17 กรกฎาคม 2555

สลัดจากความคุ้นชินและความไม่ใส่ใจ


จะทำให้คนที่อยู่ในมุมสบายคุ้นชินในคริสตจักรออกไปสู่การติดตามพระคริสต์ได้อย่างไร


ริชาร์ด สเติร์นส์ ได้ขอให้เราลองหลับตาและจิตนาการถึงภาพของประเทศอัฟริกา ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ที่ต้องเผชิญกับมหันตภัยจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์  ประชากรผู้ใหญ่ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก  ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์นั้น   คุณจะทำอย่างไร?

ยิ่งกว่านั้น ในทุกวันดูเหมือนว่าในชุมชนที่ท่านอยู่นั้นมีจำนวนเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้นทุกวัน   แน่นอนครับคริสตจักรของท่านต้องลุกขึ้นเพื่อจัดการวิกฤติชีวิตที่ทวีความรุนแรง   ท่านจะต้องหาทางทำอะไรสักอย่างหนึ่งเมื่อผู้คนจำนวนล้านกำลังเสียชีวิต   สร้างผลกระทบให้ครอบครัวต้องแตกฉีกขาด   ธุรกิจโลงศพกำลังเฟื่องฟู

ท่านจะไม่ลุกขึ้นทำอะไรเลยหรือ?

ครั้งเมื่อผม(ผู้เรียบเรียง)ทำงานพันธกิจเอดส์ในประเทศไทย  ผมมีโอกาสไปเยี่ยมประเทศอูกานดาในช่วงเวลากำลังมีวิกฤตการณ์เกี่ยวกับเอดส์กับทีมแพทย์พยาบาลจากประเทศไทย   ผมกลับพบเห็นว่าผู้คนที่นั่นมิได้กระตือรือร้นที่จะต้องลงแรงจัดการเกี่ยวกับปัญหาเอดส์มากเท่าที่คาดคิดในใจ  และเท่าที่ควรจะต้องทำ

ผมและทีมดูงานจากประเทศไทยได้เข้าเยี่ยมหมูบ้านแห่งหนึ่งบ้านส่วนใหญ่ปิดร้าง   ในแต่ละวันจะมีคนมานำเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เพิ่งตายจากเอดส์ไปที่บ้านสงเคราะห์เด็กกำพร้า   ทุกคนรู้ว่าเป็นความเลวร้ายที่โรคนี้แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว   แต่การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูไม่เพียงพอ

ผมมีโอกาสไปพบกับศิษยาภิบาล  ผู้นำคริสตจักรในอูกานดา   ต่างแสดงความคิดเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “คริสตจักรเทศนาเรื่องการพิพากษาของพระเจ้า”   เพราะการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ถูกมองว่าเกิดจากการที่ผู้คนประพฤติไร้ศีลธรรมไร้จริยธรรม   มีการพูดถึงเรื่องความรักเมตตาในสถานการณ์นี้เพียงน้อยนิด   ซึ่งเช่นเดียวกับที่ สเติร์นส์ได้คำตอบจากการสัมภาษณ์ศิษยาภิบาล โจเซฟ เซนโยกา

จำนวนผู้เข้าร่วมนมัสการในคริสตจักรของโจเซฟลดน้อยลงเพราะผู้คนในชุมชนเสียชีวิต  แต่เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี

โจเซฟบอกกับสเติร์นส์ว่า   “ในฐานะศิษยาภิบาล  เรากังวลอย่างมากพร้อมกับความกลัว”

ในหม้อต้มน้ำที่สบายๆ

สเติร์นส์ เล่าว่า องค์กรของเราได้เริ่มต้นให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์   แต่ก็เหมือนกับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือและคริสตจักรทั่วไป   เราตอบสนองอย่างเชื่องช้า   ทั้ง    ศิษยาภิบาลในคริสตจักรท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่คนทำงานขององค์กรของเราต่างซึมซับกับสถานการณ์ที่ค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นของการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในช่วงทศวรรษ 1980 และช่วงต้นของทศวรรษ 1990   มีคนต้องเจ็บป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และจบลงด้วยการเสียชีวิต   จนรู้สึกคุ้นชินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

เราท่านคงเคยได้ยินเรื่องกบในหม้อต้มน้ำ   น้ำในหม้อค่อยๆ มีอุณหภูมิร้อนเพิ่มขึ้นไปสู่จุดเดือด  แต่เราเป็นเหมือนกบตัวนั้นรู้สึกอุ่นสบายในหม้อต้มน้ำนั้น   ไม่คิดจะกระโดดออกจากหม้อ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรามิได้สนใจอีกทั้งเมินเฉยต่อสถานการณ์ภายนอกหม้อ(ว่าไฟในเตาที่หม้อตั้งอยู่กำลังโหมแรงขึ้น)  เราจึงไม่ทุ่มตัวเข้าไปตอบสนองต่อสถานการณ์นี้   ในขณะที่ความร้อนกำลังเพิ่มมากขึ้น  ผมเอง(สเติร์นส์)ก่อนหน้านี้มิได้ทำงานองค์กรการกุศล  แต่เมื่อเข้ามามีส่วนในองค์กรที่รับผิดชอบปัจจุบัน   และก็ไม่รู้สถานการณ์นี้ดี  แต่สังเกตเห็นการแพร่ระบาดของโรคเอดส์จึงถามว่า  แล้วองค์กรของเรากับคริสตจักรคู่มิตรในท้องถิ่นได้ช่วยอะไรบ้าง   ต้องมีคนจากข้างนอกองค์กรการกุศลนานาชาติที่รู้สึกการเพิ่มขึ้นของความร้อนในหม้อ  หรือการเพิ่มความร้อนแรงขึ้นของประเด็นนั้นๆ มาถาม มากระตุ้น

สำหรับคริสตจักรปัจจุบันของเรา  เราเป็นเหมือนกบที่อยู่ในหม้อต้มน้ำ(ในคริสตจักรและชุมชน)ที่มีอุณหภูมิค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับความยากจน  ผู้คนใช้สารเสพติด  แรงงานข้ามชาติ  การค้ามนุษย์  และประเด็นสำคัญอื่นๆ  ซึ่งผู้นำคริสตจักรก็เผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน   เราจะเอาชนะความรู้สึกคุ้นชิน(น่าจะชาชิน)ต่อสถานการณ์ปัญหาที่ประสบของผู้นำเหล่านี้อย่างไร?   ทำอย่างไรที่คริสตจักรจะเทศนาถึงพระกิตติคุณที่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือ ที่มีคนเรียกว่าพระกิตติคุณอย่างเป็นองค์รวม?   แล้วเราจะสร้างสาวกได้อย่างไรในเมื่อสมาชิกคริสตจักรรู้ถึงสบายและอบอุ่นคุ้นชินในที่นั่งของตนในคริสตจักร?

สเติร์นส์กล่าวว่า  สำหรับผมมองว่านี่คืองานที่ยากลำบากที่สุดในโลกนี้สำหรับศิษยาภิบาล  เป็นภาระงานที่ “เขี้ยวที่สุด”  แต่เป็นงานที่ผมชื่นชอบในองค์กรที่ผมมีส่วนร่วมงาน   เพราะในงานนี้เป็นการนำผู้คนที่มีชีวิตคริสเตียนที่สัตย์ซื่อสัมผัสกับชีวิตจริงในชุมชน   และเป็นการเสริมสร้างอภิบาลชีวิตสมาชิกให้สำแดงความเป็นสาวกของพระคริสต์ตามความเชื่อที่เขาประกาศ   และเราจะต้องยืนหยัดชีวิตตามพระกิตติคุณ  ครั้งแล้วครั้งเล่า  ปีแล้วปีเล่า   เราต้องต่อสู้กับความรู้สึกอบอุ่นสบายมั่นคงทั้งของเพื่อนสมาชิกในคริสตจักรและตัวเราเอง

ต่อไปนี้เป็นแผนกลยุทธ์บางประการที่สเติร์นส์ได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้คริสเตียนดำเนินชีวิตตามที่ตนเชื่อศรัทธาและตามระบบคุณค่าและคุณธรรมของพระกิตติคุณ

อาณาจักรแห่งความมหัศจรรย์ หรือ ดินแดนมหาสลดกันแน่

เมื่อสเติร์นส์ พูดกับเจ้าหน้าที่ในองค์กร และเมื่อไปพูดคุยกับคริสตจักร   เขาพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองของคริสตจักรเกี่ยวกับโลก

สภาพคริสตจักรในเมืองใหญ่ เป็นเหมือนเราอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์  หรือเหมือนกับอยู่ในดิสนีย์แลนด์  คุณเริ่มจากซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้   และเมื่อท่านผ่านเข้าไปในดินแดนมหัศจรรย์นี้แล้ว   ทุกอย่างที่ท่านเห็น  ท่านชม  ท่านเล่น เป็นเรื่องที่ทางสวนสนุกควบคุมหรือตั้งโปรแกรมไว้ทั้งสิ้น   ไม่วาจะเป็นการขับขี่  การเล่นน้ำ  หรือการชมการแสดงต่างๆ   ทั้งหมดถูกควบคุมเพื่อให้คุณได้รับความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และพึงพอใจ   สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือ คุณต้องไปอยู่ในนั้นในฐานะผู้ชม  ผู้สังเกตการณ์  และเป็นผู้รับบริการ

แต่นอกกำแพงสวนสนุกดิสนีย์แลนด์  กลับถูกห้อมล้อมด้วยโลกแห่งความเป็นจริง  และเป็นโลกที่มีปัญหาแท้จริงมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเสื่อมโทรม  สลัมแออัด  เป็นแหล่งเสพและขายสารเสพติด   เป็นที่ที่มีแต่ความรุนแรง  มาพบความจริงว่า ดินแดนแสนสนุกที่ดึงดูดใจลูกค้ากลับถูกล้อมด้วยเพื่อนบ้านสลัม ดินแดนแออัด   ภายในกำแพงเป็นดินแดนแสนมหัศจรรย์  แต่ภายนอกกำแพงกลับเป็นชีวิตที่น่าสลด

ในฐานะคริสเตียน  เรามักถูกหล่อหลอมและเย้ายวนให้มองสังคมโลกด้วยสายตาแบบนี้คือ   เรามักเริ่มคิดว่า ภารกิจของเราคือการเชื้อเชิญผู้โชคดีบางคนเข้ามาสัมผัสกับสวนสนุกที่น่ารื่นรมย์  ที่อยู่ต่างหากแยกตัวจากความทุกข์ยากนอกดินแดนอัศจรรย์นี้   แต่งานของเราในฐานะคริสเตียนต้องตระหนักชัดว่า มิใช่เพิ่มจำนวนคนที่เข้ามาชมและซื้อบริการในดิสนีย์แลนด์  แต่ภารกิจของเราคือรื้อกำแพงของดินแดนมหัศจรรย์นี้และเปลี่ยนแปลงโลกที่อยู่นอกกำแพงของดินแดนอันรื่นรมย์นี้

จากประสบการณ์ของสเติร์นส์ การที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งให้มีความคิดและสนใจสภาพชีวิตของชุมชนล้อมรอบนอกกำแพงดินแดนมหัศจรรย์คือการที่จะนำคนเหล่านี้เข้าไปพบเห็นและสัมผัสกับชีวิตชุมชนที่เราทำงานพัฒนา และคงไม่มีอะไรที่จะก่อกวนความคิดความรู้สึกที่เมตตากรุณามากไปกว่าการที่เข้าไปสัมผัสกับงานชีวิตของเด็กและครอบครัวที่กำลังมีความจำเป็นต้องการอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

บ่อยครั้ง  แทนที่จะคิดถึงแต่ความจำเป็นต้องการของตนเอง   แต่เมื่อเขาไปเห็นถึงความใจกว้างของคนยากคนจนที่เห็นใจและช่วยเหลือกัน   ทำให้ผู้ที่ไปเยี่ยมที่พวกเขามีสิ่งของสมบัติมากมายเกิดความรู้สึกอายต่อความใจกว้างของคนยากคนจนเหล่านี้

ศิษยาภิบาลอาวุโสท่านหนึ่งจากคริสตจักรแห่งหนึ่งในเมืองดาลัส   ได้เดินทางไปกับทีมดูงานขององค์กรที่สเติร์นส์ร่วมงานด้วย ที่ไนโรบีเมืองหลวงของประเทศเคนยา   ประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ได้ทะลุกำแพง “ดินแดนมหัศจรรย์” ของเขา   เขาได้พบเห็นเด็กชายกำพร้าวัย 18 ปี  เรียนรู้ที่จะเปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ   แล้วเขาได้เอารุ่นน้องที่เป็นเด็กกำพร้าอีกคนหนึ่งมาร่วมในการค้าขายของเขา   แล้วแบ่งกำไรให้กับเด็กคนนั้น   แล้วสอนเด็กชายคนนั้นในการทำธุรกิจขายโทรศัพท์   นี่เป็นภาพของความใจกว้างของเด็กกำพร้าคนหนึ่งที่มีต่อเด็กกำพร้าอีกคนหนึ่ง   ภาพนี้เปลี่ยนชีวิตของศิษยาภิบาลอาวุโสจากดาลัสท่านนั้น

เมื่อเราเดินข้ามกำแพงดินแดนมหัศจรรย์  เราพบกับความจริงใหม่  ความจริงในดินแดนที่แสนสลดที่รอการเปลี่ยนแปลงจากพระกิตติคุณ   ดินแดนที่จะทำให้เราต้องลุกจากความรู้สึกสบายคุ้นชิน

ในดินแดนแห่งความสลด   ผู้คนที่นั่นจำนวนพันจำนวนล้านคนที่ต้องเข้าหลับนอนกลางคืนด้วยท้องที่ว่างเปล่า  ในดินแดนแห่งนั้นผู้คนจำนวนมากมายไม่มีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม  และในโลกที่เป็นจริงแห่งนี้   คนส่วนใหญ่ที่มีชีวิตด้วยรายได้วันละน้อยกว่าสองเหรียญอเมริกัน   ในดินแดนแห่งความน่าสลดมีเด็กกำพร้าอัฟริกา 59 ล้านคน  และมีเด็กทั่วโลกที่ตายเพราะโรคที่สามารถป้องกันได้ในแต่ละปี   และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกในวันพรุ่งนี้

วิธีหนึ่งที่เราจะช่วยให้หนุ่มสาวลุกออกจากที่สบายคุ้นชินในดินแดนมหัศจรรย์ได้  โดยให้พวกเขาอดอาหาร 30 ชั่วโมง   พวกเขาจะได้เรียนรู้ถึงวินัยจิตวิญญาณของการอดอาหาร   พวกเขาจะสัมผัสประสบการณ์ของความหิว ความเจ็บปวดของผู้คนนับพันล้านคนในโลกนี้ที่ต้องทนทุกข์กับความหิวโหยในแต่ละวันและแต่ละคืน   ประสบการณ์จากการอดอาหารจะช่วยให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้เห็นถึงชีวิตของตนผ่านชีวิตของเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก

หลายต่อหลายที่ในโลกนี้ไม่จำเป็นจะต้องตกเป็นดินแดนแห่งความสลด  เพราะเรื่องความหิวโหยเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้   หลายโรคเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้   และสาเหตุความตายหลายประการก็เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้เช่นกัน   สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ยังเกิดขึ้นก็เพราะเราไม่ใส่ใจพอที่จะป้องกันมิให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น

ถ้าผมเป็นแพทย์ที่จะต้องเซ็นใบมรณบัตรของคนที่ต้องเสียชีวิตอย่างไม่จำเป็นจะต้องตาย   ผมคงไม่ขอเขียนว่าเขาตายเพราะ  “โรคหัด”  หรือ  “มาลาเรีย”   “วัณโรค” หรือ “เอดส์”  แต่ผมขอเขียนว่าเขาตายเพราะ “ความไม่ใส่ใจ”   และนี่คือโรคร้ายที่สุดในบรรดาเชื้อโรคทั้งหลาย

ยึดมั่นในสัจจะของพระเจ้า

อะไรที่จะนำประชาชนในคริสตจักรออกไปจากดินแดนมหัศจรรย์?   ผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม  ยึดมั่นสัจจะของพระเจ้าเป็นมาตรฐานต่อหน้าประชากรของพระองค์   ผู้เผยพระวจนะกล่าวอย่างชัดแจ้งว่า พระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไร   พระเจ้าทรงคาดหวังอะไรจากพวกเขา   และบ่งชี้ให้ประชาชนว่าได้กระทำผิดอะไรด้วย

พระเจ้าตรัสกับผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ว่า “จงร้องดังๆ อย่าออมเสียงไว้   จงเปล่งเสียงของเจ้าอย่างเป่าเขาสัตว์   จงแจ้งให้ชนชาติของเรารู้ตัวถึงการทรยศของเขา   ให้เชื้อสายยาโคบรู้ตัวในเรื่องบาปของเขา” (อิสยาห์ 58:1)

ในข้อต่อไปได้อธิบายถึง วิถีทางที่อิสราเอลเชื่อว่าเป็นหนทางที่กระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า “ราวกับว่า...พวกเขายินดีจะเข้าใกล้พระเจ้า” (ข้อ 2)   แต่ความจริงหาใช่เป็นเช่นนั้นไม่   พวกเขาอดอาหาร   แต่เขา “บีบบังคับคนงานทั้งหมดของเจ้า” (ข้อ 3)   เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า  “เพื่อวิวาทต่อสู้  และเพื่อต่อยด้วยหมัดอธรรม” (ข้อ 4)

ผู้เผยพระวจนะในอิสราเอลประกาศถึงสัจจะของพระเจ้าว่า  พิธีการอดอาหารที่พวกอิสราเอลทำกันมิใช่ การอดอาหารที่พระเจ้าพึงพอใจ   แต่การอดอาหารที่พระเจ้าประสงค์ต้องการคือการแบ่งปันอาหารแก่ผู้หิวโหย   ให้ที่พักคุ้มกายแก่คนยากไร้   และการอดอาหารที่แท้จริงคือการแก้พันธนะอธรรม  แก้สายรัดแอก  ปลดปล่อยผู้ถูกบีบบังคับให้เป็นอิสระ (ข้อ 5-7)

อิสราเอลเป็นตัวอย่างที่เยี่ยมยอดสำหรับผู้นำคริสตจักรในสมัยนี้   เราจำเป็นที่จะต้องท้าทายสมาชิกในชุมชนคริสตจักรของเราด้วยสัจจะของพระเจ้า  แล้วเปรียบเทียบกับแนวทางการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน   เราต้องหนุนช่วยผู้คนให้สามารถมองเห็นถึงชีวิตของตนเองจากการสะท้อนคิดไตร่ตรองสัจจะของพระเจ้า   และนี่คือจุดเริ่มต้นในการเป็นสาวกของพระองค์

เมื่อไม่นานมานี้  คุณแม่ที่อยู่แถบชานเมืองได้บอกเราถึงการที่เธอทำกิจกรรมจากห้องครัวของเธออย่างไร

นักศาสนศาสตร์จะพูดถึงอัตลักษณ์ของคริสเตียนและกิจกรรมต่างๆ อาจจะดูแตกต่างกันในที่ต่างๆ ทั่วโลก  ขึ้นอยู่กับว่าท้องถิ่นนั้นๆ มีความจำเป็นต้อการอะไร และ มีวัฒนธรรมแบบไหน

ผู้นำอาสาสมัครคริสตจักรบอกกับเราถึงการที่เธอไปทำงานกับเด็กในโรงเรียนโดยการใช้หลักสูตรหลังเลิกเรียนของเธอ

หัวเรื่องอาจจะแตกต่างกันไป แต่สาระแก่นสารอันเดียวกัน   เราอยู่เพื่อที่จะช่วยเด็กๆ ครอบครัวของเขา  และชุมชนของเขาให้ได้มีประสบการณ์กับชีวิตที่ครบบริบูรณ์ในพระเยซูคริสต์

ทั้งเจ้าหน้าที่ทำงานและผู้สนับสนุนองค์กร  เราเสนอโอกาสในการบริการ  ทั้งในการนมัสการและเทศนา   การเดินทางไปยังภาคสนามงาน   โปรแกรมสำหรับคริสตจักรที่จะบอกถึงสัจจะความจริงของพระเจ้า   เพื่อผู้คนสมาชิกคริสตจักรจะได้รับสัจจะความจริงจากพระวจนะของพระเจ้า  เพื่อเข้าไปแทนที่ความเฉื่อยชาคุ้นชินด้วยความกระตือรือร้น

เราต้องสื่อสารสัจจะความจริงของพระเจ้า  อย่างไม่ลดละ  อย่างต่อเนื่อง   เราต้องไม่ขลาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับผู้คนบนรากฐานพระวจนะ   และพร้อมที่จะยอมรับค่าราคาที่ต้องจ่ายของการติดตามเป็นสาวกพระคริสต์   เป้าหมายของเราคือการรวมตัวของผู้ติดตามพระเยซูคริสต์อย่างเต็มใจและทุ่มเท

นำการปฏิวัติคริสตจักร

การนำผู้คนออกจากดินแดนมหัศจรรย์  การสื่อสารสัจจะของพระเจ้าเป็นขั้นตอนที่จำเป็นและสำคัญ  เพื่อผลักดันคนให้ออกไปจากที่สบายพึงพอใจ  แต่ในฐานะผู้นำ เราต้องก้าวไปล่วงหน้าอีกก้าวหนึ่ง   เราได้รับการทรงเรียกให้ปฏิวัติ

ทุกปี ศิษยาภิบาล Bruxy Cavey จะเทศนาที่เรียกว่า “วันอาทิตย์ฟอกล้าง” เขาจะขึ้นไปข้างหน้าและให้สัจจะความจริงแก่สมาชิกในคริสตจักรว่า   “ถ้าคุณไม่ถวาย  ก็ออกจากคริสตจักรแห่งนี้   ถ้าคุณไม่รับใช้คนยากจน ก็ไปจากคริสตจักรนี้  ถ้าคุณไม่ถวายตัวอย่างเต็มที่  และไม่อุทิศทั้งสิ้นติดตามพระคริสต์   คุณควรหาคริสตจักรอื่น”

จำเป็นอย่างยิ่งครับที่เราต้องเรียกร้องให้สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนอุทิศถวายตัวอย่างจริงจัง

ด้วยวิธีการของ Cavey เป็นสิ่งที่น่าสนใจ  เขาบอกว่า  “ในทุกปี  เมื่อผมทำอย่างที่เล่าจะมีคนประมาณ 10-15%  ออกไปจากคริสตจักร   อาทิตย์ต่อมาจะมีคนร่วมจำนวนน้อยลง  แต่หลังจากนั้นหนึ่งปี   ชุมชนเราเติบใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง   กระทั่งมีบางคนที่ออกจากคริสตจักรของเรา  กลับมาร่วมกับเราใหม่อีก”

บ่อยครั้ง เราให้ความสำคัญอันดับแรกๆ กับการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันหรือองค์กรมากกว่าการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงชีวิตคริสตจักร  แต่คริสตจักรปัจจุบันต้องการปฏิวัติชีวิต    พระเยซูคริสต์ประสงค์ให้เรานำการสร้างคนด้วยการติดอาวุธแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์  แล้วส่งคนเหล่านี้เข้าไปในสังคมโลก   แต่เรามักพบกับการทดลองให้เปลี่ยนค่ายสร้างคนเป็นอุทยานพักผ่อน    เป็นงานของผู้นำคริสตจักรที่จะต้องเป็นหัวหน้านำในการปฏิวัติชีวิตคริสเตียนของสมาชิกในคริสตจักร

เมื่อองค์กรของเราทำงานเป็นคู่มิตรกับคริสตจักรท้องถิ่น  สิ่งแรกที่เราทำมักจัดโอกาส ให้ศิษยาภิบาลอาวุโสของคริสตจักรได้ออกไปเรียนรู้ในพื้นที่งานของเรา   เราเรียนรู้ว่า ถ้าศิษยาภิบาลอาวุโสไม่ยอมรับนิมิต  คริสตจักรจะไม่ตอบสนอง   ตรงกันข้าม  เมื่อศิษยาภิบาลเกิดนิมิตและแบ่งปันนิมิตนั้นกับสมาชิกในคริสตจักร   ชีวิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลง  งานนี้เริ่มต้นจากผู้นำ

ผู้นำคริสตจักรบางท่านอาจจะให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาสถาบันหรือองค์กรคริสตจักรไว้   เราจะไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกอบอุ่นคุ้นชินสบายของสมาชิก   เป้าหมายของเราคือต้องการปฏิวัติในส่วนของการขับเคลื่อนพันธกิจของเรา

คริสเตียนปัจจุบันต้องการการปฏิวัติ  เขาต้องการผู้นำที่เต็มใจและกล้าหาญพอที่จะนำพวกเขาไปรับใช้คนยากคนจน เลี้ยงดูผู้หิวโหยในพระนามของพระเยซูคริสต์ และนี่คือการแพร่ขยายข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ซึมซับและเรียบเรียง จากข้อเขียน เรื่อง Shedding Lethargy ของ Richard Stearns
ประธานกรรมการองค์การศุภนิมิตแห่งสหรัฐอเมริกา  และ ผู้เขียนหนังสือ The Hole in Our Gospel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น