08 ตุลาคม 2555

พันธกิจเสริมบริโภคนิยม หรือ พันธกิจของพระคริสต์?


ผมพบกับพี่ชาตรี(นามสมมติ)และภรรยาของท่าน   เพิ่งกลับจากการเข้าร่วมฟังการบรรยายพิเศษ   ที่เชิญชวนให้ผู้ฟังมีส่วนในการถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจคริสตจักร   ประโยคหลักที่พี่ชาตรีได้ฟังคือ

“เราเพียงขอแต่ละท่านลดการดื่มกาแฟสัปดาห์ละแก้ว...แล้ว...  ท่านก็มีส่วนในการประกาศพระกิตติคุณ”

ภรรยาพี่ชาตรีพูดเสริมขึ้นมาว่า  “แต่พี่สองคนไม่ดื่มกาแฟ   อ้ายผีกาแฟมันเลยไม่สามารถมีอำนาจครอบงำเราทั้งสอง”   พี่ชาตรีพูดต่อไปว่า   หัวเรื่องพูดคุยมันทำให้ผู้ฟังเขวจากประเด็นที่ผู้พูดต้องการนำเสนอ   

แท้จริงแล้วผู้บรรยายต้องการเชิญชวนผู้ฟังว่า การที่คริสตชนต้องการมีชีวิตที่ร่วมในพันธกิจของพระเจ้าระดับพื้นฐานง่ายๆ คือ  การที่แต่ละคนจะยอมสละความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ของตนในชีวิตประจำวัน แล้วนำเงินที่ได้จากการลดความสะดวกสบายมาถวายเพื่อการทำพันธกิจ เพื่อเราจะมีความรู้สึกผิดลดน้อยลงกับการที่เรายังดำเนินชีวิตแบบริโภคนิยม หรือ การมีนิสัยชอบบริโภคนิยม และอาจจะทำให้เรารู้สึกดีกับการมีชีวิตแบบบริโภคนิยมเสียอีก

พวกเราคริสตชนส่วนมากต้องการมีชีวิตที่แตกต่างจากการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปภายใต้อิทธิพลกระแสนิยมในสังคม เราต้องการมีชีวิตที่มีคุณค่า เราต้องการมีชีวิตที่มีส่วนร่วมในพันธกิจคริสตจักร แต่ความต้องการดังกล่าวจริงๆ กำลังบ่งบอกถึงความต้องการลึกๆ ในเรื่องอะไรกันแน่?

แต่ปัจจุบัน คริสตชนหลายคนก็หนีไม่พ้นจากหลักคิดและแนวทางดำเนินชีวิตตามกระแสนิยมในสังคมปัจจุบัน  และมักจะตอบประเด็นข้างต้นว่า คุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเราซึ่งรวมถึงคริสตชนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเงินทองที่เรามีอยู่ในชีวิต และการที่เราตอบสนองต่อ “ผู้ตั้งใจดี” ที่จะรับเอาเงินบริจาค หรือ เงินถวายของเราเพื่อนำไปทำพันธกิจคริสตจักร หรือ ช่วยเหลือคนเล็กน้อย ยากไร้ น่าสงสาร  

เมื่อเราบริจาคหรือถวายทรัพย์ไปแล้ว ทำให้เรารู้สึกดีว่า เราเป็นคริสตชนที่มีชีวิตทำพันธกิจ ดังนั้น  การถวายทรัพย์หรือการบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้ไปเป็นการทดแทนแก้ไขความรู้สึกว่าตน “ละเลย หรือ ไม่ได้ทำ” พันธกิจ และที่สำคัญกว่านั้น คนกลุ่มนี้จะทำพันธกิจด้วย “เงิน” มิใช่ด้วยชีวิตจิตใจ ในชีวิตประจำวันจึงไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการดำเนินชีวิตคริสตชนที่มีส่วนร่วมในพันธกิจของคริสตจักรและพระราชกิจของพระคริสต์ในโลกนี้ เพราะตนได้ถวายทรัพย์ส่วนพิเศษสำหรับการทำพันธกิจด้านนั้นๆ แล้ว!

จากผลการวิจัยเรื่องชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร  ผมได้พบข้อมูลความจริงในหลักคิดหลักปฏิบัติในชีวิตของสมาชิกคริสตจักรในเรื่องนี้เป็นเช่นที่กล่าวข้างต้นอย่างชัดเจน และขอเรียนตรงไปตรงมาว่า หลักคิดหลักปฏิบัตินี้มิได้แพร่ครอบงำและซึมลึกลงในชีวิตสมาชิกคริสตจักรเมือง  คริสตชนที่มีเงินทอง  ชุมชนคริสตชนที่ตกในอิทธิพลบริโภคนิยมและหลักคิดแบบเงินนิยมเท่านั้น   แต่ขอเรียนว่า  อิทธิพลของหลักคิดและหลักปฏิบัติของคริสต์ชนดังกล่าวแผ่ขยายครอบคลุมเจาะลึกลงในชีวิตและหลักคริสต์ของสมาชิกคริสตจักรของพี่น้องชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น เมื่อพูดถึงชีวิตคริสตชนที่มีชีวิตประจำวันที่ประกาศถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ทั้งคริสตจักรให้ข้อมูลว่า คริสตจักรของตนทำเรื่องนี้ได้ดี เพราะ “เรามีการถวายทรัพย์ แล้วจ้างให้ครอบครัวผู้ประกาศไปประกาศที่....” การถวายทรัพย์ทดแทนและเปลี่ยนความรู้สึกผิดที่ตนไม่ได้มีชีวิตที่ประกาศถึงข่าวดีของพระเยซูคริสต์ด้วยการที่ตนมีส่วนร่วมในการถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจการประกาศข่าวประเสริฐของคริสตจักร!  

ในการสนทนากลุ่มที่คริสตจักรดังกล่าว ผมถามต่อไปว่า แค่การถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจการประกาศพระกิตติคุณฯ เท่านั้นเพียงพอไหม? และการถวายทรัพย์โดยในชีวิตของเรามิได้มีเป็นชีวิตที่ประกาศและสำแดงถึงพระคริสต์เพียงพอไหม?

มีผู้นำคริสตจักรท่านหนึ่งตอบผมด้วยคำถามที่สุภาพ แต่เป็นคำถามที่ “อุดปากของผม” จนผมไม่รู้จะพูดอย่างไรต่อไป เขาถามในกลุ่มสนทนาว่า  “อาจารย์ครับ เราก็ทำอย่างที่มิชชันนารีที่มาจากประเทศต่างๆ เขาทำกันครับ สมาชิกในคริสตจักรของเขาถวายทรัพย์ แล้วก็ส่งมิชชันนารีมาประกาศกับพวกเรา...  เราก็ถวายทรัพย์แล้วส่งครอบครัวผู้ประกาศไปประกาศที่ฝั่งพม่า... เราทำเหมือนมิชชันนารี แค่นี้ไม่พอหรือครับ... เราไม่มีเวลาประกาศ   เราจึงถวายทรัพย์ให้คนมีเวลาและมีความสามารถไปประกาศแทนเรา...”  และเขาเน้นว่า “...พวกเราจึงมีส่วนร่วมในพันธกิจการประกาศพระกิตติคุณ...”

หลายต่อหลายคนในจิตใจลึกๆ ต้องการที่จะเป็นคนดี และไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คริสตชนหลายคนคอยมองหาและเลือกเฟ้นข้อเสนอของกิจกรรม/พันธกิจที่ดีๆ ที่ตนจะสามารถมีส่วนร่วมในการบริจาค/ถวายทรัพย์ อันเป็นการตอบสนองเสียงเรียกร้องลึกๆ ในชีวิตจิตวิญญาณของเขา เพื่อเป็นการลบล้าง หรือ ลดหย่อนความรู้สึกผิดรู้สึกพร่องในชีวิตจิตวิญญาณของตน เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกว่าตนได้ทำสิ่งที่ถูก เพื่อที่ตนจะสามารถดำเนินชีวิตตามกระแสเงินนิยม บริโภคนิยม และปัจเจกนิยมต่อไปด้วยความรู้สึกดี หรือ มีความรู้สึกผิดที่ลดน้อยลง  ทั้งสิ้นนี้เป็นการทำพันธกิจ หรือ ทำสิ่งดีเพื่อ “ลดความรู้สึกผิด เพิ่มความรู้สึกดี สร้างคุณค่าในตนเอง” 

ในชีวิตที่ผ่านมาผมได้พบหลายต่อหลายคนที่เมื่อต้องการสิ่งของใหม่ๆ จึงเอาของที่ตนมีอยู่ใช้อยู่ให้คนอื่น  เพื่อตนจะสามารถซื้อของใหม่ด้วยความรู้ที่ดี  ที่ตนได้ให้สิ่งที่ยังดีใช้ได้กับคนอื่น และตนเองมีความสุขกับการได้บริโภคสิ่งใหม่ที่ “อยากได้”  เช่น แฟชั่นเสื้อผ้ารุ่นใหม่ๆ คอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุด  

นอกจากนั้นแล้วหลายบริษัทและหลายกลุ่มก็นำเอาจิตวิทยาประเด็นนี้ไปเป็นประโยชน์สำหรับการตลาดสินค้าของตน เช่น  “กาแฟทุกแก้วที่คุณดื่มคุณได้บริจาคให้กับบ้านเด็กกำพร้า.... 5 บาท”   “ถ้าคุณซื้อวิตามินชนิดใดชนิดหนึ่ง 1ขวด ท่านได้ช่วยเด็กขาดอาหารในโครงการ...   12 บาท”   “ถ้าท่านซื้อกระเป๋าทุกใบ เงินจำนวน 50% จะถวายให้กับการประกาศพระกิตติคุณของคริสตจักรของเรา”...

นอกจากเป็นการฉกฉวยโอกาสเพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดของตนแล้ว จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามกลับเป็นการเสริมสร้าง “แรงกระตุ้น” และ “ความรู้สึกชอบธรรม” ที่ตกลงใต้อิทธิพลครอบงำของบริโภคนิยม เสริมเพิ่มความแรงและเหนียวแน่นติดยึดในบริโภคนิยม และ สร้างปัจเจกนิยมในจิตวิญญาณมากยิ่งขึ้นในคริสตชน

ถ้าอย่างนั้น คริสตชนก็ไม่ต้องให้ใช่ไหม? เพราะให้แล้วไม่ถูก ให้แล้วไม่มีคุณค่า แล้วให้ไปทำไม?

การให้ เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมในชีวิตคริสตชน  และการให้ทรัพย์สินเงินทองก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมครับ แต่สิ่งที่เป็นอันตรายจากการให้ก็คือ  “การให้แบบพระคริสต์”  ถูกแทนที่และเสริมสร้างขึ้นให้เป็นการให้แบบ  “ชีวิตที่กระตุ้นบริโภคนิยม” อย่างไม่รู้ตัวนี่สิครับที่เป็นกับดักวางล่ออยู่ข้างหน้าเรา

เปาโลพูดถึงการให้ว่า  การให้มิได้มีคุณค่าความหมายในตัวของมันเอง  อาจจะสร้างคุณค่า หรือ อาจจะเป็นยาพิษทำลายชีวิตก็ได้   การให้ที่เสริมสร้างคุณค่าแบบพระคริสต์คือ การให้ที่หยั่งรากบนความรักเมตตาแบบพระองค์ ในจดหมายฉบับแรก  เปาโลได้เขียนถึงคริสตชนในเมืองโครินธ์ว่า...

“...แม้ข้าพเจ้ายกทรัพย์สินทั้งหมดให้คนยากไร้และยอมพลีกายให้เอาไปเผาไฟ
แต่ไม่มีความรักก็เปล่าประโยชน์”
(1โครินธ์ 13:3 อมตธรรม)

ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ ชีวิตคริสตชนที่ทำพันธกิจคริสตจักร และ สานต่อพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของตน ไม่ใช่วัดกันที่ “เงินถวาย”  แต่เขาดูกันที่ชีวิตประจำวันนั้นเป็นเช่นไร ขอเน้นว่าเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตที่ติดสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าในแต่ละมิติในแต่ละด้านในชีวิตของเราแต่ละคน

พระวจนะของพระเจ้าได้ช่วยเราให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนว่า  ชีวิตคริสตชนที่เป็นชีวิตแห่งพันธกิจ และเป็นการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์นั้น  มีลักษณะหลักที่ชัดเจน ดังนี้

ประการแรก  กระทำบนรากฐานแห่งความรักเมตตา

จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านอย่างสุดใจ สุดจิต สุดกำลัง และสุดความคิดของท่าน
และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง  (ลูกา 10:27 อมตธรรม)

ประการที่สอง  กระทำเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า

ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะกินหรือดื่ม หรือ ทำอะไรก็ตาม
จงกระทำทุกสิ่งเพื่อพระเกียรติสิริของพระเจ้า (1โครินธ์ 10:31)

ประการที่สาม  กระทำเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า

ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะกระทำสิ่งใด 
จงทุ่มเททำอย่างสุดใจเหมือนทำเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า 
ไม่ใช่เพื่อมนุษย์ (โคโลสี 3:23 อมตธรรม)

การดำเนินชีวิตในประจำวันของเราควรจะสอดคล้องกับความเชื่อศรัทธาของเรา   สิ่งที่เราพูดถึงการรับใช้ด้วยปากพึงสำแดงเป็นรูปธรรมในการดำเนินชีวิต  วินัยชีวิต และ นิสัยชีวิตคริสตชนของเราในแต่ละวัน

วันนี้ เราตั้งใจที่จะกระทำในสิ่งที่ถูกต้องใช่ไหม? ให้เริ่มต้นสร้างความแตกต่าง จากการมีชีวิตที่แตกต่างจากกระแสนิยมในสังคม วันนี้ในเราฟังเสียงของพระวิญญาณบริสุทธิ์มากกว่าจดจ้องมองและฟังที่เสียงเชิญชวนของ “การตลาด” ที่ดังกระหึ่มรอบข้างชีวิตของเรา และเมื่อใดที่เราให้และแบ่งปัน อย่าลืมที่จะตระหนักชัดว่าเรารับใช้  เราให้เพราะความรักเมตตาของพระคริสต์  เราต้องการกระทำเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า และเราต้องการกระทำทุ่มเทเพื่อพระองค์เท่านั้น

ประเด็นเพื่อการใคร่ครวญ

1. การให้ตามกระแสนิยมในสังคมปัจจุบันหรือการให้แบบบริโภคนิยม กับ การให้แบบพระคริสต์มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
2. ปัจจุบันนี้  การให้แบบใดที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตทุกวันนี้ของเรา?   ระหว่างอิทธิพลการให้แบบกระแสสังคม หรือ แบบบริโภคนิยม กับ  อิทธิพลการให้แบบพระเยซูคริสต์   ขอช่วยยกตัวอย่างเพื่อความชัดเจน
3. ถ้าเราต้องการมีชีวิตที่อยู่ภายใต้อิทธิพลการให้แบบพระคริสต์ เราจะสามารถเริ่มต้นได้อย่างไร?  ขอกรุณายกตัวอย่างในชีวิตจริงประกอบ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น