11 กรกฎาคม 2555

หายไปแล้ว...แต่ได้พบอีก (3)


ลูกา 15:1-32

อุปมาเรื่องบุตรสองคน (หรือที่รู้จักในชื่อเรื่อง บุตรคนเล็ก, หรือ บุตรผู้ล้างผลาญ) ลูกา 15:11-32
พระเยซูตรัสว่า “ชายคนหนึ่งมีบุตรสองคน  บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า พ่อ ขอแบ่งทรัพย์สินส่วนที่ตกเป็นของลูกให้ลูกด้วย บิดาจึงแบ่งสมบัติให้แก่บุตรทั้งสอง   ต่อมาไม่กี่วัน บุตรคนเล็กก็รวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเดินทางไปยังเมืองไกล  และผลาญทรัพย์สินของตนที่นั่นด้วยการใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย   เมื่อใช้จ่ายจนหมดสิ้นทุกอย่างแล้วก็เกิดกันดารอาหารอย่างรุนแรงทั่วเมืองนั้น  เขาจึงเริ่มขาดแคลน   เขาไปอาศัยอยู่กับชาวเมืองนั้นคนหนึ่ง  และคนนั้นก็ใช้เขาไปเลี้ยงหมูที่ทุ่งนา   เขาอยากจะอิ่มท้องด้วยฝักถั่วที่หมูกินนั้น  แต่ไม่มีใครให้อะไรเขาเลย
เมื่อเขาสำนึกตัวได้จึงพูดว่า ลูกจ้างของพ่อไม่ว่าจะมีมากสักแค่ไหนก็ยังมีอาหารเหลือเฟือ  แต่ข้ากลับต้องมาอดตายที่นี่   ข้าน่าจะลุกขึ้นไปหาพ่อ  และพูดกับท่านว่า “พ่อ  ลูกผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย  ไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป   ขอโปรดให้ลูกอยู่ในฐานะลูกจ้างคนหนึ่งของท่านเถิด”
แล้วเขาก็ลุกขึ้นไปหาบิดา  แต่เมื่อเขายังอยู่แต่ไกล บิดาก็เห็นเขาและมีใจสงสารจึงวิ่งออกไปกอดคอและจูบแก้มของเขา   บุตรคนนั้นจึงกล่าวกับบิดาว่า  พ่อ ลูกผิดต่อสวรรค์และผิดต่อท่านด้วย  ไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีกต่อไป   แต่บิดาสั่งบ่าวของตนว่า จงรีบไปเอาเสื้อที่ดีที่สุดออกมาสวมให้เขา  เอาแหวนมาสวมที่นิ้วมือ  และเอารองเท้ามาสวมให้ด้วย   และจงไปเอาลูกวัวตัวที่อ้วนพีมาฆ่าเลี้ยงกันเพื่อความรื่นเริง  เพราะว่าลูกของเราคนนี้ตายแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก  หายไปแล้วแต่ได้พบกันอีก  พวกเขาต่างก็มีความรื่นเริง 
ส่วนบุตรคนโตนั้นอยู่ที่ทุ่งนา  เมื่อเขากลับมาใกล้จะถึงบ้าน  ก็ได้ยินเสียงดนตรีและการเต้นรำ  เขาจึงเรียกบ่าวคนหนึ่งมาถามว่า  นี่มันอะไรกัน  บ่าวจึงตอบว่า  น้องของท่านกลับมาแล้ว  และพ่อของท่านให้ฆ่าลูกวัวตัวที่อ้วนพีเพราะท่านได้ลูกกลับมาอย่างปลอดภัย  พี่ชายก็โกรธไม่ยอมเข้าไป  บิดาจึงออกมาชวนเขา  แต่เขาบอกบิดาว่า พ่อดูซิ  ลูกรับใช้พ่อมากี่ปีแล้ว  และไม่เคยละเมิดคำบัญชาของพ่อสักข้อหนึ่ง   แต่พ่อก็ไม่เคยให้แม้แต่ลูกแพะสักตัวหนึ่งแก่ลูก เพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนฝูง  แต่กับลูกคนนี้ของพ่อซึ่งผลาญสมบัติของพ่อด้วยการคบกับพวกหญิงโสเภณี  พ่อกลับฆ่าลูกวัวอ้วนพีเพื่อเลี้ยงมัน
บิดาจึงตอบว่า  ลูกเอ๋ยลูกอยู่กับพ่อตลอดเวลา  สิ่งของทั้งหมดของพ่อก็เป็นของลูกอยู่แล้ว   แต่นี่เป็นเรื่องสมควรที่เราจะชื่นชมยินดีและรื่นเริง  เพราะน้องคนนี้ของลูกตายไปแล้วแต่กลับเป็นขึ้นอีก  หายไปแล้วแต่ยังได้พบกันอีก”  (ฉบับมาตรฐาน)

สิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจว่า  อุปมาเรื่องบุตรคนเล็กนี้มิใช่คำสอนสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกหนีออกจากบ้าน   อุปมาเรื่องนี้ของพระเยซูเล่าเพื่อที่จะตอบต่อเสียงบ่นและตำหนิของพวกฟาริสีที่ต่อว่าพระองค์ที่ต้อนรับคนบาปที่กลับใจด้วยความชื่นชมยินดี   ถ้าอุปมาสองเรื่องแรกเป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่พวกฟาริสีสนใจอย่างมากเกี่ยวกับ “ทรัพย์สินสมบัติที่สูญหายไป”   อุปมาเรื่องที่สามนี้ก็เป็นการเปิดเผยให้เห็นชัดว่าทำไมพวกฟาริสีถึงมิได้สนใจและเอาใจใส่เกี่ยวกับชีวิตคน  ในอุปมาเรื่องที่สามนี้  เป็นการตอบที่ทรงพลังของพระเยซูคริสต์ต่อคำตำหนิของฟาริสีที่พระองค์คบค้าสัมพันธ์กับคนบาป

ในอุปมาเรื่องที่สามนี้มีบุคคลสำคัญมิใช่เพียงคนเดียว แต่มีสามคนด้วยกัน  บุตรคนเล็ก  พ่อ  และบุตรคนโต  เพื่อเราจะเข้าใจและตีความอุปมานี้อย่างถูกต้อง  จะขอเจาะลึกลงแต่ละบุคคล  แต่เราจะไม่ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของเราเข้าไปตีความอุปมาในเรื่องนี้   สำหรับเราเมื่ออ่านอุปมาเรื่องนี้เราอาจจะรู้สึกถึงจิตใจเมตตาของผู้เป็นพ่อ   แต่รู้สึกไม่สบายใจกับลูกคนโตที่โกรธจนไม่ยอมเข้าบ้าน   แต่เราต้องคิดถึงบริบทตามเหตุการณ์ที่พระเยซูเล่าอุปมาเรื่องนี้   เพราะสำหรับฟาริสีแล้ว  เมื่อได้ยินเรื่องอุปมานี้ รู้สึกเสียหน้าอย่างยิ่งที่พระเยซูมาลูบคมทำให้พวกเขาได้รับความอาย  เขารู้และเข้าใจอย่างดีว่าสิ่งที่พระเยซูกำลังพูดนั้นหมายถึงอะไร   ดังนั้น  ให้เราศึกษาโดยมุ่งย้ำสนใจลงใน 3 บุคคลที่สำคัญในท้องเรื่องอุปมานี้

ลูกคนเล็ก
วันหนึ่งลูกคนเล็กเข้าไปหาพ่อ และขอทรัพย์สมบัติในส่วนที่เป็นของตน  ซึ่งเป็นการขอสมบัติก่อนเวลาอันควรตามวัฒนธรรมในตอนนั้น  ถึงแม้จะไม่เป็นประเด็นในอุปมานี้ก็ตาม

การที่จะรับสมบัติตามพินัยกรรมก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้เสียชีวิตแล้ว (ฮีบรู 9:16)   บุตรหัวปีจะได้รับสองในสามส่วนของทรัพย์สมบัติทั้งหมด (เฉลยธรรมบัญญัติ 21:17)  เจ้าของทรัพย์สมบัติอาจจะแบ่งสมบัติก่อนที่ตนจะเสียชีวิต  แต่ผู้รับมรดกยังไม่สามารถนำทรัพย์สินส่วนมรดกไปเป็นของตนเอง ยกเว้นดอกเบี้ยหรือรายได้จากมรดก   คนที่ได้รับมรดกอาจจะขายมรดกดังกล่าวก่อนได้ แต่ผู้ซื้อมรดกยังไม่สามารถนำทรัพย์สินออกไปก่อนเจ้าของมรดกจะตาย

ผู้เป็นพ่อในอุปมาได้แบ่งส่วนมรดกให้กับลูกคนเล็กตามที่ขอ  และในเวลาไม่นานจากนั้นลูกคนเล็กได้ไปจากพ่อเดินทางไปยังเมืองไกล   ที่นั่นเขาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยผลาญทรัพย์สมบัติที่ได้จนหมด   พอดีเกิดการกันดารอาหาร   ลูกคนเล็กตกอับ

เขาขายตนเองให้เป็นทาส  เขาต้องทำงานที่ตนไม่ชอบและตกต่ำที่สุดด้วยการเป็นคนเลี้ยงหมู  และเขาเห็นว่าหมูยังได้รับอาหารที่ดีกว่าตน   ในความทุกข์ยากนั้นเองทำให้ลูกคนเล็กคิดได้ว่า  แม้แต่ทาสในบ้านของพ่อยังมีชีวิตที่ดีกว่านี้หลายเท่า  เขาคิดว่าเขาจำเป็นที่จะต้องกลับไปเผชิญหน้ากับพ่อ   เขาจึงฝึกซ้อมคำพูดสารภาพผิดของเขา

ลูกคนเล็กรู้เท่าทันถึงความงี่เง่าของตนเอง  และเดินทางกลับบ้านไปเผชิญหน้ากับพ่อ  เขาคาดหวังเพียงขอพ่อยอมรับเขาเป็นทาสคนหนึ่งในบ้าน  แต่พ่อต้อนรับเขาในฐานะลูก  เขาคาดหวังว่าจะได้ขนมปังเพื่อประทังชีวิต  แต่พ่อของเขาจัดเลี้ยงใหญ่   ลูกคนเล็กไม่ได้รับทรัพย์สมบัติที่สูญเสียไปกลับคืนมา   แต่เขากลับได้รับความชื่นชมยินดีและสิทธิการเป็นลูกของพ่อกลับคืนมา

ในที่นี้ขอเน้นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับลูกคนเล็ก  

ประการแรก ไม่มีความพยายามที่จะขอลดหย่อนความผิดบาปจากการคิด ตัดสินใจ และการกระทำที่ผิดอย่างรุนแรงและโฉดเขลา   พระเยซูต้อนรับคนบาปและร่วมรับประทานอาหารกับพวกเขา   แต่พระองค์ไม่เคยทำให้ความบาปที่คนบาปกระทำให้เบาลง   เป็นความหนักหนาสาหัสในความบาปของลูกคนเล็กที่ได้กระทำในฐานะคนอิสราเอลคนหนึ่ง     แทนที่ลูกคนเล็กในฐานะที่เขาเป็นคนอิสราเอล  เขาจะได้รับพระพรจากพระสัญญาของพระเจ้าที่ทรงมีต่อประชากรที่ทรงเลือกสรรของพระองค์

พระเจ้าทรงอวยพระพรในแผ่นดินแห่งพระสัญญา  ลูกคนเล็กออกจากแผ่นดินพระสัญญาไปยังเมืองไกล   พระเจ้าทรงอวยพระพรประชากรที่เชื่อฟังและกระทำตามพระบัญญัติของพระองค์   ในที่นี้รวมถึงการมีชีวิตที่บริสุทธิ์  มีชีวิตที่แยกออกเฉพาะจากคนต่างชาติ   แต่ลูกคนเล็กกลับออกจากแผ่นดินพระสัญญาไปอยู่ในแผ่นดินของคนต่างชาติ  และมีชีวิตท่ามกลางคนนอกศาสนา   ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมีบทบัญญัติที่จะให้ทรัพย์สมบัติของแต่ละครอบครัวถูกเก็บรักษาไว้ในครอบครัวนั้นๆ  และเพื่อให้ลูกๆ ดูแลพ่อแม่ของตนเอง   แต่ลูกคนเล็กทิ้งครอบครัวของตน  แล้วสูญเสียส่วนมรดกของตน   สำหรับอิสราเอลแล้วไม่มีชีวิตใดที่ตกต่ำไปกว่าการที่ต้องตกเป็นทาสของคนต่างชาติ   ยิ่งกว่านั้นไม่มีงานใดต่ำสกปรกเท่ากับที่ต้องเป็นคนเลี้ยงหมู   ลูกคนเล็กได้กระทำในสิ่งที่เลวทรามบาปหนาและโง่เขลา   ผู้ฟังของพระเยซูเมื่อได้ฟังเรื่องนี้คงเกิดความขยะแขยง และ ตกใจในสิ่งที่ลูกคนเล็กทำ   พวกฟาริสีฟังด้วยดวงตาโต หน้าแดง และรู้สึกโกรธในความบาปผิดที่ลูกคนเล็กได้กระทำ   พระเยซูคริสต์มิได้ลดหย่อนความบาปผิดที่ลูกคนเล็กได้กระทำลงไปแม้แต่น้อย

ถ้าความบาปผิดของลูกคนเล็กมีอย่างหนักหนาสาหัส  การกลับใจสารภาพของเขาก็จริงใจสุดๆ

ประการที่สอง  ท่าทีการยอมรับผิดและการกลับใจของลูกคนเล็ก   การที่ลูกคนเล็กได้กระทำผิดอย่างมหันต์ตามที่กล่าวข้างต้น  สิ่งที่ทำให้เขาสำนึกถึงความบาปผิดที่เขาได้กระทำลงไปก็ต่อเมื่อชีวิตของลูกคนเล็กต้องตกอับ  หมดเงิน  หมดเพื่อน  เมื่อเขาต้องเผชิญกับความหิวโหย  ความทุกข์ยากลำบากในชีวิต  ทำให้เขา “สำนึกได้” “คิดขึ้นได้”  การกลับใจเกิดขึ้นได้เมื่อเขาสามารถมองเห็นและรู้เท่าทันความจริงในชีวิต   และมองเห็นการกระทำของตนเองนั้นผิดบาปอย่างมาก   ประการแรกเป็นการกระทำผิดในสายพระเนตรของพระเจ้า   และเป็นการกระทำผิดต่อมนุษย์   ดังนั้น คำกล่าวสารภาพของลูกคนเล็กที่มีต่อพ่อที่ว่า “ลูกได้ทำผิดต่อสวรรค์ และ ต่อพ่อด้วย”   การสารภาพผิดของลูกคนเล็กได้นำตัวเขาเข้าไปใกล้พ่อผู้ที่เขาได้ทำให้เกิดความเสียใจ  และพ่อผู้ที่ยอมรับความรู้สึกผิดของเขาและความเสียใจของเขาที่ได้กระทำผิดลงไป   จิตวิญญาณแห่งการยอมรับผิดเป็นการสะท้อนออกถึงส่วนลึกแห่งความสำนึกถึงความไร้ค่าของตนเอง   ลูกคนเล็กมิได้อ้างสิทธิหรือเรียกร้องสิทธิใดๆ   เขาหวังเพียงจะได้รับความเมตตากรุณา   เขาไม่ได้เรียกร้องใดๆ   การยอมรับผิดของลูกได้สัมผัสจิตใจของผู้เป็นพ่อ   และก่อให้เกิดการคืนดีและความชื่นชมยินดี

พ่อ
เมื่ออุปมาสองเรื่องแรกพูดถึงเจ้าของแกะและแม่บ้าน เป็นการบ่งชี้ถึงพวกฟาริสีที่สนใจเรื่องทรัพย์สินเงินทอง   เมื่อพูดถึงพ่อที่เปี่ยมด้วยความรักในอุปมาเรื่องนี้เป็นการพรรณนาถึงความรักของพระบิดาในสวรรค์   พระองค์ทรงรอคอยการกลับมาของคนบาป   พ่อผู้เต็มใจที่จะให้อภัย  และชื่นชมยินในการกลับมาของคนบาปที่เคยเอาแต่ใจตนเอง   พ่อคนนี้ยอมให้สิ่งที่ลูกขอ   ยอมให้ลูกเดินไปในทางที่ตนเองตัดสินใจเลือก   ทั้งๆ ที่พ่อมีทางที่จะป้องกันได้ (อย่างน้อยที่สุดผู้เป็นพ่อสามารถที่จะปฏิเสธที่จะให้ทรัพย์สินเงินทองแก่ลูกในการที่จะเดินทางไปเมืองไกล)  จิตใจของผู้เป็นพ่อไม่เคยที่จะลืมลูกที่ดื้อดั้นและเอาแต่ใจตนเอง   “เมื่อลูกอยู่แต่ไกลพ่อก็เห็นเขา” (ข้อ 20) นั่นมิใช่เหตุบังเอิญ   ผู้เป็นพ่อวิ่งไปหาลูก  พ่อมิได้นั่งรอให้ลูกคลานเข้ามากราบกราน  ลูกสารภาพยังไม่จบผู้เป็นพ่อได้คืนสถานภาพความเป็นลูกให้กับเขา  เมื่อลูกคนโตปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในงานเฉลิมฉลอง  ผู้เป็นพ่อออกไปหาลูกคนโตและขอร้องเขาให้เข้ามาร่วมในงานเลี้ยง   และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเฉลิมฉลองครั้งนี้   ผู้เป็นพ่อมีความเมตตากรุณาต่อลูกคนโตเฉกเช่นที่เมตตากรุณาต่อลูกคนเล็ก   พ่อคนนี้มีความรักที่ยิ่งใหญ่  ที่เหมือนกับความรักของพระบิดาในสวรรค์

ลูกคนโต
เราท่านรู้ว่า ลูกคนโตนี้หมายถึงฟาริสีและธรรมมาจารย์ที่บ่นว่าพระเยซูต้อนรับคนบาป   น่าสังเกตว่าขณะที่ลูกคนเล็กกลับมาบ้าน ลูกคนโตออกไปทำงานในทุ่งนา   ส่วนผู้เป็นพ่อรอคอยการกลับมาของลูกคนเล็ก   ลูกคนโตจึงไม่รู้ว่าน้องของตนกลับมาบ้านแล้ว จนกระทั่งมาได้มียินเสียงดนตรีเฉลิมฉลองจากที่บ้าน   เขารู้จากทาสในบ้านว่าน้องชายกลับบ้าน   พ่อรับเขาเข้าบ้านและจัดงานเลี้ยงให้   การได้ยินว่าพ่อให้ทาสฆ่าวัวที่อ้วนพีเพื่อเลี้ยงฉลองเป็นเหมือน “ฟางเส้นสุดท้าย” ของลูกคนโต   เขาโกรธจัดและปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในงานเฉลิมฉลอง   ทั้งๆ ที่ผู้เป็นพ่อเป็นคนที่จัดงานเลี้ยงนี้

เมื่อพ่อออกมาหาลูกคนโต เพื่อขอร้องให้เขาเข้าไปร่วมในงานเลี้ยง ลูกคนโตปฏิเสธ  คำปฏิเสธของลูกคนโตทำให้เราเข้าใจถึงทัศนคติและความปรารถนาในใจของเขา  ให้เราสนใจในสิ่งที่ลูกคนโตพูดกับพ่อของเขา   ซึ่งสิ่งเหล่านั้นคือที่มาของปฏิกิริยาที่เขาแสดงออกด้วยความโกรธและต่อต้าน

1. ฉันทำงานหนักแต่พ่อไม่เคยจัดงานเลี้ยงให้   ผู้เป็นพี่กำลังทำงานในทุ่งนาขณะที่น้องชายกลับบ้าน   ลูกคนโตมีความเข้าใจว่าถ้าจะเป็นที่พอใจและเป็นที่ชื่นชอบของพ่อคือการที่เขาทำงานหนัก   แต่คำตอบของผู้เป็นพ่อกลับตรงกันข้าม  ในฐานะที่เขาเป็นลูกคนโต ทรัพย์สินสมบัติทั้งสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของเขา  เขาไม่จำเป็นที่จะทำงานเพื่อที่จะชนะใจของพ่อ หรือ ได้พรจากพ่อ   สิ่งที่จำเป็นเพียงสิ่งเดียวคือการเป็นลูกของพ่อ   และนี่แสดงถึงความผิดพลาดของพวกฟาริสีที่ “ทำงานหนัก” ด้วยการรักษากฎบัญญัติต่างๆ  ตามที่เขาเข้าใจเองว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้ตนเป็นที่ยอมรับของพระเจ้าและได้รับพระพรจากพระองค์

2. ลูกคนนี้ของพ่อที่กระทำบาป แต่ท่านกลับฆ่าวัวอ้วนพีจัดงานเลี้ยงให้   นี่คือสาเหตุแรกที่ทำให้ลูกคนโตต่อต้านพ่อ   เพราะลูกคนโตคาดหวังว่าเขาควรได้รับรางวัลจากพ่อในเมื่อเขาทำงานหนัก   ส่วนน้องชายได้สูญเสียทุกสิ่งเพราะการทำบาปของเขา   แต่ลูกคนโตมิได้เข้าใจว่า ที่พ่อจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองให้ลูกคนเล็กนั้นมิใช่เพราะเขาทำบาปพ่อจึงจัดงานเลี้ยงให้  แต่เพราะเขาสารภาพ  กลับใจ และ กลับมาหาพ่อต่างหากที่พ่อทำเช่นนั้น   นอกจากการที่พี่ชายไม่เข้าใจถึง “พระคุณ” ของพ่อแล้วยังขุ่นเคืองใจที่พ่อเป็นผู้ที่มีพระคุณเสียอีก

3. ลูกไม่เคยละเมิดคำบัญชาของพ่อสักข้อ   มิเพียงแต่ลูกคนโตคิดว่าตนได้ทำงานหนักที่พ่อควรจะต้องแสดงออกถึงการยอมรับและยกย่องให้เห็นคุณค่า(หรือตอบแทนในการกระทำดีของเขา)   ยิ่งกว่านั้น เขายโส อวดตัว ถือดีว่าตนไม่เคยกระทำบาป   เขาจะพูดได้อย่างไรว่าเขาไม่เคยขัดคำสั่งของพ่อเลย   เพราะไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้พ่อเป็นคนสั่งให้จัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง   แต่ลูกคนโตเพิ่งปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในงานเลี้ยงนั้นหยกๆ?   นี่มิใช่การขัดขืน ละเมิด หรือไม่เชื่อฟังหรือ?   พวกฟาริสีก็คิดเช่นเดียวกับลูกคนโตว่าตนเป็นผู้ที่ผู้รักษาคำบัญชาของพระเจ้าได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ปัญหา หรือ จุดผิดพลาดของลูกคนโตคือ การคิดว่าตนเป็นคนถูกต้องชอบธรรมเหนือคนอื่น  การสำคัญตนผิดและคิดว่าตนชอบธรรมเหนือผู้อื่นทำให้เขาเรียกร้องการยอมรับจากพระเจ้า และ คิดว่าพระเจ้าต้องอวยพระพรพวกเขาที่ทำตามพระบัญญัติอย่างครบถ้วน   เพราะการสำคัญตนผิดคิดว่าตนเป็นคนชอบธรรมนี้เองทำให้เขาขุ่นเคืองและไม่พอใจ “พระคุณ” ของพระเจ้าและปฏิเสธที่จะร่วมในการเฉลิมฉลองในงานที่ชื่นชมยินดีของพ่อ   ลูกคนโตมองไม่เห็นว่าตนเป็นคนบาป  ดังนั้น เขาจึงไม่สามารถที่จะเข้าใจถึงความรอดที่พระเจ้าทรงประทานแก่คนบาปทั้งหลายที่กลับใจอย่างจริงใจ   เมื่อลูกคนโตไม่คิดว่าตนต้องการการกลับใจใหม่และความรอด  และในเวลาเดียวกันก็ไม่พอใจและต่อต้านที่คนอื่นที่จะกลับใจใหม่และรับความรอด   ดังนั้น เขาจึงไม่ยอมและไม่สามารถเข้าร่วมในการเฉลิมฉลองด้วยความชื่นชมยินดี

คำกล่าวของพ่อที่มีต่อลูกคนโตมีความสำคัญอย่างยิ่ง  พ่อได้ย้ำเตือนให้ลูกคนโตระลึกถึงพระพรที่เขาได้รับเมื่ออยู่ในบ้าน พ่อให้ลูกคนโตระลึกถึงสัมพันธภาพระหว่างเขากับพ่อในช่วงเวลาที่ลูกคนเล็กใช้ชีวิตกับคนต่างแดนและตกต่ำจนต้องเลี้ยงหมู  พ่อกล่าวกับลูกคนโตว่า  “ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อตลอดเวลา...(ข้อ 32 ก) แต่สิ่งนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกคนโต  เขาต้องการอยู่กับเพื่อนด้วย (ข้อ 29)   ประโยคที่สองของพ่อที่เตือนความจำของลูกคนโตคือ  “...สิ่งของทั้งหมดของพ่อก็เป็นของลูกอยู่แล้ว” (ข้อ 32 ข)   และประการนี้ด้วยที่ดูเหมือนไม่เป็นที่พอใจและเพียงพอสำหรับลูกคนโต  

ประเด็นแตกต่างระหว่างลูกสองคน
ทั้งสองมีประเด็นความแตกต่างบางประการดังนี้
1. ลูกคนเล็กออกไปจากบ้าน   ลูกคนโตอยู่บ้าน
2. ลูกคนเล็กล้างผลาญสมบัติ   ลูกคนโตทำงาน(เกิดผล)
3. ลูกคนเล็กสูญเสียสมบัติส่วนที่เป็นของเขาทั้งหมด   แต่ลูกคนโตมิได้สูญเสีย
4. ลูกคนเล็กรู้สึกว่าตนไม่สมควรที่จะได้รับพระพรจากพ่อ   แต่ลูกคนโตคิดว่าตนต้องได้รับ
5. ลูกคนเล็กสำนึกในความบาปผิดของตน   ลูกคนโตรู้สึกว่าตนเป็นคนชอบธรรม
6. ลูกคนเล็กกลับใจใหม่   ลูกคนโตขุ่นเคือง ไม่พอใจ

ประเด็นที่คล้ายกันในลูกทั้งสอง

ที่ผ่านมาผมมักคิดแต่สิ่งที่แตกต่างกันในลูกทั้งสองคน   แต่จากการศึกษาพระธรรมตอนนี้ทำให้ผมเห็นสิ่งที่คล้ายและเหมือนกันหลายประการในลูกทั้งสองคน   ซึ่งมีประเด็นที่น่าสังเกตดังนี้

1. ลูกทั้งสองคนต้องการงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง  ลูกคนเล็กออกไปเลี้ยงฉลองกับคนในต่างแดน   ส่วนลูกคนโตต่อว่าพ่อที่ไม่เคยจัดงานเลี้ยงให้แก่ตนเลย

2. ลูกทั้งสองคนต้องการงานเลี้ยงเฉลิมฉลองที่ไม่ต้องมีพ่ออยู่ด้วย   ลูกคนเล็กจัดงานเลี้ยงฉลองในต่างแดนร่วมกับเพื่อนที่ไม่เหมาะสม   ส่วนลูกคนโตปฏิเสธที่จะร่วมในงานเลี้ยงเฉลิมฉลองกับพ่อ(และน้องของตน)   แต่เขาได้แสดงออกถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ต้องการมีงานเลี้ยงฉลองกับเพื่อนของเขา

3. ลูกทั้งสองต่างรู้สึกว่า การเลี้ยงฉลองที่จะมีความชื่นชมยินดีอย่างเต็มที่ไม่สามารถที่จะมีพ่ออยู่ด้วย   ลูกคนเล็กทิ้งพ่อ ทิ้งครอบครัว ทิ้งถิ่นที่บ้านเกิดของตนเพื่อที่จะมีโอกาสมีความสุข ยินดี กับเพื่อนฝูงที่อยู่นอกกรอบความเชื่อศรัทธาและกติกาในครอบครัวของตน   ลูกคนเล็ก(และคนโตด้วย)รู้สึกว่า การที่จะฉลองอย่างมีความสุขสุดๆ ไม่สมควรมีพ่ออยู่ด้วย   ดังนั้น  เขาจึงต้องการที่จะเลี้ยงฉลองกับเพื่อนของเขาเท่านั้น มิใช่กับพ่อของตน   เขารู้สึกว่าความสัมพันธ์ของตนกับพ่อเป็นความสัมพันธ์แบบคนใช้กับนายงาน  แต่มิใช่ความสัมพันธ์แบบชื่นชมยินดี   “วัวอ้วนพี” ในที่นี้น่าจะเป็นสัญลักษณ์ถึงการฉลองด้วยความยินดี   คำพูดของพ่อที่มีต่อลูกคนโตกำลังบอกว่า “วัวอ้วนพี” (การเลี้ยงฉลองด้วยความชื่นชมยินดี) เกิดขึ้นได้ทุกเวลา   แต่ลูกคนโตมิได้คิดเช่นนั้น   พวกฟาริสีก็มิได้คิดเช่นนั้นเหมือนกัน   ดั่งเช่นการที่พวกเขาต่อต้านพระเยซูที่เข้าไปร่วมในงานเลี้ยง (ดู ลูกา 5:25… ทำไมพวกท่านมากินดื่มกับคนเก็บภาษีและคนบาป)

4. ดูเหมือนว่าลูกทั้งสองต่างมิได้ชื่นชมและรักพ่อของตน  แต่พ่อรักเขาทั้งสอง  ลูกคนเล็กรู้สึกว่าอยู่กับพ่อแล้วไม่มีความสุขเลยตัดสินใจออกจากบ้านไปยังแดนไกล   ส่วนลูกคนโตมิได้ไปจากผู้เป็นพ่อ  แต่ก็ไม่มีความสุขในการอยู่กับพ่อเช่นกัน   พ่อได้ตอบคำบ่นว่าต่อต้านของลูกคนโตว่า “ลูกเอ๋ยลูกอยู่กับพ่อตลอดเวลา”  ลูกคนโตคงสวนกลับพ่อในใจว่า  “แล้วทำไม”  “มีอะไรดีหรือ?”

5. ลูกทั้งสองมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นทาส   ลูกคนเล็กในช่วงแรกตกเป็นทาสของวัตถุสิ่งของทรัพย์สมบัติ (ความบาป)   แล้วก็ตัดสินใจยอมเป็นทาสเมื่อหมดทรัพย์สิน  เขาตัดสินใจกลับบ้านมาหาพ่อ  แล้วขอพ่อเพียงยอมรับให้เขาเป็นทาสในบ้าน   แต่ไม่กล้าที่จะฝันกลับมาเป็นลูกของพ่ออีกครั้งหนึ่ง   ส่วนลูกคนโตมีจิตวิญญาณของความเป็นทาสอย่างชัดเจน   ลองพิจารณาคำกล่าวของเขาที่มีต่อพ่อว่า...

พ่อดูซิ  ลูกรับใช้พ่อมากี่ปีแล้ว  และไม่เคยละเมิดคำบัญชาของพ่อสักข้อหนึ่ง...”(15:29)

เพราะลูกคนโตคิดว่างานที่เขาทำเป็นการทำให้แก่พ่อ  เพื่อพ่อจะยอมรับและให้สิ่งตอบแทนแก่ตน   ลูกคนโตมีจิตวิญญาณของความเป็นทาสไม่น้อยกว่าลูกคนเล็ก   

6. ลูกทั้งสองต่างตกอยู่ในกรอบคิดแบบวัตถุนิยม  ลูกคนเล็กหลงรักหลงชอบวัตถุทรัพย์สมบัติ สิ่งของ เงินทอง  มากกว่าที่จะรักพ่อและครอบครัวของเขา   ลูกคนเล็กต้องการใช้มรดกส่วนของตนด้วยตนเอง   ลูกคนโตก็ตกใต้อิทธิพลวัตถุนิยมไม่ต่างจากน้องเลย   ลูกคนโตรู้สึกโกรธน้องของตนและไม่ต้องการหรือเต็มใจยอมรับน้องกลับเข้ามาในบ้าน   ทั้งนี้เพราะน้องได้ทำลายล้างผลาญทรัพย์สมบัติส่วนหนึ่งของพ่อ   ถ้าลูกคนเล็กต้องการใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย  ลูกคนโตก็ต้องการที่จะเก็บเงินทองสมบัติไว้เพื่อ(ทำให้รูสึกดูเหมือน)ความมั่นคงของชีวิต   ลูกทั้งสองต่างรักเงินทองทรัพย์สมบัติ  สิ่งเดียวที่แตกต่างคือ เขาจะทำอย่างไรกับทรัพย์สินเงินทองและสมบัติที่มี  และจะทำเมื่อใดเท่านั้น

7. ลูกทั้งสองคนต่างเป็นคนบาป   ในตอนต้นของพระธรรมบทนี้(ลูกา บทที่ 15) พวกฟาริสีจะมองคนอื่นว่าเป็นคนบาป และมองว่าตนเองเป็นคนชอบธรรม   แต่ในตอนท้ายของอุปมาเรื่องที่สามนี้แสดงและชี้ชัดว่าความคิดของฟาริสีผิด   ดูภายนอกแล้วความบาปของลูกสองคนนี้มีความแตกต่างกันอย่างมาก   แต่รากแห่งความบาปที่หยั่งลงลึกในชีวิตนั้นมาจากรากแห่งความบาปรากเดียวกัน

เราจะพบว่า โดยทั่วไปแล้วเราจะมองความบาป (และคนบาป) จากมาตรฐานภายนอกเท่านั้น   แต่สำหรับพระคริสต์แล้วพระองค์มองลึกลงในความคิดและจิตใจของคน   เรามักด่วนรีบฟันธงลงไปว่า การขโมย การฆาตกรรม  การข่มขืน และการกระทำความรุนแรงต่างๆ เป็นการกระทำที่ผิดบาป   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการกระทำผิดต่อตัวเรา   แต่พระเยซูคริสต์ได้แสดงให้เราเห็นในพระกิตติคุณของพระองค์ว่า การอธิษฐาน  การสอน  และ การเทศนา  สามารถที่เป็นการกระทำความผิดบาปได้ด้วยเช่นกัน   ถ้าการกระทำเหล่านั้นถูกกระตุ้นให้มีเจตนากระทำในสิ่งที่ผิด   เราเห็นได้จากคำบ่นต่อว่าของพี่คนโตว่า ตนทำงานหนัก  และยังต้องทำตามคำบัญชาของพ่อ   เราไม่สามารถมองเห็นวิญญาณกบฏ หรือ การขัดขืนที่ลูกคนโตมีต่อพ่อ  เราไม่พบเลย  นอกจากมาจนถึงเหตุการณ์งานเลี้ยงที่พ่อจัดให้น้องเท่านั้น   แต่ทัศนคติและสิ่งกระตุ้นภายในของพี่ชายคนโตนั้นเป็นสิ่งที่ชั่ว  และเป็นสิ่งที่ชั่วรุนแรงเพราะมาจากแรงขับภายในที่เห็นแก่ตัวที่ปกปิดซ่อนไว้  แต่ภายนอกทำเหมือนว่าตนทำตามที่พ่อประสงค์และทำงานหนัก

ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้าย  จะเป็นการรวบรวมเอาบทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากอุปมาทั้งสามเรื่องของพระเยซูคริสต์ที่มิใช่บทเรียนสำหรับฟาริสีเท่านั้นแต่เป็นบทเรียนชีวิตคริสตชนสำหรับเราด้วย


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
เรียบเรียงจากการข้อมูลในบทความเรื่อง Lost and Found ของ Deffinbaugh

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น