ปัจจุบันวัฒนธรรมการอธิษฐานต่างคนต่างออกเสียงดังดูจะปฏิบัติกันมากขึ้นในคริสตจักรไทย
อาจจะคิดว่านั่นเป็นการอธิษฐานที่เอาจริงเอาจัง หรือทุ่มสุดตัวสุดแรงในการอธิษฐาน
ผู้นำคริสตจักรบางคนก็บอกว่าการอธิษฐานเสียงดัง แรงกล้านั้นเป็นการ “เขย่าบัลลังก์พระเจ้า”?
แต่พระเจ้าที่ผมเชื่อนั้นมิได้ใบ้บอดไม่รู้ไม่เห็น
หรือ มีความรู้สึกช้านะครับ
ผมเชื่อว่าก่อนที่เราจะอธิษฐานอะไรต่อพระเจ้า
พระองค์ล่วงรู้สิ่งที่มีในจิตใจก่อนที่เราจะพูดกับพระองค์เสียอีก
แต่เพื่อนผมบางคนบอกว่าที่อธิษฐานออกเสียงดัง ต่างคนอธิษฐานอย่างเอาจริงเอาจังนั้นก็จะช่วยให้รู้สึกว่า
เราร้อนรน และเพื่อนผมบอกอีกว่า
การอธิษฐานเช่นนั้นเป็นการแสดงถึงความร้อนรนทางหนึ่งของเขา
นอกจากนั้นแล้ว คริสตชนบางคนยังบอกว่า
ใครจริงจังกับพระเจ้าดูได้จากคนนั้นอธิษฐานยาวสั้นแค่ไหน เขาเคยบ่นว่า อธิษฐาน “สั้นจุ๊ดจู๋” คงอธิษฐานเป็นพิธีมั่ง? ดูคนนั้นคนนี้สิเขาอธิษฐานนานเป็นชั่วโมงเลย
หลายต่อหลายคนในปัจจุบันนี้เมื่อพูดถึงการอธิษฐานมักหมายถึงการที่เรา
“พูด” กับพระเจ้า
แต่การอธิษฐานต่อพระเจ้าเป็นการ “สนทนา”
กับพระองค์
เป็นการสนทนาระหว่างพระเจ้ากับเรา
การสนทนาจะต้องมีทั้งการพูด และ การฟัง
เมื่อฝ่ายหนึ่งพูด
อีกฝ่ายหนึ่งก็จะฟังอย่างใส่ใจ
ฟังให้ได้ยินถึงความรู้สึกในชีวิตของผู้พูด
ฟังให้ได้ยินถึงเสียงแห่งความจำเป็นต้องการในชีวิตของเขา ฟังให้ได้ยินถึงความตั้งใจ ความประสงค์ของเขา
การที่จะมีการสนทนาแบบนี้ได้ รากฐานสำคัญคือ คู่สนทนาจะไว้วางใจกันและกัน วางใจในความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างเขาทั้งสองฝ่าย และมีความ “หวังใจ” ในความรัก ความสัตย์ซื่อ และ
ความเอาใจใส่ที่มีต่อกันของคู่สนทนา
ไม่ใช่รากฐานความเชื่อความคิดว่า ถ้าอธิษฐานดัง ๆ แรง ๆ แล้วพระเจ้าจะประทานสิ่งที่เราขอเราต้องการ ถ้าเราอธิษฐานนาน ๆ ยาว ๆ แล้วพระเจ้าจะประทานสิ่งที่เราปรารถนา
ถ้าเราตื่นยิ่งเช้ายิ่งมีพลังในการอธิษฐาน แล้วทำให้บางคนรู้สึกด้อยว่า
ตนไม่ได้ไปอธิษฐานตีสี่ตีห้าพระเจ้าเลยไม่อวยพระพร พระเจ้าตอบคำอธิษฐานของเราเพราะเราตื่นตีอะไรไปอธิษฐานหรือ? สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในการอธิษฐานหรือไม่?
บ่อยครั้งที่พบในหลายคริสตจักร การอธิษฐาน อย่างจริงจังทุ่มเท เสียงดัง
กลายเป็นการระบายอารมณ์ความรู้สึกของคน ๆ นั้นหรือไม่? หรือเป็นการเอา “ขยะทางอารมณ์” ไปเทต่อหน้าพระเจ้า แล้วให้พระเจ้าช่วยรับไว้ แล้วช่วยเอาไปทิ้งให้หน่อยหรือไม่?
การระบายความรู้สึกอารมณ์บ้างก็แสดงออกด้วยการโลดเต้นในบางคน
ความจริงอีกด้านหนึ่งในการอธิษฐานคือ
เป็นเวลาที่เรา “ตั้งใจฟังพระเจ้า”
“ใส่ใจเสียงที่พระองค์จะพูดกับเรา”
และ
ใคร่ครวญว่าอะไรคือพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเรา ฟังให้เข้าใจว่า
พระเจ้าประสงค์ให้เราดำเนินชีวิตเช่นไรในวันนี้ด้วยความถ่อมใจไปกับพระองค์ และ ที่สำคัญมากในการอธิษฐานคือ เป็นโอกาสที่เราจะมั่นใจว่า พระเจ้าประทานกำลังชีวิตแก่เราในวันนี้ให้สามารถทำในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้เรากระทำ
สิ่งสำคัญในการอธิษฐานคือ เราต้อง “ยอมจำนน และ มอบชีวิตทั้งหมด”
แก่พระเจ้า
มิใช่มุ่งแต่ขอพระเจ้าช่วยทำสิ่งนั้น
ช่วยหนุนสิ่งนี้ ตามที่เราคาดหวังต้องการในชีวิต! การ “ยอมจำนน และ มอบชีวิตทั้งหมด”
แด่พระเจ้า
มิได้ขึ้นอยู่กับการอธิษฐานเสียงดังหรืออธิษฐานในใจ มิได้ขึ้นอยู่กับการตื่นเต้น หรือ
การนมัสการอย่างออกรสออกชาติ
แต่ขึ้นอยู่กับการอธิษฐานที่ใส่ใจฟังพระเจ้าด้วยใจถ่อม และ
สงบเพื่อจะได้ยินสิ่งที่พระเจ้าประสงค์
(แต่มิใช่อธิษฐานพรั่งพรู ในสิ่งที่เราต้องการเท่านั้น)
การที่เราจะได้ยินคู่สนทนาของเราชัดเจนก็ต่อเมื่อเราฟังอย่างใส่ใจ
ด้วยจิตที่สงบ
เราจะได้ยินชัดเจนที่สุดถึงเรื่องที่คู่สนทนาพูดกับเรา และในการสนทนากับพระเจ้า เราจะได้ยิน ได้รู้
และ เข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าได้ดีที่สุดเมื่อ “จิตใจของเรานิ่ง” และ
“มีความคิดที่สงบ” แต่การที่เราจะมี
“ใจที่นิ่ง ความคิดที่สงบ” เราต้องยอมตนแด่พระเจ้า
ให้พระองค์ประทานสิ่งนี้แก่เราเมื่ออยู่ต่อพระพักตร์พระองค์
และรอคอยด้วยใจจดจ่อที่จะฟังพระประสงค์ของพระองค์สำหรับชีวิตของเรา
สิ่งนี้เป็นของประทานจากพระเจ้าครับ แต่บ่อยครั้งที่เราไม่ได้สนใจของประทานนี้!
ผู้เขียนพระธรรมสดุดี 131
ได้เปรียบเทียบบทเรียนรู้เรื่องนี้แก่เราว่า
ข้าแต่พระยาห์เวห์
ใจของข้าพระองค์มิได้เห่อเหิม
และตาของข้าพระองค์มิได้ยโส
ข้าพระองค์มิได้ไปยุ่งกับเรื่องใหญ่โต
หรือเรื่องอัศจรรย์เกินตัวของข้าพระองค์
แต่ข้าพระองค์ได้สงบและระงับจิตใจของข้าพระองค์
อย่างเด็กที่หย่านมแล้วสงบอยู่ที่อกมารดาของตน
จิตใจของข้าพระองค์สงบอยู่ภายในข้าพระองค์
อย่างเด็กที่หย่านมแล้ว
อิสราเอลเอ๋ย จงหวังในพระยาห์เวห์
ตั้งแต่บัดนี้สืบไปเป็นนิตย์
(สดุดี 131:1-3 มตฐ.)
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น