ถ้าใครเป็นผู้นำ สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือคนนั้นต้อง
“ตัดสินใจ” เขาต้องสื่อสารถึงวิสัยทัศน์
และ ทิศทางที่จะนำไป
และเป็นคนที่กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนไป คนนั้นมีประสบการณ์ทั้งชัยชนะ ความสำเร็จ และความล้มเหลว หรือ ความพ่ายแพ้มาแล้ว
มีความจริงอีกประการหนึ่งคือ ผู้นำต้องมีผู้ตาม
หรือ ต้องมีทีมงาน
ท่านต้องมีลูกทีมที่ร่วมทำงานกับท่าน
พวกเขามุ่งมองการนำของท่าน
พวกเขาต้องการการชี้นำและทิศทางการทำงานจากท่าน การท้าทาย
หรือแม้แต่กำลังใจจากท่าน
และอาจจะมีผู้ตามบางคนบางกลุ่มที่ไว้วางใจท่านและจะตามท่านไป แต่ก็มีบางคนบางกลุ่มที่ยังไม่ยอมติดตามท่าน
สำหรับคริสตชนแล้ว การเป็นผู้นำเป็นการทรงเรียกจากเบื้องบน
และเป็นภาระหน้าที่ที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ
ความรับผิดชอบนี้มิได้สำเร็จหรือสิ้นสุดเมื่อทำงานนั้นสำเร็จ หรือ ไปถึงเป้าหมาย
เพราะความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นผู้นำจะต้องมีคือ
ความรับผิดชอบต่อผู้คนที่ตนนำ
ผู้นำของ “ทีม” เกิดจากการที่มีคน ที่มีความคิด
และมีความปรารถนาที่ต้องการทำให้สำเร็จ ทั้งในด้านการงาน และ ในชีวิต ผู้นำที่ละเลยและละทิ้งชีวิตของผู้คนที่ตนนำ แล้วมุ่งให้ความสนใจและความสำคัญแต่งานที่ทำ เขาจะประสบพบกับความจริงว่า เขาจะไม่มีทีมที่เขาจะนำเวลาในไม่ช้า
แล้วผู้นำที่จะมุ่งเน้นและมุ่งมั่นให้องค์กรที่ตนนำมุ่งไปข้างหน้า
และ ในเวลาเดียวกันผู้นำจะทุ่มเททุ่มชีวิตของตนแก่ทีมงานที่ตนนำได้อย่างไร?
คำตอบหนึ่งที่ผู้นำจะต้องตระหนักชัดคือ ผู้นำจะต้องตระหนักรู้ชัดว่า แต่ละคนในทีมงานที่ตนนำนั้น ทุกคนมีความสามารถที่จะ “มองเห็น” และ “ทำ”
ในบางสิ่งที่ผู้นำอาจจะไม่สามารถมองเห็น หรือ ทำ ได้
เมื่อผู้นำตระหนักรู้เช่นนี้แล้ว จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้นำจะต้องใส่ใจและเข้าถึงให้รู้ว่าทีมงานแต่ละคนมีตะลันต์ความสามารถเฉพาะตัว
หรือ ความสามารถพิเศษอะไรบ้าง
ผมเคยได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่งจากผู้นำทีมท่านหนึ่ง
เขามีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำที่มีกระบวนการนำทีมงานของเราให้ประสบความสำเร็จ วิสัยทัศน์ของเขามั่นคงและชัดเจน
แต่ความสามารถของเขาในการที่จะทำให้ทีมของเราขับเคลื่อนไปอย่างเป็นทีมงานที่สอดประสานกันดูจะมีจุดอ่อนด้อยบางจุด แต่หัวหน้าทีมของผมคนนี้แตกต่างจากผู้นำทั่วไป
เขารับมือกับภาวะนี้ด้วยการร้องขอให้ทุกคนในทีมงานที่เขานำช่วยเขาในการนำทีมที่เป็นจุดโหว่หรือจุดอ่อนของเขา
สิ่งที่หัวหน้าคนนี้ของผมให้เราช่วย
“นำในการนำทีม” ของเขา
เขาได้ตั้งทีมงานขึ้นคณะหนึ่งที่เขาเรียกว่า “ทีมที่ฟังเพื่อหนุนเสริมกันและกัน” ในการนี้เราต่างรู้ว่า
หัวหน้าคนนี้ยังเป็นผู้นำของเรา
เขาเป็นคนดูแลการทำงานเสริมกันและกัน
แต่หัวหน้าทีมท่านนี้เขาชัดเจนว่า
เขาต้องการให้พวกเราหนุนเสริมเขาในด้านความคิด ตั้งคำถามให้เขาคิดและตอบ หรือ
แม้แต่คัดค้าน
ท้วงติงในทุกเรื่องที่ทีมงานเห็นว่ากำลังขับเคลื่อนไปผิดทิศผิดทาง
สิ่งที่หัวหน้าทีมท่านนี้ขอร้องการหนุนเสริมจากทีมคือ
“การนำหัวหน้า”
จอห์น แม็กแวลล์ พูดถึงประเด็นนี้ในหนังสือ
“ผู้นำ 360 องศา”
และได้อธิบายหลักคิดประการนี้ว่า
การที่ผู้นำคนหนึ่งคนใด และ ที่เป็นผู้นำในระดับหนึ่งระดับใด ที่มีความจำเป็นต้องการให้คนในทีมงานของตนแต่ละคนใช้ภาวะผู้นำที่แต่ละคนมีอยู่ในการหนุนเสริมผลักดันผู้นำทีมงานของตน
ไม่มีผู้นำแท้จริงคนใดที่ต้องการทีมงานแบบ “ครับ...หัวหน้า”
และก็ไม่มีผู้นำที่แท้จริงคนใดที่ต้องการนำในภาวะปราศจากความมั่นใจในตนเอง หัวหน้าทีมคนนั้นของผมเคยบอกทีมงานของเราว่า
เขาไม่ต้องการเป็นจักรพรรดิที่เปล่าเปลือยล่อนจ้อน ถ้ามีสิ่งบกพร่องผิดพลาดประการใดเกิดขึ้น
หัวหน้าทีมคนนี้ต้องการให้เราบอกเราพูดให้เขารู้ตัว และเมื่องานของทีมถูกกดดัน เขาต้องการความช่วยเหลือจากทีมงาน
“การนำหัวหน้า”
มิใช่การบอกหัวหน้าถึงความคิดที่เราไม่เห็นด้วยเท่านั้น แต่เป็นการให้การสนับสนุนทั้งวาจา กำลังใจ
และการหนุนเสริมในเวลาที่ผู้นำประสบกับความยากลำบากในการขับเคลื่อนงานให้เดินไป และความสัมพันธ์ที่จะต้องมีในทีมงาน “การนำหัวหน้า” ต้องการความจริงใจ ความสัตย์ซื่อ
การทุ่มเทและอุทิศตน แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะที่รู้สึกลำบากขัดแย้งก็ตาม
ในฐานะคริสตชน
“การนำหัวหน้า”
ได้ดีในทีมงานเมื่อเราทุกคนในทีมงานได้อุทิศตนและทุ่มเทการงานและชีวิตเพื่อพระคริสต์ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ท้าทายและที่ช่วยให้
“การนำหัวหน้า” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น
เพราะในการทำงานในทีมของเรานั้น เราไม่ได้ทำเพื่อหัวหน้าคนนั้นของเรา
แต่เรารู้ว่าเรากำลังทำเพื่อตอบสนองการทรงเรียกของพระคริสต์
สิ่งที่ทำให้ทีมงานที่รู้สึก “ง่อยเปลี้ย
ไม่มีแรงในการนำหัวหน้า” คือ
ทีมรู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิมีเสียง
เมื่อผมถามทีมทำงานว่า
หัวหน้าของคุณไว้วางใจให้ทำงานนี้หรือไม่?
เขาให้อำนาจคุณในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวหรือไม่? แล้วหัวหน้าของคุณจะรู้ว่ามีปัญหาก็ต่อเมื่อคุณจะบอกเขาใช่ไหม?
บ่อยครั้งมักได้ยินจากเพื่อนร่วมงานบอกว่า
เกิดความไม่สบายใจ
เพราะหลายครั้งที่ต้องการบอกหัวหน้าทีมในปัญหาบางเรื่องที่เกิดขึ้น หัวหน้าทีมมักทำตัวว่า “ฉันรู้แล้ว”
หลายครั้ง
เราพบเพื่อนร่วมงานไม่อยากหรือไม่เต็มใจที่จะเป็นคนบอกหัวหน้าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
หัวหน้าทีมทุกคนต้องสร้างบรรยากาศที่ทีมงานสามารถ
“นำหัวหน้า”
และในเวลาเดียวกันคนในทีมงานต้องเต็มใจที่จะ “นำหัวหน้า”
ในประเด็น/ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทีม
จากประสบการณ์ของผม ผมพบว่า
บางครั้งหัวหน้าทีมได้ให้ความคิดแก่ทีมของเรา
และทีมงานของเราได้ก้าวเดินตามความคิดนั้น แต่ในบางเวลา หัวหน้าทีมไม่แน่ใจในความคิดบางเรื่อง
แต่ทีมงานของเราได้ผลักดันหนุนเสริมให้หัวหน้าก้าวไปข้างหน้า ด้วยการทำงานทีมแบบนี้เองที่หัวหน้าทีมก็ไว้วางใจว่าทีมงานของเขามิเพียงแต่พยายามทำงานด้วยกันได้เท่านั้น
แต่ทีมงานพร้อมที่จะเดินตามคำแนะนำที่ดีที่หัวหน้าให้
และพร้อมจะแนะนำไปในทางที่ถูกต้องแก่หัวหน้าทีม เพื่อที่จะมีการตัดสินใจที่ดีที่สุดของทีม
“การนำหัวหน้า” มิใช่เป็นการไม่เห็นด้วยกับหัวหน้าทีมเท่านั้น แต่หมายถึงการที่ลูกทีมจะหนุนเสริมเพิ่มพลัง (empower)
แก่หัวหน้าทีมให้ก้าวเดินหน้าเมื่อเขาคิดว่าเขาทำไม่ได้ หรือ
ไม่มั่นใจที่จะก้าวต่อไป
และก็มิใช่การหนุนเสริมเพิ่มพลังหัวหน้าด้วยความจริงใจเท่านั้น แต่รวมถึงการหนุนเสริมให้หัวหน้ามุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อองค์กรด้วย
การตัดสินใจที่หนุนเสริมกันและกันในทีมงาน
(ทั้งหัวหน้าและลูกทีม)
ถ้าเป็นประเด็นที่เป็นเรื่องส่วนตัวของหัวหน้า (เช่น ทัศนคติ หรือ
ท่าที
พฤติกรรมส่วนตัวของหัวหน้าที่แสดงออก) ให้คุยกับหัวหน้าในเรื่องเหล่านี้เป็นการส่วนตัว แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการ แผนงาน หรือ
ยุทธศาสตร์ในการทำงาน
ให้พูดคุยเรื่องเหล่านี้ในทีมงาน
ให้เป็นการปรึกษาหารือ หรือ ค้นหาค้นคิดร่วมกัน และขอย้ำว่า “การนำหัวหน้า”
ไม่ใช่เรื่องไม่เห็นด้วยกับความคิดของหัวหน้าทีมเท่านั้น แต่เป็นการเสนอความคิดที่หนุนเสริมกันและกันของทั้งหัวหน้ากับลูกทีมที่ทำให้สามารถตัดสินใจร่วมกัน เพื่อให้ได้การการตัดสินใจที่ดีที่สุด
ผู้นำทุกคนต้องการอะไร?
ผู้นำ
ต้องการให้ทุกคนในทีมงานของตนรักองค์กรและผู้นำ
อย่างสัตย์ซื่อและเปิดใจ...โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหน จะถอยหลังหรือเดินหน้า
และทุกคนในทีมทุ่มเทศักยภาพความสามารถของตนอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้องค์กร ทีมงาน
และแต่ละคนก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นกว่าที่คิด
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น