08 กรกฎาคม 2553

ความไว้วางใจที่ฉีกขาด

มีบทความหรือหนังสือมากมายที่เขียนถึงเรื่องราวของผู้นำที่ทำให้ความไว้วางใจที่ผู้คนมีต่อเขาต้องฉีกขาด แต่ถ้าผู้คนที่เกี่ยวข้องกับผู้นำคนใดคนหนึ่งทำให้ความไว้วางใจของผู้นำที่มีต่อเขาต้องฉีกขาดล่ะ มันจะเป็นอย่างไร?

ถ้าท่านเป็นผู้อภิบาลหรือผู้นำในคริสตจักรท้องถิ่น ท่านย่อมรู้ดีว่า ผลจากการที่ท่านทำให้ความไว้วางใจที่ผู้คนมีต่อท่านต้องฉีกขาดนั้น มีความรุนแรงมากมายแค่ไหน ค่าราคาที่จะต้องจ่ายสำหรับการนี้มิใช่ธรรมดาเลย ยิ่งถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่ก็จะกลายเป็นเสียงเล่าลือกันแซดในคริสตจักรของท่าน แล้วยังกระหึ่มไปยังภาค แล้วยังมีเสียงก้องสะท้อนไปที่สภาคริสตจักรอีกด้วย หรือถ้าท่านเป็นผู้นำในสถาบัน หรือ หน่วยงานในสภาคริสตจักรฯ หรือหน่วยงานคริสเตียนทั่วไป ผลก็ไม่แตกต่างกันมากนัก ก็จะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างในสถาบันหน่วยงานของท่าน แล้วก็เป็นเสียงก้องไปยังสถาบันหรือหน่วยงานอื่น และในคริสตจักร จะเป็นเรื่องพูดกันมันปากในระดับคริสตจักรระดับชาติ

แต่ถ้าเหตุการณ์ที่ทำให้ความไว้วางใจต้องฉีกขาด คนๆ นั้นมิใช่ท่านในฐานะของผู้นำ แต่เป็นคนๆ หนึ่งในคริสตจักร หรือ ในสถาบันหน่วยงานของท่านล่ะ ท่านจะรับมือ หรือจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพื่อนร่วมงานคนนั้น สมาชิกคริสตจักรคนนั้นทำให้ความไว้วางใจที่ท่านมีต่อเขาต้องฉีกขาดลง

เมื่อมีเพื่อนร่วมงานในองค์กร หรือคริสตจักร ที่ทำให้ความไว้วางใจที่ผู้นำมีต่อเขามีอันต้องฉีกขาด ท่านในฐานะผู้นำจะต้องสนองอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น ผู้นำในคริสตจักร องค์กรคริสเตียนจะตอบสนองเช่นไร

ขอให้เราเริ่มด้วยการตอบสนองด้วยวิธีการที่ “เกินจริง” สองประการ

1. “พระคุณ” ที่ไม่สนใจผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ทำให้ความไว้วางใจฉีกขาด
2. “การพิพากษา” หรือ “ตัดสิน” ที่ปราศจากพระเมตตา

คงน่าจะเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะตอบสนองตามแนวทางใดแนวทางหนึ่งในสองประการข้างต้น หรือท่านอาจจะปฏิเสธที่จะทำตามทั้งสองอย่างข้างต้นก็ได้

พระคุณของพระเจ้าเป็นของประทานจากพระองค์ มิใช่สิ่งที่เราจะกระทำด้วยตนเอง หรือซื้อหาเอามาได้ (เอเฟซัส 2:8-9) เราไม่สามารถทำให้พระคุณของพระเจ้ามีเพิ่มมากขึ้นอีกสักนิดหนึ่ง หรือให้มีน้อยลงในคนใดคนหนึ่ง ในทำนองเดียวกันเราก็ไม่สามารถที่จะลบล้างหรือกอบกู้ใครให้หลุดพ้นจากผลของความบาปผิดในอดีต เราไม่สามารถที่จะลบล้างผลของการกระทำผิด การกระทำบาปออกจากคนใดคนหนึ่งแม้คนนั้นจะเป็นคริสเตียนก็ตามที

การตอบสนองต่อความไว้วางใจที่ฉีกขาดด้วยความเกินจริงประการแรกคือ การใช้ “พระคุณเจือสารสะเตรอยด์ (steroids)” ในที่นี้หมายถึงการที่อาจจะใจดีเกินไปเลยใช้พระคุณในความหมายที่เกินเลยที่ไม่ยืนอยู่บนแก่นสารความจริง กล่าวคือ การใช้พระคุณของพระเจ้าในความหมายที่เกินเลยกว่าความหมายของ “พระคุณ” ที่มีอยู่ตามความเป็นจริงในพระวจนะของพระเจ้า “พระคุณเจือสารสะเตรอยด์” ก็เหมือนกับยาที่เจือสารสะเตรอยด์แล้วใช้เป็นยาครอบจักรวาลที่ทำให้ไม่เกิดอาการแพ้ อักเสบ บวม เพราะสารสะเตรอยด์ตัวนี้เข้าไปกดระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันอัตโนมัติ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงไม่ตอบสนองตามหน้าที่ของมันที่ควรจะเป็น แต่มิได้หมายความว่าความเจ็บป่วยไม่สบายจะได้รับการรักษาจากสารสะเต-รอยด์ ตรงกันข้าม นอกจากจะมิได้รักษาโรคที่เป็นอยู่ตามสาเหตุแล้ว สารสะเตรอยด์ยังมีผลข้างเคียงมากมาย ทั้งการทำให้คนใช้เป็นประจำเกิดอาการบวม ฉุ ไตเสื่อมไตเสีย เบาหวานรุนแรงขึ้น และ ฯลฯ “พระคุณเจือสะเตรอยด์” เป็นพระคุณของพระเจ้าที่ผู้ใช้ไม่สนใจผลที่ตามมาจากการฉีกขาดของความไว้วางใจ เป็น “พระคุณราคาถูก” ตามสำนวนของบอนฮอฟเฟอร์ (Bonheoffer) เรารู้แน่ชัดว่าพระเยซูคริสต์ทรงรักคนเหล่านี้ ดังนั้นความผิดบาปในชีวิตของเขาได้รับการชำระจากพระโลหิตของพระองค์ ทั้งสองประการนี้ก็เป็นสัจจะความจริง แต่ยังมีขยะและความสกปรกมากมายที่จะต้องได้รับการทำความสะอาดและการเสริมสร้างใหม่ในชีวิตของคนๆ นั้น

เมื่อพระคุณของพระเจ้าถูกใช้ในความหมาย “ยาครอบจักรวาล” ที่ไม่สนใจผลที่ตามมาจากความไว้วางใจที่ฉีกขาด มักจะเกิดขึ้นเพราะผู้ใช้ต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความยุ่งยากซับซ้อนที่อาจจะตามมาจากผลความไว้วางใจที่ฉีกขาด เขาต้องการทำให้ทุกอย่างดูง่ายขึ้น แต่ผลเสียก็คือคนที่ทำให้ความไว้วางใจฉีกขาดจะไม่ได้รับความช่วยเหลือให้รู้ถึงสัจจะความจริงที่เกิดขึ้นที่แท้จริงและจำเป็น

ผลความไว้วางใจที่ฉีกขาดคือ การตัดสินและพิพากษา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้ของกฎธรรมชาติและกฎบัญญัติของการทรงกอบกู้ พระเจ้าทรงเป็นผู้ที่จ่ายค่าราคาที่เราตกอยู่ใต้อำนาจของความผิดบาป เราจึงได้รับการช่วยกู้ให้ไปอยู่ภายใต้พระคุณ แต่หลักการเรื่องการพิพากษายังไม่ได้ถูกลบออกจากพระคัมภีร์ (โรม 1:18-2:16, กาลาเทีย 5:19-21, วิวรณ์ 20:11-15 และ ฯลฯ)

การตอบสนองที่เกินเลยความจริงประการที่สองคือ การพิพากษาหรือการตัดสินที่ปราศจากพระเมตตา ซึ่งมิใช่น้ำพระทัยของพระเยซูคริสต์ พระองค์ตรัสกับหญิงคนนั้นที่ถูกจับได้ขณะล่วงประเวณีว่า “จงไปเถิดแต่อย่าทำบาปอีก” ใช่ พระคริสต์มิได้ทำให้เธอถูกเอาหินขว้างตามที่พวกผู้นำศาสนาเห็นว่าเธอควรจะถูกเอาหินขว้างให้ตาย ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำ บุคลิกที่คิดว่าตนเป็นคนตรงไปตรงมา หรือการได้รับความกดดันจากรอบข้าง หรือหลักคิดหลักเชื่อทางคริสต์ศาสนศาสตร์ที่ท่านยึดถือ อาจทำให้ท่านเร่งด่วนตัดสิน พิพากษา หรือ กล่าวโทษคนบางคน แท้จริงแล้วการกระทำเช่นนี้อยู่คนละข้างกับ “พระคุณที่เจือสารสะเต-รอยด์” แต่เป็นการบีบคั้นให้เป็น “พระคุณพระเจ้าที่คับแคบ” กว่าที่เป็นจริงที่พระคุณเป็นอยู่

สิ่งเลวร้ายจากการตัดสินพิพากษาบ่อยครั้งมักเกิดกับอารมณ์ความรู้สึกของคน (เช่น เกิดบาดแผล ความรู้สึกเจ็บปวดในชีวิต) บางครั้งเกิดจากการแสดงความคิดเห็นของคนบางคน บางครั้งเกิดจากการเมืองในคริสตจักร ในภาค ในสภาฯ หรือในองค์กรคริสเตียน ซึ่งเป็นความเจ็บปวด และ บาดแผลที่ลึกกว่าที่ควรจะเป็นกับคนๆ นั้นที่ทำให้ความไว้วางใจระหว่างเขากับเราต้องฉีกขาดลง

เหตุการณ์จะซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากยิ่งขึ้นถ้าผู้นำที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่มีแนวทางที่จะรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

บ่อยครั้งใช่ไหมที่เราท่านมักจะได้ยินคำตอบต่อคำถามที่ซับซ้อนเช่นนี้ว่า “มันขึ้นอยู่กับ...” ใช่ เป็นความจริงว่าสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมและในเหตุการณ์ที่แต่ละคนต้องเผชิญและตามสภาพที่เป็นจริงของแต่ละคน หรือไม่ก็จะใช้ความจริงจากพระคัมภีร์เป็นทางลัดเพื่อจะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ซึ่งอาจจะทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มอย่างที่ตนต้องการ หรืออาจจะเลวลง จากที่ตนต้องการ

ชีวิตและการเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องที่แยกกันเด่นชัดตายตัวให้เป็นขาว หรือ ดำได้ แต่ถ้าท่านเป็นผู้นำที่เป็น “สีเทา” ในที่สุดท่านจะต้องหลงทางแน่นอน ผู้นำที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ท่านจะต้องใช้วิจารณญาณของท่านในสถานการณ์ที่ยุ่งยากเช่นนี้ ตัดสินใจเลือกการตอบสนองที่เหมาะสม แต่ท่านจะต้องมีหลักการพื้นฐานในการกระทำของท่าน หลักการพื้นฐานแรกคือพระวจนะของพระเจ้า ประการต่อมาหลักการหลักเชื่อหรือหลักคริสต์ศาสนศาสตร์ที่ท่านยึดถือในชีวิตของท่าน ระบบคุณค่า เงื่อนไขปัจจัยในตอนนั้น หลักการพื้นฐานเหล่านี้ช่วยเสริมหนุนให้ท่านมีแนวทางที่จะตอบสนอง มิใช่กฎเกณฑ์การตอบสนองที่ตายตัว

ท่านสามารถที่จะมุ่งไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องเมื่อเป็นผู้นำที่ตกในสถานการณ์เช่นนี้ ด้วยการถามคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้เช่น...
1. เพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นผิดใช่หรือไม่? (ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด)
2. เขารู้ว่าผิด แต่ที่ทำไปไม่ได้มีประสงค์ร้ายใช่ไหม? (รู้ว่าผิด แต่ที่ทำไปไม่ได้ตั้งใจ)
3. เขารู้ว่าผิดและมีความประสงค์ร้ายใช่ไหม? (เขารู้ที่ทำลงไปนั้นผิด และตั้งใจทำลงไปทั้งๆ ที่รู้ว่าจะทำให้คนอื่นได้รับอันตรายและความเจ็บปวด)

เราเพิ่มคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ร่วมกับความจริงบนรากฐานทางพระคัมภีร์ หลักคิดหลักเชื่อ ระบบคุณค่า และวัฒนธรรมคริสเตียน จะได้รับคำตอบที่ชัดเจน

คำถามเด่นชัดที่ละเลยไม่ได้คือ ความไว้วางใจที่ฉีกขาดสามารถที่จะเย็บชุนได้ไหม?

แน่นอน ความไว้วางใจที่ฉีกขาดนั้นสามารถเย็บชุน หรือ ซ่อมแซมใหม่ได้แน่ ให้เรากลับไปที่การตอบสนองที่เกินจริงสองประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ปรับแต่งให้เป็นการตอบสนองไปในทิศทางที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
1. พระคุณที่เป็นจริง
2. การตัดสินพิพากษาด้วยการซ่อมแซมและเสริมสร้างใหม่

เมื่อท่านในฐานะผู้นำเต็มใจที่จะยอมรับความเป็นจริงในสถานการณ์นั้นๆ พร้อมกับคนที่ทำผิดก็ยอมรับความจริงในสถานการณ์นั้น เมื่อนั้น พระคุณของพระเจ้าก็จะเป็นของประทานอย่างที่ควรจะเป็น ผู้กระทำผิดจะต้องมีความรับผิดชอบ รวมถึงยอมรับผลที่ตามมาจากการกระทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระคุณพระเจ้าก็จะเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ ความสัตย์ซื่อจริงใจและวุฒิภาวะหรือความเป็นผู้ใหญ่เป็นแก่นกลางของพระคุณที่มีต่อกันในสถานการณ์นั้น

ข้อฐานคิดฐานเชื่อของผมคือ จิตวิญญาณแห่งการกอบกู้ช่วยเหลือเป็นจิตใจสูงสุดในสถานการณ์นี้ คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่นี่เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้า “ถ้าเป็นได้ คือเท่าที่เรื่องขึ้นอยู่กับท่าน จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน” (โรม 12:18) ในการนี้ต้องการการยกโทษ เมื่อคุณประกาศว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นความผิด ความบาป และไม่เป็นการกล่าวโทษคนๆ นั้น ก็เป็นการร่วมกันของทั้งการสารภาพในส่วนของผู้กระทำผิด และการยกโทษจากท่าน นั่นทำให้ความไว้วางใจที่ฉีกขาดได้รับการเย็บชุนเยียวยา นี่มิใช่กระบวนการสำเร็จรูป แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและโอกาสที่แสวงหารูปแบบของความสัมพันธ์และกระบวนการการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ใหม่ อาจจะจำเป็นที่คนทำผิดคนนั้นลงจากตำแหน่งงานที่รับผิดชอบสักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้เวลาสำหรับการเย็บชุนซ่อมแซมความไว้วางใจ

ท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า อย่าให้ความเจ็บปวด หรือ ความโกรธ จากความไว้วางใจที่ฉีกขาดจากผู้คน ทำให้ท่านต้องมองคนอื่นด้วยความไว้วางใจที่ลดน้อยถอยลง อย่าปกป้องตัวท่านเองด้วยการวางตัวออกห่างจากผู้คนด้วยอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าว เหนือสิ่งอื่นใดอย่าใช้การเยาะเย้ยถากถางในการตอบสนองคนๆ นั้น จงรักคนๆ นั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และยังให้ความไว้วางใจเขา ผมเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงประทานสติปัญญาแก่ท่านเพื่อนำท่านผ่านไปในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้

-------------------------
บทความนี้เป็นการสะท้อนคิดและเรียบเรียงใหม่จากการอ่านบทความเรื่อง "Broken Trust" เขียนโดย Dan Reiland ท่านสามารถอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ http://aa.mg1.mail.yahoo.com/dc/launch?.gx=1&.rand=6lctb7g5h3fmt

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น