ไม่ว่าส่วนตัวเรากับพระเจ้า ในครอบครัว
ในที่ทำงาน ในกลุ่มเพื่อน หรือ
แม้แต่ในชุมชน
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะจะประสาน เชื่อมโยง และมัดตรึงให้ชุมชนนั้น ๆ เกิดความผูกพันเป็นรากฐานที่จะให้เกิดการขับเคลื่อนชีวิตร่วมกันไปอย่างมีเป้าหมาย
คุณค่า และความหมาย
ความสัมพันธ์เป็น “หัวใจ” ของพระคัมภีร์ ความสัมพันธ์ของพระเจ้าที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์
สรรพสิ่ง
และมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง
แต่เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกทำลายโดยอิทธิพลอำนาจแห่งความบาปชั่ว
ทำให้ความสัมพันธ์อันดีดังกล่าวต้องฉีกขาดหายนะลง พระเยซูคริสต์ต้องมากอบกู้ปะชุนความสัมพันธ์อันดีนั้นขึ้นมาใหม่ด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความรักที่ไม่มีพรหมแดน ความรักที่ไม่มีขีดจำกัด ด้วยความรักอย่างพระคริสต์นี้เองที่สามารถมองข้ามความจำกัด
ความล้มเหลว และความไม่เอาไหนของมนุษย์
และให้ความรักดังกล่าวด้วยชีวิตของพระองค์เองแม้แต่คนที่ไม่สมควรที่จะรับความรักนั้น
ด้วยความรักที่ให้ชีวิตนี้เอง
ที่ทำให้เกิดการให้อภัยแม้แต่เราผู้ไม่สมควรจะได้รับ
ด้วยความรักที่ให้ชีวิตของพระคริสต์นี้เอง
จึงเปลี่ยนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคือคนที่รับใช้คนอื่นด้วยชีวิต ให้เป็นคนที่ใส่ใจหนุนเสริมคนรอบข้างดั่งพระคริสต์มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่เราแล้ว
ฟังอย่างใส่ใจ
การได้ยิน กับ การฟัง
มีความแตกต่างกันอย่างมาก และจะแตกต่างกันอย่างลิบลับ
เมื่อเราฟังอย่างใส่ใจ การฟังอย่างใส่ใจ เป็นการสนอกสนใจในคำที่เขาพูด ทำให้เราได้ยินสิ่งที่เขากำลังพูดชัดเจน กล่าวคือการฟังอย่างใส่ใจจนคำที่เราได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ
ความเจ็บปวด
เป็นการฟังที่เราสามารถสัมผัสถึงสิ่งที่เขาต้องการบอกเราและให้เรารับรู้ด้วยหัวใจและความคิด
ด้วยการฟังอย่างใส่ใจนี้เองที่เป็นเงื่อนไขที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของเรากับเขาคนนั้นเกิดความไว้วางใจกัน ทำให้ความสัมพันธ์มั่นคง
สิ่งพึงระมัดระวังอย่างมากคืออย่าให้ความวอกแวกและสิ่งที่เราจะทำให้เขวหันออกไปจากสิ่งที่เขาตั้งใจจะบอกเรา และที่เราจะใส่ใจฟังอย่างสนอกสนใจ
การฟังอย่างใส่ใจจำเป็นจะต้องหยุดการ “เขี่ย”
บนไลน์ หยุดการก้มหน้าดูโทรศัพท์ ลุกขึ้นจากโต๊ะคอมพิวเตอร์ เอาหูฟังที่เรากำลังฟังเพลงออก แล้วให้ความสนใจและใส่ใจอย่างเต็มร้อยกับคนที่กำลังพูดกับเราที่อยู่ตรงหน้า
และนี่เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในความสัมพันธ์ที่เรามีกับคน ๆ นั้นครับ
“ดูก่อนพี่น้องที่รักของข้าพเจ้า จงทราบข้อนี้
จงให้ทุกคนไวในการฟัง ช้าในการพูด
ช้าในการโกรธ” (ยากอบ 1:19
มตฐ.)
รักด้วยการให้ชีวิต
ความรักเป็นคำที่พวกเราพูดกันมากมาย แต่ปฏิบัติกันเพียงน้อยนิด และที่แย่กว่านั้นคือ
เป็นคำที่คนเทศนาไม่ทำตามที่เทศน์มากที่สุด
ความรักเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระคัมภีร์โดยตรง
เราพบเห็นในพระคัมภีร์ถึงความรักที่ไร้ขอบเขตพรหมแดนและเงื่อนไขของพระคริสต์ เป็นความรักที่ทุ่มสุดชีวิต
คนทั่วไปจะสัมผัสความรักที่ว่านี้ก็เพราะเรารักด้วยการกระทำในชีวิตประจำวันของเรา
ประเด็นสำคัญคือความสัมพันธ์ของเราวางบนรากฐานว่าเรารักอย่างพระคริสต์หรือไม่แค่ไหน? ความรักแบบพระคริสต์ได้ไหลซึมออกมาจากการปฏิบัติในทุกมิติชีวิตประจำวันหรือไม่?
และนี่คือรากฐานสำคัญของการทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มั่นคงและยั่งยืน
“...พวกท่านจงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน
ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน และธรรมบัญญัติที่สองนั้นคือ
จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง
ธรรมบัญญัติอื่นที่ใหญ่กว่าธรรมบัญญัติทั้งสองนี้ไม่มี”
(มาระโก 12:30-31 มตฐ.)
(มาระโก 12:30-31 มตฐ.)
สร้างสัมพันธ์ด้วยการรับใช้
ความสัมพันธ์สามารถเกิดขึ้นเพราะการรับใช้ ซึ่งการรับใช้นั้นมีหลายรูปแบบ และ
เกิดขึ้นได้ในทุกมิติชีวิต พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างแก่เหล่าสาวก ประชาชน
และคนประเภทต่าง ๆ ด้วยการรับใช้ที่ตอบโจทย์ในชีวิตของแต่ละคน
การรับใช้เกิดจากการที่คนนั้นมีความรักเมตตาจนให้ชีวิตแก่อีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มคนหนึ่ง
การนำด้วยการรับใช้ของพระคริสต์เป็นการสวนกระแสสังคม และ
สวนทางกับระบบคุณค่า และ ค่านิยมในสังคมไม่ว่าในสมัยของพระองค์ หรือ
สมัยปัจจุบันก็ตาม
การที่จะรับใช้ด้วยชีวิตเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องมาจากความรักที่ให้ชีวิตแก่คนอื่นด้วยความถ่อมใจ เฉกเช่น พระคริสต์ถ่อมพระองค์ลงล้างเท้าสาวก และถ่อมลงจนยอมตายเพื่อคนทั้งหลาย
เรารับใช้พระคริสต์ท่ามกลางชีวิตของประชาชน
มิใช่เพื่อให้คนอื่นได้รู้ได้เห็นสิ่งที่เราทำ
แต่เพราะเราสำนึกในพระคุณที่พระองค์ทรงถ่อมลงรับใช้ด้วยชีวิตเพื่อเราก่อน และเราสานต่อพระราชกิจแห่งการรับใช้ด้วยชีวิตเยี่ยงพระคริสต์
เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบพระคริสต์ท่ามกลางสังคมโลกต่อจากพระคริสต์
“เหตุฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาส
ให้เราทำดีต่อคนทั้งปวง
และเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวที่มีความเชื่อ”
(กาลาเทีย 6:10 มตฐ.)
การยกโทษสร้างความไว้วางใจกัน
นำสู่ความสัมพันธ์
การที่เรายกโทษใครคนใดคนหนึ่ง ประการแรกเราได้ปลดปล่อยตัวเราออกจากความสัมพันธ์ที่จำกัดด้วยกรอบ
ขอบเขต เงื่อนไข
แล้วยื่นชีวิตของเราออกไปให้ถึงคนนั้นจิตที่รักเมตตาแบบพระคริสต์ที่รักอย่างไม่มีเงื่อนไข การให้อภัยเป็นการเสริมสร้างให้ความสัมพันธ์งอกงามและเจริญเติบโตขึ้น
พลังเบื้องหลังที่เรายอมยกโทษใครคนใดคนหนึ่งเพราะ เราได้รับประสบการณ์ชีวิตว่าพระคริสต์ทรงยกโทษเราทั้งที่ในเวลานั้นเรายังเป็นคนบาป
ช่วยตนเองไม่ได้
เปลี่ยนแปลงตนเองไม่ได้
แต่เพราะความรักที่ให้ชีวิตแบบพระคริสต์ต่างหากทำให้ชีวิตของเรามีโอกาสใหม่ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ก็เปลี่ยนแปลงด้วย
เพราะการให้อภัยของพระคริสต์ที่ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลง
แล้วทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระองค์เกิดขึ้น งอกงาม
และเติบโตแข็งแรงขึ้น
และนี่คือพันธกิจที่พระคริสต์บัญชาให้เราทำต่อจากที่พระองค์ได้กระทำไว้แล้ว
ทุกครั้งที่เรายอมเปิดใจเปิดชีวิตยอมให้อภัยแก่คนหนึ่งคนใดแก่ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งแตกร้าว
ในเวลานั้นเรากำลังเสริมสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจกัน การให้อภัย หรือ การยอมยกโทษไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย
ๆ แต่การให้อภัยให้คุณค่าที่ยาวนาน
อย่าปล่อยให้ความสัมพันธ์ตกเป็นเหยื่อของความขัดข้องใจกัน ขุ่นเคืองใจต่อกัน หรือไม่พอใจต่อกัน
“จงผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกัน
และถ้าแม้ว่าผู้ใดมีเรื่องราวต่อกัน
ก็จงยกโทษให้กันและกัน
องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดยกโทษให้ท่านฉันใด
ท่านจงกระทำอย่างนั้นเหมือนกัน” (โคโลสี 3:13 มตฐ.)
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น