15 ตุลาคม 2555

คริสต์จริยธรรม...เริ่มต้นที่การเชื่อฟังพระเจ้า


ทุกวันนี้สังคมต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤติจริยธรรม   รุนแรงกว่านั้น ในวงการคริสตชนถูกตราว่า  ผู้นำของสถาบัน หน่วยงานคริสตชนกำลังตกอยู่ในสภาพ “วิบัติจริยธรรม”?   มะเร็งจริยธรรมกำลังกัดกิน แผ่ขยายไปทุกขุมขนของสังคม   ตั้งแต่ในครอบครัว  ในชุมชน  ในหน่วยงาน  สถาบัน   ในวงการเมือง  วงการราชการ   บริษัทเอกชน   ในวงการศาสนา   จนถึงระดับชาติระดับประเทศ   และระดับโลก

ประเด็นต่างๆ ทางจริยธรรมกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนต้อง “ถ่วงดุลในการตัดสินใจ”   ทุกคนรู้ว่าหลักการทางจริยธรรมที่วางไว้เป็นหลักการที่ดี ถูกต้อง และควรกระทำตามนั้น  แต่ในยุค เงินนิยม บริโภคนิยม  และปัจเจกนิยมเป็นรากฐานการคิดและการดำเนินชีวิตของคนเรา ทำให้ผู้คนต้องคิดทบทวนว่า จะทุ่มหมดใจตัดสินใจตามหลักจริยธรรมทั้งหมด หรือให้เกิดความสมดุลกับ ความอยู่รอดของตนเอง การรักษาความสัมพันธ์และน้ำใจเพื่อนฝูง  การที่จะอยู่ในพรรคนี้พวกนี้ได้ เพื่อการยอมรับจากลูกน้อง เพื่อเจ้านายจะไว้วางใจ และ ฯลฯ จนรู้สึกว่าในสถานการณ์เช่นทุกวันนี้ตนไม่มีทางเลือก ตนจำเป็นต้องตัดสินใจทำลงไปเช่นนั้น และเป็นทางเลือกทางเดียวที่ดีที่สุด!

ดาเนียลและสหาย[1]  เป็นชาวยูดาห์ที่ตกไปเป็นเชลยในบาบิโลน  ได้รับคัดเลือกให้เป็นบุคลากรจากชาติต่างๆ ที่เป็นผู้สูงศักดิ์  มีปัญญาความรู้  และเป็นมีบุคลิกที่ดีตามคำสั่งของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์   เพื่อจะเลือกให้รับราชการในพระราชวังของพระองค์   แล้วให้มีครูสอนภาษาและวรรณคดีของบาบิโลน   ตลอดจนวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของชาวบาบิโลนชั้นสูง   ยิ่งกว่านั้น กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ยังพระราชทานอาหารจากโต๊ะเสวยแก่กลุ่มคนหนุ่มที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านี้ (ดาเนียล 1:3-7)  

นี่คือโอกาสความก้าวหน้าในชีวิต นี่คือพระพรจากพระเจ้า และนี่เป็นสิทธิพิเศษที่ดาเนียลและสหายได้รับ   และนี่คือความหวังสำหรับอนาคตเพราะการได้ใกล้ชิดและรับใช้กษัตริย์ในพระราชวัง แต่สิ่งดีๆ มาพร้อมกับเงื่อนไขที่ดูเป็นอุปสรรคขัดแย้งกัน จนทำให้ดูเหมือนว่าจะเลือกซ้ายหรือขวาเช่นนั้น ทุกมื้อดาเนียลและสหายได้รับอาหารพระราชทานจากโต๊ะเสวย ซึ่งมีอาหารที่โอชะ แต่ก็มีอาหารต้องห้ามของยิว และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ที่ดาเนียลและสหายปฏิญาณต่อพระเจ้าแล้วว่าจะไม่แตะต้องของเหล่านี้

นี่คือประเด็นขัดแย้งในใจ นี่คือประเด็นที่จะต้องตัดสินใจเลือก และนี่คือเวลาที่จะต้องมีการจัดการกับการมีชีวิตตามจริยธรรม ที่สร้างความขัดแย้งใหญ่หลวงอยู่ตรงข้างหน้า ประการแรก นี่เป็นพระประสงค์ดีของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์  การปฏิเสธของดาเนียลจึงดูเป็นการขัดพระประสงค์ของกษัตริย์   ประการที่สอง การที่บอกว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขัดกับหลักจริยธรรม  ก็เท่ากับกล่าวโทษว่า กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงประพฤติผิดจริยธรรม   และ ประการที่สำคัญ  คือนี่เป็นน้ำพระทัยที่ดีเยี่ยมของกษัตริย์ที่หวังดีให้ชายหนุ่มที่คัดเลือกมีอาหารที่ดีรับประทานเพื่อที่จะแข็งแรง สมบูรณ์  และถ้าไม่รับประทานเช่นนั้นจะทำให้ซูบผอม  ย่อมนำความผิดแก่กรมวังที่ดูในเรื่องนี้ (ข้อ 8-10) และเป็นการขัดต่อพระทัยอันดีของกษัตริย์  

ด้วยเหตุผลทั้งสามประการดังกล่าว นอกจากอาจจะทำให้ดาเนียลสูญเสียโอกาสที่หาไม่ได้อีกแล้วในชีวิต   ยังนำสู่การสร้างการขัดพระราชหฤทัยของเนบูคัดเนสซาร์ สร้างความยากลำบากแก่กรมวังที่ดูแลในเรื่องนี้ และอาจจะได้รับโทษเพราะการขัดขืนครั้งนี้ก็ได้ ทำให้ดาเนียลต้องตัดสินใจจะยืนหยัดรักษาจริยธรรม หรือ ยอมทำตามพระประสงค์เนบูคัดเนสซาร์? และนี่คือประเด็นวิกฤติจริยธรรมในปัจจุบัน!  

สำหรับดาเนียลแล้วหลักจริยธรรมในชีวิตต้องได้รับการปฏิบัติ เพราะจริยธรรมของดาเนียลคือวินัยปฏิบัติในชีวิตที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า      

ประการแรก  การที่จะดำเนินชีวิตตามหลักจริยธรรมจะต้องเริ่มต้นที่ตนมีความเชื่อศรัทธา และ จงรักภักดีต่อพระเจ้าผู้เป็นเอกสูงสุดในชีวิต   ดังนั้น  การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมจึงมิใช่เพราะเราเป็นคนดีมุ่งมั่นตั้งใจและมีความเข้มแข็งทางจริยธรรมของตนเอง แต่เพราะเราศรัทธา  อุทิศทั้งชีวิต  และพึ่งพิงในการทรงนำของพระเจ้า

ประการที่สอง ดาเนียลเชื่อและไว้วางใจพระเจ้าว่า ในวิกฤติจริยธรรม พระเจ้าจะทรงทำงานในวิกฤตินั้นถ้าเรายังยืนหยัดมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตตามพระประสงค์   พระเจ้าจะทรงเข้ามาแทรกแซงในวิกฤตินั้น  “พระเจ้าทรงบันดาลให้หัวหน้ากรมวังชอบพอและเห็นใจดาเนียล” (ข้อ 9 อมตธรรม)

ประการที่สาม  พระเจ้าจะทรงประทานสติปัญญาในการแก้วิกฤตินั้น  ดาเนียลมุ่งไปที่เป้าหมายแห่งพระราชประสงค์ของเนบูคัดเนสซาร์ที่ต้องการให้ชายหนุ่มกลุ่มนี้  มีพลานามัยสมบูรณ์  ดูแข็งแรง  สุขภาพดี  ดังนั้น   จึงเสนอต่อหัวหน้ากรมวังว่า  “โปรดลองให้ผู้รับใช้ของท่านกินแต่ผักและดื่มแต่น้ำสักสิบวัน  แล้วเปรียบเทียบหน้าตาของพวกเรากับชายหนุ่มซึ่งรับประทานเครื่องเสวย  จากนั้นเชิญท่านปฏิบัติต่อผู้รับใช้ตามที่ท่านเห็นควรเถิด” (ข้อ 12-13 อมตธรรม)  และในกระบวนการทดลองนั้น  พระเจ้าทรงเข้ามาแทรกแซงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของดาเนียลและสหาย

ผลที่เกิดขึ้นคือ  “เมื่อครบสิบวันแล้วปรากฏว่าพวกเขาดูแข็งแรงและมีพลานามัยดีกว่าชายหนุ่มอื่นๆ ที่รับประทานเครื่องเสวย” (ข้อ 15 อมตธรรม)  และหัวหน้ากรมวังก็ยอมให้ทั้งสี่รับประทานผักและน้ำต่อไป  และเมื่อครบกำหนด  ได้นำชายหนุ่มกลุ่มนี้เข้าเฝ้าเนบูคัดเนสซาร์  พระองค์สนทนากับบรรดาชายหนุ่มทั้งหมด  และพบว่า  หาชายหนุ่มอื่นเทียบเคียงดาเนียลและสหายไม่ได้  จึงทรงรับเข้ารับราชการอยู่ในราชสำนัก (ข้อ 18-20)

สำหรับคริสตชนแล้ว  การปฏิบัติตามกฎบัญญัติ  ศีลธรรม  และจริยธรรมนั้นหัวใจความสำคัญมิได้อยู่ที่หลักการ หรือ บทบัญญัติที่ให้ทำตาม  เพราะคริสตชนเชื่อศรัทธา อุทิศตน  และรักพระองค์ด้วยสุดจิตสุดใจ สุดความคิด   ถ้าปราศจากความเชื่อศรัทธา และ ความรักสุดชีวิตที่มีต่อพระเจ้าแล้ว  คริสตชนคนนั้นย่อมไม่มีพลังชีวิตที่จะกระทำตามบทบัญญัติ และ จริยธรรมในพระคัมภีร์ได้ ดังนั้น การปฏิบัติตามคริสต์จริยธรรมเริ่มต้นที่ความเชื่อศรัทธา และ การอุทิศทั้งชีวิตแด่พระเจ้าก่อน  แล้วพระองค์จะทรงเสริมสร้าง และ ประทานพลังให้คริสตชนคนนั้นสามารถดำเนินชีวิตตามคริสต์จริยธรรมได้

มองในอีกด้านหนึ่ง  คริสตชนคนใดที่ประนีประนอมหลักคริสต์จริยธรรมกับการดำเนินชีวิตตามกระแสสังคมโลก ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเชื่อศรัทธาของคนๆ นั้นที่มีต่อพระเจ้าว่า กำลังบกพร่อง หลงทาง หรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499


[1] ดาเนียล  ฮานันยาห์  มิชาเอล และอาซาริยาห์  (ถูกตั้งชื่อตามภาษาบาบิโลนว่า  เบลเทซัสซาร์  ซัดรัค  เมชาค  และอาเบดเนโก  ตามลำดับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น