชีวิต  และ
ทรง “เฝ้าดู”  เราตลอดเวลา

ปีใหม่นี้...ท่านและผมไม่ได้มาคนเดียวครับ!   เรามาพร้อมกับองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมีพระราชกิจ 7 ประการที่ทรงกระทำในชีวิตประจำวันตลอดปีที่เราจะก้าวไป

ผู้เขียนพระธรรมสดุดี บทที่ 32 ได้ให้ความมั่นใจแก่เราว่า   การก้าวไปข้างหน้าด้วยการทรงเคียงข้างของพระคริสต์นั้น  เราก็ยังต้องประสบกับภัยพิบัติ และ อำนาจชั่วร้ายมากมายอย่างที่คนบาปทั้งหลายต้องเผชิญ  แต่สำหรับเราที่ยอมให้พระคริสต์ทรงนำในนาวาชีวิตของเรา  เราจะมีอีกสิ่งหนึ่งที่คนชั่วร้ายไม่มีคือ “ความรักมั่นคงขององค์พระผู้เป็นเจ้า”   ที่ทรงโอบล้อมบรรดาผู้ที่วางใจในพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ที่สุขสำราญ หรือ ทุกข์ยากแสนสาหัสแค่ไหนก็ตาม (ข้อ 10)   และนี่คือสาเหตุที่เราสามารถยกย่องสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา และ ในทุกสถานการณ์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น